Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

โรคเชื้อรา

Posted By Plookpedia | 16 ธ.ค. 59
5,532 Views

  Favorite

โรคเชื้อรา

เชื้อราสามารถทำให้เกิดโรคได้ ๓ วิธี คือ โดยการสร้างสารพิษ โดยการก่อให้เกิดภูมิแพ้ และโดยการบุกรุกเข้าสู่เนื้อหนังโดยตรง

๑. โดยการสร้างสารพิษ 

สารพิษอาจมีอยู่ภายในผลผลิตเอง หรือเมื่อสร้างขึ้นแล้ว ปลดปล่อยสารพิษออกสู่ภายนอก ราประเภทต่างๆ นี้ ได้แก่

เห็ดเมา พืชมีสารพิษที่รับประทานแล้วอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต

    เห็ดเมา (toxic muxhroom) 

คือ พวก เห็ดที่มีสารพิษ เชื้อรานี้มีวงชีวิตแบบพิเศษ โดยสายรารวมตัวกันได้เป็นเนื้อเยื่อขนาดใหญ่ พอที่มนุษย์จะนำเอามาใช้ประกอบอาหาร ทั่วโลกมีเห็ดชนิดต่างๆ อยู่ ประมาณ ๓๐,๐๐๐ พันธุ์ ในจำนวนนี้มีอยู่ไม่ถึงร้อยละ ๑ ที่เป็นเห็ดเมา และชนิดที่เป็นพิษร้ายแรงมากมีอยู่เพียง ๓ พันธุ์ ซึ่งอยู่ในสกุลอะมานิทา (Amanita)
พิษรา (mycotoxin) 

เชื้อรามักพบปนเปื้อนอยู่ในผลิตผลทางเกษตร และอาหาร เช่น ข้าว ซึ่งเก็บไว้ในที่อับชื้นนานๆ เกิดขึ้นรา เมล็ดเปลี่ยนเป็นสีเหลือง หรือถั่วลิสงบางฝักมีราขึ้นที่เมล็ดใน เป็นต้น สารพิษที่สำคัญ ได้แก่ อะฟลาท็อกซิน (aflatoxin) ทำให้เกิดโรคอะฟลาท็อกซิโคซิส (aflatoxicosis) ในประเทศอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๓ เกิดมีโรคระบาดของสัตว์เลี้ยง เนื่องจาก สัตว์กินถั่วลิสง ที่ซื้อจากประเทศบราซิล และถั่วลิสงจำนวนนั้นมีเชื้อราแอสเปอร์จิลลัส ฟลาวัส (Aspergillus flavus) ปนเปื้อน และปลดปล่อยอะฟลาท็อกซินออกมา เป็นเหตุให้ลูกไก่งวง ลูกเป็ด  ลูกสุกร และลูกโค ล้มตายเป็นจำนวนมากทั่วประเทศ
ในประเทศไทย เมื่อเข้าฤดูฝนมักมีโรคชนิดหนึ่งเกิดขึ้นในเด็ก ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นประจำ โดยไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด ลักษณะของโรคเป็นแบบสมองอักเสบ (Reys's syndrome) อวัยวะภายในมีการเปลี่ยนแปลงเป็นไขมัน ประชากรภาคนี้นิยมนึ่งข้าวเหนียวไว้รับประทานหลายๆ มื้อ ในฤดูฝนอากาศ อับชื้น ข้าวเหนียวจะขึ้นราและเกิดอะฟลาท็อกซิน เด็ก ซึ่งไวต่อพิษนี้ จึงเกิดอาการของโรค ส่วนในผู้ใหญ่พบว่า ในท้องถิ่นที่มีอะฟลาท็อกซินปนเปื้อนอยู่ในอาหารเป็นจำนวนมาก มักจะมีอุบัติการของมะเร็งตับมากขึ้น    

ถั่วลิสง พืชที่อาจเกิดเชื้อราที่มีพิษขึ้นภายในเมล็ด


พิษอื่นๆ ของเชื้อรา 

เช่น ฟิวชาเรียม กรามิเนียรุม (Fusarium graminearum) ซึ่งสามารถสร้างสารจำพวกอีสโทรเจน พบว่า สุกรเพศเมียที่กินอาหารปนเปื้อนเชื้อรานี้ ช่องคลอด และเต้านมจะบวมโต บางตัวมีอาการรุนแรงถึงกับช่องคลอด และทวารหนักยื่นย้อยออกมาได้ 

