Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ผลแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ระหว่างและหลังดมยาสลบ

Posted By Plookpedia | 10 ธ.ค. 59
2,546 Views

  Favorite

ผลแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ระหว่างและหลังดมยาสลบ

ผลแทรกซ้อนจะเกิดได้น้อยมากในมือของวิสัญญีแพทย์ที่ละเอียดรอบคอบและมีความชำนาญ นอกจากนี้โรคที่ผู้ป่วยมีอยู่เอง ยังจะมีผลที่จะทำให้ผลแทรกซ้อนเกิดมีอันตรายมากขึ้น หรือน้อยลงได้ แต่ผลแทรกซ้อนส่วนมากนั้นสามารถป้องกัน และรักษาให้หายได้ ถ้าสามารถพบได้แต่เนิ่นๆ ผลแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ คือ

๑. ระบบประสาท 

๑.๑ ถ้าให้ยามากเกินไป ผู้ป่วยจะหลับอยู่นาน 
๑.๒ ขณะที่หลับอยู่นั้น เกิดมีการขาดออกซิเจน หรือออกซิเจนไปเลี้ยงสมองไม่พอ จากสาเหตุใดก็ตาม จะทำให้หลับแล้วไม่ตื่นได้ 
๑.๓ นอกจากนี้ประสาทส่วนปลายอาจมีการชาอยู่นาน หรือชาอย่างถาวร ถ้าเผอิญเกิดมีการกดทับ หรือทำลายประสาทเส้นนั้น ซึ่งเกิดได้จากการจัดท่านอนที่ไม่เหมาะสม หรือการผ่าตัดที่ไปทำอันตรายเส้นประสาท 
๑.๔ แต่ถ้าให้ยาสลบน้อยเกินไป ผู้ป่วยก็จะรู้สึกตัวหรือเจ็บระหว่างผ่าตัด 

๒. ระบบหัวใจและการไหลเวียนเลือด 

๒.๑ อาจถูกกดมากเมื่อยามาก หรือแรงเกินไป จนทำให้หัวใจเต้นช้าลง หรือเต้นไม่สม่ำเสมอ หรือหยุดไปเลยก็ได้ ดังนั้น การดมยาผู้ป่วยทุกราย วิสัญญีแพทย์จะจับชีพจร วัดความดันอยู่เป็นระยะๆ รวมทั้งบันทึกอาการ และอาการแสดงตลอดเวลา ถ้าหัวใจทำงานน้อยลง หรือหลอดเลือดขยายตัวตัวมากเกินไป จะเป็นสาเหตุให้ความดันเลือดต่ำลง ถ้าต่ำมากจะทำให้อวัยวะต่างๆ ของร่างกายมีเลือดไปเลี้ยงน้อยลง หรือขาดเลือดไปเลี้ยง ผลแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นก็คือ อวัยวะนั้นไม่สามารถทำงานในเวลาต่อไปได้
๒.๒ แต่ถ้าให้ยาสลบน้อยเกินไปจะทำให้ความดันเลือดสูง และถ้าสูงมากก็เกิดอันตรายได้ 

การให้ผู้ป่วยดมยาสลบผ่านท่อช่วยหายใจ


๓. ระบบการหายใจ 

ยาดมสลบ หรือยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำในขนาดที่ทำให้ไม่เจ็บระหว่างผ่าตัด มักจะกดการหายใจ ดังนั้น ถ้าปล่อยให้ผู้ป่วยหายใจเอง ก็จะไม่พอ การแลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ จะไม่เป็นไรไปตามปกติ เมื่อออกซิเจนในเลือดลดลงจะเป็นผลเสียต่อการทำงานของอวัยวะต่างๆ เช่น เดียวกับระยะแรกๆ หลังการหยุดให้ยาดมสลบ ผู้ป่วยจะยังคงมียาสลบเหลือค้างอยู่ในร่างกาย เพราะมีการขับถ่ายอออกไปอย่างช้าๆ ดังนั้นอาจเกิดภาวะดังกล่าวข้างต้นได้ วิธีป้องกันคือ ให้ผู้ป่วยดมออกซิเจนต่อจนกว่าการหายใจจะกลับมาเป็นปกติ 

๔. ระบบทางเดินอาหาร 

ยาบางอย่างทำให้มีอาการคลื่นไส้อาเจียนได้ ผู้ป่วยบางคนมีการตอบสนองต่อยาไม่เหมือนกันหรือไม่เท่ากัน ดังนั้น ถ้าเกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน จากยาชนิดใดแล้วควรจำไว้ เพื่อจะได้บอกแพทย์ และแพทย์ก็จะหลีกเลี่ยงการใช้ยานั้น นอกจากนี้ ถ้าผู้ป่วยรับประทานอาหารมาก่อนถูกดมยาสลบไม่นาน (คือน้อยกว่า ๖ ชั่วโมง) อาจมีการสำลัก หรือสำรอกเศษอาหารเข้าปอดได้ง่ายมากและอาจเกิดปอดอักเสบ (aspirate pneumonia) ตามมาได้ 

๕. ระบบการทำงานของตับและไต 

ยาบางชนิดจะมีพิษต่อตับหรือไต ดังนั้นการหลีกเลี่ยงไม่ใช้ยาเหล่านั้นก็จะสามารถป้องกันผลแทรกซ้อนได้ ส่วนมากแล้ว ยาดมสลบมักจะลดเลือดที่ไปยังตับและไต ถ้าลดไม่มากเกินไปก็ไม่เป็นอันตราย ผลแทรกซ้อนที่อาจพบได้แต่พบน้อยมากคือ การทำงานของตับหรือไตล้มเหลว 

๖. ผลแทรกซ้อนอื่นๆ 

เช่น การแพ้ยาของแต่ละบุคคล อาจมีผื่นขึ้นตามหน้า ตามตัว และความดันเลือดตก นอกจากนี้ การฉีดยาเกินขนาดหรือฉีดยาผิด ก็อาจเกิดขึ้นได้

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow