ช่วงชีวิตที่เปลี่ยนผัน จากวัยนักเรียน ม.ปลาย เข้าสู่ชีวิตนิสิตนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัย จึงมีเรื่องราวใหม่ ๆ มากมายให้ได้เรียนรู้ และทำความรู้จักให้คุ้นชิน วันนี้รวบรวมคำศัพท์ติดปากของพี่ ๆ มหาวิทยาลัย ศัพท์ในมหาวิทยาลัยที่น้องใหม่ควรรู้ เพื่อให้เข้าใจความหมายที่แท้จริงว่าที่เขาพูด ๆ กันมันหมายความว่ายังไง และเพื่อเวลาได้เข้าไปใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยแล้ว จะได้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร มั่นใจได้เลยว่าเราไม่ได้พลาดอะไรไป
การหยุดเรียนวิชาต่าง ๆ ที่ได้ทำการลงทะเบียนเรียนไว้แล้ว แต่ไม่สามารถเข้าเรียนได้ สาเหตุของการดรอปเรียนมีทั้งหมด 4 ข้อด้วยกัน
1. คะแนนสอบกลางภาค (Midterm) ออกมาไม่ดี และมีแนวโน้มว่าจะติด F
2. มีปัญหาสุขภาพ ช่วงชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย มีหลายคนประสบอุบัติเหตุรถชน เกิดโรคภัยไข้เจ็บเป็นจำนวนมาก จึงทำให้ต้องหยุดการเรียนชั่วคราว เพื่อรักษาตัวให้หายก่อน ถึงสามารถกลับมาเรียนได้
3. ได้ทุน เมื่อเข้ามาเรียนมหาวิทยาลัย น้อง ๆ จะพบว่ามหาวิทยาลัยมีทุนแลกเปลี่ยนกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศเยอะมาก ทั้งทุนเต็มจำนวนที่ออกให้ตั้งแต่สากกะเบื่อยันเรือรบเลยที่เดียว ทำให้มีคนตัดสินใจคว้าทุนเหล่านั้นเอาไว้ แต่ต้องแลกกับการหยุดเรียนและจบไม่พร้อมกับเพื่อน ๆ
4. ซิ่วไปคณะอื่น มหาวิทยาลัยอื่น วิธีการนี้เป็นที่นิยมมากสำหรับเด็กปี 1 ที่เพิ่งเข้ามาเรียนมหาวิทยาลัยใหม่ ๆ และค้นพบว่าไม่ชอบคณะที่เรียน จึงตัดสินใจซิ่วไปเรียนคณะอื่นแทน หรือบางคนมีมหาวิทยาลัยในดวงใจ มุ่งมั่น อยากเข้าให้ได้ จึงตัดสินใจดรอปเพื่ออ่านหนังสือ หัดทำแบบฝึกหัดเพื่อทำข้อสอบอีกครั้ง
W ย่อมาจาก Withdraw ที่แปลว่าถอนนั้นเอง ดังนั้น การติด W เกิดจากการเปลี่ยนใจไม่อยากลงทะเบียนเรียนวิชาในบางวิชา จึงตัดสินใจถอนวิชาเรียนที่ได้ทำการลงทะเบียนออกจากตารางเรียน แต่กลับถอนวิชาเรียนเลยช่วงระยะเวลาที่เปิดให้ลงทะเบียนไปแล้ว ซึ่งก็คือหลัง 2 สัปดาห์จากการเปิดเทอม ส่งผลให้ติด W และใครที่ดรอปเรียนจะได้ W มาอยู่ในทรานสคริปเหมือนกัน
เป็นไปไม่ได้ที่หลายๆ คนจะไม่ได้ยินกิตติศัพท์ความน่ากลัวของเจ้าเกรด F ตัวนี้ F คือ เกรดชนิดหนึ่งที่มีค่าคะแนนต่ำสุด ถ้าเปรียบเทียบเป็นตัวเลข F คือ เกรด 0 นั่นเอง เป็นเกรดที่ไม่มีใครอยากได้ไปครอบครองสักเท่าไร แต่สำหรับใครที่ได้เจ้าเกรดตัวนี้มาประดับในใบเกรด จะต้องทำการลงทะเบียนในวิชาที่ได้เกรด F ใหม่อีกครั้ง เพื่อให้ได้เกรดที่ดีขึ้น
นอกจากเกรด A เกรด B เกรด C เกรด D เกรด F ในรั้วมหาวิทยาลัยยังให้เกรด V กับนักศึกษาอีกด้วย เกรด V หรือย่อมาจาก Visting คือ เกรดที่ได้จากการเป็นผู้ร่วมการศึกษา เป็นเกรดสำหรับคนที่อยากลงวิชาเรียนบางตัว แต่ไม่ต้องการให้นำเกรดวิชานี้มาคิดและประมวลผลเป็นเกรดเฉลี่ยรวม โดยคนที่จะได้เกรดตัวนี้ต้องเข้าเรียนและส่งงานเหมือนเพื่อนคนอื่น ๆ ในห้องเรียน แต่ถ้าเข้าเรียนต่ำกว่าที่กำหนดไว้กับอาจารย์ประจำวิชา จะทำให้เปลี่ยนจากเกรด V มาติด W แทน
เปอร์ (per) มีชื่อเต็ม ๆ ว่า Super Seniors หมายถึง การเรียนเกินระยะเวลาที่หลักสูตรกำหนดไว้ สมมติหลักสูตรกำหนดให้เรียนจบภายใน 4 ปี แต่ใครที่เรียนจบ 5 ปีหรือใช้ระยะเวลาเรียนมากกว่านั้นจะถูกเรียนกันว่าเด็กเปอร์ แต่ไม่ใช่ว่าจะเรียนเกินระยะเวลาที่หลักสูตรกำหนดได้นานเท่าไรก็ได้นะแต่ละมหาวิทยาลัยจะกำหนดไว้อยู่ว่าให้เรียนได้ถึงกี่ปี ถ้าอยู่เกินกว่าเกณฑ์ที่มหาวิทยาลัยกำหนดจะต้องถูกรีไทร์ออก สำหรับที่เรียนเกินระยะเวลาที่หลักสูตรกำหนดและถูกรีไทร์ออก แต่อยากเรียนต่อคณะเดิม จะต้องเริ่มเรียนวิชาในคณะใหม่หมดเหมือนเด็ก ๆ ปี 1 ที่เพิ่งเข้ามา
รีไทร์ ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าเกษียณอายุราชการ แต่หมายถึงการเกษียณออกจากการเป็นนักศึกษา เนื่องจากได้เกรดเฉลี่ยสะสมน้อยกว่าที่ทางมหาวิทยาลัยกำหนด ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่าย ๆ สำหรับปี 1 มหาวิทยาลัยกำหนดไว้ว่านักศึกษาต้องได้เกรดเฉลี่ยรวมมากกว่า 1.50 ถ้าได้น้อยกว่าที่กำหนดจะถูกเชิญออกจากมหาวิทยาลัยนั้นเอง แต่ไม่ใช่ภายพ้นปี 1 แล้วจะทำตัวเกเร ไม่ตั้งใจเรียนไม่ได้นะ ไม่ใช่แค่ปี 1 เท่านั้นที่ถูกรีไทร์ ไม่ว่าจะอยู่ปีไหน ๆ ถ้าไม่สามารถรักษาเกรดตามเกณฑ์ที่มหาวิทยาลัยกำหนดไว้ไม่ได้ มีสิทธิถูกรีไทร์ออกจากการเป็นนักศึกษาได้เช่นกันนะจ๊ะ
เซคเป็นหน่วยย่อยของวิชาเรียน ใน 1 วิชาเรียนจะมีเซคย่อย ๆ โดยจะมีอาจารย์ วิชาเรียน ห้องเรียน เวลาเรียน ที่แตกต่างกันไป เพื่อแบ่งย่อยให้นักศึกษามีตัวเลือกในการลงทะเบียนเรียนและยังสามารถจัดตารางเรียนให้เหมาะสมกับตัวผู้เรียนเองได้
พวกน้อง ๆ คงเคยได้ยินและเรียกทับศัพท์กันมาหลายครั้งแล้วใช่มั้ย แต่คงไม่เคยรู้ความหมายที่แท้จริงของคำ ๆ นี้ว่าแปลว่าอะไรกันใช่มั้ยเอ่ย เลคเซอร์ (Lecture) แปลเป็นภาษาไทย หมายถึง การบรรยาย ถ้ามีเขียนติดอยู่ที่ตารางเรียนให้รู้ไว้เลยว่าวิชาที่เรียนนั้นเน้นการสอนด้วยการบรรยายเป็นหลัก และแอบให้ความรู้เพิ่มเติมเล็ก ๆ น้อย ๆ ถ้าเจออีกคำที่คล้าย ๆ กัน คือ Lecturer รู้ไว้ว่านั้นหมายถึงชื่ออาจารย์ผู้บรรยายในการสอนวิชานั้น ในมหาวิทยาลัยจะไม่ค่อยเรียกอาจารย์ว่า Teacher เหมือนกับสมัยมัธยม แต่จะเรียกเป็น Lecturer แทน
เมื่อนึกถึงคำนี้ ภาพที่ตามมาคงนี้ไม่พ้นแลปวิทยาศาสตร์ มีนักวิทยาศาสตร์ใส่ชุดขาวทำการทดลอง มีอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ สารเคมีต่าง ๆ อยู่เต็มโต๊ะ จนทำให้เด็กสายศิลปศาสตร์ สังคมศาสตร์งงกันเป็นไก่ตาแตกว่าพวกเราต้องทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์ด้วยหรอ ? แต่เด็กสายศิลป์ สายสังคมก็มีวิชาแลปเช่นเดียวกัน แลปในที่นี้หมายถึงวิชาที่ต้องลงพื้นที่นอกห้องเรียนออกไปศึกษาหาข้อมูลความรู้เพิ่มเติม
หน่วยกิต เป็นจำนวนตัวเลขสมมติที่สร้างขึ้นเพื่อบอกปริมาณการศึกษาของรายวิชาหรือหลักสูตรต่าง ๆ นอกจากนี้ยังบอกได้อีกว่าต้องเรียนกี่ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และยังสามารถบอกถึงความสำคัญของวิชานั้น ๆ ได้อีกด้วย เช่น วิชา Communication Research 3 หน่วยกิต เลข 3 ตัวนี้หมายความว่าต้องเรียนวิชานี้ 3 ชั่วโมง/สัปดาห์ และวิชานี้มีความสำคัญมาก ๆ ถึงให้เลขสมมติ 3 หน่วยกิต ถ้าไม่สำคัญหน่วยกิตจะน้อยกว่า 3 ซึ่งอาจจะเป็น 2 หรือ 1 หน่วยกิต
เรื่อง : พิชญา เตระจิตร