Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

โรคผิวหนังที่พบบ่อยในประเทศไทย

Posted By Plookpedia | 17 ธ.ค. 59
11,752 Views

  Favorite

ตามบ้านที่มีเด็ก เรามักจะได้ยินผู้ใหญ่เตือน หรือห้ามลูกหลานมิให้นั่งกับพื้นดิน หรือพื้นบ้านที่สกปรก มิฉะนั้นจะเป็นโรคผิวหนัง บางทีผู้ใหญ่ก็จะบอกเด็กที่ร่างกายสกปรกมอมแมม มีเหงื่อไคล เพราะเล่นมาก ให้รีบไปอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด มิฉะนั้นจะเป็นโรคผิวหนัง

เด็กบางคนคันตรงไหนก็เกาไม่หยุด จนเกิดเป็นผื่นหรือแผล บางทีมีเลือดออกซิบๆ ก็หลบหลีกหรือละเลย ต่อการที่ผู้ใหญ่จะให้ทำความสะอาด ต่อเมื่อทราบว่า ถ้าทิ้งไว้จะเป็นโรคผิวหนัง จึงยอมให้ผู้ใหญ่ทำความสะอาดเม็ดผื่น หรือแผลให้
โรคผิวหนังตามที่เด็กได้ยินจากผู้ใหญ่เช่นนี้ หมายความถึง อาการแสดงออกทางผิวหนัง เมื่อถูกยุง แมลง หรือมดกัด หรือสิ่งระคายเคืองบางอย่าง ทำให้เกิดอาการคัน เด็กๆ ก็จะเกา เป็นเหตุให้เกิดจุดแดง เม็ด ตุ่ม เป็นน้ำเหลือง หรือหนองพุพอง นับเป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่ง 

การที่ครูก็ดี ผู้ปกครองก็ดี เตือนให้นักเรียนหมั่นตัดเล็บ ก็เพื่อป้องกันสิ่งสกปรกติดเล็บ เพราะถ้าเด็กเกิดอาการคันก็จะเกา โดยไม่คำนึงว่า เล็บสะอาด หรือสกปรก ก็จะเป็นเหตุให้เชื้อโรคเข้าสู่เม็ดตุ่มและผื่น โดยผ่านทางเล็บได้

การที่เด็กๆ มีบาดแผล ตุ่ม และผื่นเล็กๆ น้อยๆ เช่น ผิวหนังถลอก เพราะหกล้ม ถูกหนาม หรือของมีคมบาด แล้วละเลย ไม่ทำความสะอาดแผล ไม่ทายา ก็จะเป็นต้นเหตุของโรคผิวหนังได้หลายชนิด เพราะผิวหนังอักเสบจากการติดเชื้อบัคเตรี เชื้อรา หรือพยาธิอื่นๆ 

ผด ผื่น เม็ดตุ่ม ลมพิษ หิด เหา สิว และรังแค ล้วนแต่เป็นลักษณะต่างๆ ของโรคผิวหนังทั้งสิ้น

 

โรคผิวหนังเป็นโรคที่มีพยาธิสภาพแสดงออกมาทางผิวหนัง เยื่อมูก และอวัยวะประกอบของผิวหนัง โดยไม่เลือกเชื้อชาติ เพศ และวัยของคน 

ในประเทศไทยเรา โรคผิวหนังเป็นโรคที่พบบ่อยมากโรคหนึ่ง เพราะประเทศเราตั้งอยู่ในเขตร้อน อิทธิพลของแสงแดดมีส่วนทำให้เกิดโรคได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผิวหนังเป็นด่านแรกของร่างกายที่รับแสงแดดก่อนส่วนอื่น 

แต่เป็นการยากที่จะให้ทราบแน่ชัดว่า แต่ละปีมีจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคผิวหนังที่แท้จริงมากน้อยเพียงใด เพราะไม่มีผู้หาสถิติข้อมูลที่แท้จริง ของผู้ป่วยด้วยโรคประเภทนี้ไว้

เมื่อหลายปีมาแล้ว ได้มีการตรวจสุขภาพของข้าราชการ ปรากฏว่า ในจำนวนข้าราชการ ๒,๐๗๐ คน มีไม่ต่ำกว่า ๗๖๘ คน ที่เป็นโรคผิวหนัง ทั้งเป็นมาก และเป็นน้อย หรือผู้ป่วยด้วยโรคผิวหนังมีประมาณร้อยละ ๓๗ ได้แก่ ผู้ที่ไม่คิดจะไปหาแพทย์โรคผิวหนังแผนปัจจุบัน เพื่อการรักษาอย่างแท้จริง ส่วนมากมักละเลยทิ้งไว้เฉยๆ โดยไม่รำคาญ หรือเดือดร้อนแต่ประการใด บางโรคผู้ป่วยเห็นว่า เป็นในร่มผ้า ไม่เห็นจะน่าเกลียดน่ากลัว เพราะไม่มีผู้รู้เห็น บางโรคก็เป็นกันมานานจนชิน จึงไม่คิดว่าจะเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต ในจำนวนข้าราชการผู้ป่วยด้วยโรคผิวหนัง ๗๖๘ คนนั้น ปรากฏว่า เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อราประมาณร้อยละ ๒๐ ถ้ารักษาอย่างแท้จริงก็คงจะหายได้โดยไม่ยากนัก

ใน พ.ศ. ๒๕๑๙ จำนวนผู้ป่วยมารับการตรวจที่โรงพยาบาลศิริราชมีถึง ๑๙๒,๕๒๒ ราย และในจำนวนนี้ได้มาตรวจที่หน่วยตรวจโรคผิวหนัง ๗,๖๓๔ ราย นับเป็นประมาณ ร้อยละ ๔ ของผู้ป่วยนอกทั้งหมด ทั้งนี้ มิได้รวมผู้ป่วยโรคผิวหนังที่เด็ก และผู้ป่วยที่มารับการตรวจทางแผนกศัลยศาสตร์ หรือแผนกอื่นๆ โรคผิวหนังหลายโรคมีความสัมพันธ์ข้องเกี่ยวกับโรคทางแผนกอื่นๆ ด้วย รวมทั้งการรักษา ซึ่งบางครั้งก็ต้องใช้การรักษาทางศัลยกรรม และบางรายก็ต้องใช้การรักษาทางรังสีวิทยา เป็นต้น ตัวเลขนี้จึงเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคผิวหนังที่แท้จริง

จากผู้ป่วย ๓,๖๓๗ ราย ของหน่วยโรคผิวหนังนี้ มีโรคผิวหนังที่พบบ่อยตามลำดับดังต่อไปนี้

เอ็กซีมา
๑,๙๙๙
ราย
(ประมาณร้อยละ ๒๖)
โรคเกิดจากเชื้อรา
๙๘๐
ราย (ประมาณร้อยละ ๑๕)
โรคเกิดจากเชื้อพยาธิ ๕๓๐
ราย
(ประมาณร้อยละ ๗)
โรคเกิดจากเชื้อไวรัส
๔๒๕
ราย
(ประมาณร้อยละ ๖)
โรคลมพิษ
๓๘๓
ราย
(ประมาณร้อยละ ๕)
สิว
๓๗๒
ราย
(ประมาณร้อยละ ๓)
โรคที่เกิดจากเชื้อบัคเตรี
๒๐๐
ราย
(ประมาณร้อยละ ๓)
 

 

จากสถิติของโรงพยาบาลศิริราชนี้ เมื่อเทียบกับสถิติของสถาบันโรคผิวหนัง ซึ่งตรวจและรักษาเฉพาะโรคผิวหนังแต่อย่างเดียวแล้ว ก็นับว่า ใกล้เคียงกันมาก จะผิดกันบ้างก็เพียงเล็กน้อย โดยที่สถาบันโรคผิวหนังในระยะเดียวกันนี้ พบว่า มีโดยประมาณ ดังนี้

เอ็กซีมา ร้อยละ ๓๘
โรคเกิดจากเชื้อราตื้น ร้อยละ ๑๕
โรคเกิดจากบัคเตรี ไวรัส และพยาธิ ร้อยละ ๑๕
สิว ร้อยละ
 

 

การที่คิดว่า โรคผิวหนังเป็นโรคที่ไม่ร้ายแรงอะไรนัก ไม่ทำให้พิการ หรือถึงแก่ชีวิตได้ นับเป็นความคิดที่ผิดถนัด เพราะโรคผิวหนังมากมายเป็นโรคที่สลับซับซ้อนมีความรุนแรง และร้ายแรง ซึ่งอาจจะทำให้น่าเกลียด ทำให้เกิดความพิการ หรือทรมาน และถึงแก่ชีวิตได้ 

นอกจากนี้โรคผิวหนังแม้จะเห็นๆ กันว่า เป็นแต่เพียงมีอาการแสดงออกทางผิวหนังเท่านั้น แต่แท้ที่จริงแล้ว โรคผิวหนังยังมีความสัมพันธ์กับโรคทางระบบอวัยวะอื่นๆ อีกเกือบทุกระบบของร่างกาย ถือกันว่า การแสดงออกทางผิวหนังนั้น เป็นเสมือนกระจกที่ส่องให้เห็นพยาธิสภาพของอวัยวะหลายอย่างในร่างกาย และในอีกด้านหนึ่ง โรคผิวหนังบางชนิดก็อาจมีพยาธิสภาพที่อวัยวะอื่นๆ ร่วมด้วยเช่นกัน

แม้แต่ทางจิตเวชศาสตร์ ก็ยังเล็งเห็นความสำคัญของโรคผิวหนังอยู่ไม่น้อย ผู้ที่เป็นโรคที่ไม่น่าดูบางโรค เช่น สิว หรือโซริอาซิส หรือฝ้า ก็อาจทำให้ผู้นั้น มีความวิตกกังวล ห่วงใย หรือเกิดปมด้อยได้ ทั้งนี้ ไม่นับถึงโรคบางโรค ที่ผู้ป่วยอาจต้องทนทรมานอยู่กับโรคนั้น ไปจนตลอดชีวิต ในมุมกลับ โรคทางจิตเวชเอง ก็อาจทำให้มีอาการแสดงออกทางผิวหนังได้เช่นกัน เช่น โรคไตรโคทิลโลมาเนีย (trichotillomania) ซึ่งผู้ป่วยมักจะชอบถอนผมของตัวเองอยู่เสมอ จนศีรษะล้านไปเป็นหย่อมๆ หรือโรคอะคาโรโฟเบีย (acarophobia) ที่ทำให้ให้ผู้ป่วยรู้สึกคันยุบยิบ เหมือนมีตัวอะไรคอยไต่ตอมตามผิวหนังอยู่ตลอดเวลา

ผู้ป่วยเป็นสิวเสี้ยน

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow