หลายคนใช้ชีวิตเด็กมหา’ลัยได้คุ้มค่ามาก ไม่ใช่กับการเรียนหรอกนะครับน้อง ๆ แต่เป็นการเที่ยวสังสรรค์มากเกินไปจนลืมว่าอะไรต้องให้ความสำคัญเป็นสิ่งแรก ส่งผลให้หลายต่อหลายคนเสียการเรียนไปโดยปริยายทั้งที่เป็นคนเก่ง มีความสามารถ ยิ่งได้อยู่กับเพื่อนที่ชอบเที่ยวเหมือนกันล่ะก็ยิ่งไปกันใหญ่เลยล่ะ นอกจากการเรียนแย่ลงอย่างเห็นได้ชัดแล้วยังไม่มีสมาธิ ง่วงนอนตลอดเวลาอีกต่างหาก บางคนก็ขาดเรียนซะเลยเพราะคิดว่าคงไม่เป็นอะไรหรอกมั้งแค่ขาดเรียนไม่กี่คาบ ถ้าน้อง ๆ อยากให้ตัวเองเรียนจบพี่ขอบอกเลยครับว่าการพบปะสังสรรค์กับเพื่อน ๆ เป็นสิ่งที่ทำได้ แต่ควรพอดี รู้ขอบเขต ไม่มากจนส่งผลเสียต่อการเรียนนะครับ ไม่อยากนั้นฝันของน้อง ๆ และครอบครัวคงสลายลงระหว่างทางแน่นอน ขอบอก !!
ทะเลาะเตะต่อยกับเพื่อนตอนมัธยมก็คงเข้าห้องปกครอง โดนทำโทษเล็ก ๆ น้อย ๆ ตัดคะแนนความประพฤติ เชิญผู้ปกครอง แต่การทะเลาะวิวาทสำหรับมหา’ลัยมีอะไรมากกว่านั้น น้อง ๆ อาจถูกพักการเรียนหรือขั้นร้ายแรงอาจถูกไล่ออกก็ได้ ดังนั้นถ้ามีปัญหากับเพื่อน รุ่นพี่ หรือรุ่นน้องก็ควรพูดคุยปรับความเข้าใจกันให้ดี ถ้าคุยแล้วตกลงกันไม่ได้ก็ให้ผู้ใหญ่เข้ามาช่วยจะดีที่สุด เพราะถ้าความขัดแย้งของทั้งสองฝ่ายจบลงด้วยการใช้กำลัง อนาคตการเรียนในมหา’ลัยของน้อง ๆ จบลงเช่นกัน
ถ้าน้อง ๆ ไม่ส่งงานที่อาจารย์สั่งหรือตามสอบย่อยให้เรียบร้อย ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าไม่มีคะแนนเก็บชัวร์ !! ถ้าจะหวังน้ำบ่อหน้าคือคะแนนสอบปลายเทอมเห็นทีจะยากแน่นอนครับน้อง ๆ แม้บางคนจะมั่นใจว่าคะแนนช่วงโค้งสุดท้ายถึงเกณฑ์แน่นอน แต่รู้ไหมครับว่าอาจารย์ท่านก็คงไม่ให้ผ่านวิชาเรียนง่าย ๆ หรอกครับถ้าน้องไม่ทำงานส่ง เพราะแสดงถึงความไม่รับผิดชอบ รู้อย่างนี้แล้วก็จัดการงานที่คั่งค้างให้เสร็จทันเวลานะครับจะได้ไม่ต้องมาฟูมฟายเสียใจทีหลังที่ต้องเรียนจบหลังเพื่อนคนอื่นหรือโดนไล่ออกเพราะเกรดไม่ถึง !!
