โรคระบบการหายใจ
ระบบการหายใจ คือ ส่วนของอวัยวะของ ร่างกายที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการหายใจ และแลกเปลี่ยนก๊าซ ระบบการหายใจอาจแบ่งได้เป็น
ก. ทางเดินหายใจส่วนบน ซึ่งประกอบด้วยจมูก จมูกร่วมคอหอย (nasopharynx) คอหอย (pharynx) และกล่องเสียง (larynx)
ข. ทางเดินหายใจส่วนล่าง ซึ่งประกอบ ด้วยหลอดคอ (trachea) หลอดลม (bronchi) และ ปอดทั้งสองข้าง
อาการที่พบบ่อยๆ ในโรคระบบการหายใจ มี ดังนี้
ไอ
เป็นอาการที่พบได้บ่อยที่สุด อาการไอเกิดจากมีการกระตุ้น หรือการระคายเคืองต่อเยื่อบุทางเดินหายใจ ตั้งแต่ส่วนคอหอย จนถึงหลอดลมเล็กๆ อาการไอที่เกิดเนื่องจากการกระตุ้นที่คอหอย เช่น ในภาวะคอหอยอักเสบ มักจะมีลักษณะแห้งๆ และไอติดต่อกัน แต่อาจจะเป็นพักๆ ได้ ถ้ามีเสมหะไปเกาะติดที่คอหอย อาการไอจะมีเสียงดัง ถ้าหากการกระตุ้น หรือการระคายเคืองนั้น อยู่ที่บริเวณกล่องเสียง เช่น จากกล่องเสียงอักเสบ อาการไอจะมีลักษณะแห้ง เจ็บ คล้ายเสียงเห่า (barking) แต่ถ้าสายกล่องเสียง (vocal cord) เคลื่อนไหวไม่ได้ เสียงไอและแหบ ถ้ามีอาการไอติดต่อกันหลายๆ ครั้งจนหายใจเข้าไม่ทัน เช่น ไอกรน (whooping cough) เมื่อผู้ป่วยไอจนครบชุด จะมีเสียง "วู้บ" เพราะหายใจเข้าเร็ว และเต็มที่ ในผู้ป่วยหลอดลมอักเสบ อาการไอจะมีเสียงหยาบ (harsh) แห้ง เจ็บ และอาจมีเสมหะ ซึ่งมีลักษณะใสหรือขาวข้น ปนหนอง หรือเป็นหนองออกมาก็ได้ ถ้าหากมีการอุดกั้นของหลอดลม และมีอาการไอรุนแรง ผู้ป่วยอาจเป็นลม และมีมือเท้าเขียวคล้ำได้
ไอเป็นเลือด
มีหลายชนิด คือ
ก. ไอเป็นเลือดสด พบในโรคหลอดลมพอง วัณโรค เป็นต้น
ข. ไอปนเลือด มีเสมหะ และเลือดปนกับเสมหะ ไม่เป็นเนื้อเดียวกัน พบในโรคหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน และเรื้อรัง มะเร็งของหลอดลม ฝีในปอด เป็นต้น
ค. ไอเป็นสายเลือด มีเลือดเป็นสายปนกับเสมหะ ไม่เป็นเนื้อเดียวกัน พบในโรคหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน และเรื้อรัง มะเร็งของหลอดลม เป็นต้น
ง. ไอมีเสมหะเป็นสีสนิม เพราะมีเลือดเก่าๆ ปนมาด้วย พบในโรคปอดบวม เป็นต้น
เจ็บหน้าอก
มีลักษณะและบริเวณที่รู้สึกเจ็บแตกต่างกันตามสาเหตุดังนี้
ก. เจ็บหน้าอก เพราะกล้ามเนื้ออักเสบ มักมีอาการเจ็บเฉพาะที่ และเจ็บเมื่อใช้มือกดที่บริเวณนั้น
ข. เจ็บหน้าอก เพราะเยื่อหุ้มปอดอักเสบ มักเจ็บตรงบริเวณที่มีอาการอักเสบ และมักเจ็บมาก เมื่อเวลาหายใจเข้าลึกๆ หรือเวลาไอ ทำให้ผู้ป่วยต้องหายใจตื้นๆ
ค. เจ็บหน้าอก เพราะเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ มักเป็นตรงบริเวณหัวใจ และเจ็บตลอดเวลา อาจมีลักษณะในข้อ ข. ร่วมด้วย ถ้าการอักเสบลุกลามถึงเยื่อหุ้มปอด
