Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ทรัพยากรป่าไม้

Posted By Plookpedia | 04 ธ.ค. 59
23,133 Views

  Favorite

ทรัพยากรป่าไม้

ใครเคยไปเที่ยวป่าไม้บ้าง ใครที่เคยไปเที่ยวป่าไม้กับคุณพ่อคุณแม่ ใครที่อยู่ใกล้ป่า คงรู้ดีว่าป่าให้ความสนุกสนาน และเพลิดเพลินแก่เราเพียงไร  ป่ามีต้นไม้ใหญ่ๆ เช่น ต้นยาง ต้นตะเคียน ลำต้นใหญ่สูงตรง น่าเกรงขาม มีต้นไม้ที่มีดอกงามๆ สีม่วง สีชมพู สีแสด บานเต็มต้นน่าดู มีนกสวยๆ เกาะอยู่ตามกิ่ง ส่งเสียงร้องน่าฟัง มีกระรอกไต่อยู่ตามกิ่ง น่ารัก บางต้นมีต้นไม้เลื้อยพันแน่นหนา ห้อยระย้าเหมือนม่าน

 


นับแต่สมัยดึกดำบรรพ์ คนได้อาศัยประโยชน์จากต้นไม้อย่างมากมาย  คนได้กินผลไม้ ใบไม้ ยอดไม้ รากไม้ ดอกไม้บางอย่าง หน่อไม้ และเห็ด สิ่งเหล่านี้เป็นอาหารอย่างหนึ่ง ทำให้มีชีวิตอยู่ได้ บางอย่างก็ช่วยรักษาโรค

 

เมื่อยามร้อน เข้าไปอยู่ใต้ร่มไม้ได้รับความร่มเย็น เมื่อยามหนาวเอากิ่งไม้แห้งมาก่อไฟให้เกิดความอบอุ่น  เมื่อคนเจริญขึ้นบ้างแล้วรู้จักเอากิ่งไม้และลำต้นมาสร้างที่อยู่ เหลาปลายไม้ให้แหลม เพื่อขุดรากไม้ และหัวมันเป็นอาหาร ใช้เป็นอาวุธ สำหรับล่าสัตว์ และป้องกันตัว  นอกจากต้นไม้จะให้อาหารที่อยู่อาศัย เชื้อเพลิง และอาวุธป้องกันตัวเองแล้ว ต้นไม้ในป่ายังเป็นที่อาศัยของสัตว์บางชนิด ซึ่งเป็นประโยชน์แก่คน เช่น ผึ้ง ซึ่งให้น้ำผึ้ง และนกซึ่งให้ความเพลิดเพลิน และกำจัดแมลงศัตรูพืช

 

เวลาได้ล่วงไปนับพันๆ ปี แต่ประโยชน์ของต้นไม้ และป่าไม้ไม่ได้ลดลงไป กลับเพิ่มขึ้นทุกวันนี้ เรายังต้องอาศัยไม้ทำฟืนหุงข้าว ก่อไฟให้ความร้อน สร้างบ้าน ทำไม้หมอนรองรางรถไฟ ทำโต๊ะ เก้าอี้ ตู้ใส่เสื้อผ้า และกระดานดำในห้องเรียน เรายังกินผลไม้ หน่อไม้ ใบไม้ ยอดไม้เป็นอาหาร และยังใช้ยาหลายชนิดที่ทำจากส่วนใดส่วนหนึ่งของต้นไม้  ยังมีของใช้อีกหลายอย่าง ที่เราไม่รู้ว่าได้มาจากต้นไม้ และป่าไม้เหมือนกัน สิ่งเหล่านี้มองดูไม่เห็นเป็นไม้ เช่น กระดาษที่เราใช้เขียนหนังสือ สีทาบ้าน สีย้อมผ้า ขันน้ำ อ่างน้ำ ของเล่นพลาสติก และเสื้อผ้าบางชนิด ที่กล่าวมาแล้วนั้เป็นประโยชน์ที่ป่าไม้ให้แก่เราโดยตรง

 

 

นอกจากประโยชน์ได้ตรงแล้ว ป่าไม้ยังช่วยเราในทางอ้อมอีกด้วย ต้นไม้ใหญ่มีรากลึกลงไปในดิน ต้นไม้มากๆ ในป่ามีรากมากมายฝังอยู่ในดิน ช่วยทำให้ดินร่วนโปร่ง และยึดดินไว้ ไม่ให้ถูกน้ำฝนเซาะให้พังทลายลงไปถ้าดินพังลงไปมากๆ เราก็ไม่มีป่าไม้อีก เมื่อเราไม่มีป่าไม้ ชีวิตของเราก็จะลำบาก  นอกจากป้องกันไม่ให้น้ำท่วมเสียหายแล้ว ป่าไม้ยังช่วยให้เรามีน้ำใช้อยู่อย่างสม่ำเสมอ เพราะป่าไม้ช่วยเก็บน้ำใต้ดิน และน้ำในลำห้วยลำธารไว้ ทำให้น้ำไหลสม่ำเสมอ และใสสะอาด ช่วยให้สัตว์ต่างๆ มีชีวิตอยู่ได้ด้วย