๒. โดยการก่อให้เกิดภูมิแพ้ 

เกิดจากสปอร์ของเชื้อราที่มีน้ำหนักเบา และขนาดเล็ก ซึ่งอยู่ตามอากาศ และสามารถแผ่กระจายไปตามกระแสลมได้ในระยะไกล เมื่อสูดดมเข้าไป ทำให้ร่างกายเกิดภูมิแพ้ในแบบต่างๆ กัน เช่น ไข้ละอองฟาง (allergic rhinitis,hay fever) โรคหืด (asthma) ปอดอักเสบจากภาวะภูมิไวเกิน นอกจากนี้ผลจากการติดเชื้อราในร่างกาย อาจทำให้เกิดลมพิษ (ruticaria) การอักเสบของผิวหนัง และภูมิแพ้ในระบบทางเดินอาหารได้ เป็นต้น 

๓. โดยการเข้าสู่เนื้อหนัง

ซึ่งมีได้ ๓ ลักษณะด้วยกัน คือ การติดเชื้อที่ชั้นผิวหนัง การติดเชื้อในหนังชั้นลึก และการติดเชื้อตามอวัยวะภายใน

โรคเชื้อราของผิวหนัง 

เชื้อราบุกรุกเข้าสู่ผิวหนัง ทำให้เกิดโรคที่ผิวหนัง รวมทั้งขน เล็บ และเยื่อบุต่างๆ อีกด้วย โรคราของผิวหนังที่พบบ่อยๆ มีดังนี้ 

โรคเกลื้อน (tinea versicolor) เชื้อราตัวที่ก่อโรค คือ เชื้อมาลาสซีเซีย เฟอร์เฟอร์ หรือ ไพทีโรสปอรุม ออร์บิคูลารี (Malassizia furfur, Pityro- sporum orbiculare) เชื้อนี้พบได้บริเวณผิวหนังของคนปกติ มักก่อโรคในคนที่มีผิวมัน มีเหงื่อมาก โรคมักเกิดบริเวณหน้าและลำตัวเป็นวงกว้าง ขอบเขตชัดเจน 

กลากวงเดือน

   โรคกลาก (tinea) เชื้อราที่ทำให้เกิดโรค จัดอยู่ในกลุ่มที่เรียกว่า เดอร์มาโทไฟต์ (dematophyte) อันได้แก่ ไตรโคฟีทอน (Trichophyton) ไมโครสปอรอน (Microsporon) และอีพิเดอร์มอฟีทอน (Epider mophyton) เชื้อเหล่านี้ส่วนใหญ่พบอยู่ตามดินและสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว ซึ่งสามารถถ่ายทอดโรคมาสู่คนได้ โรคนี้เกิดได้กับผิวหนังทุกแห่ง เช่น บริเวณที่ มีผม ขน หนวด หรือเล็บ นอกจากนี้ มักจะพบโรคกลากนี้บ่อยๆ ตรงบริเวณที่อับชื้น เช่น รักแร้ ขาหนีบ และซอกนิ้วเท้า หรือนิ้วมือ มีลักษณะเป็นวง ขอบเขตชัดเจนสีแดงเป็นขุย เป็นบางรายวงนั้นจะซ้อน กันมากๆ หลายๆ ชั้น จึงเรียกว่า ขี้กลากหนุมาน
โรคราในช่องหู (otomycosis) เชื้อราที่ก่อโรคก็คือ เชื้อราที่พบในธรรมชาติ เช่น แอสเปอร์จิลลัส (Aspergillus) เพนิซิลเลียม (Penicillium) มักเกิดในคนที่ชอบแคะหูตามร้านตัดผม หรือใช้เศษไม้ตามดินแคะหู

เล็บเป็นเชื้อรา

    โรคแคนดิดา (candidiasis) เกิดจากเชื้อรากลุ่มแคนดิดา ส่วนใหญ่ได้แก่ เชื้อแคนดิดา อัลบิแคนส์ (Candida albicans) เชื้อนี้พบตามทางเดิน อาหาร ตั้งแต่ปากจนถึงทวารหนักในคนปกติ มัก ทำให้เกิดโรคในเด็กและคนที่ร่างกายเสียภาวะสมดุล หรือร่างกายอ่อนแอ เช่น ทำให้เกิดเป็นฝ้าขาวในปาก ของเด็ก ทำให้เกิดโรคตามเล็บมือและเล็บเท้า และทำให้เกิดการอักเสบ ในบริเวณช่องคลอดของสตรี เป็นต้น
โรคเชื้อราของหนังชั้นลึก 

เชื้อราของหนังชั้นลึก จะทำให้เห็นรอยโรคเป็นก้อนนูน ตัวอย่างของ โรคราจำพวกนี้ ได้แก่

โรคโครโมไมโคซีส (chromomycosis) เชื้อราตัวก่อโรคมีหลายกลุ่มได้แก่ ฟอนเซเซีย (Fon- secaea) คลาโดสปอเรียม (Cladosporium) ฟีอะโลฟอรา (Phialophora) เชื้อนี้พบตามธรรมชาติในดิน และเปลือกไม้ผุๆ ลักษณะของโรคเป็นปุ่มปม บางรายคล้ายดอกกะหล่ำ มักเกิดขึ้นบริเวณเท้าเป็นส่วนใหญ่ พบได้ในผู้ที่ทำนา ทำสวน

โรคไมเซโทมา (mycetoma) เกิดจาก เชื้อรามาดูเรลลา (Modurella) เซฟาโลสปอเรียม (Ce- phalosporium) และเชื้อบัคเตรีชั้นสูงคือ โนคาร์เดีย (Nocardia) และสเตร็ปโตไมซีส (Streptomyces) โรค นี้มักเกิดบริเวณเท้า โดยเท้าจะบวมมีหนองอยู่ภายใน และจะแตกออกมาที่ผิวหนังหลายๆ รูด้วยกัน 

โรคเชื้อราของอวัยวะภายใน

โรคที่ สำคัญได้แก่ 

โรคคริปโตค็อกโคซิส (cryptococcosis) เชื้อราตัวก่อโรคคือ คริปโตค็อกคัส นีโอฟอร์แมนส์ (cryptococcus neoformans) พบได้ตามมูลนก เช่น นกพิราบ เชื้อรานี้ ทำให้เยื่อหุ้มสมองอักเสบ โดยมีอาการคอแข็ง หลังแข็ง ปวดศีรษะ นอกจากนี้ อาจก่อโรคขึ้นในปอด ผิวหนัง และกระดูก 

โรคฮิสโทพลาสโมซิส (histoplasmosis) เชื้อราที่ก่อโรคคือ ฮิสโทพลาสมา แคปซูลาทุม พบได้ตามดินและในถ้ำค้างคาว ส่วนใหญ่ในคนเมื่อติดเชื้อโรค มักเกิดที่ปอด ทำให้ไอ มีไข้ มีเสมหะ คล้ายวัณโรค นอกจากนี้ อาจพบว่าทำให้เกิดโรคที่ช่อง ปากและกล่องเสียง ถ้าร่างกายอ่อนแอโรคอาจกระจายไปทั่วตัวก็ได้ 

การป้องกันโรคที่เกิดจากเชื้อรา

โดยทั่วไปควรปฏิบัติดังนี้ คือ ไม่รับประทานอาหารที่ขึ้นรา และไม่รับประทานเห็ดที่ไม่รู้จักชนิด ว่าจะปลอดภัยหรือไม่ ให้พยายามรักษาความสะอาดของร่างกาย อาหาร ที่พักอาศัย ไม่ใส่รองเท้าที่อับ ถ้าเท้าเปียกน้ำต้องเช็ดให้แห้งก่อนที่จะใส่รองเท้า ถ้าที่พักอาศัยมีราขึ้น ควรอบด้วยน้ำยาฟอร์มาลิน ถ้าเลี้ยงนกควรหมั่นทำความสะอาดกรงนก ระวังตัวในการสัมผัสกับสิ่งที่มีเชื้อราอาศัยอยู่ อย่างคลุกคลีกับสัตว์ที่เป็นแหล่งโรค นอกจากนี้ ให้ระมัดระวังในการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างพร่ำเพรื่อ เพราะการได้รับยาปฏิชีวนะนานๆ จะทำลายเชื้อบัคเตรีที่อยู่ในร่างกายตามปกติ ทำให้ร่างกายเสียสมดุล ซึ่งจะทำให้เกิดโรคเชื้อราได้ง่ายขึ้น

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow