ควายไทยจัดเป็นควายที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ในบรรดาควายเลี้ยงแถบเอเชีย ควายเลี้ยงมีสองประเภทใหญ่ๆ คือ ควายแม่น้ำ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นควายพันธุ์ อินเดีย จัดเป็นควายพันธุ์นม และควายปลัก ซึ่งรวมควายไทยและควายงานในประเทศอื่นๆ ในเอเชีย เช่น ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย พม่า เขมร ควายไทยมีเลี้ยงกันในทุกภาคของประเทศไทย แต่ส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดังรายละเอียดจำนวนควายในภาคต่างๆ ของประเทศไทย ในตารางที่ ๙
ตารางที่ ๙ จำนวนควายในภาคต่างๆ ของประเทศ ไทย พ.ศ. ๒๕๒๑
ภาค | รวม (พัน) |
เพศผู้ (พัน) |
เพศเมีย (พัน) |
เมีย / ผู้ (พัน) |
เหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ กลาง ใต้ |
๑,๒๑๔.๔ ๓,๖๓๙.๓ ๕๑๘.๒ ๒๓๙.๗ |
๕๕๙.๖ ๑,๗๐๗.๓ ๒๖๕.๓ ๗๘.๐ |
๖๕๔.๘ ๑,๙๓๒.๐ ๒๕๓.๐ ๑๖๑.๗ |
๑.๑๗ ๑.๑๓ ๐.๙๕ ๒.๐๗ |
รวม | ๕,๖๑๑.๖ | ๒,๖๑๐.๒ | ๓,๐๐๑.๕ | ๑.๑๕ |
สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี
บางคนเรียกควายว่า กระบือ เข้าใจว่ากระบือเป็นคำต่างประเทศ ภาษาเขมรเรียกควายว่า กระบือหรือกระบาย ชาวฟิลิปปินส์เรียกกระบือว่า คาราบาว และชาวมาเลเซียและอินโดนิเซียเรียกว่า เคอรเบา ควายไทยมีขนาดใหญ่กว่าวัวประมาณสองเท่า ควายตัวผู้โตเต็มที่มีน้ำหนักเฉลี่ย ๖๐๐-๖๕๐ กิโลกรัม ควายตัวเมียโตเต็มที่มีน้ำหนักเฉลี่ย ๔๐๐-๕๐๐ กิโลกรัม ควายมีลำตัวใหญ่ กว้างและลึก มีท้องกายโตแสดงให้เห็นความจุ ท้องย้อย ปั้นท้ายลาด ขายาว มีกระดูกใหญ่ หัวมีขนาดเล็ก เมื่อเทียบกับขนาดตัว ทั้งตัวผู้ และตัวเมียมีเขายาวโค้ง งองุ้มเข้าหากันไป ด้านหลังเขาควายมีรูปร่างแบน ปลายเขาเรียวแหลม มองดูน่ากลัว ควายไทยมีสองสี คือ ควายสีเทาหรือดำ และความเผือกซึ่งมีสีขาว
ควายมีต่อมเหงื่อน้อยกว่าวัว จึงถ่ายเทความร้อนออกจากร่างกายได้ไม่ดีเท่าวัว เวลาอากาศร้อน ควายชอบนอนแช่ปลักโคลน เพื่อเป็นการผ่อนคลายความร้อนของร่างกาย ถ้าควายโดยอากาศร้อนนานๆ จะแสดงอารมณ์หงุดหงิด เปลี่ยว และดุร้าย จนอาจทำร้ายผู้เข้าใกล้ได้ หากไม่ระมัดระวัง ควายมักใช้เขาอันยาวโง้งเหวี่ยงแทงเสยไปด้านหลังด้วยความแรง แต่โดยทั่วไป ควายเป็นสัตว์เลี้ยงที่เชื่อง และเชื่อฟังผู้เลี้ยง จึงฝึกใช้งานได้ง่าย