ง. เจ็บหน้าอก เพราะหัวใจ เช่น ในภาวะหลอดเลือดแดงหัวใจโคโรนารี (coronary srtery) ตีบ มักมีอาการแน่นหน้าอกบริเวณหรือหลังกระดูกสันอก (retrosternum) โดยเฉพาะจะเจ็บหรือปวดมาก เมื่อเวลาออกกำลังกาย เช่น เดิน ขึ้นบันได และอาการเจ็บจะหายไปเมื่อพัก อาจมีปวดร้าวไปถึงหัวไหล่ คอและแขน
จ. เจ็บหน้าอก เพราะหลอดลมอักเสบ มักมีอาการแน่นหน้าอกบริเวณหลังกระดูก อาจเจ็บตลอดเวลา และเจ็บมาก เมื่อเวลาไอ
ฉ. เจ็บหน้าอก เพราะประสาท เช่น โรคของรากประสาทสันหลัง (posterior nerve root) จะปวดร้าวไปตามแขนงของประสาทอินเทอร์คอสทัล(intercostal nerve) ซึ่งอยู่ตามแนวกระดูกซี่โครง และปวดตลอดเวลา พบในโรคงูสวัด (herpes zoster) เป็นต้น
อาการหายใจลำบาก
หมายถึง ภาวะ ซึ่งผู้ป่วยต้องใช้ความพยายาม หรือใช้แรงในการหายใจ การหายใจลำบากไม่มีความสัมพันธ์กับความเร็วของการหายใจ กล่าวคือ อาจเกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วยหายใจถี่ หรือหายใจช้าก็ได้ นอกจากนี้ คนที่หายใจเร็ว (tachypnoea) ก็ไม่จำเป็นต้องมีอาการหายใจลำบากร่วมด้วย เช่น การหายใจเร็วจากการออกกำลังกาย การหายใจเร็วในผู้ป่วยโรคปอดบวม และยูรีเมีย (urawmia) ถ้าอาการหายใจลำบากมีความรุนแรงมาก ผู้ป่วยอาจต้องนั่ง (orthopnoea) เพราะจะทำให้การหายใจสะดวกขึ้น
อาการหายใจลำบากอาจมีสาเหตุเกิดขึ้นได้หลายอย่างดังนี้
ก. สาเหตุเกี่ยวกับทางเดินหายใจ เช่น ทางเดินหายใจอุดกั้น หน้าที่ของปอดถูกทำลาย เป็นต้น
ข. สาเหตุเกี่ยวกับหัวใจ เช่น การทำงานของหัวใจไม่ดี เนื่องจากกล้ามเนื้อบางส่วนของหัวใจตาย หรือลิ้นหัวใจรั่ว ในผู้ป่วยที่มีอาการซีกซ้ายของหัวใจวาย อาการหายใจลำบากอาจเกิดขึ้นในเวลากลางคืน และเป็นพักๆ เป็นต้น
ค. สาเหตุเกี่ยวกับประสาท ทำให้การควบคุมการหายใจไม่ดี เช่น ในโรคไขสันหลังอักเสบ เป็นต้น
ผู้ป่วยที่หายใจลำบากอาจมีอาการหอบหืด (wheeze) ร่วมด้วย อาการนี้เกิดขึ้น เนื่องจากมีการหดเกร็งของกล้ามเนื้อรอบๆ หลอดลม ทำให้ผู้ป่วยหายใจเข้าออกไม่สะดวก เวลาหายใจอาจมีเสียงดัง "หวีดหวือ" ให้ได้ยินชัดเจน แม้ไม่ใช้เครื่องฟังช่วย อาการนี้พบได้ในโรคหืด หลอดลมอักเสบ เป็นต้น
ภาวะการหายใจวาย
ภาวะการหายใจวาย คือ ภาวะ ซึ่งปอดไม่สามารถจะทำงานให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย และมีผลทำให้มีการคั่งค้างของคาร์บอนไดออกไซด์ และ มีการขาดออกซิเจนในเลือด
มีสาเหตุได้หลายประการ คือ
๑. หลอดลมตีบตัน เช่น โรคหืด โรคหลอดลมอักเสบรุนแรง เป็นต้น
๒. เนื้อปอดถูกทำลาย เช่น ปอดบวมมาก มีสารน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอดมาก มีอากาศในเยื่อหุ้มปอดมาก เป็นต้น
๓. กล้ามเนื้อการหายใจเสียหน้าที่ เช่น โรคไขสันหลังอักเสบ โรคไมแอสทีเนียกราวิส (myasthenia gravis) เป็นต้น
๔. ศูนย์การหายใจในเมดัลลาเสียหน้าที่ เช่น เลือดออกในสมองพิษยา และจากการขาดออกซิเจนโดยสาเหตุต่าง ๆ เป็นต้น
การรักษามีหลักสำคัญๆ คือ
๑. รักษาสาเหตุ เช่น บรรเทาการตีบตันของหลอดลม โดยให้ยาหลอดลม เจาะสารน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอดออก หากมีปริมาณมาก รักษาปอดบวม โดยยาปฏิชีวนะที่ไวต่อเชื้อ เป็นต้น
๒. ให้ออกซิเจน
๓. รักษาภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะหัวใจวาย เป็นต้น
๔. แนะนำการหายใจให้ถูกวิธี โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคหอบหืด ผู้ป่วยถุงลมพอง เป็นต้น
โรคหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน
โรคหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน คือ ภาวะที่มีการอักเสบของทางเดินหายใจส่วนล่างอย่างแรง และรวดเร็ว เนื่องจากเชื้อไวรัส บัคเตรี หรือสิ่งระคายเคืองอื่นๆ
มักเริ่มมีอาการแน่นอกและเจ็บร่วมกับไอแห้งๆ ในระยะแรกๆ ของโรค เมื่อการอักเสบลุกลามลงล่างมากขึ้น ผู้ป่วยอาจมีอาการหอบหืด และหายใจลำบาก เสมหะในระยะแรกๆ จะมีสีขาวขันเหนียว แต่เมื่อมีการติดเชื้อบัคเตรีร่วม เสมหะจะมีลักษณะปนหนอง นอกจากนี้ ผู้ป่วยจะมีอาการทั่วไป เช่น มีไข้ อ่อนเพลีย หายใจเร็ว เบื่ออาหาร คลื่นไส้ และอาเจียน
โรคนี้มักหายได้เองภายใน ๒-๓ วัน แต่ถ้าได้รับการรักษาถูกวิธีจะช่วยให้หายเร็วขึ้น ในผู้ป่วยที่มีโรคของปอดหรือหลอดลมอยู่ก่อนแล้ว การที่มีโรคหลอดลมอักเสบซ้ำเติม และไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการมากขึ้น เช่น เกิดภาวะการหายใจวาย และถึงตายได้ เป็นต้น
โรคแทรกที่อาจเกิดขึ้นได้ คือ โรคปอดบวม ปอดแฟบจากการอุดกั้นของหลอดลม โดยเฉพาะในผู้ป่วย ซึ่งเป็นเด็กหรือผู้ป่วยสูงอายุไม่แข็งแรง และผู้ป่วยที่มีโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรังอยู่ก่อนแล้ว
ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ควรได้รับการพักผ่อนอย่างเพียงพอ เช่น นอนอยู่กับบ้าน ในระยะแรกๆ ที่ผู้ป่วยมีอาการไอแห้งๆ อาจให้ยาระงับไอ ถ้าหากอาการไอนั้น ทำให้ผู้ป่วยเจ็บแน่นหน้าอกมาก หรือรบกวนการนอนหลับของผู้ป่วยในเวลากลางคืน ในระยะหลังๆ ถ้าผู้ป่วยมีเสมหะเหนียว อาจให้ยาขับเสมหะ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยไอเอาเสมหะออกมาง่ายขึ้น ถ้าเสมหะมีลักษณะเป็นหนอง ซึ่งแสดงว่า มีการติดเชื้อจากบัคเตรี ผู้ป่วยควรได้รับยาปฏิชีวนะ การรักษาอย่างอื่นๆ เป็นการรักษาตามอาการ เช่น ได้ยาลดไข้หากผู้ป่วยมีไข้สูง ให้ดื่มน้ำมากๆ เพื่อบรรเทาอาการขาดน้ำ ให้อาหารทางหลอดเลือดถ้าจำเป็น และให้ออกซิเจน ถ้ามีอาการเขียวคล้ำ เป็นต้น
โรคปอดบวม
โรคปอดบวม คือ ภาวะที่มีการอักเสบของเนื้อปอด ทำให้มีหนอง โรคนี้มีหลายชนิด แต่สามารถจำแนกออกเป็น ๒ กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มที่จำแนกตามบริเวณที่เป็นโรค และกลุ่มที่จำแนกตามชนิดของเชื้อที่ทำให้เกิดโรค
ก. กลุ่มที่จำแนกตามบริเวณที่เป็นโรคปอดรวม ได้แก่
๑. โลบาร์นิวโมเนีย (lobar pneumonia) เป็นปอดบวมที่ปอดกลีบใดกลีบหนึ่ง มักเกิดจากเชื้อนิวโมค็อกไซ (Pneumococci)
๒. บรองโคนิวโมเนีย (bronchopneumonia) เป็นรอบๆ หลอดลมส่วนปลาย และกระจัดกระจายไปมากกว่ากลีบใดกลีบหนึ่งของปอด
ข. กลุ่มที่จำแนกตามชนิดของเชื้อที่ทำให้เกิดโรคปอดบวม ได้แก่
๑. บัคเตรี เช่น นิวโมค็อกไซ ฟรีดแลนเดอร์ บะซิลไล (Friedlander's bacilli) สตาฟิโลค็อกไซ สเต็พโทค็อกไซ (Streptococci) และวัณโรค เป็นต้น
๒. ไวรัส เช่น คางทูม ไข้หวัดใหญ่ หัด
๓. ริกเค็ตต์เซีย (Rickettsia) เช่น ไทฟัส (typhus) เป็นต้น
๔. เชื้อรา เช่น ฮิสโทพลาสมา แคปซูลาทุม (Histoplasma capsulatum) เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีโรคปอดบวมที่เกิดจากการหายใจเอาสารติดเชื้อเข้าไป (aspirated pneumonia) และ ปอดบวมจากสารเคมี เช่น ดื่มน้ำมันก๊าด แล้วมักจะสำลักทำให้ปอดบวม
โรคปอดบวมที่เกิดจากเชื้อบัคเตรีนิวโมค็อกไซ
มักเป็นทั้งกลีบของปอด และมักจะพบได้ทุกอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพบได้บ่อยในวัยเด็ก และวัยชรา และในฤดูหนาวผู้ป่วยมักมีอาการเริ่มต้นทันที โดยมีไข้ ไข้อาจจะสูงติดต่อกัน ตัวร้อน หน้าแดง การหายใจมักเร็วกว่าธรรมดา ผิวหนังอาจมีลักษณะเขียวคล้ำคลื่นไส้ และอาเจียน อาการไอมักทำให้ผู้ป่วยเจ็บหน้าอก เสมหะเหนียว และมีสีสนิม
โรคปอดบวมที่เกิดจากเชื้อบัคเตรีสตาฟิโลค็อกไซ
มักพบในเด็ก และอาจเป็นโรคแทรกที่อันตรายของโรคไข้หวัดใหญ่ อาการโดยทั่วไป คล้ายคลึงกับปอดบวมชนิดนิวโมค็อกไซ เสมหะมักมีลักษณะเป็นหนอง และอาจมีเลือดปน
โรคปอดบวมที่เกิดจากเชื้อบัคเตรีฟรีดแลนเดอร์
พบได้น้อย มักจะเป็นชนิดเป็นทั้งกลีบของปอด และมักมีอาการทั่วไปมาก เสมหะเหนียว เป็นหนอง และมักมีสีเขียวจาง โรคปอดบวมชนิดนี้จะดำเนินต่อไปเป็นฝีในปอด ทำให้มีอัตราตายสูง
การวินิจฉัยโรคอาศัยจากอาการ อาการแสดง และการตรวจเสมหะ ทั้งโดยการย้อมสีดูเชื้อโดยตรง และโดยการเพาะเชื้อ เพื่อแยกชนิดของจุลินทรีย์ ซึ่งจะช่วยในการเลือกยารักษาโรคได้ด้วย การเอกซเรย์ทรวงอก จะช่วยบอกบริเวณที่มีปอดบวม และช่วยในการติดตามการดำเนินของโรค
โรคแทรกที่อาจเกิดขึ้นได้มีดังนี้
๑. หายช้ากว่าธรรมดา ถ้าหากผู้ป่วยได้รับการรักษาแล้วหายช้ากว่าธรรมดา อาจเป็นเพราะยาปฏิชีวนะที่ให้ไม่ไวต่อเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุ มีโรคแทรกอย่างอื่นร่วมด้วย หรือมีโรคอื่นร่วมด้วย เช่น มะเร็งของหลอดลม เป็นต้น
๒. มีสารน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด
๓. มีหนองในโพรงเยื่อหุ้มปอด
๔. มีการอักเสบของถุงหุ้มหัวใจด้านนอก ถุงหุ้มหัวใจด้านใน หัวใจวาย และเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น
การรักษาทำได้ดังนี้
๑. การรักษาเฉพาะ โดยให้ยาปฏิชีวนะที่ไวต่อเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุ และให้ในขนาดที่พอเพียง
๒. การรักษาทั่วไป เช่น การให้ยาลดไข้หากมีไข้สูง ยาแก้ปวด หากมีการเจ็บหน้าอกมาก ให้สารน้ำทางหลอดเลือดหากผู้ป่วยมีอาการขาดน้ำและให้ออกซิเจนหากผู้ป่วยมีอาการเขียวคล้ำ เป็นต้น
โรคฝีในปอด
โรคฝีในปอด คือ ภาวะที่มีหนองร่วมกับมีการตายเฉพาะที่เกิดขึ้นภายในเนื้อปอด มีสาเหตุดังนี้
๑. จากการหายใจเอาสารติดเชื้อเข้าทางหลอดลม เช่น จากสิ่งแปลกปลอมภายนอก จากการถอนฟัน และจากการผ่าตัดต่อมทอนซิล (tonsil) เป็นต้น
๒. จากการรักษาโรคปอดบวมไม่ดี
๓. จากการอุดกั้นของหลอดลม เช่น จากมะเร็งของหลอดลม เป็นต้น
๔. จากฝีในตับหรือฝีใต้กะบังลมแตกทะลุขึ้นมาในเนื้อปอด
โรคอากาศในทรวงอก
โรคอากาศในทรวงอก หรือโรคนิวโมทอแร็กซ์เกิดเอง (spontaneous pneumothorax) คือ ภาวะ ซึ่งมีอากาศในโพรงเยื่อหุ้มปอด ที่มิได้เกิดจากการถูกแทง หรือจากการใส่อากาศ โดยแพทย์ทำ (artificial pneumothorax)
สาเหตุที่พบบ่อยที่สุด คือ การแตกของเม็ดตุ่มพอง (vesicle) เล็กๆ ซึ่งอยู่ใต้เยื่อหุ้มปอดด้านที่ติดต่อกับเนื้อปอด (visceral pleura) ทำให้อากาศในถุงลมถ่ายเทเข้าสู่เยื่อหุ้มปอด
การที่มีอากาศในโพรงเยื่อหุ้มปอด ทำให้เนื้อปอดแฟบลง อาการของผู้ป่วย ขึ้นอยู่กับปริมาตรของอากาศ และความเร็ว (หรือชนิด) ที่อากาศสะสมในโพรงเยื่อหุ้มปอด ถ้ามีอากาศเพียงเล็กน้อย และเป็นชนิดปิด ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการ หรือมีแต่เพียงเจ็บหน้าอกเล็กน้อย อาการเจ็บหน้าอก ถ้ามี มักเกิดทันที และอาจเกิดภายหลังการออกกำลังกาย ผู้ป่วยที่มีปริมาตรของอากาศในโพรงเยื่อหุ้มปอดมาก และสะสมอย่างรวดเร็ว มักมีอาการแน่นหน้าอก และหายใจลำบาก ซึ่งถ้าไม่ได้รับการรักษาโดยทันท่วงที อาจถึงแก่ความตายจากการหายใจวายได้
ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ควรได้รับการพักผ่อน และกินยาระงับปวดหากมีอาการเจ็บหน้าอกมาก การรักษาอื่นๆ ขึ้นอยู่กับขนาดของอากาศในโพรงเยื่อหุ้มปอด และอาการของผู้ป่วย ในผู้ป่วยที่เป็นเท็นชันนิวโมทอแร็กซ์ (tension pneumothorax) จำเป็นต้องเจาะโพรงเยื่อหุ้มปอดทันที เพื่อให้อากาศออกช่วยบรรเทาอาการ แล้วจึงใส่ท่อยางในโพรงเยื่อหุ้มปอด โดยมีอีกปลายหนึ่งอยู่ใต้น้ำ