ในแต่ละเทอมน้อง ๆ ต้องลงทะเบียนเรียนซึ่งจะแตกต่างจากตอนมัธยมที่โรงเรียนส่วนใหญ่ จะจัดวิชาเรียนให้เอง อาจจะเลือกเองบ้างในวิชาเสรีหรือเพิ่มเติม ฉะนั้นน้อง ๆ ต้องเลือกลงทะเบียนเรียนให้ครบวิชาและหน่วยกิตตามที่สาขาหรือมหา’ลัยกำหนดไว้ ในกรณีที่รู้ตัวเองว่าตกค้างหรือลงไม่ทันเพื่อนก็ต้องพยายามตามเก็บให้ครบในเทอมต่อ ๆ ไป แม้จะช้ากว่าคนอื่นแต่อย่ากลัวเลยครับ ขอให้เราตั้งใจซะอย่างรับรองเรียนจบแน่นอน แต่ถ้าน้อง ๆ เพิกเฉย ไม่สนใจ ใครจะเรียนอะไรก็ช่างเขาเถอะ ถ้าคิดอย่างนี้รับรองว่าไปไม่รอดแน่นอนเหมือนกันครับ
นอกจากการเรียนการสอนแล้วทุกมหา’ลัยจะมีกิจกรรมให้น้อง ๆ ได้เข้าร่วมอยู่บ่อยครั้ง อาจจะเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นแบบอิสระ ใครจะเข้าก็ได้ แต่ถ้าเป็นกิจกรรมที่กำหนดว่า “ต้องเข้าร่วม” ข้อนี้ น้อง ๆ ก็ต้องปฏิบัติตามนะครับเพราะมีผลต่อการจบด้วยยังไงล่ะ อย่างมหา’ลัยที่พี่จบมาก็มีกิจกรรมนอกชั้นเรียนที่กำหนดไว้ว่านิสิตทุกคนต้องเข้าให้ครบ 100 ชม. ตามที่กำหนด ภายใน 4 - 5 ปีที่ศึกษา ถ้าใครไม่ผ่านก็ไม่จบ แม้จะได้เกียรตินิยมสวย ๆ ไปแล้วก็เถอะ !!
ก่อนจบการศึกษาในชั้นปีสุดท้าย เกือบทุกที่ทุกสาขาจะกำหนดให้น้อง ๆ ทำโปรเจ็กต์จบหรือบางที่อาจเรียกว่า สารนิพนธ์ ปริญญานิพนธ์ หรือทีสิสก็แล้วแต่ ซึ่งแน่นอนว่าระดับความยากก็พอตัวเลยทีเดียว เพราะเหมือนการประมวลความรู้ที่น้อง ๆ เรียนมาทั้งหมดผ่านหัวข้อที่ตัวเองสนใจที่จะศึกษาเป็นพิเศษ ฉะนั้นการเลือกหัวข้อก็ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษนะครับ นอกจากไม่ซ้ำ ไม่คัดลอกของคนอื่นแล้วก็ต้องไม่ยากจนเกินไปจนเราเองก็ไม่เข้าใจสิ่งที่ตัวเองกำลังทำอยู่ ไม่อย่างนั้นน้อง ๆ ไม่จบแน่นอนครับ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าอาจารย์ค่อนข้างให้ความสำคัญต่องานเหล่านี้มาก เพราะถ้างานของใครดี น่าสนใจ ก็สามารถเผยแพร่เป็นความรู้แก่คนอื่นได้ แต่ถ้าตรงกันข้ามมันคงไม่ดีแน่ ๆ !! พี่จึงขอย้ำอีกครั้งว่าให้น้อง ๆ เลือกหัวข้อหรือประเด็นที่ไม่ยากเกินไป ถ้าเป็นสิ่งที่เราชอบหรือสนใจด้วยจริง ๆ จะดีมากเลยครับ
การเรียนจบนอกจากจะแสดงถึงวุฒิทางการศึกษาแล้วนั้น น้อง ๆ รู้ไหมครับว่ายังทำให้เห็นความอดทนเพียรพยายามของน้อง ๆ อีกด้วยล่ะ ถ้าไม่พยายามคงจบยากแน่ ๆ เพราะต้องยอมรับว่าการเรียนมหา’ลัยในปัจจุบันก็ยากพอตัวเลย แต่เมื่อน้อง ๆ ผ่านมาได้ก็พิสูจน์ให้ใครหลายคนได้เห็นศักยภาพในตัวน้องอีกขั้นหนึ่งล่ะ นอกจากนี้ยังทำให้พ่อแม่ภูมิใจอีกต่างหาก ตอนนี้น้องคนไหนกำลังท้อถอยก็ให้ถึงวันที่คนในครอบครัวพร้อมหน้าไปร่วมแสดงความยินดีในวันรับปริญญาฯ ดูสิ พี่เชื่อว่าน้อง ๆ จะมีกำลังใจมากขึ้นเลยล่ะครับ
พี่อยากให้น้อง ๆ ทุกคนเห็นความสำคัญของประเด็นที่นำมาฝากกันนะครับ เพื่ออนาคตของน้อง ๆ เอง ซึ่งพี่เห็นว่าน้อง ๆ ได้เข้ามาครึ่งหนึ่งของความฝันแล้ว อย่าให้ความพลั้งเผลอ ผิดพลาดเพียงไม่กี่ครั้งทำให้อนาคตต้องดับลงระหว่างทาง ดังนั้นอะไรที่ดีก็ทำให้สุดความสามารถ อะไรที่ไม่ดีก็อย่าทำเลยครับ เพราะผลลัพธ์ได้ไม่คุ้มเสีย
เรื่อง : ภานุวัฒน์ มานพ