Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

โรคที่เกิดจากอันตรายทางฟิสิกส์

Posted By Plookpedia | 09 ธ.ค. 59
1,413 Views

  Favorite

โรคที่เกิดจากอันตรายทางฟิสิกส์

อันตรายทางฟิสิกส์เป็นอันตรายที่เกิดจากพลังงานในรูปแบบต่างๆ กัน ซึ่งแบ่งเป็นชนิด ต่างๆ ได้ ๖ ชนิด คือ

๑. โรคที่เกิดจากอันตรายด้านพลังงานกลศาสตร์ 

      สาเหตุในกลุ่มนี้มีมากมาย ได้แก่ อันตรายจากอุบัติเหตุ และภยันตรายต่างๆ เช่น หกล้ม ถูกรถชน ถูกตี ถูกฟัน ถูกยิง เป็นต้น ทำให้เกิดการช้ำบวม ฉีก ขาด บาดแผล ตกเลือด อันตรายต่างๆ ที่เกิดขึ้นแก่อวัยวะภายนอกและภายในจะมีมากบ้างน้อยบ้าง แล้วแต่ความรุนแรงที่ได้รับจากสาเหตุต่างๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว ปัจจุบัน โรคที่เกิดจากอันตรายชนิดนี้เป็นโรคที่พบได้มากขึ้นในบางประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่เจริญมากทางด้านวัตถุและอุตสาหกรรม โรคนี้จะมีมากกว่าโรคอื่นๆ และเป็นโรคที่เป็นสาเหตุของการตายมากกว่าสาเหตุอื่นๆ 

๒. โรคที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงในความกดดันของบรรยากาศ 

      ในภาวะปกติ ร่างกายเคยชินอยู่กับความดันของบรรยากาศในระดับปกติบนผิวโลก ถ้าเกิดมีการเปลี่ยนแปลงของความกดดันของบรรยากาศรอบตัวไม่ว่าจะเพิ่มขึ้น หรือลดลงก็ตาม ถ้ามากเกินไปแล้วก็จะทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย ได้ 

      ๒.๑ อันตรายจากการเพิ่มความกดดันของบรรยากาศ เมื่อเกิดการระเบิดอย่างรุนแรงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นบนบก ในน้ำ หรือในอากาศ จะมีแรงกดดันของบรรยากาศรอบตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก และรวดเร็ว อันตรายที่เกิดขึ้นต่อร่างกายก็จะเป็นแบบอันตรายจากพลังงานทางกลศาสตร์ อาจเกิดมีการฉีกขาด หรือการแตก และตกเลือดของอวัยวะในช่องกะโหลกศีรษะ ช่องอก และช่องท้องได้ ในรายที่มีแรงระเบิดรุนแรงมากๆ กระดูกซี่โครงอาจหัก และทรวงอกยุบลงไป เหล่านี้เป็นอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ นอกจากอันตรายจากสะเก็ดระเบิด และสิ่งปรักหักพัง หรือความร้อน หรือสิ่งอื่นๆ ที่เกิดร่วมกับการระเบิด