 


ตามป่าไม้บางแห่ง เราจะได้เห็นคนกำลังตัดไม้บรรทุกรถยนต์ บางแห่งก็ใช้ช้างลากไม้ซุง เขานำไม้เหล่านี้ไปขาย เพื่อสร้างบ้านเรือน เครื่องใช้บางอย่างก็ส่งเข้าโรงงานแปรรูป เป็นไม้อัดส่งไปจำหน่าย นำรายได้มาสู่ประเทศเป็นจำนวนหลายพันล้านบาท ป่าไม้ทำให้คนจำนวนหลายล้านมีทางทำมาหากิน ป่าบางแห่ง รัฐบาลสงวนไว้ให้เป็นสถานที่เที่ยวพักผ่อนหย่อนใจด้วยการชมต้นไม้งามๆ น้ำตกนก และสัตว์ที่น่าดู บางแห่งก็รักษาไว้เป็นแหล่งพำนักอาศัยของสัตว์ป่านานาชนิดอีกด้วย

กำเนิดของป่าไม้

ป่าไม้ ได้ถือกำเนิดขึ้นมาในรูปของพืชดั้งเดิมเมื่อประมาณ ๓๕๐ ล้านปี แล้วค่อยๆ เปลี่ยนแปร เป็นไม้ใหญ่นานาชนิด เมื่อเกิดมาแล้ว ก็ได้เจริญเติบโตขึ้น แล้วก็เสื่อมโทรมและล้มตายลง จนในที่สุด พรรณไม้บางชนิดก็สูญพันธุ์ไป มีพรรณไม้ชนิดใหม่เกิดขึ้นทดแทน เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพของดินฟ้าอากาศ พรรณไม้จำพวกที่เกิดขึ้นก่อนเมื่อประมาณ ๑๘๑ ล้านปีมาแล้ว ได้แก่ ไม้ในตระกูลไม้สน ที่มีใบเรียวแหลมคล้ายเข็ม ต่อมาในระยะ ๔๖ ล้านปี จึงมีพรรณไม้พวกใบกว้าง เช่น ไม้สัก ไม้ประดู่ ถือกำเนิด ขึ้นมา และได้เจริญเติบโตมาตราบเท่าทุกวันนี้

 

ป่าดงดิบ วนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่


ความหมายของคำว่า "ป่าไม้" ได้เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาของการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ของมนุษย์ ในทวีปยุโรป เมื่อสมัยที่พระมหากษัตริย์ทรงครองราชย์ และเป็นเจ้าของประเทศ ป่าไม้ หมายถึง พื้นที่ที่สงวนไว้ เพื่อให้พระมหากษัตริย์ใช้เป็นที่ล่าสัตว์ แต่ในสมัยปัจจุบัน "ป่าไม้" หมายถึง บรรดาพื้นที่ที่มีพรรณไม้นานาชนิดปกคลุมอยู่ โดยมีจำนวนไม้ต้นขนาดต่างๆ มากกว่าพรรณไม้ชนิดอื่นๆ และมีเนื้อที่กว้างขวางเพียงพอที่สามารถผลิตไม้หรือของป่า ให้ประชาชนได้ใช้สอย หรือทำการค้า หรือมีอิทธิพลต่อดินฟ้าอากาศและระบบน้ำของแต่ละท้องถิ่น ที่ป่าไม้นั้นตั้งอยู่

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดมีป่าไม้หลายชนิดขึ้นในท้องถิ่นต่างๆ ของประเทศ ได้แก่ ลมฟ้าอากาศ โดยเฉพาะฤดูกาล และปริมาณของฝนที่ตกในปีหนึ่งๆ และระยะเวลาที่ฝนตก ถัดไปก็ได้แก่ ชนิดของดินซึ่งถ้าเป็นดินลึก อุดมสมบูรณ์ เก็บความชุ่มชื้นไว้ได้ดี ป่าก็มักจะเป็นป่าชื้น หรือป่าดงดิบที่ต้นไม้ไม่ผลัดใบในถิ่นที่แห้งแล้ง ฝนตกน้อย หรือที่มีฤดูฝน และฤดูแล้งแยกออกจากกันอย่างแน่นอน ป่าก็เป็นป่าแล้ง หรือป่าผลัดใบ อุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ และความสูงจากระดับน้ำทะเล ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดป่าไม้ชนิดต่างๆ กันด้วย

 

ป่าแล้ง (ไม้เต็ง รัง)

ในประเทศไทย ป่าไม้จำแนกออกได้เป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ 

ก. ป่าประเภทที่ไม่ผลัดใบ หรือป่าดงดิบ 
ข. ป่าประเภทที่ผลัดใบหรือป่าแล้ง


ก. ป่าประเภทที่ไม่ผลัดใบ 

ยังจำแนกออกเป็นชนิดสำคัญๆ ดังต่อไปนี้

๑.ป่าดงดิบ 

ส่วนใหญ่อยู่ทางภาคใต้ และภาคตะวันออกของประเทศไทย และตามพื้นที่ในบริเวณหุบเขาทางภาคอื่นๆ ด้วย มีพรรณไม้ที่มีค่า เช่น ไม้ยาง สยา ตะเคียน กระบาก 

๒.ป่าดงดิบเขา 

ขึ้นอยู่บนภูเขาทางภาคเหนือของประเทศ ที่มีความสูงเกินกว่า ๘๐๐ เมตร จากระดับน้ำทะเลขึ้นไป มีพรรณไม้ที่สำคัญคือ ไม้ในตระกูลเดียวกับโอ๊ก และเชสนัตของเขตอบอุ่น คือ พวกไม้ก่อชนิดต่างๆ ไม้จำปีป่า หว้า และกำยาน 

๓.ป่าสน หรือป่าสนเขา 

ในประเทศไทยป่าสนมักขึ้นอยู่บนเขาสูงในภาคเหนือเป็นส่วนใหญ่ส่วนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ก็มีอยู่บ้างในบางจังหวัด เช่น จังหวัดเลย ศรีสะเกษ สุรินทร์ และอุบลราชธานี ที่ดินที่ขึ้นอยู่ก็ไม่สู้อุดมสมบูรณ์ หรือเป็นกรด พรรณไม้ที่สำคัญ ได้แก่ ไม้สนสองใบ และไม้สนสามใบ ซึ่งขึ้นอยู่ในพื้นที่ที่สูงประมาณ ๒๐๐ และ ๗๐๐ เมตร ตามลำดับ จากระดับน้ำทะเลขึ้นไป ต้นสน บางทีก็ขึ้นอยู่เป็นหมู่ล้วนๆ ไม่มีไม้ชนิดอื่นปะปนแต่บางทีก็ปะปนอยู่กับพรรณไม้บางชนิด เช่น ไม้ก่อต่างๆ ไม้เหียง พลวง เต็ง รัง 

๔. ป่าเลนน้ำเค็ม 

ขึ้นอยู่ในที่ดินเลนริมทะเล และตามปากแม่น้ำใหญ่ๆ ซึ่งมีน้ำเค็มท่วมถึงทางชายฝั่งตะวันออก และตะวันตก พรรณไม้ที่สำคัญก็มีพวกไม้โกงกาง ถั่ว ประสัก แบะโปรงซึ่งเหมาะสมสำหรับทำฟืน และเผาถ่าน

 

ป่าดงดิบ ดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่


ข. ป่าประเภทที่ผลัดใบ หรือป่าแล้ง 

จำแนกออกได้อีก ๒ ชนิด 

๑.ป่าเบญจพรรณ หรือป่าผลัดใบผสม 

ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่ทั่วไปทางภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ ยกเว้นภาคใต้ ในภาคเหนือมีไม้สัก แดง ประดู่ ตะแบก มะค่าโมง ส่วนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พรรณไม้ก็คล้ายคลึงกัน แต่มีไม้พยุงเป็นไม้สำคัญ ลักษณะของป่าเป็นป่าโปร่ง ประกอบด้วยพรรณไม้ขนาดกลาง พื้นป่าไม้รกทึบมาก ในฤดูแล้งต้นไม้เกือบทั้งหมดพากันผลัดใบ เพื่อที่จะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในระหว่างที่พื้นดินแห้งแล้ง

๒.ป่าแพะ หรือป่าแดง หรือป่าโคก 

ป่าชนิดนี้ขึ้นอยู่มากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ถึงร้อยละ ๗๐ ของป่าชนิดต่างๆ ในภาคนี้ นอกจากนี้ ก็มักปรากฏยู่ตามสันเขา หรือลาดเขา และที่ราบที่ดินเลว และแห้งแล้งในภาคเหนือ และภาคกลาง ส่วนภาคตะวันออก และภาคใต้ ไม่ปรากฏว่ามีขึ้นอยู่ หากดินสมบูรณ์หรือมีความชุ่มชื้นดี ต้นไม้ก็มักมีขนาดใหญ่ เหมาะสำหรับทำไม้ท่อน แต่ในที่ดินเลว และแห้งแล้ง พรรณไม้ก็มีขนาดเล็กแคระแกร็น เหมาะสำหรับทำฟืน หรือเผาถ่าน หรือเป็นไม้เข็ม หรือเสากระทู้รั้วเท่านั้น พรรณไม้ที่สำคัญในป่าชนิดนี้ ได้แก่ ไม้เต็ง รัง เหียง พลวง ซาก รกฟ้า พยอม
นอกจากป่า ๒ ประเภทใหญ่ๆ ดังกล่าวแล้ว ยังมีป่าประเภทอื่นอีก ซึ่งไม่สู้มีความสำคัญนัก ได้แก่

 

ป่าชายหาด


๑.ป่าชายหาด 

ป่าชนิดนี้มีเนื้อที่เพียงเล็กน้อย ขึ้นอยู่ตามริมหาดชายทะเลทั่วไป ลักษณะเป็นป่าโปร่ง พรรณไม้ที่สำคัญ คือ ไม้กระทิง สนทะเล โพทะเล หูกวาง และมักมีต้นเตย และหญ้าต่างๆ ขึ้นอยู่เป็นไม้ชั้นล่าง 

๒.ป่าบึงหรือป่าพรุ 

ป่าชนิดนี้อยู่ในที่ราบลุ่ม ซึ่งมีน้ำจืดขังอยู่เกือบตลอดปี มีอยู่ในภาคกลาง และภาคใต้ เป็นส่วนใหญ่ แต่มีเนื้อที่ไม่มากนัก พรรณไม้ที่สำคัญ ได้แก่ ไม้ถ่อน กระทุ่มน้ำ จิกอินทนิลน้ำ โสก หว้าต่างๆ

 

ป่าเลนน้ำเค็ม

   

ป่าไม้ได้อำนวยประโยชน์ให้แก่มนุษย์ นับตั้งแต่ก่อนยุคประวัติศาสตร์ ในสมัยดึกดำบรรพ์ มนุษย์ได้ใช้ไม้จากป่ามา เพื่อทำเชื้อเพลิงสำหรับหุงต้มอาหาร และให้ความอบอุ่น ในฤดูหนาว ได้เก็บผลไม้ป่ามาบริโภค ได้อาศัยป่าไม้เป็นร่มเงา และป้องกันความร้อนจัดหนาวจัด ต่อมามนุษย์ได้ผลิตไม้ซุง เพื่อทำแพ และเรือขุด และใช้เป็นวัสดุก่อสร้างบ้านเรือน เครื่องใช้ ตลอดจนอาวุธ

      ในสมัยปัจจุบันป่าไม้ก็ยังอำนวยประโยชน์แก่มนุษย์เพิ่มมากขึ้นหลายทาง นับตั้งแต่ ไม้ทำเชื้อเพลิง ไม้ท่อน ไม้กระดาน และไม้อัด นอกจากนี้ ยังให้ผลิตผลด้านเยื่อไม้ และทางเคมีอื่นๆ นับเป็นพันๆ ชนิด เช่น กระดาษชนิดต่างๆ วัตถุที่ทำฉนวนไฟฟ้า พลาสติก สิ่งทอ วัตถุระเบิด สีทาบ้าน สีสำหรับย้อมผ้า ยา และน้ำหอม ป่าไม้ที่ยืนต้นอยู่ก็นับว่าเป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ โดยช่วยป้องกัน หรือบรรเทาการพังทลายของดิน อันเนื่องมาจากน้ำกัดเซาะ ช่วยยึดเหนี่ยวดินให้อยู่กับที่ ป้องกันมิให้ท้องทะเลสาบ หนอง บึง หรือแม่น้ำลำธารตื้นเขินด้วยดินตะกอน และช่วยให้การสัญจรทางน้ำสะดวกขึ้น ป่าไม้ ช่วยอนุรักษ์ หรือเก็บกักน้ำ ทั้งที่อยู่บนผิวดินตามห้วยลำน้ำ และน้ำใต้ดิน ช่วยป้องกัน หรือบรรเทาอุทกภัย ช่วยสร้างสรรค์ความอุดมสมบูรณ์ของดิน ทั้งในด้านเคมี และฟิสิกส์ โดยอาศัยการผุพังเน่าเปื่อย และการสลายตัวของกิ่งไม้ใบไม้ และซากพืชซากสัตว์ต่างๆ  นอกจากนี้ ป่าไม้ยังก่อให้เกิดอาชีพแก่บุคคลเป็นจำนวนเรือนล้าน ที่ทำงานอยู่ในป่าไม้ และโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้ไม้เป็นวัตถุดิบ เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจของประชาชน และเป็นที่พำนักของสัตว์ป่า

 

ป่าไม้เป็นอยู่อาศัยของสัตว์ป่า

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow