เมนูที่กินแล้วผอมลงมีจริงหรือไม่ คำตอบคือ มีจริง มันอยู่ในรูปแบบของอาหารที่มีโครงสร้างสลับซับซ้อนในการย่อย ร่างกายของเรามีกระบวนการย่อยเป็นลำดับขั้น เริ่มต้นจากปากและฟันซึ่งเป็นการย่อยอาหารให้กลายเป็นชิ้นเล็กลง ซึ่งสะดวกต่อการทำงานของน้ำย่อยในกระเพาะและส่วนอื่น ๆ ของระบบย่อยอาหาร อาหารบางชนิดได้รับการทดลองและคำนวณมาแล้วว่ามันจะต้องใช้พลังงานในการย่อยตลอดกระบวนการที่มากกว่าพลังงานที่ร่างกายของเราจะได้รับจากสารอาหารเมื่อย่อยสำเร็จ จึงเป็นที่มาว่าทำไมอาหารบางชนิด บางสูตร หรือบางเมนู กล่าวอ้างว่าเมื่อคุณกินเข้าไปแล้วจะได้รับพลังงานติดลบ อย่างเช่น -135 kcal แทนที่จะได้รับพลังงาน แต่ความเป็นจริงคือ ไม่มีใครกินอาหารเหล่านั้นเพียงอย่างเดียว คุณจะยังคงได้รับพลังงานจากการกินอย่างอื่นเพิ่มเติมอยู่ดี
ตัดกลับมาที่ชนิดของอาหารที่ดีที่สุดต่อร่างกาย หากคุณอยู่ค่ายสีเขียว หรือเป็นพวกนิยมพืช การกินมังสวิรัติคือทางเลือกที่โปรดปรานของคุณ แน่นอนว่าพลังงานที่คุณได้จากผักผลไม้นั้นน้อยกว่าการรับประทานอาหารแบบปกติอยู่มาก หนำซ้ำคุณยังต้องกินเยอะและหลากหลายกว่าคนปกติเพื่อให้ได้รับสัดส่วนของสารอาหารและพลังงานเทียบเท่ากัน เพราะร่างกายของเราไม่สามารถย่อยเซลลูโลสซึ่งเป็นโครงสร้างหลักในพืชได้ ซึ่งต่างจากสัตว์เคี้ยวเอื้อง ดังนั้น เราต้องได้รับพลังงานจากแหล่งอื่นทดแทนเพื่อให้คุณมีแรงในการทำกิจวัตรประจำวัน
มังสวิรัติเองก็มีหลายแขนง บ้างก็สามารถกินไข่ได้ กินนมได้ กินสัตว์ทะเลได้ หรือบ้างก็กินสัตว์ปีกได้ อย่างไรก็ดี การคำนวณจำนวนพลังงานและสารอาหารเป็นสิ่งจำเป็นที่แพทย์และนักโภชนการเน้นย้ำกับชาวสีเขียว
ส่วนในกลุ่มชาวสีแดงที่มุ่งเน้นเนื้อสัตว์อันเป็นแหล่งโปรตีนและแหล่งพลังงานหลักนั้น เกิดขึ้นมากเมื่ออุตสาหกรรมการทำปศุสัตว์และการแปรรูปอาหารพัฒนาถึงขีดสุด คุณสามารถเดินเข้าซูเปอร์มาร์เก็ต หรือไปจ่ายตลาดพร้อมกับได้รับเนื้อสดกลับบ้านไปปรุงอาหารได้ทุกวันที่คุณต้องการ เพราะตามประวัติศาสตร์แล้วมนุษย์เราล้วนต้องออกล่าเพื่อให้ได้มาซึ่งแหล่งโปรตีน
เนื้อสัตว์ในอดีตเป็นของหายาก ไม่ใช่เพราะว่ามันดีที่สุดแต่มันยากและต้องใช้พลังงานในการล่าเพื่อให้ได้มา และนั่นทำให้เราต้องย้อนคิดอีกครั้งว่า อันที่จริงแล้วเราเหมาะสมกับอาหารในรูปแบบใด เป็นทีมสีแดงกินเนื้อ หรือทีมสีเขียวมังสวิรัติ อยู่ทีมไหนจะสุขภาพดีกว่า ปลอดภัยต่อสารพิษตกค้างมากกว่า หรือแม้แต่มีอายุยืนยาวมากกว่า
แม้ว่าจำนวนผู้ที่เป็นสมาชิกทีมสีเขียวจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในแต่ละปี แต่มันก็ไม่ได้แปลว่าจะดีกว่าทีมสีแดง นักวิทยาศาสตร์ไม่ได้พบความแตกต่างอย่างมีนัยยะของผู้ที่เป็นมังสวิรัติเทียบกับผู้ที่ชอบรับประทานเนื้อในแง่ของอายุที่ยืนยาว หรือแม้แต่ชนิดและความร้ายแรงของโรคที่พบ ขณะที่ทีมสีแดงมีมวลกล้ามเนื้อเยอะกว่าทีมสีเขียว แต่ทีมสีเขียวกลับมีความดันเลือดโดยเฉลี่ยต่ำกว่าทีมสีแดง แน่นอนว่าความเสี่ยงต่อโรคเกี่ยวกับระบบไหลเวียนเลือดจึงต่ำกว่า แต่ก็อาจจะมีความเสี่ยงต่อการขาดสารอาหารประเภทโปรตีนในการผลิตน้ำเลือด เม็ดเลือด หรือเกล็ดเลือดมากกว่า ทีมสีเขียวมีคลอเรสเตอรอลเฉลี่ยต่ำกว่าทีมสีแดง ความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานก็ต่ำกว่าทีมสีแดงเช่นกัน แต่ทีมสีเขียวก็มีความเสี่ยงต่อการขาดสารอาหารในรูปแบบต่าง ๆ อย่างวิตามินและเกลือแร่มากกว่าทีมสีแดงด้วย