Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การค้นพบยาสลบ

Posted By Plookpedia | 10 ธ.ค. 59
2,054 Views

  Favorite

การค้นพบยาสลบ

การค้นพบยาสลบนับเป็นบันไดขั้นสำคัญที่สุดของวิชาศัลยศาสตร์ แม้ว่ายาที่คลายความเจ็บปวดคือไนทรัสออกไซด์นั้น นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษชื่อ เซอร์ ฮัมเฟรย์ เดวี (Sir Humphrey Davy, ค.ศ. ๑๗๗๘-๑๘๒๙) พบมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๔๓ แต่ไม่มีใครนำมาใช้ เพื่อการผ่าตัดอย่างจริงจัง

วิลเลียม ทอมัส กรีน มอร์ตัน

 

   จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๓๘๓ ทันตแพทย์ชาวอเมริกัน ชื่อ ฮอเรซ เวลส์ (Horace Wells, ค.ศ. ๑๘๑๕-๑๘๔๘) ได้นำมาใช้ในการถอนฟันโดยไม่เจ็บ และต่อจากนั้นอีก ๒๑ เดือน มอร์ตัน (William Thomas Green Morton, ค.ศ. ๑๘๑๙-๑๘๖๘) ทันตแพทย์ชาวอเมริกันเช่นเดียวกัน ได้นำอีเธอร์ มาใช้ในการวางยาสลบแก่ผู้ป่วย ที่รับการผ่าตัด
ใน พ.ศ. ๒๓๙๐ สูติแพทย์ชาวอังกฤษชื่อ เจมส์ ยัง ซิมป์สัน (Sir James Young Simpson, ค.ศ. ๑๘๑๑-๑๘๗๐) ได้นำคลอโรฟอร์มมาใช้ในการคลอดบุตรโดยไม่เจ็บปวด

หลังจากนั้นการผ่าตัดโดยไม่เจ็บปวดก็แพร่หลายไปทั่วยุโรป และอเมริกา 

วิชาที่ว่าด้วยการวางยาสลบ หรือที่เรียกว่า วิสัญญีวิทยา ได้พัฒนาต่อมาอีกมาก มีทั้งตัวยาที่ทำให้หมดความรู้สึก และเครื่องมือที่ช่วยในการใช้ยาอย่างสะดวก และปลอดภัย จนในปัจจุบันการผ่าตัดสามารถทำได้ทุกอย่าง โดยไม่เกิดความน่ากลัวอีกต่อไป

การรักษาความเจ็บไข้ได้ป่วยได้ขยายตัวออกไปมาก สำหรับการรักษาทางศัลยศาสตร์นั้น มีหลักว่า จะกระทำเมื่อ 

๑) การรักษาทางยา หรือทางอายุรศาสตร์ ไม่สามารถจะทำให้โรคหายไปได้ 
๒) การรักษาทางศัลยศาสตร์สามารถทำให้โรคหายไปได้เร็วกว่า และดีกว่า ตลอดจนไม่เหลือความพิการไว้มาก เท่ากับรักษาโดยวิธีอื่น 

ดังนั้น เพื่อให้เข้าใจง่าย และตรงตามหลักการรักษาทางศัลยศาสตร์ตามที่กล่าวมา จึงอาจจัดประเภทของการผ่าตัดไว้เป็น ๔ ประเภท ดังนี้

๑. การรักษาบาดแผล 

บาดแผลโดยมากเกิดจากการบาดเจ็บ อาจมองเห็นได้จากภายนอก เช่น มีดบาด หนามตำ สุนัขกัด ไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ฯลฯ หรือมองไม่เห็นจากภายนอก เช่น ม้ามแตก กระเพาะอาหารทะลุ กระดูกหัก หรือเลือดออกในสมอง เป็นต้น

แผลเป็นที่เกิดจากไฟไหม้และรักษากันเอง


บาดแผลถ้าเป็นเล็กน้อย โดยมากจะหายไปเองบาดแผลใหญ่โตที่มีการฉีกขาดของเนื้อและเอ็น ถ้าปล่อยไว้อาจอักเสบ กลายเป็นแผลเรื้อรัง หรือลุกลามไปมาก ในสมัยโบราณแผลแบบนี้ ทำให้คนตายได้มาก ในปัจจุบันรักษาทางยา การอักเสบอาจหาย และแผลก็อาจหายได้แต่กินเวลานาน เมื่อหายแล้วมักทำให้บริเวณที่เป็นแผลเสียรูป ถ้าเอ็นขาด กล้ามเนื้อฉีกขาด อวัยวะส่วนนั้น ก็ใช้การไม่ได้ เช่น ถ้ากล้ามเนื้อของแขนฉีกขาด แขนก็มีกำลังน้อยลง ถ้าเอ็นของนิ้วขาด นิ้วก็ไม่สามารถกำหรือเหยียดได้ เป็นต้น

ม้ามแตกที่ตัดออกแล้ว


ศัลยศาสตร์เข้ามาช่วยการรักษาได้ในกรณีนี้ คือ ทำให้แผลหายเร็วขึ้น ไม่เสียรูปทรง ลดการอักเสบ และทำให้อวัยวะใช้การได้ดี

ศัลยศาสตร์สอนให้รู้ว่า เมื่อมีบาดแผลต้องทำความสะอาด เอาเชื้อโรค และสิ่งปนเปื้อน เช่น เศษดิน เศษไม้ ที่เข้าไปพร้อมกับการเกิดบาดแผลออก เนื้อที่ชอกช้ำมาก และไม่มีประโยชน์ที่จะเก็บไว้ ต้องตัดทิ้งไป เพราะเก็บไว้จะตายเน่า และเกิดเป็นพิษขึ้นมาได้ ส่วนของกล้ามเนื้อ และเอ็นที่ฉีกขาด ควรจะเย็บซ่อมให้เข้ามาหากันให้เหมือนสภาพปกติให้มากที่สุด รวมทั้งผิวหนังที่ฉีกขาดก็ควรจะเย็บเข้ามาหากัน ให้อยู่ในสภาพเดิมในเวลาอันสมควร แผลก็จะหายเป็นปกติ อวัยวะก็จะทำหน้าที่ได้เหมือนเดิม

    แผลที่ได้รับบาดเจ็บก่อนการรักษาทางศัลยกรรม หากรักษาทางยาจะใช้เวลานานและมีแผลเป็นใหญ่
บาดแผลภายใน มองเห็นได้ยากจากภายนอก ได้แก่ กรณีที่ถูกกระแทกโดยแรง ถ้าเกิดบริเวณท้องอาจมีลำไส้ฉีกขาด ตับ หรือม้ามแตก ในกรณีที่ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะอาจมีเนื้อสมองช้ำ หรือฉีกขาด อาจมีเลือดออกภายในกะโหลกศีรษะ ดูจากภายนอกก็อาจไม่เห็นบาดแผล หรือร่องรอยของการบาดเจ็บภายในเลย ในกรณีที่ตับหรือม้ามแตก ผู้ป่วยจะมีอาการเลือดตกใน มีเลือดออกในช่องท้องมาก ผู้บาดเจ็บอาจจะมีอาการช็อกหรือเป็นลม ในกรณีที่ลำไส้แตก อาหาร และน้ำย่อย รวมทั้งเชื้อจุลินทรีย์ที่อยู่ในลำไส้จะออกมาในช่องท้อง ผู้บาดเจ็บจะมีอาการปวดท้อง ซึ่งเพิ่มมากขึ้นทุกที ต่อมาอาจมีไข้สูง มีอาการคลื่นไส้ และอาจอาเจียน ลำไส้ไม่ทำงาน ซึ่งเป็นอาการของการอักเสบในช่องท้องทั่วๆ ไป ถ้าไม่ได้รับการรักษาผู้ป่วยจะเสียชีวิต

แผลที่ได้รับบาดเจ็บภายหลังจากการรักษาทางศัลยกรรม

 

ศัลยศาสตร์ สอนให้รู้ว่าในกรณีเช่นนี้ ต้องผ่าเข้าไป ในท้อง ห้ามเลือดโดยวิธีที่เหมาะสม ซึ่งมีอยู่หลายวิธี เช่น อาจจะจับจุดที่เลือดออก แล้วผูกด้วยด้ายหรือไหม อาจใช้ไฟฟ้า ความถี่สูงจี้ให้เลือดจับลิ่ม หรืออาจใช้เข็มเย็บ ในกรณีที่เป็นมาก อาจต้องตัดอวัยวะที่แตกทิ้ง ส่วนลำไส้ที่ทะลุ ถ้าเป็นเล็กน้อย อาจเย็บซ่อมเข้ามาหากันได้ ถ้าเป็นมากจนขาดรุ่งริ่ง อาจต้องตัดส่วนนั้นออกทิ้งไป และเย็บส่วนที่ดี ต่อเข้ามาหากัน สุดท้าย ก็จะต้องล้างทำความสะอาดช่องท้อง ควรจะได้เอาเลือด และสิ่งปนเปื้อนออกให้หมด จัดเรียงลำไส้และอวัยวะต่างๆ ไว้ตามธรรมชาติของมัน แล้วเย็บปิดแผลหน้าท้อง
แต่ก่อน ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ และมีเลือดตกภายในกะโหลกมักจะเสียชีวิต ภายในเวลาไม่นานนัก ทั้งนี้เพราะ เลือดที่ออกจะเบียดเนื้อที่สมองในกะโหลก ทำให้สมองส่วนที่ถูกเบียดเสียหน้าที่ นอกจากนั้นยังทำให้เนื้อสมองช้ำ บวม บางส่วนถูกดันลงมาข้างล่าง และกดลงบนก้านสมอง ส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการหายใจ ผู้ป่วยจะหยุดหายใจ และตายไป การรักษาด้วยยาไม่สามารถจะห้ามเลือดที่กำลังออกอยู่ ให้หยุดได้ และยังไม่สามารถจะเอาเลือดที่เบียดที่ในสมองอยู่ให้ออกมาได้อีกด้วย ความรู้ในทางศัลยศาสตร์ช่วยให้แพทย์สามารถเจาะเข้าไปในกะโหลก ดูดล้างเอาเลือด ที่ออกอยู่ภายใน ออกมาได้หมด นอกจากนั้น ยังอาจใช้ไฟฟ้าจี้ หรือเย็บผูกหลอดเลือด ที่ฉีกขาด อันเป็นสาเหตุของเลือดออกให้หยุดได้อีกด้วย นับเป็นการแก้ไขพยาธิสภาพ ที่ตรงจุดอย่างยิ่ง ซึ่งผู้ป่วยจะรอดตายได้

    
การผ่าตัดเจาะกะโหลก เพื่อเย็บผูกหลอดเลือด เนื่องจากมีเลือดออก
ตัวอย่างที่กล่าวมานี้ เป็นการใช้ความรู้ทางศัลยศาสตร์ รักษาบาดแผลและการบาดเจ็บต่างๆ

๒. การรักษาการอักเสบ 

การอักเสบโดยมากเกิดจากการติดเชื้อ หมายถึง มีเชื้อโรคเข้าสู่อวัยวะใดอวัยวะหนึ่ง แล้วทำให้เกิดการอักเสบ ที่จริง เชื้อโรคมีอยู่มากมาย แต่ที่ทำให้เกิดการอักเสบ โดยมากเป็นเชื้อที่ทำให้เกิดหนอง การผ่าฝี ซึ่งเคยกล่าวมาแล้วว่า เป็นการรักษาทางศัลยศาสตร์มาแต่ดึกดำบรรพ์ เดี๋ยวนี้ศัลยศาสตร์ก็ยังเป็นวิชาที่ว่าด้วยการผ่าฝีอยู่ แต่ได้ขยายวงกว้าง และลึกลงไปมาก ดังจะได้ยกตัวอย่างให้ดูสักเล็กน้อย

ฝีที่เกิดจากเล็บขบ


ฝีที่อยู่ตื้นมองเห็นได้ เช่น ตุ่มหนองข้างเล็บ อันเกิดจากเล็บขบ ฝีที่ปลายนิ้วที่อาจเกิดจากเสี้ยนตำ และพาเอาเชื้อหนองเข้าไป

การรักษาทางยา หมายถึง การใช้ยาปฏิชีวนะ หรือการประคบด้วยความร้อน การอักเสบเหล่านี้อาจหายไปได้ ถ้าได้รับการรักษา เมื่อเริ่มเป็นใหม่ๆ คือ เพียงแค่อักเสบ แต่ยังไม่มีหนอง ถ้ามีหนองเกิดขึ้นแล้ว การใช้ยาต่างๆ แทบจะไม่เกิดประโยชน์เลย ผู้ป่วยจะเจ็บปวดทรมานมาก ไม่เพียงแต่เท่านั้น เชื้อโรคอาจลามลึกลงไป ถึงเอ็นของนิ้ว เซาะไปตามเยื่อหุ้มเอ็นเข้าสู่ฝ่ามือ ข้อมือ และแขนได้ สมัยเมื่อยังไม่มียาปฏิชีวนะ ถ้าปล่อยไว้จนขนาดนี้ ผู้ป่วยมักเสียชีวิตจากเชื้อโรคเข้าสู่กระแสโลหิต และมีอาการโลหิตเป็นพิษ

วิชาศัลยศาสตร์ สอนให้ผ่าเอาหนองออกเสียแต่เนิ่นๆ ถ้าเกิดจากเล็บขบ ควรถอดเล็บส่วนที่ขบออกเสียด้วย เพราะถ้าทิ้ง เอาไว้ ไม่ช้าไม่นานก็จะเป็นขึ้นมาอีก การผ่าเอาหนองออกเสีย แต่เนิ่นๆ นี้ใช้กันเสมอในวิชาศัลยศาสตร์เรียกว่า การระบาย หนอง เมื่อหนองมีทางออกมาภายนอกได้แล้ว โรคก็ไม่ลุกลาม ต่อไป จะหายเองโดยไม่จำเป็นต้องใช้ยาใดๆ เลย

ที่จริงฝีตามร่างกายยังมีอีกมากมาย เราคุ้นเคยและ มองเห็นได้ง่าย การรักษาไม่สู้ยาก เพราะถ้าไม่ผ่าออก ฝีก็จะแตกเอง และค่อยๆ หายไป กระนั้นก็ดี ความรู้ทางศัลยศาสตร์ เกี่ยวกับการระบายหนองนี้ ทำให้ฝีหายเร็วขึ้น พ้นจากความทุกข์ทรมานเกือบจะทันทีที่หนองในฝีได้รับการระบายออก ในบางกรณีฝีมีหลายหัว เช่น ฝีฝักบัว การระบายต้องให้ทั่วถึงทุกหัว มิฉะนั้นก็จะหายช้า ฝีที่อยู่ลึกลงไปในกล้ามเนื้อหรือกระดูก มองจากภายนอกดูไม่ออกว่า เป็นฝี เพราะมีแต่อาการอักเสบ อันได้แก่ ความเจ็บปวด มีอาการบวม ผิวหนังเป็นสีแดง ถ้าเอามือจับดู จะพบว่า ร้อน เป็นต้น ฝีใต้ผิวหนังอีกชนิดหนึ่ง ที่พบเสมอได้แก่ ฝีที่เต้านม โดยมากเกิดจากการให้นมบุตร โดยที่มารดาไม่ได้รักษาความสะอาดตามสมควร

ฝี คือผลของการอักเสบ โดยการอักเสบจะมี มาก่อน การอักเสบถ้ายังไม่มีหนอง ไม่เรียกว่าฝี อาจรักษาให้ หายได้โดยวิธีทางอายุรศาสตร์ เช่น การให้ยาและการประคบ ต่างๆ แต่ถ้ามีหนองแล้วต้องระบายเอาออกจึงจะหาย วิชา ศัลยศาสตร์ สอนให้แยกการอักเสบที่ยังไม่มีหนองออกจากฝี เพราะการผ่าตัดการอักเสบที่ไม่มีหนองนั้น ในบางกรณีไม่มีความ จำเป็นและอาจทำให้เกิดอันตรายมากขึ้นก็ได้

ฝีในปอด แสดงให้เห็นหนองขังอยู่ในโพรงฝี ซึ่งล้อมรอบด้วยเนื้อปอดที่อักเสบ


การอักเสบอีกชนิดหนึ่งเป็นการอักเสบที่อยู่ลึก มอง ไม่เห็นจากภายนอก เพราะเกิดกับอวัยวะภายในของร่างกาย เกิดได้ กับอวัยวะทุกแห่ง ตั้งแต่สมองเกิดเป็นฝีในเนื้อสมอง ฝีใน ลำคอ ลงมาถึงทรวงอกก็อาจมีปอดอักเสบ ถ้าลุกลามมากก็อาจ กลัดหนองกลายเป็นฝีในปอด เป็นต้น กระเพาะอาหารที่เป็นแผล แตกทะลุ หรือลำไส้แตกทะลุ ทำให้ช่องท้องอักเสบมีหนองเต็มไป ทั่วช่องท้อง ที่กล่าวมาแล้วนี้ ล้วนแต่เป็นการอักเสบชนิดเกิดหนอง ภายใน มองเห็นได้ยากจากภายนอก การรักษาทางยาอย่างเดียว ไม่มีทางที่จะช่วยชีวิตผู้ป่วยไว้ได้เลย ต้องอาศัยการผ่าตัด ระบาย เอาหนองออก เช่นเดียวกับที่กล่าวไว้ในการอักเสบภายนอก เหมือนกัน แต่เนื่องจากอยู่ลึก การผ่าตัดจึงยุ่งยากขึ้นไปกว่าการ ผ่าตัดระบายหนองที่อยู่ตื้น ยิ่งเกิดแก่ทรวงอก อันต้องใช้ หายใจอยู่ตลอดเวลา ก็ต้องใช้วิธีพิเศษมากขึ้น เริ่มตั้งแต่การให้ ยาระงับความรู้สึกและการช่วยหายใจ

ใคร่จะยกตัวอย่างเรื่องไส้ติ่งอักเสบ ไส้ติ่งเป็นอวัยวะ ต่อจากลำไส้ใหญ่ส่วนต้นที่เรียกว่า "ซีคัม" สันนิษฐานว่า การอักเสบเกิดจากมีการอุดตันของทางออกของอวัยวะส่วนนี้ การอักเสบ เริ่มจากเยื่อเมือกที่บุผนังลำไส้ และลามออกมาภายนอก ทำให้มี อาการบวม เมื่อเวลาผ่านไป การอักเสบจะเพิ่มมากขึ้น ลำไส้จะ ขับน้ำซึ่งจะกลายเป็นหนองออกมาอยู่ภายในไส้ติ่ง ทำให้ไส้ติ่งบวมตึง ผนังของไส้ติ่งซึ่งบวมและตึงนี้จะเปราะ เมื่อมีหนอง ภายในโพรงไส้ติ่งเพิ่มมากขึ้น ก็จะแตกออก หนองจะแพร่กระจายทั่วไป ในคนที่ยังมีร่างกายแข็งแรง ร่างกายจะพยายาม สร้างกำแพงล้อมหนองเหล่านี้ไว้ โดยใช้ผนังลำไส้บ้าง ผนังหลังของท้องบ้าง และมันเปลวในท้องเองบ้าง หนองจะรวมอยู่เป็น กระจุกใกล้กับไส้ติ่งที่แตก เรียกว่า ฝีไส้ติ่ง ระยะนี้ถ้าผู้ป่วย ได้พักผ่อน ได้ยาปฏิชีวนะและได้รับการประคับประคองตามสมควร หนองอาจค่อยๆ แห้งหายไปได้ แต่ถ้าไม่ได้รับการรักษา หรือผู้ป่วยอ่อนแอลง หนองนี้ก็จะแตกออก กระจายไปทั่วท้อง กลายเป็นช่องท้องอักเสบทั่วไป โดยมากมักจะตาย ถ้าไม่ได้รับการรักษาโดยการผ่าตัด

ตำแหน่งและลักษณะของไส้ติ่งในร่างกาย


ในผู้ป่วยที่เป็นไส้ติ่งอักเสบ แม้ระยะเริ่มแรก ก็ควรได้รับการผ่าตัดรักษา โดยการตัดเอาไส้ติ่งออกก่อนที่จะมีการอักเสบรุนแรง

๓. การรักษาเนื้อร้าย 

เนื้อร้ายหรือที่เรียกกันว่า มะเร็ง นั้น คือการที่เนื้อหรือเซลล์ของอวัยวะของร่างกาย มีความเติบโต และงอกเงยออกมาอย่างผิดปกติ ทำลายเซลล์ของอวัยวะที่ปกติให้หมดไป สามารถแพร่กระจายไปงอกที่อวัยวะส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้ เมื่อไปงอกอยู่ที่อวัยวะใด ก็สามารถทำลายอวัยวะนั้นให้เสียหน้าที่ไป ถ้าอวัยวะที่เสียหน้าที่เป็นอวัยวะที่สำคัญต่อการดำรงชีพ ผู้ป่วยก็มักจะถึงแก่ชีวิต ภายในเวลาอันรวดเร็ว

จนกระทั่งปัจจุบันนี้ การรักษาด้วยยายังไม่สามารถยับยั้ง หรือทำลายเนื้อมะเร็งได้เป็นที่น่าพอใจ มะเร็งจึงเป็นโรคที่น่ากลัว ในบรรดาโรคร้ายต่างๆ ที่คุกคามสุขภาพของมนุษย์

ผู้ป่วยชายเป็นโรคมะเร็งที่เต้านมก่อนทำการผ่าตัด

    มะเร็งมีลักษณะแปลกอยู่อย่างหนึ่งคือ ถ้าสามารถกำจัด หรือตัดเอาเนื้อมะเร็งออกไปให้หมดก็จะหายไปได้ การกำจัดเนื้อมะเร็ง ในปัจจุบันมีหลายวิธี แต่วิธีดั้งเดิมคือ การตัดเอาออก ยังเป็นวิธีหนึ่งที่ได้ผลดี กล่าวคือ การรักษามะเร็งโดยการตัดเนื้อออก ยังเป็นวิธีที่ดีที่สุด วิธีอื่น เช่น การใช้ยาทำลายเซลล์ และการฉายรังสียังมีข้อใช้จำกัดคือ อาจใช้ร่วมกับการผ่าตัด หรือใช้ในราย ที่ไม่สามารถจะทำผ่าตัดได้
เนื่องจากความจริงที่ว่า ถ้าจะรักษาให้มะเร็งหายขาด จำเป็นต้องเอาเนื้อมะเร็งออกให้หมดสิ้นนี้เอง ทำให้การผ่าตัด เพื่อรักษามะเร็ง ดูเหมือนเป็นการทำลายมากกว่าการช่วยเสริมสร้าง เพราะเนื้อมะเร็งเอง ก็ทำลายอวัยวะที่เป็นอยู่ ค่อนข้างมากแล้ว การตัดเอาเฉพาะเนื้อมะเร็งเท่าที่มองเห็นด้วยตานั้นไม่พอ เพราะปรากฏว่า เซลล์มะเร็งลุกลามออกไป เกินกว่าขอบเขตที่มองเห็นด้วยตามาก การผ่าตัดจึงจำเป็นต้องตัดเอาเนื้อดีออกไปค่อนข้างมาก ทำให้มีการเสียรูปทรง หรือเสียหน้าที่ไป ในบางกรณีการเสียหน้าที่นั้นมีความสำคัญในการดำรงชีวิตยู่อย่างปกติเหมือนกัน 

ตัวอย่างการผ่าตัดรักษาโรคมะเร็ง ที่น่าจะกล่าวถึง ได้แก่ มะเร็งที่เต้านม เคยประมาณกันว่า ในหญิงที่มี อายุเกินกว่า ๒๐ ปี จะมีโอกาสเป็นมะเร็งของเต้านมได้ถึง ร้อยละ ๗

ผู้ป่วยหญิงเป็นโรคมะเร็งที่เต้านมก่อนทำการผ่าตัด


เมื่อทราบว่าเป็นมะเร็งที่เต้านม การผ่าตัดที่หวังผล หายมากที่สุดคือการตัดเต้านมออกอย่างสิ้นเชิง หมายถึง การตัดเต้านมออกทั้งหมด รวมทั้งผิวหนังที่คลุมเต้านมเป็น บริเวณกว้าง ตัดเอากล้ามเนื้อส่วนอก รวมทั้งต่อมน้ำเหลือง ไขมัน เนื้อเยื่ออ่อน พังผืดที่อยู่ในแอ่งรักแร้ออกทั้งหมด

การกระทำดังกล่าวจะทำให้เกิดการเสียทั้งรูปทรงและ หน้าที่ กล่าวคือ ผิวหนังที่ถูกเลาะเอาไขมันออกจะบาง ทำให้อก ข้างนั้นมีลักษณะเป็นหนังหุ้มซี่โครง การเลาะเอาต่อมน้ำเหลือง ท่อน้ำเหลืองออกจากรักแร้ ทำให้การระบายน้ำเหลืองและเลือด จากมือและแขนกลับเข้าสู่หัวใจได้ยาก อาจมีโรคแทรก ตามมา คือมือและแขนบวม เป็นต้น

ผู้ป่วยหญิงเป็นโรคมะเร็งที่เต้านมภายหลังทำการผ่าตัด

 

    จากสถิติ การทำผ่าตัดชนิดนี้มีอัตรารอด ๕ ปีประมาณ ร้อยละ ๓๐ กล่าวคือ การรักษามะเร็งโดยทั่วๆ ไป การหวังผล หายขาดยังมีไม่มาก ดังนั้นการมีชีวิตรอดภายหลังการรักษา ไปแล้ว ๕ ปี ถือว่ามีความสำคัญทางสถิติ พอเปรียบเทียบกันได้ ฉะนั้นการกล่าวถึงผลการรักษาโรคมะเร็งจึงกล่าวเป็นอัตรารอด ภายหลังการรักษา ๕ ปี
ภายหลังพบว่า มะเร็งบางชนิดรักษาได้ผลดีด้วย สารเคมี ด้วยรังสีเอกซ์ และด้วยฮอร์โมนบางชนิด ดังนั้น การ ผ่าตัดเต้านมออกอย่างสิ้นเชิงจึงทำน้อยลง มีการดัดแปลงลดลงมา เหลือเพียงการตัดเต้านม และเลาะต่อมน้ำเหลือง พร้อมทั้งเนื้อ เยื่ออ่อนของรักแร้ออกเท่านั้น บางรายที่เป็นมะเร็งระยะเริ่มแรก มีผู้ ตัดเอาก้อนออก และติดตามด้วยการฉายรังสีเอกซ์ หรือให้ยา ประเภทสารเคมีทำลายเชื้อมะเร็งที่ยังอาจหลงเหลืออยู่ ซึ่งปรากฏว่า เพียงพอ ผู้ป่วยยังคงมีเต้านมและไม่เสียรูปทรงมากนัก แต่ ผลระยะยาวคงจะต้องดูต่อไป ที่สำคัญก็คือการผ่าตัดชนิดนี้ ทำได้เฉพาะมะเร็งที่พบในระยะเริ่มแรกเท่านั้น

มะเร็งของอวัยวะภายใน มีตั้งแต่เนื้อสมอง เส้น ประสาท ลิ้น คอ หลอดอาหาร กระเพาะ ลำไส้ ทวารหนัก ฯลฯ ซึ่งจะขอกล่าวพอเป็นตัวอย่าง ดังนี้ 

มะเร็งของหลอดอาหาร 

โดยมากจะเกิดตรงกลาง ใกล้มาทางด้านล่าง จะมีอาการกลืนอาหารลำบาก และจะเป็น มากขึ้น สุดท้ายจะกลืนอะไรไม่ลงเลย ผู้ป่วยจะผอมลง อ่อนเพลีย ถ้าไม่ได้รับการรักษาก็จะเสียชีวิต เพราะขาดอาหาร
การรักษามะเร็งชนิดนี้ ถ้ามารักษาระยะเริ่มแรก ก็อาจจะหาย ศัลยแพทย์จะตัดเอาส่วนที่เป็นมะเร็งออก และเอาส่วนของลำไส้เล็ก หรือลำไส้ใหญ่ มาต่อแทนส่วนที่ตัดออกไป เพื่อ เป็นช่องทางให้อาหารที่กลืนเข้าไปลงสู่กระเพาะได้    

มะเร็งที่หลอดอาหาร


ในบางกรณีผู้ป่วยมาหาแพทย์ในระยะหลังมะเร็ง ลุกลามออกนอกหลอดอาหารมาติดกับอวัยวะในทรวงอก หมดหนทางที่จะเลาะหรือตัดออกมาได้หมด ศัลยแพทย์ก็อาจช่วย บรรเทาอาการให้ได้ โดยการเจาะกระเพาะ เพื่อใส่อาหาร ลงในกระเพาะโดยตรง โดยไม่ต้องผ่านการกลืน ผู้ป่วยจะยังมีชีวิต อยู่ต่อไปได้ อย่างน้อยก็พ้นการทรมานจากความหิวโหยเนื่องจาก กลืนอาหารไม่ได้ ส่วนโรคมะเร็งอาจจะใช้รักษาโดยฉายรังสี หรือ สารเคมี สุดแล้วแต่กรณี ซึ่งจะหวังผลการหายค่อนข้างยาก

มะเร็งของลำไส้ใหญ่ส่วนล่าง 

อาการจะผิดกับมะเร็ง ของหลอดอาหารอย่างตรงกันข้าม คือผู้ป่วยยังกินอาหารได้ดี แต่ถ่ายลำบาก เมื่อเป็นมากเข้าจะถ่ายอุจจาระไม่ได้เลย ท้องจะ อืดและอึดอัด ผู้ป่วยมักจะมาหาแพทย์ด้วยอาการลำไส้ใหญ่ อุดตัน

มะเร็งที่ลำไส้ใหญ่ชนิดต่าง ๆ


ดังได้กล่าวมาแล้ว ถ้ามาในระยะเริ่มแรก อาการลำไส้ อุดตันยังไม่มี การรักษาที่ได้ผลดีคือ การผ่าตัดเอามะเร็งและ เนื้อเยื่อใกล้เคียงออก ด้วยวัตถุประสงค์ที่ว่า จะเอาเนื้อมะเร็ง ออกให้หมด ทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็นด้วยตา เช่น ถ้าเป็น ส่วนของลำไส้ใหญ่ด้านซ้ายจะตัดลำไส้ใหญ่ส่วนซ้ายออกหมด ทั้งส่วน รวมทั้งต่อมน้ำเหลืองด้วย ซึ่งมองดูแล้วเหมือนไม่จำเป็น เพราะลำไส้และเยื่อยึดลำไส้ที่ตัดออกยังดูดีอยู่

ในกรณีที่มารักษาระยะสุดท้ายคือ ไม่ถ่ายมาหลายวัน ท้องอืดมาก ลำไส้เต็มไปด้วยอุจจาระ ศัลยแพทย์จะแก้ปัญหา เฉพาะหน้าให้ก่อน โดยการเจาะลำไส้เหนือส่วนที่เป็นมะเร็ง เพื่อให้อุจจาระไหลออกมาภายนอกได้ ผู้ป่วยจะสบายขึ้นมาก ส่วนมะเร็งนั้น จะต้องพิจารณาดูว่ายังอยู่ในขนาดที่พอจะตัดออก ได้หรือไม่ ถ้าตัดออกได้ ศัลยแพทย์จะตัดออกให้เมื่อผู้ป่วยพ้น อันตรายจากลำไส้อุดตันแล้ว ถ้าเป็นมากไม่สามารถจะตัดออกได้ อาจจะหาทางรักษาด้วยสารเคมีหรือรังสีวิทยา

๔. ศัลยศาสตร์เสริมสร้าง 

หมายความถึง การแก้ไขความพิการต่างๆ ของร่างกาย ทั้งที่เป็นมาแต่กำเนิด และเกิดขึ้นภายหลังจากสาเหตุใดๆ ก็ตามโดยศัลยวิธี 

ศัลยศาสตร์เสริมสร้างนี้ มีความสำคัญต่อมนุษยชาติ ไม่น้อยไปกว่าเรื่องอื่น ที่เห็นได้เสมอๆ ได้แก่ การผ่าตัดแก้ไข ปากแหว่ง เพดานโหว่ ซึ่งเป็นมาแต่กำเนิด การผ่าตัดแก้ไขนิ้วติด หรือเอ็นยึด เอ็นหด จากโรคและแผลเป็น เอ็นยึดหดเนื่องจาก ไฟไหม้ เป็นต้น ที่จริงศัลยศาสตร์ตกแต่งหรือที่เรียกว่า พลาสติก เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องที่ว่าด้วยการเสริมสร้างเท่านั้น การผ่าตัด จัดกระดูกที่หักให้เข้าที่ในคนที่กระดูกหัก การผ่าตัดจัดกระดูก ที่โค้งงอผิดรูปร่างให้ตรงดีเหมือนปกติ ก็จัดอยู่ในศัลยศาสตร์ ประเภทเสริมสร้างนี้เหมือนกัน แต่วิชาเกี่ยวกับเรื่องกระดูกนี้ ได้ถูกจัดไว้เป็นสาขาวิชาอีกประเภทหนึ่ง เรียกว่า ศัลยศาสตร์ ออร์โทปิดิกส์ 

ในกระบวนศัลยศาสตร์เสริมสร้างนี้ คงไม่มีอะไร โด่งดังและได้รับการเชิดชูจากประชาชนเท่าการผ่าตัดเพื่อแก้ ความพิการของหัวใจ 

หัวใจที่พิการมาแต่กำเนิด 

ที่พบได้บ่อย ได้แก่ผนัง หัวใจรั่ว หลอดเลือดออกผิดที่ หลอดเลือดตีบ และหลอดเลือด ค้าง 

ความผิดปกติดังกล่าว มักจะทำให้หัวใจทำงานได้ ไม่ดีเท่าที่ควร เด็กจะไม่สมประกอบและเติบโตช้ากว่าเด็กธรรมดา บางรายเสียชีวิตก่อนจะโตขึ้นมาได้

การผ่าตัดเย็บปิดรูรั่วของผนังหัวใจในเด็กที่มีผนังกั้นหัวใจรั่วมาแต่กำเนิด


ศัลยแพทย์สามารถผ่าเข้าไปเพื่อแก้ไขความบกพร่อง ต่างๆ ของธรรมชาติเหล่านี้ได้ ที่จริงเรื่องการผ่าตัดหัวใจนี้ เทคนิค การผ่าตัดไม่ได้แตกต่างจากการผ่าตัดที่อื่น แต่การเตรียมการ ผ่าตัดเป็นเรื่องยุ่งยาก เริ่มตั้งแต่การวินิจฉัย ซึ่งต้องมีความแม่นยำ หัวใจเป็นอวัยวะที่จะขาดเสียมิได้ ดังนั้นขณะที่ผ่าตัด หัวใจหยุด ทำงาน แพทย์จำเป็นต้องใช้เครื่องทำหน้าที่แทนหัวใจ และปอด ของผู้ป่วยในขณะที่ผู้ป่วยรับการผ่าตัดหัวใจ

การเตรียมการผ่าตัดหัวใจ และการดูแลผู้ป่วย หลังการผ่าตัด มีความสำคัญมากกว่าการผ่าตัดเองมาก เพราะ ต้องใช้เครื่องมือและผู้มีความรู้ความชำนาญช่วยกันหลายฝ่าย การผ่าตัดแก้ไขข้อบกพร่องของหัวใจเมื่อเทียบไปแล้วกลาย เป็นเรื่องเล็กไป แต่เรื่องเล็กนี้แหละที่ทำให้ผู้ป่วยมีสภาพกลับมา เป็นปกติหรือใกล้เคียงภาวะปกติได้

การเย็บซ่อมผนังหัวใจที่รั่ว 

ผนังกั้นระหว่างหัวใจซีกซ้าย และขวา ตามธรรมดาจะปิดสนิท ไม่ติดต่อถึงกัน ในบางคน ผนังนี้จะหายไป ส่วนใหญ่เกิดจากความผิดปกติของการเจริญ เติบโต ตั้งแต่เป็นทารกอยู่ในครรภ์ ส่วนน้อยเกิดจากการกระทำของ มนุษย์ เช่น ถูกแทง ถูกยิง เป็นต้น ทำให้เกิดความผิดปกติใน การทำงานของหัวใจ

การผ่าตัดเย็บปิดรูรั่วของผนังหัวใจโดยการใช้แผ่นสังเคราะห์เย็บปิดรอยรั่วหรือรูรั่วของผนังกั้นหัวใจ


ก่อนที่จะมีการประดิษฐ์เครื่องมือที่ใช้แทนปอดและ หัวใจ การผ่าตัดปิดรูรั่วนี้ทำได้ยากมาก เพราะต้องใช้มือคลำผ่าน รอยผ่าแคบๆ ของหัวใจที่กำลังเต้นอยู่ ลงไปเย็บปิด โดยมองไม่ เห็นรูรั่ว จึงไม่ได้ผลดีดังปรารถนา ในบางรายไม่สามารถทำได้เลย หลังจากที่มีการใช้เครื่องปอดและหัวใจเทียม ช่วยให้การผ่าตัด ทำได้ง่ายขึ้น เพราะแพทย์สามารถทำให้หัวใจหยุดเต้น ผ่าลงไป เย็บรูรั่วที่มองเห็นด้วยตา ถ้ารูรั่วใหญ่ยังสามารถใช้ผ้าที่ทำจาก ใยสังเคราะห์ไปเย็บปิดได้เหมือนกับปะผ้าที่ขาดเป็นรู

ลิ้นหัวใจตีบหรือปิดไม่สนิท 

เป็นผลเนื่องจากการอักเสบ อาจเกิดโดยตรง คือมีเชื้อโรคที่ทำให้เกิดการอักเสบที่ลิ้นหัวใจ หรือเป็นผลโดยอ้อม เช่น เกิดจากเชื้อ ที่ทำให้เกิดการอักเสบที่อื่น แต่ปฏิกิริยาป้องกันตัวโดยภูมิคุ้มกัน ทำให้ผนังบุหัวใจ รวมทั้งลิ้นหัวใจ เกิดการอักเสบ กลายเป็นแผลเป็นหนาและแข็ง จึงไม่สามารถปิดเปิดได้ตามปกติ รูผ่านจะตีบแคบลง เมื่อหัวใจ บีบตัวต้องการให้เลือดไหลออกก็ไหลออกได้ยาก เมื่อคลายตัว เลือดก็ไหลย้อนกลับเข้ามาอีก เพราะลิ้นปิดไม่สนิท ภาวะเช่นนี้ ทำให้หัวใจต้องทำงานหนักขึ้นมาก ในหัวใจของคนมีลิ้นปิดเปิด ชนิดนี้อยู่ ๔ แห่งที่พบผิดปกติบ่อยๆ มี ๒ แห่ง คือ ลิ้นที่กั้น ระหว่างเอเทรียมและเวนตริเคิลข้างซ้าย เรียกว่า ลิ้นไมทรัล และอีกแห่งหนึ่งคือ ลิ้นของหลอดเลือดแดงใหญ่ที่ออกจากหัวใจ เรียกว่า ลิ้นเอออร์ติก

การผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ (ไมทรัล)


วิธีรักษามีทางเดียว คือ การผ่าตัดเข้าไปแก้ไข แต่วิธี แก้ไขโดยการผ่าตัดนี้มีหลายอย่าง สุดแต่ลักษณะของความพิการ ความสะดวกของเครื่องมือเครื่องใช้ และความถนัดของศัลยแพทย์ เอง วิธีหนึ่งที่นิยมใช้กันมากคือการเปลี่ยนลิ้นหัวใจ โดยการตัดเอา ลิ้นที่เสียออก แล้วใส่ลิ้นหัวใจเข้าไปใหม่ ลิ้นที่ใช้ได้ผลดีในขณะนี้ เป็นลิ้นที่ทำจากโลหะและพลาสติก

การผ่าตัดเพื่อเปลี่ยนแปลงการทำงานของอวัยวะของร่างกาย 

การผ่าตัด เพื่อเปลี่ยนแปลงการทำงานของอวัยวะ บางส่วนหรือระบบบางระบบของร่างกายนี้ เพิ่งจะเกิดขึ้น เมื่อคนเรามีความรู้ทางสรีรวิทยาเพิ่มขึ้น กล่าวคือ รู้ถึงหน้าที่และ การทำงานของส่วนต่างๆ ของร่างกาย และรู้ต่อไปว่า การที่คนเกิดเป็นโรค หรือมีความผิดปกตินั้น เกิดจากการทำงานของอวัยวะ ผิดปกติ จึงคิดวิธีผ่าตัด เพื่อปรับความสมดุล ของการทำงาน อันเป็นผลให้ร่างกายเกิดปกติสุข 

โรคที่เกิดจากการทำงานผิดปกติของอวัยวะมีมากมาย เกิดขึ้นได้ทุกระบบของร่างกาย และมีโรคหลายโรคมีความ เกี่ยวข้องกันหลายระบบ การผ่าตัดชนิดนี้เรียกว่า สรีรศัลยศาสตร์ (Physiologic Surgery) ใคร่ของยกตัวอย่างให้ฟังเพียง ๒-๓ เรื่อง ดังนี้ 

การผ่าตัดเพื่อแก้ไขอวัยวะที่ทำหน้าที่มากเกิน 

ตัวอย่างที่ดีที่สุดในหัวข้อนี้ ได้แก่ โรคแผลใน กระเพาะอาหาร เพราะมีประวัติและความเป็นมาเกี่ยวกับสรีรวิทยา และศัลยศาสตร์มานาน และเป็นที่รู้กันแน่นอนว่า โรคแผลใน กระเพาะอาหารเกิดจากการหลั่งกรดจากเซลล์ในกระเพาะอาหาร ออกมามากเกินพอ สาเหตุของการหลั่งกรดออกมากเกินพอนี้ บางทีก็ประจักษ์ชัด บางทีก็ไม่ประจักษ์ การแก้ที่สาเหตุดีที่สุด แต่สาเหตุบางอย่างแก้ได้ยาก หรือแก้ไม่ได้เสียเลย ในกรณีของ แผลในกระเพาะอาหาร สาเหตุอาจเกิดจาก จิตใจที่มีความกังวล ภาวะแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม อาหารที่มีรสจัด หรือกินผิดเวลา ดื่มเครื่องดื่ม หรือสุราที่กระตุ้นการหลั่งของกรด การกินยาบางชนิด เป็นประจำ เป็นต้น ทำให้เยื่อของกระเพาะเป็นแผลได้ง่าย จะเห็น ได้ว่า สาเหตุบางอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก เช่น ภาวะแวดล้อม จิตใจ ที่กังวล เป็นต้น ที่สำคัญก็คือ เมื่อได้พยายามรักษาที่สาเหตุและ รักษาทางยามาเป็นเวลาพอสมควรแล้วยังไม่หาย วิธีสุดท้ายก็คือ การผ่าตัดเพื่อลดกรดในกระเพาะให้น้อยลง

แผนภาพแสดงการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร

กลไกของการหลั่งกรดในกระเพาะมีสลับซับซ้อน เกินกว่าจะบรรยายให้ละเอียดในที่นี้ได้ แต่ทางหนึ่งที่ควบคุม การหลั่งของกรดก็คือประสาทที่ควบคุมเซลล์ในกระเพาะ หรือ เรียกว่า ประสาทเวกัส มีศูนย์อยู่ในสมองส่วนกลาง การทำลาย ศูนย์นี้บางส่วน จะทำให้พลังกระแสประสาทลดลงและการหลั่ง ของกรดก็ลดลงด้วย ที่จริงจากการทดลองในลิงซิมแปนซี พบว่า การตัดบางส่วนของศูนย์ประสาทในสมอง สามารถลดกรด ได้จริง การผ่าตัดเพื่อทำลายศูนย์ประสาทในสมองยุ่งยากเกินกว่า ที่จะนำมาใช้ในคนได้อย่างปลอดภัย ศัลยแพทย์จึงเลี่ยงมาตัด ประสาทภายนอกสมอง

การผ่าตัดเพื่อรักษาแผลในกระเพาะอาหาร    
การตัดประสาทเวกัสในคนเป็นการผ่าตัดที่ค่อนข้างง่าย ทำได้เร็วและไม่สู้จะมีอันตรายอะไร ผลที่ได้รับจากการตัดประสาท เวกัสดีพอสมควร แต่ไม่ได้ดีสมใจ เพราะสาเหตุที่สำคัญสอง ประการ คือ ประการแรก ประสาทเวกัสเป็นเพียงกลไกอันหนึ่ง ของการหลั่งกรดในกระเพาะ ถ้าผู้ป่วยรายนั้น การหลั่งกรดเกินพอ เกิดจากพลังประสาทเป็นสำคัญ การรักษาชนิดนี้ก็ได้ผลดี ถ้า เกิดจากสาเหตุอื่นเป็นส่วนใหญ่ การตัดประสาทเวกัสก็ได้ผล แต่น้อย ประการที่สอง นอกจากประสาทเวกัสจะมีหน้าที่หลั่ง กรดแล้ว ยังมีหน้าที่ควบคุมการหลั่งน้ำดี การทำงานของตับอ่อน ลำไส้ ฯลฯ ด้วย เมื่อตัดประสาทเวกัสไปจึงทำให้การทำงานของ อวัยวะเหล่านี้ผิดไปด้วย ศัลยแพทย์ก็ต้องตามแก้กันต่อไปอีก

    วิวัฒนาการของการผ่าตัดเพื่อรักษาแผลในกระเพาะอาหาร
เนื่องจากลำไส้มีน้ำหลั่งที่มีฤทธิ์เป็นด่าง ศัลยแพทย์ จึงคิดที่จะเจาะรูให้ลำไส้ และกระเพาะทะลุถึงกัน โดยหวังว่า ด่างในลำไส้จะได้ทำลายกรดในกระเพาะให้ลดลง แต่เมื่อเจาะ ช่องติดต่อระหว่างกระเพาะกับลำไส้ จะมีโรคแทรกที่สำคัญ โรคหนึ่งเกิดขึ้น คือ เกิดแผลที่รอยต่อ หรือแผลที่ลำไส้ขึ้น มาแทน เพราะผนังของลำไส้ไม่มีความต้านทานต่อกรดเลย เมื่อ โดนกรดจากกระเพาะจึงเกิดเป็นแผลได้ง่าย นอกจากนี้ ด่างใน ลำไส้ยังไปกระตุ้นให้กระเพาะหลั่งกรดออกมามากขึ้นอีกด้วย การผ่าตัดชนิดนี้จึงเสื่อมไปจากความนิยมอย่างรวดเร็ว

    โรคแทรกที่เกิดจากการผ่าตัดต่อกระเพาะอาหารกับลำไส้เล็ก
อีกวิธีหนึ่ง คือ การตัดเซลล์ในการหลั่งกรดของ กระเพาะออกไป นั่นคือ การตัดเอากระเพาะออกไปบางส่วนหรือ เกือบหมด ศัลยแพทย์ชาวเยอรมันได้ทำการตัดกระเพาะเป็น คนแรกเมื่อราว พ.ศ. ๒๔๒๓ และศัลยแพทย์เกือบทั่วโลกได้นำ เทคนิคนี้มาใช้รักษาโรคแผลในกระเพาะอาหาร ปัจจุบัน การรักษา แผลโดยการตัดกระเพาะคลายความนิยมลงไปมาก เพราะเป็นการ แก้ปัญหาทางหนึ่ง คือ กรดลดลงไปได้จริง แผลในกระเพาะ หายไปจริงแต่กลับสร้างปัญหาอีกทางหนึ่งขึ้นมา เช่น คนกินอาหาร ได้น้อย หิวบ่อย มีอาการเวียนศีรษะ หมดแรง ฯลฯ

เกี่ยวกับต่อมไร้ท่อ 

การทำงานมากเกิน พบได้บ่อย ในโรคของต่อมไร้ท่อ ที่พบเสมอในประเทศไทย คือต่อมไทรอยด์ ที่ทำงานมากเกิน หรือที่เรียกว่า "คอพอกเป็นพิษ" การรักษามี หลายวิธี ตั้งแต่การให้ยาหรือสารกัมมันตภาพรังสีไปทำลายเซลล์ จนถึงการผ่าตัดเอาต่อมไทรอยด์ออก โดยเหลือไว้เพียงบางส่วน เพื่อให้ทำงานได้ตามปกติ

ผู้ป่วยโรคคอพอกเป็นพิษ


นอกจากการทำงานมากเกินแล้ว ยังมีประเภททำงาน น้อยเกิน หรือไม่มีเซลล์ของต่อมไร้ท่อทำงานเลย เช่น โรค เบาหวาน กลุ่มเซลล์ชนิดหนึ่งของตับอ่อน (Islets of Langerhans) ทำงานน้อยหรือไม่ทำงาน ทำให้การหลั่งอินซูลินผิดปกติ คือ มีน้อย การรักษาโดยการเอาเซลล์ของตับอ่อนมาฝังในร่างกายเพื่อ ให้สร้าง อินซูลิน มีคนทำ แต่ผลที่ได้ยังไม่ดี จะกล่าวละเอียด ในเรื่องการปลูกอวัยวะ 

เกี่ยวกับระบบหลอดเลือดและประสาท 

หลอดเลือดที่เกร็งหด ทำให้ท่อตีบแคบ สำแดงอาการผิดปกติออกมาให้เห็นได้ หลายทาง ทางหนึ่งคือ ความดันเลือดสูง อีกทางหนึ่งคือ อวัยวะ ที่หลอดเลือดเส้นที่หดเกร็งไปเลี้ยงได้รับเลือดไม่พอ ซึ่งรักษาได้ โดยการทำให้หลอดเลือดที่เกร็งนี้คลายและขยายกว้างออก วิธีที่ นิยมกันคือ ให้ยาที่ออกฤทธิ์ขยายหลอดเลือด แต่เมื่อหมดฤทธิ์ ยา หลอดเลือดก็จะเกร็งใหม่ ศัลยแพทย์อาศัยความรู้ทางสรีรวิทยา ที่ว่า ประสาทกลุ่มซิมพาเทติกเป็นตัวทำให้หลอดเลือดหดตัว ถ้าตัดประสาทเหล่านี้ออกไป หลอดเลือดก็จะขยายตัวเองได้ การ

ผ่าตัดปมประสาทซิมพาเทติก (sympathectomy) ออกจึงเกิดขึ้น มีวิธีการย่อยลงไปอีกหลายอย่าง เช่น การทำผ่าตัดปมประสาท บริเวณคอ (cervical sympathectomy) การทำผ่าตัดบริเวณเอว (lumbar sympathectomy) นอกจากนั้นยังมีการผ่าข้างเดียวหรือผ่า ทั้งสองข้างอีกด้วย

การผ่าตัดปลูกอวัยวะ 

การผ่าตัดเพื่อปลูกหรือเปลี่ยนอวัยวะ (organ transplantation) เป็นการผ่าตัดที่เพิ่งจะเริ่มทำกันอย่างจริงจังภายใน ๒๐ ปี มานี้เอง ทั้งนี้เพราะปัญหาเกี่ยวกับการ "ไม่รับ" ของร่างกาย

ในร่างกายปกติจะไม่รับอวัยวะอื่นที่ไม่ใช่ของตัว ดังนั้นการเอาอวัยวะของผู้อื่นมาปลูกหรือฝังไวในร่างกาย ร่างกาย จะขับออก ทั้งนี้เป็นไปตามกลไกการป้องกันตนเองตามธรรมชาติ 

ต่อมามนุษย์ได้ศึกษาปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันมากขึ้น และ เข้าใจถึงวิธีที่จะลดภูมิคุ้มกันชนิดนี้ลงเพื่อประโยชน์ในการปลูก อวัยวะ และการคัดเลือดชนิดและการจับคู่อวัยวะของผู้ใด เพื่อ พิจารณาว่าเข้ากันได้หรืออยู่ได้ในร่างกายของผู้ใดบ้าง โดย การตรวจเลือดนั้น ทำให้การปลูกเปลี่ยนอวัยวะกระทำกันกว้างขวาง และได้ผลในระยะยาวมากขึ้น

การเปลี่ยนแก้วตา (cornea) 

คนที่แก้วตาเป็นแผล มีแผลเป็นหรือขุ่นฝ้าจากสาเหตุใดก็ตาม ผู้ป่วยจะมองไม่เห็น และกลายเป็นคนตาบอดไป ถ้าส่วนอื่นของลูกตายังดีอยู่ การ เปลี่ยนแก้วตาจะทำให้มองเห็นได้ การเปลี่ยนแก้วตาเป็นศัลยวิธี ที่ทำได้ในที่ๆ มีเครื่องมือและแพทย์ที่ได้รับการฝึกฝนมาในทางนี้ การเปลี่ยนแก้วตาเป็นการปลูกเปลี่ยนอวัยวะที่ทำกันมากที่สุด และได้ผลดีเป็นที่น่าพอใจ

การผ่าตัดเปลี่ยนแก้วตา


การผ่าตัดเปลี่ยนไต 

คนที่ไตพิการอย่างถาวรทั้งสองข้าง หมดสมรรถภาพในการขับสารน้ำและของเสียออกจากร่างกาย นั้น ทางอยู่รอดมีอยู่ทางเดียว คือ การให้ผู้ป่วยเข้าเครื่อง ไตเทียม ซึ่งมีหลายแบบหลายวิธี แต่การเข้าเครื่องไตเทียม นี้มีโรคแทรกมาก และเมื่อทำหลายๆ ครั้ง ร่างกายจะลดความ ต้านทานลง และไม่สามารถทดแทนไตได้จริงๆ เพียงแต่ให้ อยู่รอดไปได้ชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น การเปลี่ยนไตโดยใช้ไตคน ปกติมาใส่เป็นวิธีเดียวที่จะหวังผลดีในระยะยาวได้ แต่การเลือก อวัยวะและการหาอวัยวะเป็นอุปสรรคมากกว่าการผ่าตัดเปลี่ยน อวัยวะ กล่าวคือ วิธีผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะทำได้ง่ายกว่าการหาอวัยวะ ที่เหมาะสมมาเปลี่ยน

การผ่าตัดเปลี่ยนไต


โดยมากจะได้อวัยวะมาจากผู้ประสพอุบัติเหตุ ที่ได้ รับอันตรายต่ออวัยวะอื่น เช่น สมองมีพยาธิสภาพมาก จนไม่ สามารถจะมีชีวิตอยู่ต่อไป แต่ไตยังทำหน้าที่ได้ดี ผู้ที่จะให้ไตกับผู้ ที่จะได้รับไตต้องผ่านการตรวจ "ความเข้ากันได้" ของอวัยวะ กับร่างกายเสียก่อน เมื่อพบว่าเข้ากันได้ ศัลยแพทย์จะตัดไต ออกจากผู้ให้เช่นเดียวกับการผ่าตัดใหญ่ทั่วไป ไตที่ได้มาต้องล้าง เอาเลือดออกจากหลอดเลือดเพื่อกันเลือดจับลิ่ม และเก็บไว้ในที่เย็น โดยแช่ในน้ำยาที่เตรียมพิเศษเพื่อใช้ในการเปลี่ยน ถ้าผู้รับและผู้ให้ อยู่ห่างกัน จะมีวิธีเก็บและส่งซึ่งออกแบบมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ

ผู้รับต้องเข้าห้องผ่าตัด เพื่อผ่าตัดเอาไตที่เสียออกและ เอาไตที่จะให้ใส่เข้าไป โดยเชื่อมหลอดเลือดแดง หลอดเลือดดำ และหลอดปัสสาวะเข้าด้วยกัน จากนั้นก็จะพักฟื้น โดยทั่วไป ไตที่ใส่เข้าไปใหม่จะทำหน้าที่ขับปัสสาวะ และจะทำงานเหมือนไต ปกติภายใน ๒๔ ชั่วโมง ระหว่างนี้ผู้ป่วยจะได้รับยาและการ รักษาอื่นๆ ที่จะถ่วงเวลาการ "ไม่รับ" ไตที่เอามาปลูกใหม่ด้วยวิธี ต่างๆ เพื่อจะให้ไตที่นำมาปลูกเปลี่ยนนี้ทำหน้าที่ของมันให้ นานที่สุด 

นอกจากไตแล้ว ยังมีการปลูกเปลี่ยนอวัยวะอื่นๆ อีก แต่ผลที่ได้ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ เช่น การปลูกเปลี่ยนตับอ่อน ในรายที่เป็นเบาหวาน การปลูกเปลี่ยนต่อมพาราไทรอยด์ ผู้ทำ การปลูกเปลี่ยนอวัยวะที่โด่งดังที่สุด ได้แก่นายแพทย์คริสเตียน บาร์นาร์ด ของประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นผู้เปลี่ยนหัวใจของ คนที่เป็นโรคหัวใจสำเร็จเป็นคนแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๘ 

การปลูกเปลี่ยนอวัยวะคงจะเจริญต่อไปอีกในอนาคต แต่จะมีทั้งผลดีและผลเสีย ผลเสียที่สำคัญ ได้แก่ การตัดสินใจเอา อวัยวะออกจากตัวผู้ให้ เพราะถ้ารอให้ผู้ให้ตายสนิทจริงๆ ก็จะ สายเกินไป ถ้าเอาอวัยวะออกเร็วเกินไป ก็จะประสบปัญหาว่า ได้เอาอวัยวะออกไปตั้งแต่ผู้ป่วยยังไม่ตาย 

ศัลยศาสตร์ในปัจจุบันนี้ ได้ขยายออกไปกว้างขวางมาก มิได้มีความหมายเพียงแค่การผ่าตัดโดยใช้มีดกับกรรไกร และ ฝึกมือให้มีความชำนาญในการผ่าตัดเท่านั้น หากยังใช้เวลาเป็น ส่วนมากสำหรับค้นคว้าและวิจัยในสาขาต่างๆ ให้ลึกซึ้งลงไป เพื่อที่จะทำให้มนุษย์มีปกติสุขมากที่สุดโดยศัลยวิธี 

ศัลยแพทย์ไม่ว่าสาขาใด ต้องทำงานเกี่ยวข้องกับบาดแผล ทำการเสริมสร้างไปพร้อมๆ กับการตัดทำลายของเสีย การทำ ผ่าตัดเกือบทุกชนิดต้องอาศัยความรู้ทางสรีรวิทยา ความล้มเหลว ของการผ่าตัดหลายอย่างในอดีตพบว่ามาจากการขาดความรู้ ทางสรีรวิทยา และการผ่าตัดที่ยังไม่ประสบผลดีในปัจจุบัน ก็เนื่องจากความรู้ทางสรีรวิทยาในด้านนั้นยังไปไม่ถึง โดยตัว ของมันเอง ศัลยศาสตร์อาจจะเป็นเพียงแค่มีดกับกรรไกร ซึ่งเป็น เครื่องมือหลักในการผ่าตัด แต่กุญแจสำคัญของการผ่าตัดที่ประสบ ผลสำเร็จ ต้องอาศัยความรู้และเทคโนโลยีหลายด้านประกอบกัน แท้จริงศัลยแพทย์รุ่นเก่าๆ สามารถทำผ่าตัดได้เรียบร้อย และ สวยงามเท่ากันหรือดีกว่าศัลยแพทย์ปัจจุบัน แต่การที่ศัลยศาสตร์ เจริญมาจนทุกวันนี้ ได้อาศัยความรู้ทั้งทางเคมี วิศวกรรมศาสตร์ และชีวสังคม เข้ามาช่วยด้วยเป็นอย่างมาก หาไม่แล้วศัลยศาสตร์ ก็คงหมายถึงการตกแต่งบาดแผลและผ่าฝีเหมือนเดิม 

ไม่ว่าจะเป็นบาดแผลหรือการทำผ่าตัดในกรณีต่างๆ ถ้า ผู้ป่วยทุรนทุราย เจ็บปวด ก็ไม่อาจจะทำได้ ดังนั้นการใช้ยาชา เฉพาะที่ การดมยาให้ผู้ป่วยหมดความรู้สึกเจ็บปวด นอกจาก จะช่วยลดความทรมานของผู้ป่วยแล้ว ยังจะทำให้การผ่าตัดดำเนิน ไปได้ด้วยดี เช่น การผ่าตัดในช่องท้อง ถ้าทำให้ลำไส้คลายตัว การผ่าตัดก็จะดำเนินไปได้ด้วยดี ดังนั้นจึงเกิดมีศาสตร์ขึ้นอีก แขนงหนึ่ง เรียกว่า "วิสัญญีวิทยา" 

คนเรานั้นเกิดมา บางคนก็มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงดี บางคนก็มีโรคภัยไข้เจ็บ ซึ่งอาจรักษาให้ทุเลาลงหรือหายขาดได้ ด้วยการให้รับประทานยาหรือฉีดยา แต่โรคบางโรคต้องใช้วิธีผ่าตัด จึงจะหายได้ การรักษาโรคชนิดที่ต้องผ่าตัด และผู้ป่วยที่ถูกผ่าตัด ไม่รู้สึกเจ็บปวดขณะถูกผ่าตัดก็ต้องมีหมอดมยาหรือที่เรียกว่า วิสัญญีแพทย์เป็นผู้ให้ยาดมหรือยาฉีดเข็มเล็กๆ เพียง ๑ ครั้ง เพียงเวลาไม่นานนักผู้ป่วยก็จะหลับสบาย ไม่รู้สึกตัวตลอดเวลา ที่หมอทำการผ่าตัดให้ เมื่อเสร็จแล้วก็จะตื่นขึ้นมาคล้ายตื่นนอน ตอนเช้า อาจมีอาการง่วงงัวเงียอยู่อีกนิดหน่อย ไม่นานนักก็ได้ กลับไปหาครอบครัวและสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติเช่นเดิม

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow