ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ
การจัดตั้งแผนกบริการโลหิตขึ้นภายในสภากาชาดไทยนั้น มีดำริขึ้นสืบเนื่องจากมติของสันนิบาตกาชาดสากลครั้งที่ ๑๗ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๒ ซึ่งมีมติว่าให้สภากาชาดของแต่ละชาติ พยายามดำเนินงานการบริการโลหิตขึ้นภายในองค์การ ดังนั้น สภากาชาดไทยจึงได้เริ่มดำเนินการตั้งแผนกบริการโลหิต ขึ้น กับกองวิทยาศาสตร์สภากาชาดไทย ซึ่งรู้จักกันทั่วไปในนามของสถานเสาวภา โดยมีนายแพทย์เฉลิม บูรณานนท์เป็นผู้อำนวยการ คนแรก ต่อมา ได้รับการส่งเสริมให้เป็นศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๙ และในปีเดียวกันนี้ คณะรัฐมนตรีได้ลงมติรับข้อเสนอของรัฐบาลฝรั่งเศส ที่จะให้ความช่วยเหลือด้านผู้เชี่ยวชาญ ทุนฝึกอบรม เครื่องมือ และรถบริจาคโลหิตเคลื่อนที่ โดยมีฝ่ายรัฐบาลไทยรับผิดชอบในการสร้างสถานที่ และออกค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน
กิจการของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติได้เจริญก้าวหน้า ตลอดมาอย่างรวดเร็ว การดำเนินงานในปัจจุบัน ได้มีการแบ่ง หน่วยงานออกเป็น
๑. แผนกธุรการ
๒. แผนกประชาสัมพันธ์
๓. แผนกเจาะเก็บโลหิต
๔. แผนกปฏิบัติการและวิจัย
๕. แผนกเตรียมเครื่องมือและน้ำยา
๖. แผนกวิจัยและการสอน
๗. แผนกพลาสมาและแปรรูปโลหิต
๘. แผนกปฏิบัติการร่วมกับองค์การอนามัยโลก
นอกจากนี้แล้ว ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติยังมีโครงการรณรงค์ ให้ประชาชนบริจาคโลหิตเป็นทาน มีจุดประสงค์ที่จะให้ สามารถเลิกซื้อขายเลือด ปี พ.ศ. ๒๕๐๔ ได้มีการจัดตั้งคณะ กรรมการจัดหาและส่งเสริมผู้บริจาคโลหิต ทำหน้าที่เผยแพร่ กิจการและเชิญชวนประชาชนให้มีจิตศรัทธาบริจาคโลหิตเพื่อ ช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์ ผู้บริจาคโลหิตได้เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี ทั้งนี้เนื่องจากพระบารมี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ จึงเป็นที่คาดหวังกันล่วงหน้าได้ว่า ประเทศไทยคงจะเลิกการซื้อขายเลือดในอนาคต อันใกล้นี้