Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ภูเขาไฟ ลาวา และความอุดมสมบูรณ์

Posted By Plook Creator | 07 ธ.ค. 60
58,993 Views

  Favorite

ทางการอินโดนีเซียประกาศอพยพประชาชนกว่า 50,000 คน ออกจากพื้นที่โดยรอบภูเขาไฟอากุงในรัศมีกว่า 12 กิโลเมตรบนเกาะบาหลีซึ่งกำลังปะทุขึ้นในช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา สัญญาณเตือนที่สถาบันภัยพิบัติแห่งชาติอินโดนีเซียได้รับเป็นการเตือนถึงพลังใต้พื้นพิภพที่กำลังปะทุขึ้นและปลดปล่อยหินหลอมละลาย เถ้าถ่าน และเขม่าควันออกมา ซึ่งอาจสร้างความเสียหายให้กับชุมชน หมู่บ้าน และผู้คนซึ่งอาศัยอยู่โดยรอบ

 

อินโดนีเซียมีภูเขาไฟอยู่ตามเกาะต่าง ๆ ของประเทศกว่า 400 ลูก โดยภูเขาไฟอากุงนี้อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 3000 เมตร ตั้งอยู่ทางตะวันออกของเกาะบาหลีซึ่งเป็นสถานที่ยอดนิยมของนักท่องเที่ยว แต่ยังอยู่ห่างไกลจากแหล่งท่องเที่ยวหลักอย่างคูตากว่า 70 กิโลเมตร อย่างไรก็ดี มันเคยระเบิดครั้งสุดท้ายไปเมื่อปี 1963 และทำให้มีผู้เสียชีวิตไปกว่าพันคน แต่ถ้าเรารู้ว่าภูเขาไฟยังไม่สงบดี ทำไมจึงไปอาศัยอยู่ใกล้ ๆ

ภาพ : Shutterstock

 

ประเด็นแรกเลยสืบเนื่องจากการที่มันไม่เคยระเบิดอีกเลยเมื่อเวลาผ่านพ้นไปนานกว่า 50 ปี โดยนับจากปี 1963 นอกจากนั้นประชากรบนเกาะยังเพิ่มขึ้นตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา การอาศัยจับกลุ่มก็หนาแน่นกว่าในอดีตมาก ทำให้หลีกเลี่ยงได้ยากที่จะกันคนออกจากบริเวณที่ภูเขาไฟยังไม่สงบ

 

อย่างไรก็ตาม วิทยาการและเทคโนโลยีสมัยใหม่ก็มีความก้าวหน้ามากพอที่จะตรวจจับสัญญาณที่ส่งออกมาก่อนที่จะเกิดการปะทุ ทำให้สามารถเตรียมตัวรับมือได้ทันท่วงที แต่สาเหตุที่สำคัญที่สุดที่ทำให้ประชากรส่วนใหญ่เลือกที่จะเสี่ยงไปอยู่ใกล้กับภูเขาไฟ หรือเขตที่ภูเขาไฟเคยปะทุมาก่อน อาจจะเป็นสิ่งที่ภูเขาไฟปลดปล่อยออกมา เพราะนอกจากเถ้าถ่านที่กระจายฟุ้ง ฝุ่นผงที่ปลิวปกคลุมเป็นวงกว้าง ซึ่งทำให้อากาศโดยรอบไม่สะอาดพอที่จะหายใจและดำรงชีวิตในช่วงที่ภูเขาไฟปะทุ รวมถึงทำให้บ้านเรือนปกคลุมไปด้วยฝุ่นผงสกปรกแล้ว ลาวาหรือหินหลอมเหลวที่ไหลออกมาจากภูเขาไฟ กลับเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการ

 

หินหลอมเหลวหรือลาวา คือ แมกม่า (Magma) ที่อยู่ใต้แผ่นเปลือกโลก พวกมันมีอุณหภูมิสูงกว่าจุดเดือดหลายเท่า มันประกอบไปด้วยแร่ธาตุจำนวนมาก โดยถูกปลดปล่อยขึ้นมาบนผิวโลกผ่านการเปลี่ยนแปลงของแผ่นเปลือกโลก ทำให้เกิดการปะทุและระเบิดของภูเขาไฟ และเมื่อมันปะทุออกมาอยู่บนผิวโลกแล้วก็จะเย็นตัวลงกลายเป็นหินแข็งในที่สุด บางส่วนที่ถูกปลดปล่อยออกมาจากภูเขาไฟใต้น้ำก็จะแข็งตัวเมื่อโดนน้ำในทันทีและกลายเป็นหินแข็งอยู่ใต้น้ำด้วย

 

หินหลอมเหลวหรือลาวาเหล่านี้มีแร่ธาตุสารอาหารที่สำคัญและจำเป็นต่อสิ่งมีชีวิตบนโลกอยู่มากมายและพร้อมใช้งาน เมื่อหินภูเขาไฟเหล่านี้เย็นตัวและแข็ง ผ่านการเวลาไปโดยชะจากน้ำฝน ลม แสงแดด และจุลินทรีย์อื่น ๆ ตามกระบวนการธรรมชาติ แร่ธาตุจะถูกปลดปล่อยออกมาเป็นการเพิ่มสารอาหารสู่ดิน


ดินที่เกิดจากหินภูเขาไฟที่เย็นตัวและผุพังย่อยสลายทับถมกัน เมื่อรวมกับเศษเถ้าภูเขาไฟที่พ่นออกมา เรียกว่า Volcanic Soil หรือ Andisols พื้นดินรอบ ๆ ภูเขาไฟ หรือที่ที่เคยเกิดภูเขาไฟปะทุและปล่อยลาวาออกมาในครั้งอดีตจึงมีความอุดมสมบูรณณ์อย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำไม่ว่าทะเลหรือแม่น้ำ สิ่งมีชีวิตและพืชพันธุ์ที่อยู่โดยรอบจึงเติบโตอย่างงดงาม ทุ่งหญ้าและผืนป่ามีความอุดมสมบูรณ์สูง

 

ตัวอย่างของพื้นที่ที่เคยเกิดภูเขาไฟปะทุและปล่อยลาวาออกมา เช่น หมู่เกาะของอินโดนีเซีย ก็อุดมไปด้วยป่าดิบชื้นที่อุดมสมบูรณ์ นั่นไม่ใช่เพราะว่ามันอยู่ในเขตเส้นศูนย์สูตรซึ่งมีฝนตกชุกตลอดปีเท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะแร่ธาตุจากภูเขาไฟด้วย หมู่เกาะฮาวายซึ่งเป็นหมู่เกาะที่เกิดขึ้นจากหินภูเขาไฟและยังมีการปล่อยลาวาออกมาอยู่เรื่อย ๆ ก็เช่นกัน มันเป็นอีกหนึ่งหมู่เกาะซึ่งดินมีแร่ธาตุอุดมสมบูรณ์ และแร่ธาตุสำคัญที่ได้จากหินภูเขาไฟเหล่านี้ก็คือ ซิลิกอน ซึ่งทำให้พืชแข็งแรง ต้านทานโรคแมลง เพลี้ย หนอน และราได้ดี

 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

- ประเภทของภูเขาไฟและลาวา

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Creator
  • 15 Followers
  • Follow