ทุกคนคงเคยเป็นโรคหวัด หรือเคยเห็นคนเป็นโรคหวัดมาแล้ว
เมื่อเราเป็นโรคหวัด เรามีอาการอย่างไร
ตื่นนอนในตอนเช้า แทนที่จะรู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่า เราจะรู้สึกไม่สบาย อ่อนเพลีย ไม่อยากลุกจากที่นอน ปวดศีรษะ เจ็บคอ และมีน้ำมูกไหล นอกจากนี้ ยังจามและไอบ่อยๆ อีกด้วย
ทำไมเราจึงเป็นโรคหวัด
เราเป็นโรคหวัด เพราะร่างกายของเรา ถูกสิ่งมีชีวิตที่มีขนาดเล็กมากจนได้ชื่อว่า จุลินทรีย์ บุกรุกเข้าไปภายใน และเมื่อเข้าไปได้แล้ว ก็จะเจริญเติบโต เพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็วจนทำให้เราเป็นโรค
จุลินทรีย์มีมากมายหลายชนิด บางชนิดเป็นประโยชน์ แต่บางชนิดก็เป็นโทษ จุลินทรีย์ที่เป็นโทษ ทำให้เกิดโรค เราเรียกว่า เชื้อโรค
เชื้อโรคที่ทำให้เราเป็นโรคหวัดได้ชื่อว่า เชื้อโรคหวัด
เชื้อโรคหวัดนี้แพร่กระจายได้ง่าย เพราะผู้ป่วยเป็นโรคหวัดจะปล่อยเชื้อโรคออกมากับจมูก น้ำลาย และเสมหะ เมื่อไอ หรือจาม เชื้อโรคหวัดก็จะถูกพ่นออกมาจากปาก และจมูก เป็นละอองฝอยกระจายอยู่ในอากาศ ถ้าผู้ที่ใกล้ๆ หายใจ หรือสูดดมเอาอากาศที่มีเชื้อโรคหวัดนี้เข้าไป เชื้อโรคก็จะเข้าสู่ร่างกาย ทำให้เป็นโรคหวัด
โรคที่สามารถแพร่กระจายจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่งได้โดยง่ายเช่นที่กล่าวมาแล้วนี้ เรียกกันว่า โรคติดต่อ
โรคติดต่อมิได้มีแต่เพียงโรคหวัดเท่านั้น โรคหัด โรคคางทูม โรคอีสุกอีใส โรคบิด อหิวาตกโรค และโรคอื่นๆ อีกหลายโรค ก็เป็นโรคติดต่อด้วยเช่นกัน
โรคติดต่ออาจแพร่เชื้อออกไปได้เป็นหลายแบบ บางโรค ติดต่อแพร่เชื้อ โดยการหายใจ หรือสูดดมเอาอากาศ ที่มีเชื้อโรคปะปนอยู่ เข้าไปในร่างกาย โรคติดต่อแพร่เชื้อ โดยการรับประทานอาหารหรือน้ำที่มีเชื้อโรคปะปนอยู่ เข้าไปในร่างกาย เช่น โรคบิด ไข้ไทฟอยด์ ส่วนบางโรค ติดต่อแพร่เชื้อ โดยมีแมลง เช่น ยุง หรือแมลงวัน เป็นพาหะนำเชื้อโรคจากผู้ป่วยไป ทำให้ผู้ป่วยอื่นเป็นโรค เช่น โรคไข้มาลาเรีย และอหิวาตกโรค
โรคติดต่อหลายชนิด สามารถเกิดขึ้นได้ง่ายในประเทศ ซึ่งอยู่ในเขตร้อน ดังเช่นประเทศไทยของเรานี้ เพราะในเขตร้อน มีอากาศร้อนตลอดทั้งปี ฤดูร้อน อากาศร้อน และแห้งแล้ง ส่วนฤดูฝน ฝนตกชุก และมีความชื้นสูง ลักษณะอากาศเช่นนี้ ทำให้เชื้อโรคและแมลง ซึ่งเป็นพาหะของโรคติดต่อหลายชนิดสามารถเจริญเติบโต และแพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็วมาก โรคที่พบบ่อย และมีอยู่เฉพาะในเขตร้อน เราเรียกว่า โรคเขตร้อน
มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิต จึงมีการเจ็บป่วยและตายเหมือนสิ่งมีชีวิตอื่นๆ การเจ็บป่วยส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ มีสาเหตุมาจากเชื้อโรค ได้แก่ เชื้อบัคเตรี เชื้อไวรัส เชื้อรา และเชื้อปรสิต โรคที่เกิดขึ้นจากเชื้อเหล่านี้ เรียกว่า โรคติดเชื้อ หรือโรคติดต่อ เมื่อมีการติดเชื้อเกิดขึ้นในร่างกายของเรา โดยจะเอาชนะซึ่งกันและกัน และแสดงออกมาเป็นอาการให้เห็นได้ชัดเจน เช่น มีอาการไข้ ปวดศีรษะ มีผื่นตามผิวหนัง อาเจียน และท้องร่วง เป็นต้น หรืออาจไม่มีอาการแสดงออกมาให้เห็นเลยทั้งๆ ที่ธรรมชาติ ของกระบวนการติดเชื้อยังคงดำเนินอยู่ในร่างกาย และเชื้อนั้นไปเพิ่มจำนวนอยู่ในร่างกายด้วย หรืออาจทำให้เราเสียชีวิต ถ้าร่างกายของเราอ่อนแอ และต่อสู้กับเชื้อโรคไม่ไหว แต่ถ้าร่างกายของเราแข็งแรง และมีภูมิคุ้มกันโรคดี ก็จะไม่เกิดโรคนั้น ตัวอย่างเช่น เมื่อมีคนใดคนหนึ่งเป็นไข้หวัด บุคคลที่อยู่ใกล้มักจะมีโอกาสติดเชื้อไข้หวัด ถ้าร่างกายของผู้นั้นอ่อนแอ และไม่มีภูมคุ้มกันโรค แต่ถ้าร่างกายของเราแข็งแรงดี ก็จะไม่เป็นไข้หวัด
องค์ประกอบของการเกิดโรค มี ๓ ประการ
๑. สิ่งที่ทำให้เกิดโรค ได้แก่ เชื้อโรคต่างๆ
๒. มนุษย์ เมื่อได้รับเชื้อโรคแล้ว อาจไม่เกิดโรค หรือติดเชื้อ แต่ไม่ปรากฎอาการ หรือติดเชื้อ และปรากฎอาการที่เรียกว่า เกิดโรค หรืออาจเสียชีวิต
๓. สิ่งแวดล้อม ได้แก่ สิ่งที่อยู่ภายนอก ซึ่งช่วยในการทำให้เกิดโรค เช่น เขตร้อน ฝนชุก ความชื้นสูง มีแมลงพาหะของโรค มีภาวะเหมาะแก่ การเจริญเติบโตของเชื้อ ภาวะทางเศรษฐกิจและสังคม เช่น ความยากจน ระดับการศึกษา ความรู้ในการป้องกันโรคของประชาชนในถิ่นนั้น และความเป็นอยู่ที่ยากจน เป็นต้น
ถ้าสิ่งใดสิ่งหนึ่งใน ๓ ประการนี้ ขาดสมดุล ก็จะทำให้เกิดโรค มีการแพร่กระจายของโรค และมีการเจ็บป่วยเกิดขึ้น โรคติดเชื้อที่พบได้บ่อยทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ คือ โรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ และระบบทางเดินอาหาร เชื้อโรคที่พบมาก และมีบทบาทสำคัญที่สุด คือ เชื้อบัคเตรี และเชื้อไวรัส
โรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจที่พบมาก ได้แก่ ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ผนังบุคออักเสบ และต่อมทอนซิลอักเสบ โรคเหล่านี้ติดต่อกันได้ง่ายมาก เช่น การจาม ไอรดกัน การจูบ เชื้อโรคที่อยู่ในน้ำมูกน้ำลายและเสมหะของผู้ป่วย จะไปยังจมูกและปากของอีกคนหนึ่งโดยตรง เราจึงควรต้องปิดปากเสมอ เมื่อมีการไอหรือจาม นอกจากนี้ เราไม่ควรใช้ภาชนะร่วมกัน เช่น กินอาหาร และดื่มน้ำร่วมภาชนะเดียวกัน ทั้งนี้เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อโรคไปสู่ผู้อื่น
ส่วนโรคติดเชื้อของระบบทางเดินอาหารที่พบได้บ่อย มักเกิดจากเชื้อบัคเตรี เชื้อไวรัส และเชื้อปรสิต โรคที่พบได้บ่อย คือ โรคอุจจาระร่วง โดยเฉพาะในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า ๕ ปี อาจมีอาการรุนแรงถึงแก่ชีวิตได้ การติดเชื้อโรค มักเกิดจากการรับประทานอาหารและน้ำที่มีเชื้อโรคปะปนอยู่ เมื่ออาหารเข้าสู่ลำไส้ เชื้อก็จะเจริญแบ่งตัวเพิ่มขึ้น ในลำไส้ และทำให้เกิดอาการโรคขึ้น คือ ท้องเดิน ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน มีไข้ ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากเชื้อโรคนั้น หรือจากสารพิษ ที่เชื้อเหล่านั้นหลั่ง หรือผลิตออกมา
โรคติดเชื้ออื่นๆ ที่พบได้ เช่น บาดทะยัก พบว่า มีผู้ป่วยเป็นโรคนี้ในประเทศไทย ๒,๐๐๐-๓,๐๐๐ รายต่อปี
โรคติดเชื้อเกิดจากแมลงเป็นตัวนำเชื้อ เช่น โรคไข้เลือดออก เกิดจากเชื้อไวรัสที่นำโดยยุงลาย ซึ่งชอบกัดคนในเวลากลางวัน เป็นยุงที่พบในบ้าน ไม่พบในที่โล่งแจ้ง
โรคเชื้อรา เช่น โรคกลาก โรคเกลื้อน เป็นต้น
โรคติดเชื้อที่เกิดระหว่างคนและสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง เช่น โรคพิษสุนัขบ้าที่เกิด เนื่องจากคนไปติดโรคนี้จากสุนัขหรือแมว กาฬโรคจากหนู และโรคแอนแทร็กซ์จากโคหรือกระบือ เป็นต้น
ในเขตร้อน โรคเขตร้อนมิได้มีแต่โรคที่เกี่ยวกับหนอนพยาธิเพียงอย่างเดียว แต่มีโรคติดเชื้ออื่นๆ ที่พบในเขตร้อน และคาบเกี่ยวโรคของระบบต่างๆ ของร่างกายทุกระบบ เช่น โรคที่เกิดจากเชื้อสไปโรคีต โรคจากเชื้อปรสิตซึ่งพบมาก เช่น โรคบิด อะมีบา โรคมาลาเรียและโรคจากเชื้อบัคเตรี เช่น โรคบิดบะซิลลารี โรคติดเชื้อซัลโมเนลลา อหิวาตกโรค และกาฬโรค เป็นต้น
โรคบางโรคในกลุ่มนี้ เช่น โรคมาลาเรีย เป็นโรคที่เป็นอันตรายร้ายแรง เพราะทำให้ประชากรต้องเสียชีวิตปีละมากๆ เป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจ และอนามัย บุคคลทั่วโลกเห็นความสำคัญของการสูญเสียนี้ จึงจัดให้มีการประชุมแผนงานพิเศษโรคเมืองร้อนในประเทศไทย เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๗ โดยเป็นแผนงานระหว่างแผนพัฒนาของสหประชาชาติ ธนาคารโลก และองค์การอนามัยโลก สำหรับควบคุมโรคเมืองร้อน เช่น โรคมาลาเรีย โรคเท้าช้าง และโรคเรื้อน เป็นต้น