จากการที่ไม้ดีๆ ต้องสูญเสียไปกับคลองเลื่อย ในการแปรรูปไม้โดยวิธีเลื่อยตามธรรมดาจำนวนมาก จึงทำให้มีผู้คิดหาทางแก้ไข พบว่ามีวิธีหนึ่งที่ได้ผลดี คือ ปอก หรือฝานเป็นไม้บาง มีความหนาตั้งแต่ ๑-๔ มิลลิเมตร ไม้บางนี้ลำพังตัวของมันเองไม่มีคุณสมบัติในด้านความแข็งแรง อาจฉีก หรือหักให้แยกจากกันได้ง่าย ต้องนำไปทากาวแล้วอัดติดกันหลายๆ ชั้น หรือติดกับวัตถุอย่างอื่น จึงจะใช้งานได้ดี
ที่ได้จากการปอกเป็นแผ่นต่อเนื่อง เราอาจตัดให้มีแผ่นกว้างแคบเพียงใดได้ตามต้องการ ส่วนที่ได้จากการฝาน มีลักษณะเป็นชิ้นๆ มีความกว้างเท่ากับความกว้างของไม้ตับที่นำมาฝานนั้น ปกตินิยมว่า ไม้ฝานมีความสวยงามกว่าไม้ปอก เนื่องจากเมื่อนำไปใช้แล้ว มีส่วนคล้ายกระดาน และอาจจัดลวดลายไม้ให้สวยงามได้ตามความพอใจ ไม้ดีมีค่าจึงมักทำเป็นไม้บางด้วยวิธีฝาน และใช้เป็นหน้าไม้อัด ส่วนไม้เนื้ออ่อนที่ขาดความสวยงามมักปอกและใช้เป็นไส้ไม้อัด ไม้เนื้ออ่อนส่วนใหญ่ เมื่อตัดลงใหม่ๆ สามารถนำเข้าปอกได้ทันที แต่สำหรับไม้เนื้อแข็ง หรือไม้ที่แห้งหมาดแล้ว จะปอกหรือฝานต้องต้มให้ไม้อ่อนตัวเสียก่อน
เป็นไม้ที่ได้จากการนำไม้บาง ๓ หรือ ๕ หรือ ๗ แผ่นมาทากาว แล้วอัดให้แผ่นที่อยู่ติดกันมีแนวเสี้ยนตั้งฉากกัน อาจผลิตให้มีความหนาบางแตกต่างกันได้หลายขนาด โดยเลือกใช้ไม้บางที่มีความหนาต่างๆ กัน หรือเพิ่มจำนวนชั้นไม้บางตามความเหมาะสม ไม้บางที่ผลิตออกสู่ตลาดถือตามขนาดมาตรฐาน คือ กว้าง ๔ ฟุต ยาว ๘ ฟุต แต่ในโอกาสต่อไปอาจต้องเปลี่ยนเป็น กว้าง ๑๒๐ เซนติเมตร ยาว ๒๔๐ เซนติเมตร ตามมาตรฐานของไทย ซึ่งมีการกำหนดให้ ๓๐ เซนติเมตร เป็นหน่วยมาตรฐาน
ไม้อัดอาจแบ่งออกได้เป็น ไม้อัดภายใน และไม้อัดภายนอก ตามประเภทของกาวที่ใช้ กาวที่ใช้ในอุตสาหกรรมไม้อัดสำคัญของโลกปัจจุบัน ได้แก่ กาวยูเรียฟอร์มัลดีไฮด์ ทนน้ำได้ดีพอควร ใช้สำหรับทำไม้อัดภายใน กาวรีซอสซีนอล และฟีนอลฟอร์มัลดีไฮด์ สามารถทนน้ำและความร้อนได้ดี แม้แช่ในน้ำหรือต้ม ไม้อัดก็ไม่หลุดลอกออกจากกัน จึงใช้ทำไม้อัดภายนอก
ไม้อัดที่ใช้กันอยู่ทั่วๆ ไปในเวลานี้ มักคำนึงถึงแต่ความสวยงามและความทนทานต่อการหลุดลอกเมื่อถูกความชื้นหรือน้ำ ในโอกาสต่อไปอาจจะต้องมีการพิจารณาในเรื่องความแข็งแรงด้วย เมื่อมีการนำไปใช้ประกอบโครงสร้างที่ต้องรับกำลังมากๆ เช่น ทำเป็น คาน ตง
นอกจากไม้อัดที่มีขนาดตามมาตรฐานของตลาดดังกล่าวแล้ว การอัดไม้ให้ได้ขนาดจำเพราะตามวัตถุประสงค์ที่จะนำไปใช้ หรืออัดให้มีรูปโค้งนูนอย่างไร อาจมีทางทำได้เป็นอเนกประการ
ไม้ประสาน ต่างกับไม้อัดตรงที่การเรียงไม้ ซึ่งต้องให้แนวเสี้ยนของไม้ทุกชั้นทอดไปตามแนวเดียวกัน และจะให้มีจำนวนชั้นเท่าไร ก็สามารถทำได้ จนกว่าจะได้ความหนาที่ต้องการ ไม้ประสาน นอกจากทำจากไม้บางสำหรับใช้เป็นเครื่องมือเล็กๆ น้อยๆ แล้ว ยังอาจทำจากไม้แปรรูปใช้ในงานก่อสร้างโดยทั่วๆ ไปได้ด้วย ความแข็งแรงของไม้ประสานจะมีเพียงใด ย่อมขึ้นอยู่กับชนิดไม้ และชนิดกาวที่ใช้ สำหรับไม้ที่ใช้เป็นส่วนประกอบโครงสร้างที่ต้องรับแรงมากๆ ดังกล่าวแล้ว มักมีการจำกัดให้ใช้กาวภายนอก จากวิธีการทำไม้ประสาน ทำให้เราสามารถใช้ไม้ขนาดเล็ก หรือสั้นๆ ให้เป็นประโยชน์ในการก่อสร้างได้อย่างกว้างขวาง กล่าวคือ จะประกอบให้เป็นตัวไม้ขนาดใหญ่เท่าใดก็ได้ หรือจะอัดให้โค้ง หรือมีรูปเป็นอย่างอื่นก็ทำได้ เชื่อว่า อุตสาหกรรมไม้ประสานนี้ จะมีลู่ทางก้าวหน้าได้มากในอนาคต