ลูกควายแรกเกิดมีน้ำหนักประมาณ ๒๕-๓๕ กิโลกรัม ตัวผู้โตกว่าตัวเมีย แม่ควายให้นมพอเลี้ยงลูกนมควายมีไขมันสูง ๗-๙ เปอร็เซ็นต์ สูงกว่านมวัวซึ่งมีไขมันเพียง ๓-๔ เปอร์เซ็นต์ แม่ควายเลี้ยงลูกเก่ง ลูกควายจะดูดนมไปจนกว่าแม่จะหยุดให้นม จึงเริ่มรู้จักเล็มหญ้ากินเอง ควายสาวมีอายุผสมพันธุ์ได้ตั้งแต่ ๒-๓ ปี ขึ้นไป มักพบบ่อยๆ ว่า ควายตัวเมียให้ลูกควายตัวแรกเมื่ออายุ ๔-๕ ปี แม่ควายอาจให้ลูกได้ถึง ๑๐ ตัว ตลอดชีวิต แต่จะให้ลูกที่แข็งแรงที่สุดเมื่อแม่ควายมีอายุระหว่าง ๘-๙ ปี ซึ่งควรให้ลูกเป็นตัวที่ ๔ หรือ ๕ แม่ควายที่ได้รับอาหาร และการเลี้ยงดูดี อาจให้ลูกปีละตัว แต่โดยทั่วไปจะให้ลูกสองตัวในสามปี ควายตัวผู้เริ่มใช้ผสมพันธุ์ตั้งแต่อายุ ๓ ปีขึ้นไป
แม่ควายจะตกไข่ และแสดงอาการเป็นสัดครั้งหนึ่งในรอบ ๒๒ วัน เมื่อทำการผสมพันธุ์ระยะนี้ แม่ควายจะตั้งท้อง เวลาอุ้มท้องของแม่ควายนานประมาณ ๓๑๐ วัน แต่ช่วงการตกลูกหนึ่งตัว อาจกินระยะหนึ่งปีครึ่งขึ้นไป ควายตัวผู้หนึ่งตัวควรคุมฝูงตัวเมียเพื่อผสมพันธุ์ประมาณ ๓๐-๔๐ ตัว ต่อหนึ่งฤดูผสมพันธุ์ ควายที่ถูกฆ่าและชำแหละแต่งซากเรียบร้อยแล้ว น้ำหนักซากประมาณ ๔๕-๕๐ เปอร์เซ็นต์ ของน้ำหนักก่อนฆ่า เนื้อควายมัดกล้ามเนื้อค่อนข้างใหญ่ จึงดูหยาบกว่าเนื้อวัว เนื้อควายมีสีคล้ำกว่าเนื้อวัว ซึ่งคุณภาพของเนื้อจะไม่แตกต่างกัน หากวัวและควายได้รับอาหาร และการเลี้ยงดูเหมือนๆ กัน
ตารางที่ ๑๐ น้ำหนักอวัยวะภายในของควายไทย ตัวเมีย
ลักษณะ | น้ำหนัก (กก.) | เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัว |
น้ำหนักตัว กระเพาะ ลำไส้ ตับ ปอด หัวใจ |
๔๑๘.๐ ๑๘.๓ ๑๓.๐ ๕.๑ ๓.๖ ๒.๓ |
- ๔.๔ ๓.๑ ๑.๑ ๐.๙ ๐.๖ |
ควายงานจะเริ่มถูกใช้งานเมื่ออายุ ๓ ปีขึ้นไป ควายงานเป็นควายตอนแล้ว ส่วนใหญ่จะถูกตอนเมื่ออายุประมาณ ๓ ปี การตอนใช้วิธีทุบอัณฑะจนแหลก ควายจะหมดสมรรถภาพทางเพศ และเชื่องกว่าควายที่ยังไม่ตอน ควายงานมีช่วงอายุการทำงานนาน ๑๒-๑๔ ปี ควายหนึ่งตัวไถนาได้วันละประมาณครึ่งไร่หรือสองงาน แต่ถ้าใช้เทียมไถคู่กัน จะไถนาได้วันละประมาณหนึ่งไร่กับหนึ่งงาน ซึ่งดีกว่าเทียมไถเดี่ยว ตารางที่ ๑๑ แสดงรายละเอียดการใช้ควายทำงานในบางท้องถิ่น ของเมืองไทย โดยสรุป อาจกล่าวได้ว่า ควายทำงานปีละประมาณ ๔ เดือน ทำงานวันละ ๕ ชั่วโมง ควายหนึ่งตัวใช้ไถนาเฉลี่ยปีละ ๑๐ ไร่ ชาวนาเลี้ยงควายไว้ใช้งานรายละ ๒ ตัว ฤดูการทำงานของควาย คือ ฤดูทำนา เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน-สิงหาคม ในระยะนี้งานชุกควายต้องทำงานหนักมาก
ตารางที่ ๑๑๑ การทำงานของควายในบางท้องที่
ท้องที่ | จำนวนควาย ต่อไร่นา |
จำนวนไร่ที่ไถ ต่อควายหนึ่งตัว |
ชั่วโมงที่ทำงาน ต่อวัน |
จำนวนไร่ที่ไถ ต่อตัวต่อวัน |
จำนวนวันทำงาน ต่อปี |
ภาคเหนือ นครราชสีมา ท่าพระอุดรอุบล ภาคกลางและภาคตะวันออก |
๑.๘ ๒.๐ ๑.๘ ๓.๐ |
๖.๖ ๑๐.๓ ๑๓.๗ ๑๑.๘ |
๕.๒ ๕.๑ ๔.๘ ๔.๙ |
๐.๗ ๐.๕ ๐.๕ ๐.๗ |
๖๖ ๑๓๗ ๑๓๘ ๑๔๖ |
รวมเขต | ๒.๑ | ๑๐.๖ | ๕.๐ | ๐.๖ | ๑๒๒ |