อหิวาตกโรค
เชื้อต้นเหตุ
เกิดจากเชื้อบัคเตรีมีรูปแท่งที่มีลำตัวโค้งงอ ที่ชื่อว่า วิบริโอ คอเลอรี (Vibrio cholerae) แบ่งย่อยเป็น ๒ ชนิด คือ ชนิดแท้ หรือคลาสสิก (classical biotype) และชนิดอ่อนหรือเอลทอร์ (EL Tor biotype)
การระบาดในประเทศไทยนับแต่ พ.ศ. ๒๕๑๖ เป็นต้นมา เกิดจากเชื้อเอลทอร์เป็นต้นเหตุ
ระยะฟักตัว
ประมาณ ๒-๓ วัน แต่อาจพบได้ ตั้งแต่ ๒-๓ ชั่วโมง ถึง ๕ วัน
ลักษณะอาการ
อาการเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และรุนแรง อาจแบ่งออกเป็น ๓ ระยะ คือ ระยะแรก เป็นระยะที่มีอาการท้องเดิน และอาเจียน อุจจาระมีลักษณะคล้ายน้ำซาวข้าว อาจมีเลือด หรือหนองปนมาด้วยเล็กน้อย ผู้ป่วยจะเสียน้ำและเกลือจำนวนมาก ถ้าอาการรุนแรง และไม่ได้การรักษาภายในเวลา ๒-๑๒ ชั่วโมง ก็จะเข้าสู่ระยะที่สอง คือ ระยะช็อค ผู้ป่วยกระหายน้ำมาก ผิวแห้ง ตัวเย็น ตาลึก ความดันเลือดต่ำ อาจเกิดตะคริว ผู้ป่วยมักถึงแก่กรรมในระยะนี้ ถ้าไม่ได้รับการรักษา แต่ถ้าเป็นไม่รุนแรง หรือรักษาทัน ก็จะเข้าสู่ระยะที่สาม คือ ระยะกลับเป็นปกติในรายที่ไม่ได้รับการรักษา อัตราตายอาจสูงเกินกว่าร้อยละ ๕๐ ดังที่เห็นในการระบาดครั้งแรกๆ ในประเทศไทย แต่ถ้าได้รับการรักษาให้น้ำเกลือทดแทนได้ทัน อัตราตายจะลดต่ำลงมาก อาจไม่ถึงร้อยละ ๑ ในบางคน โดยเฉพาะในเด็ก มักมีอาการเพียงท้องเดินไม่รุนแรง และในบางคนอาจมีการติดเชื้ออหิวาตกโรค โดยไม่มีอาการก็ได้
การติดต่อ
โรคนี้ติดต่อ โดยทางการกินอาหาร หรือน้ำดื่มที่ปนเปื้อนด้วยอุจจาระ หรืออาเจียนของผู้ป่วย หรืออาจมีแมลงวันเป็นพาหะนำโรค เชื้ออหิวาตกโรคนี้พบในคนเท่านั้น
การป้องกันและควบคุมโรค
การป้องกันล่วงหน้าก่อนที่จะมีโรคระบาดได้แก่ การแนะนำประชาชนให้มีความรู้ เกี่ยวกับการติดโรค และวิธีป้องกันโรค หัดให้เป็นนิสัยในการล้างมือให้สะอาดก่อนปรุง หรือกินอาหาร และหลังจากเข้าส้วม แนะนำ และจัดสร้างส้วมให้ถูกหลักสุขาภิบาล ป้องกันไม่ให้อุจจาระลงไปแปดเปื้อนในน้ำดื่ม น้ำใช้ จัดหาน้ำสะอาด สำหรับบริโภคให้เพียงพอ ดื่มน้ำต้ม และน้ำนมสัตว์ที่ผ่านกรรมวิธีฆ่าเชื้อ หรือการพาสเจอไรซ์ (pasteurizatior) ก่อน กำจัดแมลงวัน กินอาหารที่ปรุงให้สุก และหุงต้มร้อนๆ
สำหรับการฉีดวัคซีนอหิวาตกโรค ให้ผลป้องกัน โรคไม่สมบูรณ์ บางแห่งจึงไม่ฉีด
ในการรักษา จะต้องให้น้ำและเกลือทดแทน ส่วนที่เสียไปในเวลารวดเร็วและให้ได้จำนวนมากพอ ถ้าเลือดมีภาวะเป็นกรด ต้องแก้ไข โดยให้ด่าง ถ้าผู้ป่วยมี อาการไม่รุนแรงและไม่อาเจียน อาจให้กินน้ำต้มสุกที่ ละลายน้ำตาลและเกลือสำหรับผู้ท้องร่วง ถ้าเป็นรุนแรง ต้องให้น้ำเกลือจำนวนมากเข้าเส้นเลือด สำหรับยา ฆ่าเชื้อโรค อาจใช้เตตราไซคลีน (tetracycline)