“โดนรีไทร์” คำพูดสั้น ๆ แต่พาสั่นไปถึงขั้วหัวใจ !! คงไม่มีเด็กมหา’ลัยคนไหนอยากได้ยินคำนี้แน่ ๆ เชียวล่ะ เพราะนั่นหมายความว่า “โดนไล่ออก” แล้วอะไรกันคือสาเหตุที่ต้องถูกรีไทร์ น้อง ๆ เคยสงสัยหรือเปล่า ถ้าใครสงสัยและไม่อยากโดนรีไทร์ให้ใครรู้สึกผิดหวัง ตามติดชิดเข้ามา ใกล้ ๆ เพราะพี่จะพาไปรู้กันเดี๋ยวนี้เลย พร้อมกับคำแนะนำดี ๆ ที่ควรรู้ว่า เรียนยังไงไม่ให้โดนรีไทร์
เหตุผลหลัก ๆ ของเด็กมหา’ลัยที่มักโดนรีไทร์ก็เพราะผลการเรียนหรือเกรดไม่ถึงตามที่มหา’ลัยกำหนดยังไงล่ะครับ ซึ่งบางคนก็น้อยมากติดต่อกันหลายเทอมจนน่าตกใจเลยล่ะ ซึ่งปัจจัยหลักน้อง ๆ ก็คงเดาได้ไม่ยากว่าเป็นผลจากการไม่ตั้งใจเรียน บางคนหัวดี เรียนเก่ง แต่โดนรีไทร์ก็มีให้เห็น เพราะอะไรนั่นเหรอครับ ? ก็เพราะไม่เข้าเรียนแถมไม่ส่งงานอีกต่างหากยังไงล่ะ (บางทีเพื่อนก็แอบสงสัยว่าหายหัวไปไหน คิดเหมือนกันไหมครับ^^) อ้อ !! เกือบลืมไป ยังมีอีกปัจจัยหนึ่งที่พี่แอบสืบรู้มา นั่นก็คือ โดนรีไทร์เพราะวิชาเรียนยาก (มาก ๆ) บางมหา’ลัยหรือบางคณะที่แข็ง ๆ เอาเป็นว่าเข้ายากจบยากนั่นแหละ กว่าจะได้เกรดมาชื่นชมนี่บนบานสานกล่าวกันให้บานเลยล่ะ เพราะอาจารย์อยากได้คุณภาพ จริง ๆ ไม่แคร์ว่าใครจะผ่านไม่ผ่าน ประมาณว่าคุณต้องขยันและขวนขวายเอาเองถ้าอยากได้เกรดสวย ๆ ใครไม่ผ่านก็คงหนีไม่พ้นติด F พอสะสมในสต๊อกมาก ๆ เข้าก็โดนรีไทร์ไปตามระเบียบ !!
คงเป็นคำแนะนำเบสิกที่พบเห็นกันบ่อย ๆ ว่าให้ตั้งใจเรียน เข้าเรียน และส่งงานให้ครบ แต่เคยสงสัยไหมครับว่าทำไมบางครั้งมันเป็นสิ่งที่ทำได้ยากเสียจริง ใช่ครับ !! มันเป็นสิ่งที่ทำให้ยากจริง ๆ สำหรับคนขี้เกียจและไม่รักตัวเองเอาซะเลย น้อง ๆ ต้องคิดอยู่เสมอนะครับว่าการเรียนเป็นทางสายหนึ่งที่จะพาเราไปสู่ปลายทางที่วาดหวังไว้ ต้องขยันให้มาก ๆ ไม่อย่างนั้นคงเรียนไม่จบหรือถูกรีไทร์ไม่จบไม่สิ้นชัวร์ ๆ
แน่นอนที่สุดว่าถ้าไม่อยากโดนรีไทร์ก็ต้องทำเกรดอย่าให้ต่ำกว่าเกณฑ์ที่มหา’ลัยกำหนด ถ้าถามว่าเกรดสำคัญแค่ไหนพี่คงให้คำตอบชัดเจนไม่ได้ครับ แต่เชื่ออย่างหนึ่งว่านอกจากแสดงถึงความรู้แล้วเกรดยังสะท้อนความขยันของแต่ละคนอีกด้วย บางคนเรียนไม่เก่งแต่ขยันเสมอต้นเสมอปลายเกรดก็เลยสวยงามตามเนื้อผ้า ดังนั้นน้อง ๆ ต้องพยายามให้มากนะครับ ลองนึกดูว่าถ้าวันหนึ่งพ่อแม่รู้ว่าเราโดนรีไทร์ท่านจะรู้สึกอย่างไร
เชื่อไหมล่ะครับว่าการนั่งพูดคุยหรือติวให้กันนี่มีประโยชน์มากเลยนะครับ เพราะพี่เชื่อว่า น้อง ๆ คงอ่านหนังสือเรียนหรือเตรียมสอบกันอยู่แล้ว การติวก็เหมือนเป็นการสรุปรวบยอดความรู้เรื่องนั้น ๆ ให้เข้าใจง่ายหรือเข้าใจมากขึ้น ซึ่งอาจมีเทคนิคหลายอย่างรวมกันช่วยเสริมความจำ ฉะนั้นใครที่กังวลเรื่องสอบเรื่องเกรดก็ลองจับกลุ่มกันติวหนังสือดูสิครับ พี่เชื่อว่าถ้าตั้งใจจริงเกรดออกมาสวยแน่นอน ไม่ต้องห่วงเลยว่าจะโดนรีไทร์
ถ้าน้อง ๆ รู้ตัวเองว่าวิชาที่กำลังเรียนอยู่ไม่ไหวแน่ ๆ เรียนไปก็เจอ F ตัวโต ๆ แดง ๆ และไม่อยากให้เกรดแย่ไปกว่านี้ แนะนำให้ดรอปไว้ก่อนเลยครับแล้วค่อยลงเรียนใหม่ในเทอมหน้าหรือตามที่น้องๆ วางแผนไว้ แต่ต้องดูช่วงเวลาด้วยนะครับว่ามหา’ลัยให้ดรอปได้ช้าสุดตอนไหนในแต่ละเทอม เช่น ช้าสุดประมาณ 2 สัปดาห์ก่อนสอบวิชานั้น ๆ และดรอปได้ขั้นสุดถึงชั้นปีไหน น้อง ๆ ต้องศึกษาข้อมูลและติดตามให้ดีนะครับหากพลาดขึ้นมาจะเสียใจเป็นครั้งที่สองพี่ ไม่รู้ด้วยนะ !!
คงเป็นช่วงเวลาที่ไม่สู้ดีเอาซะเลยเมื่อรู้ว่าตัวเองโดนรีไทร์หรือไล่ออกจากมหา’ลัย แล้วหลังจากนี้จะทำยังไงดีล่ะ จะไปทางไหนต่อ พ่อแม่ก็เสียใจ คนรอบข้างก็ผิดหวัง..ก่อนอื่นพี่ต้องบอกน้อง ๆ นะครับว่าต้องมีสติเป็นสิ่งแรก เพราะถ้ามัวแต่เศร้ามากไปจะส่งผลเสียต่อร่างกายได้ สู้เอาเวลามาให้กำลังใจตัวเองดีกว่าเพื่อจะได้เดินต่อไปยังไงล่ะ อาจเริ่มจากทบทวนตัวเองว่าที่ผ่านมาบกพร่องเรื่องไหนแล้วจึงแก้ไขให้ได้ จากนั้นก็ตั้งเป้าหมายที่ตั้งใจ ถ้าอยากเรียนจบให้ได้น้อง ๆ ก็สามารถไปยื่นสมัครเข้าเรียนใหม่หรือใช้การโอนหน่วยกิตก็แล้วแต่ (ต้องศึกษาข้อมูลให้ดีและชัดเจน) พี่เชื่อว่าความผิดพลาดในอดีตจะสอนให้เราโตขึ้นแล้วความสำเร็จจะเป็นของเราครับ
ช่วงชีวิตของการเป็นเด็กมหา’ลัยมีเรื่องราวเยอะแยะผ่านมาทดสอบไม่ว่าสุขหรือทุกข์ ผิดหวังหรือสมหวัง คนที่เคยหกล้มใช่ว่าจะลุกขึ้นยืนแล้วเดินต่อไปไม่ได้ เช่นเดียวกันน้อง ๆ คนไหนที่คิดว่ากำลังจะโดนรีไทร์พี่อยากให้รีบปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้นซะวันนี้เลย (อย่ารอช้า !!) ลองเอาคำแนะนำและความหวังดีเหล่านี้ที่พี่ตั้งใจนำมาบอกกับน้อง ๆ เป็นแรงบันดาลใจและปรับใช้ดูสิ ไม่ใช่เพื่อใคร แต่ “เพื่อตัวของน้องเอง”
เรื่อง : ภานุวัฒน์ มานพ