      ๒.๒ อันตรายจากการลดความกดดันของบรรยากาศ อันตรายจากการลดความกดดันของบรรยากาศเกิดขึ้นด้วยเหตุสำคัญ ๒ ประการ คือ ประการที่หนึ่ง ออกซิเจนในบรรยากาศจะลดน้อยลงไปตามส่วนของความกดดันบรรยากาศที่ลดลง เช่น บนภูเขาสูงๆ หรือบนอากาศยานที่ไม่มีระบบการปรับความกดดันของบรรยากาศเมื่อขึ้นไปสูงมากๆ ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยเนื่องจากร่างกายขาดออกซิเจน เช่น โรคภูเขา (mountain sickness) เป็นต้น ประการที่สอง เกิดจากการที่ปริมาตรของอากาศในช่องต่างๆ ของร่างกายขยายตัวออก ตามอัตราส่วนของความกดดันบรรยากาศที่ลดลง เช่น อากาศในโพรงอากาศในกะโหลกศีรษะบริเวณข้างๆ จมูกที่เราเรียก ไซนัส (sinus) ในช่องหูชั้นกลาง ในกระเพาะอาหารและลำไส้ ทำให้มีอาการปวดศีรษะปวดหู หูอื้อ ท้องอืดแน่น เป็นต้น แม้แต่ก๊าซที่ละลายในเลือดก็จะขยายตัวออกกลายเป็นฟองก๊าซเหมือนเวลาที่เราเปิดขวดน้ำอัดลม แล้วมีฟองผุดขึ้นมาจากน้ำในขวด ฟองก๊าซที่เกิดขึ้นในเลือดนี้จะไปอุดหลอดเลือดทำให้เลือดไหลไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ของร่างกายไม่สะดวก ผลร้ายเหล่านี้จะเกิดขึ้นเมื่อมีการลดความกดดันของบรรยากาศอย่างรวดเร็ว เช่น คนที่ลงไปทำงานใต้ดินหรือใต้น้ำลึกๆ ซึ่งมีความกดดันของบรรยากาศสูงกว่าความกดดันบนพื้นดิน แล้วกลับขึ้นมาบนพื้นดินอย่างรวดเร็ว หรือคนที่ขึ้นไปในอากาศสูงมากๆ ด้วยอากาศยานที่มีความเร็วสูงอย่างรวดเร็ว โดยไม่มีเครื่องปรับความกดดันในบรรยากาศ หรือเครื่องปรับเกิดเสียขึ้น 

๓. โรคที่เกิดจากคลื่นเสียง 

      เสียงที่ดังมากๆ และได้รับซ้ำๆ เป็นเวลานานๆ อาจจะทำให้อวัยวะรับเสียงพิการและทำให้หูตึงได้ ส่วนคลื่นเสียงที่สูงกว่าที่เราได้ยินที่เรียกว่าอัลตราโซนิก (ultrasonic) นั้น ความสั่นสะเทือนมากๆ และความร้อนที่เกิดขึ้นอาจทำให้เซลล์ของร่างกายเสื่อมเสีย ได้

๔. โรคที่เกิดจากความร้อนและความเย็น 

      อันตรายจากความร้อนเฉพาะที่ พบได้บ่อยที่ผิวหนัง เช่น ถูกเตารีด น้ำร้อนลวก ไฟไหม้ มีการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่น้อยไปหามาก เช่น ผิวหนังแดง บวม พอง ผิวหนังตายไหม้เกรียม แล้วแต่ร้อนน้อยหรือมาก และได้รับนานแค่ไหน ในรายที่ได้รับอันตรายมากๆ อาจมีอาการทั่วไปร่วมด้วยก็ได้เช่น เกิดอาการช็อก (shock) ขึ้น ถ้าทั้งร่างกายได้รับความร้อนจัด เช่น ตากแดด อบความร้อนสูงๆ หรือแม้แต่อากาศจะร้อนจัดเองก็ตาม อุณหภูมิในร่างกายก็จะสูงตามไปด้วย จะทำให้เกิดความผิดปกติในการทำงานของร่างกายโดยเฉพาะหลอดเลือดและระบบไหลเวียนเลือด อาจทำให้เป็นลมช็อกหมดสติ และถึงแก่ความตายได้

 

ผู้ป่วยที่ถูกน้ำร้อนลวก จนผิวหนังพองและลอกออก

 
      อันตรายที่เกิดจากความเย็นจัด เกิดขึ้นได้เนื่องจากความเย็นทำให้เซลล์ทำงานได้น้อยลง หรือเซลล์อาจตายได้ถ้าเย็นจัดจนทำให้น้ำในเซลล์กลายเป็นน้ำแข็ง นอกจากนั้นความเย็นจัดยังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลอดเลือดและเลือด เช่น ทำให้หลอดเลือดหดตัว เลือดแข็งตัวภายในหลอดเลือด ทำให้เลือดไหลไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ไม่ได้ อาจทำให้เกิดมีเนื้อตายชนิดแกงกรีน (gangrene) เกิดขึ้น เช่น ที่นิ้วมือนิ้วเท้า ที่เรียกว่า โรคหิมะกัด (frost bite) เป็นต้น ถ้าร่างกายทั้งหมดได้รับความเย็นจัด จะทำให้การไหลเวียนของเลือดล้มเหลวและถึงแก่ความตาย ได้ 

๕. โรคที่เกิดจากกระแสไฟฟ้า 

      อันตรายที่เกิดจากกระแสไฟฟ้า ขึ้นอยู่กับชนิดความแรง เวลา และตำแหน่งที่กระแสไฟฟ้าผ่านร่างกาย อันตรายเฉพาะที่เกิดจากความร้อนมีลักษณะเช่นเดียวกับอันตรายจากความร้อนดังกล่าวมาแล้วส่วนอันตรายต่อร่างกายที่สำคัญ ก็คือ อันตรายต่อสมองโดยเฉพาะศูนย์ควบคุมการหายใจและหัวใจ ทำให้หยุดหายใจ และหัวใจหยุดเต้น 

๖. โรคที่เกิดจากรังสี 

      รังสีต่างๆ ชนิดที่มีอยู่ตามธรรมชาตินั้น มีปริมาณน้อยไม่ทำอันตรายต่อร่างกาย แต่รังสีที่มนุษย์ผลิตขึ้น หรือนำมาใช้ในปริมาณมากนั้น สามารถทำอันตรายต่อร่างกายได้ เช่น รังสีเอกซ์ (X-ray) รังสีแกมมา (gamma) บีตา (bata) และรังสีอื่นๆ จากสารกัมมันตภาพรังสีซึ่งอาจได้จากธรรมชาติ เช่น แร่เรเดียมหรือสารกัมมันตภาพรังสีที่มนุษย์ผลิตขึ้น เช่น สารพวกเรดิโอไอโซโทป (radioisotope) ต่างๆ พลังงานจากรังสีซึ่งผ่านเข้าไปในร่างกาย ทำให้เกิดการไอออนไนซ์ (ionization) ของสสารที่เป็นส่วนประกอบของร่างกาย

      อันตรายที่เกิดขึ้นต่อเซลล์ของร่างกาย จะมากหรือ น้อย นอกจากขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณของรังสีที่ได้รับแล้ว ยังขึ้นอยู่กับชนิดของเซลล์ในร่างกายด้วย เซลล์อ่อนๆ จะถูก ทำลายได้ง่ายกว่าเซลล์ที่เติบโตเต็มที่แล้ว กล่าวคือ เซลล์พวกไข่ สเปอร์มาโตซัว เม็ดเลือดขาว และเซลล์ของเยื่อบุต่างๆ ถูกทำลาย ได้ง่ายกว่าเซลล์ชนิดอื่น การเปลี่ยนแปลงในเซลล์เกิดขึ้นได้ หลายแบบ คือ อาจเกิดการผันแปรของยีน เกิดความผิดปกติ ของโครโมโซม หรือทำให้เซลล์เสื่อมสลาย ตาย หรือกลายเป็น เซลล์มะเร็งไปก็ได้ อันตรายเหล่านี้อาจเกิดขึ้นกับบุคคลที่ได้ สัมผัสกับรังสีโดยงานอาชีพ เช่น รังสีแพทย์ ผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้อง กับวัสดุกัมมันตภาพรังสี หรือผู้ที่ถูกรังสีจากระเบิดปริมาณู เช่น ที่ญี่ปุ่นเมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ ซึ่งทำให้มีคนตายและป่วย เนื่องจากรังสีเป็นจำนวนมากมาย

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow