๑. การแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการที่ชาวเขาทำลายป่า และต้นน้ำลำธาร อันเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจสังคม และการเมืองนี้ มีหน่วยราชการหลายหน่วยดำเนินการอยู่ คือ กรมป่าไม้ ปลูกสร้างสวนป่าในบริเวณที่ป่าถูกทำลาย กรมประชาสงเคราะห์ได้จัดตั้งศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาในเขตท้องที่จังหวัดที่มีชาวเขาอยู่หนาแน่น จำนวน ๑๑ แห่ง เพื่อเป็นศูนย์กลางจัดส่งหน่วยชาวเขาเคลื่อนที่ออกไปพัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา โครงการพระธรรมจาริก กรมพัฒนาที่ดิน โดยสำนักงานที่ดินเขต ๖ เชียงใหม่ ดำเนินการสำรวจดิน พัฒนาที่ดิน อนุรักษ์ดิน และน้ำ ในที่ดินที่จัดให้ชาวเขา และชาวไทยในที่ราบ กรมส่งเสริมการเกษตร และมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้ส่งเสริมให้ชาวเขานำพืชเมืองหนาวที่มีราคามาปลูกทดแทนขึ้น ที่สำคัญก็คือ โครงการพัฒนาต้นน้ำ หรือแผนไร่นาป่าผสมตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ถึง ๗๑ โครงการ ถ้าหากโครงการต่างๆ ได้รับการสนับสนุนในด้านงบประมาณ และความร่วมมือจากชาวเขาเป็นอย่างดี ก็จะสามารถแก้ไขได้ แต่ต้องใช้ระยะเวลาที่ยาวนานอยู่บ้าง
๒. การแก้ไขปัญหาป่าไม้ในที่ราบ หรือที่เนินซึ่งถูกทำลาย เพื่อทำไร่พืชผลเศรษฐกิจ จนป่าเสื่อมโทรมลงนั้น กองจัดที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ กรมป่าไม้ก็ดำเนินการสอบสวนสิทธิของราษฎรในเขตป่าสงวนแห่งชาติ จัดที่ดินป่าสงวนที่เสื่อมโทรมให้ราษฎรได้เข้าอยู่อาศัยในรูปหมู่บ้านป่าไม้ เพื่อให้มีที่ทำกิน และได้แรงงานปลูกป่าขึ้นทดแทนป่าไม้ที่เสื่อมโทรม ปรากฏว่า ได้มีเกษตรกรหลายรายขออนุญาตเข้าใช้ประโยชน์ในป่าสงวนที่เสื่อมโทรม เพื่อปลูกป่า และทำกสิกรรมไปด้วย
๓. ปัญหาการลักตัดไม้ เพื่อทำฟืน เผาถ่าน และทำไม้ออกป้อนความต้องการของโรงเลื่อย และเป็นสินค้านั้น กรมป่าไม้ก็ได้แก้ไขโดยปรังปรุงการอนุญาตแบบรายย่อย หรือผูกขาดไปเป็นสัมปทานระยะยาวทั้งป่าเลน และป่าบก มีบริษัททำไม้จังหวัด ที่เป็นผู้รับอนุญาตก็ได้ป้องกันรักษา และปลูกป่าให้ด้วย ทั้งยังได้นำเงินผลกำไรประมาณร้อยละ ๑๐-๑๕ บำรุงสาธารณูปโภคท้องที่ที่ป่านั้นๆ ตั้งอยู่ นับว่าได้ผลดีพอสมควร
นอกจากนี้กรมป่าไม้ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ บริษัททำไม้จังหวัด ฯลฯ ได้ปลูกสวนป่าตั้งแต่ต้นจนถึงปี ๒๕๒๖ ได้ประมาณ ๓ ล้านไร่ โครงการป่าชุมชนที่ส่งเสริมให้ราษฎรและชาวไร่ ปลูกป่าในที่รกร้างว่าเปล่าหรือที่หัวไร่ปลายนา เมื่อดำเนินการเต็มรูปแล้ว ปัญหาเรื่องการขาดแคลนไม้ ไม้ฟืน และไม้ใช้สอยก็จะบรรเทาเบาบางลงได้
อย่างไรก็ดี การที่จะป้องกันรักษาป่าไม้อันเป็นทรัพยากรธรรมชาติล้ำค่าของเรานั้น จำเป็นจะต้องอาศัยความร่วมมือของหน่วยราชการ และประชาชนทุกฝ่าย มิฉะนั้น ป่าไม้จะต้องหมดไปจากประเทศไทยอย่างไม่มีปัญหา การให้การศึกษาอบรมแก่เยาวชนทุกระดับชั้น เพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญ และคุณประโยชน์ของทรัพยากรป่าไม้ และทรัพยากรธรรมชาติที่มีค่าทุกประเภท โดยกำหนดเป็นหลักสูตรการศึกษานับตั้งแต่ชั้นประถมขึ้นไป จนถึงระดับมหาวิทยาลัย และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้นักเรียนนักศึกษาได้มีโอกาสไปเห็น หรือสัมผัสของจริง หรือฝึกงานในภูมิประเทศจึงจะเกิดความประทับใจขึ้นอย่างจริงจัง สื่อมวลชนอันได้แก่หนังสือพิมพ์ วิทยุกระจาย เสียง และวิทยุ โทรทัศน์นับว่ามีบทบาทสำคัญมากที่จะช่วยทำให้ประชาชนได้ทราบ และตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติ และให้ความร่วมมือกับรัฐในการอนุรักษ์ยิ่งขึ้น
นอกเหนือจากมาตรการที่ได้ดำเนินการอยู่แล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะต้องปรับปรุงนโยบายเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ ที่กระทรวงต่างๆ ถือปฏิบัติอยู่ ให้สอดคล้องไม่ขัดแย้งซึ่งกันและกัน ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายจะสงวนและรักษาป่าไม้ไว้ให้ได้ร้อยละ ๔๐ ของเนื้อที่ประเทศ ส่วนกระทรวงมหาดไทย มีนโยบายจะเปิดที่ป่าไม้ เพื่อให้ราษฎรทำกิน กระทรวงคมนาคม ตัดเส้นทางผ่านป่าไม้ที่สมบูรณ์ โดยมิได้วางแผนการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำให้ป่าไม้สองข้างทางคมนาคมถูกบุกรุกทำลายอย่างรุนแรง เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย และเพาะปลูก กระทรวงอุตสาหกรรม อนุญาตให้ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบจากพืชผลทางการเกษตร เช่น โรงงานแป้งมันสำปะหลัง โรงงานน้ำตาล โดยมิได้ประสานงานกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ป่าที่สมบูรณ์จึงถูกบุกรุกทำลายเป็นไร่มันสำปะหลัง และไร่อ้อยเป็นจำนวนมาก