Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การกรีดเอาน้ำยาง

Posted By Plookpedia | 04 ธ.ค. 59
1,970 Views

  Favorite

การกรีดเอาน้ำยาง

ความเจริญงอกงามของต้นยางนั้น ถ้าได้รับการบำรุงรักษาอย่างดี ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ต้นยางจะโต ได้ขนาดกรีดเอาน้ำยางได้ภายใน ๕-๖ ปี แต่ถ้าปล่อยให้มีวัชพืชหรือหญ้าคารบกวนแล้ว กว่าจะกรีดได้อาจ ต้องรอไปเป็น ๙ หรือ ๑๐ ปี ทำให้ขาดรายได้ ไปมาก ถ้าต้นยางได้รับการบำรุงรักษาดี หรือมีอาหารอยู่ในดินเพียงพอ ต้นยางจะสูงและลำต้นจะโตได้ขนาด ตามที่ควรจะเป็นดังนี้

ความเจริญของต้นยาง (ต้นติดตา) นับตั้งแต่วันปลูก
(วัดลำต้นตรงที่สูงจากพื้นดิน ๑.๕ เมตร)

อายุ

ลักษณะความเจริญ

๔ เดือน
๘ เดือน
๑๒ เดือน
๑๘ เดือน
๒๔ เดือน
๒ - ๓ ปี
๓ - ๔ ปี
๔ - ๕ ปี
๕ - ๖ ปี
  ควรจะแตกพุ่มใบ ๒ ชั้น
  ควรจะสูง ๑-๑.๕ เมตร
  ควรจะสูง ๒ เมตร
  วัดรอบลำต้นได้ ๘–๑๐ เซนติเมตร
  วัดรอบลำต้นได้ ๑๐–๑๗ เซนติเมตร
  วัดรอบลำต้นได้ ๒๐–๒๘ เซนติเมตร
  วัดรอบลำต้นได้ ๓๐–๓๙ เซนติเมตร
  วัดรอบลำต้นได้ ๔๐–๔๘ เซนติเมตร
  วัดรอบลำต้นได้ ๕๐–๕๘ เซนติเมตร

 

โดยเฉลี่ยแล้วลำต้นจะโตขึ้นปีละประมาณ ๑๐ เซนติเมตร ถ้าปลูกด้วยเมล็ด ลำต้นส่วนที่ใกล้พื้นดิน จะโตเร็วกว่าต้นติดตาเล็กน้อย หากปรากฏว่า ต้นยางที่ปลูก มิได้เจริญตามขนาดข้างต้น จะต้องรีบหาข้อบกพร่องเพื่อแก้ไขโดยเร็วที่สุด เมื่อต้นยางเจริญเติบโตอายุได้ ๕-๖ ปี ควรจะ ศึกษาต่อไปว่า

(๑) ควรจะเริ่มกรีดต้นยางเมื่อใด 
(๒) ควรเริ่มกรีดตรงส่วนไหนของต้นยาง 
(๓) วิธีกรีดต้นยางให้ถูกต้อง 
(๔) ควรจะใช้ระบบกรีดยางอย่างไร เพื่อมิให้ ต้นยางทรุดโทรม
(๕) การรองน้ำยางและการเก็บน้ำยาง 

๑. ควรเริ่มกรีดต้นยางเมื่อใด ถ้าเป็นต้นยางที่เกิดจากเมล็ด 

      ลักษณะของโคนต้น จะใหญ่กว่าลำต้น เปลือกตรงโคนต้นจะหนากว่าส่วนบน และมีน้ำยางมากที่สุดเฉพาะตรงโคนต้นเท่านั้น ยิ่งสูงขึ้นไปเท่าใด เปลือกจะยิ่งบางลง และน้ำยางก็จะยิ่งมีจำนวนน้อยลง ถ้าทดลองกรีดในระยะสูงต่างๆ กัน จะปรากฏว่า การกรีดสูงจากพื้นดินเพียง ๑๕ เซนติเมตร จะได้น้ำยางมากกว่ากรีดในระยะสูงจากพื้นดิน ๔๕-๖๐ เซนติเมตร ประมาณ ๑/๒ เท่า แต่การที่น้ำยางออกมากเกินไป จะเป็นอันตรายแก่ต้นยาง ต้นยางอาจแคระแกร็น หรือเป็นโรคเปลือกแห้ง จึงควรกรีดให้ได้น้ำยางพอ สมควร และเริ่มกรีดได้ เมื่อวัดลำต้นโดยรอบตรงที่สูงจากพื้นดิน ๗๕ เซนติเมตร ได้ขนาดตั้งแต่ ๕๐ เซนติเมตรขึ้นไป ให้เริ่มกรีดตรงที่สูงจากพื้นดิน ๗๕ เซนติเมตร

 

ถ้าเป็นต้นยางที่ติดตา 

      ลักษณะต้นยางติดตากับต้นยางที่เกิดจากเมล็ดไม่เหมือนกัน สังเกตได้จากลักษณะของลำต้น ถ้าเป็นต้นติดตาตั้งแต่โคนขึ้นไป จนถึงคบมีขนาดเกือบเท่ากัน ต้นที่ติดตานี้ ความหนาของเปลือก และน้ำยาง ตั้งแต่โคนต้นขึ้นไป จนถึงระดับสูง ๙๐-๑๒๕ เซนติเมตรไม่ต่างกันมากนัก จึงให้เริ่มกรีดได้ เมื่อวัดลำต้นโดยรอบตรงที่สูงจากรอยติดตา ๑๒๕ เซนติเมตร ได้ขนาดกว่า ๕๐ เซนติเมตร ให้เริ่มกรีดตรงที่สูงจากรอยติดตาขึ้นไป ๑๒๕ เซนติเมตร 

      วิธีวัดขนาดต้นยาง การวัดขนาดลำต้นของต้นยางนั้น ถ้าหากมีจำนวนต้นยางเป็นจำนวนมากหลายร้อยหลายพันต้น ควรใช้ไม้แบบสำหรับวัด โดยใช้ไม้คล้ายไม้บรรทัดขนาดใหญ่ ยาวเท่ากับความสูงจากพื้นดิน ถึงตรงที่จะวัดขนาดต้นยาง คือ สูง ๗๕ เซนติเมตร สำหรับ ต้นที่ปลูกด้วยเมล็ด และ ๑๒๕ เซนติเมตรจากรอยติดตา สำหรับต้นติดตา ตรงปลายมีลวดยาว ๕๐ เซนติเมตร ใช้ไม้วัดตั้งที่พื้นดิน หรือตรงรอยติดตา แล้วแต่กรณี แล้วใช้ลวดโอบรอบต้นยาง ถ้าลวดชนกันพอดี หรือลวดไม่ถึงกัน แสดงว่า ต้นยางนั้นมีขนาดโตพอที่จะกรีดได้แล้ว

จำนวนต้นยางกรีดได้ต้องมี ๓ ใน ๔ ของต้นยาง ทั้งหมดจึงค่อยเปิดกรีด 

      ในการเปิดกรีดนั้น ควรรอให้ ต้นยางโตสมบูรณ์ได้ขนาดกรีดไม่น้อยกว่า ๓ ใน ๔ ของจำนวนต้นยางทั้งหมด มิฉะนั้น จะทำให้เปลือกที่ใช้ไปในการกรีดของแต่ละต้น สูงไม่สม่ำเสมอ ลักลั่นกันมากไป และจะมีต้นยางที่ละเว้นไม่กรีดไว้มาก จะไม่สะดวกแก่ผู้กรีดยาง แต่ถ้าเป็นสวนยางขนาดเล็กเนื้อที่ ไม่เกิน ๕-๖ ไร่ เจ้าของสวนต้องการได้รายได้เร็ว ก็ไม่จำเป็นต้องรอ

 

มีดกรีดยาง ๒ ชนิด ชนิดปลายงอ (ใช้กันทั่วไป) ชนิดคล้ายสิ่ว (มีผู้ใช้น้อย)


๒. ควรเริ่มกรีดตรงส่วนไหนของต้นยาง 

      เมื่อคัดเลือกต้นยางที่โตได้ขนาดกรีดเอาน้ำยางได้ แล้ว ก่อนเปิดกรีด ควรทำแนวที่จะตั้งต้นกรีดให้เห็นที่ หน้ายางให้เสร็จเสียก่อนว่าจะเปิดตรงไหน สูงเท่าใด จะให้ลาดเอียงลงมาเท่าใด ตามวิธีที่ปฏิบัติอยู่ทั่วไป ถ้าเป็นต้นที่ปลูกด้วยเมล็ดจะกรีดตรงที่สูงจากพื้นดิน ๗๕ เซนติเมตร โดยกรีดจากซ้ายมือของคนกรีดขณะ หันเข้าหาต้นยางลงมาทางขวา โดยกรีดให้เอียงลงมาทำมุม ๒๕ องศา มีความยาวของการกรีดเพียงครึ่งต้น และถ้าเป็นต้นติดตาจะกรีดตรงที่สูง ๑๒๕ เซนติเมตร ทำมุมเอียงลงมาทางขวา ๓๐ องศา เพื่อให้น้ำยางไหล ลงเร็วขึ้น และกรีดยาวครึ่งต้นเช่นกัน ทั้งนี้เพราะมีน้ำยางมากกว่าต้นที่ปลูกด้วยเมล็ด เพื่อความสะดวกในการทำแนวตั้งต้นกรีด ให้ได้ระดับสม่ำเสมอกันทุกต้น ควรจะใช้ไม้แบบเช่นเดียวกับไม้วัดขนาดต้นยาง

      ไม้แบบที่จะใช้ทำแนวตั้งต้นกรีดนี้ เป็นไม้ขนาดเดียวกันกับที่ใช้วัดลำต้น ดังที่กล่าวมาแล้ว แต่ตอนปลาย แทนที่จะใช้ลวดให้ใช้สังกะสีกว้างประมาณ ๕ เซนติเมตร และยาวประมาณ ๔๕ เซนติเมตร ตอกแนบติดเข้ากับทางแบนที่ปลายไม้ข้างหนึ่ง โดยหันชายไปทาง ซ้าย ไม้แบบที่จะใช้กับต้นที่เกิดจากเมล็ดให้เอียงสังกะสี ทำมุมขึ้นไป ๒๕ องศา และสำหรับต้นติดตาให้ทำมุม ๓๐ องศา 

เมื่อจะทำแนวหน้ายางที่จะเปิดกรีด จะใช้ไม้แบบ ที่เตรียมไว้ ตั้งทาบเข้ากับส่วนสูงของลำต้น แล้วแนบแผ่นสังกะสีพันวนไปทางด้านซ้ายมือ ใช้มือซ้ายจับปลายสังกะสีไว้ แล้วขีดเส้นตามแนวบนของแผ่นสังกะสี ตั้งแต่จุดครึ่งต้นของลำต้น ไปจนสุดสังกะสีที่ติดอยู่กับไม้ รอยที่เกิดขึ้นนี้ คือ แนวหน้ายางที่จะเปิดกรีดด้วยความยาวครึ่งต้น ซึ่งมีความสูงและความลาดเอียง ตามที่กำหนดไว้อย่างถูกต้อง การเปิดกรีดจะเปิดทางทิศเดียวกัน ทั้งหมด เช่น ทิศเหนือก็ให้เหมือนกันทุกต้น เมื่อใช้ไม้แบบนี้แล้ว ทุกต้นจะถูกกรีดในลักษณะเหมือนกันหมด คือ กรีดในระดับสูงเท่ากัน และกรีดเอียงจากซ้ายไปขวา เหมือนกันหมด

๓. วิธีกรีดต้นยางที่ถูกต้อง 

ต้นยาง คือ ขุมทรัพย์ จะต้องระมัดระวังรักษาเปลือก ให้กรีดซ้ำได้นานไม่น้อยกว่า ๓๐ ปี ถ้ากรีดไม่ดี ต้นยางจะเสียหายกลายเป็นต้นฟืน การกรีดไม่ระมัดระวังจะเป็นเหตุให้ 

(๑) ต้นยางเป็นแผลตะปุ่มตะป่ำ ไม่มีที่ให้กรีด อีกต่อไป 
(๒) จะกรีดซ้ำที่เดิมในรอบที่ ๒ และรอบที่ ๓ อีกไม่ได้ 
(๓) ต้นยางจะทรุดโทรม ให้น้ำยางน้อยลง หรืออาจไม่ให้เลยก็ได้

ตามธรรมชาติของเปลือกต้นยาง ลึกเข้าไปภายใน เปลือกประมาณ ๖ - ๑๐ มิลลิเมตร ก่อนถึงเยื่อเจริญจะมีท่อน้ำยางเรียงกันอยู่เป็นจำนวนมาก ดังนั้น ถ้าจะกรีดให้ได้น้ำยางมากที่สุด จะต้องกรีดให้ใกล้เยื่อเจริญ แต่ไม่ต้องชิดกับเยื่อเจริญมากนัก เพราะจะเป็นอันตรายแก่เยื่อเจริญ เยื่อเจริญมีหน้าที่เพิ่มเปลือกใหม่ให้งอกมา แทนเปลือกเก่าที่ถูกกรีดทิ้งไป ถ้าเยื่อเจริญไม่ได้รับอันตราย เปลือกที่งอกขึ้นใหม่จะเรียบสม่ำเสมอ กรีดซ้ำอีกได้ การกรีดต้องอาศัยความชำนาญมาก การหัดกรีดโดยใช้เวลาเพียง ๒-๓ เดือน จะเป็นคนกรีดยางที่ชำนาญยังไม่ได้ การกรีดยางจำเป็นต้องใช้มีดกรีดยางอย่างคม และจำเป็นจะต้องฝึกกรีดให้ชำนาญเสียก่อน

 

การกรีดต้นยางที่ถูกต้อง

 

นอกจากกรีดไม่ให้ลึกเกินไปแล้ว จะต้องพยายามกรีดให้เปลือกบางที่สุด ครั้งละประมาณ ๑.๕ มิลลิเมตร เดือนหนึ่งๆ กรีดเปลือกออกไม่ควรเกิน ๒.๕ เซนติเมตร ต้นยางต้นหนึ่งๆ ควรถนอมเปลือกไว้ให้กรีดได้ อย่างน้อย ๓ รอบ โดยใช้เวลากรีดให้ได้กว่า ๓๐ ปี ถ้าเปลือกยังดีเมื่อต้นยางอายุกว่า ๑๕ - ๒๐ ปีแล้ว ยังมีทางที่จะใช้ยาเร่งน้ำยาง จะช่วยให้ได้น้ำยางเพิ่มมากขึ้น จะมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับพันธุ์ยางด้วย บางพันธุ์เพิ่มได้อีกเท่าตัว  คนกรีดยางคนหนึ่งควรให้กรีดได้ประมาณ ๓๕๐- ๔๕๐ ต้นเท่านั้น โดยให้กรีดอย่างประณีต ระมัดระวัง ไม่ต้องรีบร้อน และควรให้กรีดตั้งแต่เช้ามืด เมื่อมองเห็นเปลือกต้นยางแล้ว การกรีดอย่างรีบร้อนและกรีดในตอนดึก นอกจากทำให้ต้นยางเสียหายได้ง่ายแล้ว สุขภาพของคนงานจะไม่สมบูรณ์ และอาจได้รับอันตรายจากงู และสัตว์ร้ายอื่นๆ อีกด้วย 

๔. ต้องใช้ระบบกรีดที่ให้น้ำยางออกพอสมควร 

เมื่อเริ่มกรีดควรกรีดโดยให้น้ำยางออกแต่น้อยก่อน จะต้องกรีดครึ่งรอบต้น กรีดวันเว้นสองวัน ไม่น้อยกว่า ๕-๖ เดือน แล้วจึงกรีดครึ่งต้นวันเว้นวัน และควรให้มีระยะพักอีกบ้าง มีข้อควรจำไว้เสมอว่า ถ้ากรีดเอาน้ำยางออกมากเกินไป ต้นยางจะเป็นโรคเปลือกแห้ง ยางพันธุ์ดีเกือบทุกชนิดมักเป็นโรคเปลือกแห้งง่ายกว่า ต้นยางพันธุ์ธรรมดา และเมื่อเปิดกรีดแล้ว จะต้องสังเกตดูอาการของต้นยางต่อไปด้วยว่า ต้นยางต้นใดให้น้ำยาง ลดน้อยลง หรือมีต้นยางต้นใดเป็นโรคเปลือกแห้ง (ไม่มีน้ำยางออกเลย) กี่ต้น ถ้าปรากฏว่า ต้นใดผิดสังเกตให้ หยุดกรีด แต่ถ้าปรากฏว่า มีมากประมาณร้อยละ ๕ ของต้นยางทั้งสวน ให้เปลี่ยนเป็นกรีดครึ่งรอบต้นทุกวันที่สาม และให้พักต้นยางที่ทรุดโทรมเสียประมาณ ๖ เดือน แล้วจึงทดลองกรีดต่อไปใหม่ 

ระบบการกรีดยาง เป็นวิธีวัดค่าโดยประมาณว่า การกรีดระบบใด จะเกิดภาระแก่ต้นยางมากน้อยเท่าใด แต่เดิมมาเรียกระบบกันหลายชื่อ สถาบันค้นคว้าการยางแต่ละแห่งเรียกไม่เหมือนกัน ในที่สุด ได้ตกลงเรียก และใช้สัญลักษณ์อย่างเดียวกัน โดยได้กำหนดความพอดีของความยาวของรอยกรีด กับความบ่อยครั้งของการกรีดไว้ดังนี้

"การกรีดยางครึ่งต้นโดยกรีดวันเว้นวัน เป็นการกรีดให้เกิดภาระแก่ต้นยางพอดี ๑๐๐%" เมื่อได้กำหนดหลักเกณฑ์ขึ้นแล้ว เพื่อให้สะดวกแก่การเขีย นจึงได้กำหนดสัญลักษณ์ขึ้น เช่น ให้อักษร S เป็นสัญลักษณ์ความยาวของการกรีดรอบต้น จากซ้ายเอียงลงมาทางขวา การกรีดยางครึ่งรอบต้น จึงเท่ากับ S/2 และ ให้ d เป็นสัญลักษณ์ของความบ่อยครั้งของการกรีด การกรีดวันเว้นวัน หรือกรีดทุกๆ ๒ วัน จึงเท่ากับ d/2 เมื่อเอาข้อกำหนดข้างต้นมารวมเขียนเป็นสมการขึ้น เขียนได้ดังนี้

 

S/2 x d/2 = 100% 

 

จากสมการนี้ให้ถือว่า ตัวอักษรมีค่าเท่ากับ ๑ ทุกตัวอักษร ทำให้พลิกแพลงระบบกรีดได้ โดยระวังไม่ให้เกิดภาระแก่ต้นยางเกินกว่า ๑๐๐% สมมุติว่า ถ้ากรีดรอบต้นทุก ๔ วัน จะเกิดภาระแก่ต้นยางเท่าใด

 

 

ฉะนั้น การกรีดครึ่งรอบต้นโดยกรีดวันเว้นวัน กับการกรีดรอบต้นแต่กรีดทุกๆ ๔ วัน ต้นยางจะรับภาระจากการกรีด ๑๐๐% เท่ากัน การที่ให้มีทางคำนวณ โดยประมาณได้เช่นนี้ เป็นประโยชน์มาก เพื่อให้เจ้าของ สวนยางเลือกระบบกรีดเอาได้ เช่น การกรีด ๒ ระบบ ข้างต้น เจ้าของสวนยางเลือกใช้เอาได้ตามความจำเป็น สมมุติว่า มีสวนยางอยู่ ๔๐๐ ไร่ คนหนึ่งกรีดได้ประ- มาณ ๑๐ ไร่ (๔๐๐-๔๕๐ ต้น) ถ้ากรีดวันเว้นวัน ต้องใช้คนกรีด ๒๐ คน เพื่อกรีดยางให้ได้วันละ ๒๐๐ ไร่ แต่ถ้าในท้องที่นั้น หาคนงานที่มีฝีมือกรีดดีๆ ยาก ก็จำเป็นต้องใช้คนกรีดให้น้อยลง แต่ต้องการให้ได้ผลิตผลเท่าเดิมด้วย จึงเปลี่ยนระบบกรีดเป็นกรีดรอบต้น แต่กรีดทุก ๔ วัน ฉะนั้น จึงแบ่งสวนออกเป็น ๔ ส่วน เพื่อหมุนเวียนกรีดวันละ ๑ ส่วน วันหนึ่งๆ จึงมีสวนที่จะกรีดเพียง ๑๐๐ ไร่ และใช้คนงานเพียง ๑๐ คนเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องใช้ถึง ๒๐ คน การจัดหาที่พัก และการ ควบคุมก็ง่าย ระบบกรีดจึงมีความสำคัญมาก การที่จะใช้ระบบกรีดระบบใดได้ผลหรือไม่ได้ผล ขึ้นอยู่กับพันธุ์ยางด้วยเหมือนกัน บางพันธุ์ชอบอย่างนั้น บางพันธุ์ชอบอย่างนี้ ฉะนั้น เจ้าของสวนยางจะต้องศึกษา และใช้ความสังเกตไปด้วย

๕. การรองน้ำยางและการเก็บรวบรวม

เมื่อมีการเปิดกรีดต้นยาง จำเป็นต้องเตรียมเครื่อง มือเครื่องใช้ที่จะใช้รองน้ำยาง และรวบรวมน้ำยางให้ พร้อมด้วย คือ 

(๑) รางรองน้ำยาง มีลักษณะเป็นรางเล็กๆ ทำด้วยสังกะสี มีขนาดเท่าด้ามช้อนสังกะสี สำหรับติดใต้รอยกรีด เพื่อรองน้ำยางให้ไหลลงถ้วย 

(๒) ถ้วยรองน้ำยาง ควรเป็นวัตถุถาวร เท่าที่ใช้กันอยู่ทั่วไป ใช้ถ้วยดินเผาเคลือบภายใน ขนาดจุ ๒๐๐-๕๐๐ ซีซี 

(๓) ลวดวางถ้วยรองน้ำยาง เพื่อให้วางถ้วยรอง น้ำยางได้สะดวก จะต้องมีลวดทำเป็นห่วง สำหรับวาง ถ้วยให้ติดกับต้นยางด้วย 

(๔) ถังเก็บน้ำยางและถังรวมน้ำยาง เมื่อกรีดยางแล้วประมาณ ๓ ชั่วโมง น้ำยางจะหยุดไหล (บางพันธุ์ อาจจะยังไหลต่อไปอีก ๑-๒ ชั่วโมง) จึงใช้ถังหูหิ้วขนาดที่จะหิ้วไปได้ เช่น ขนาดจุ ๑๐-๑๕ ลิตร เมื่อเก็บน้ำยางเต็มแล้ว ก็เอาไปเทรวมไว้ในถังรวม ซึ่งมีหลายรูป หลายแบบ แล้วแต่ความสะดวกในการขนส่งเป็นสวนๆ ไป บางสวนทำเป็นถังสังกะสี หรืออะลูมิเนียม ให้เหมาะที่จะวางท้ายรถจักรยานหรือรถจักรยานยนต์ได้ และบางรายก็ทำให้ปากแคบ จะได้ไม่กระฉอก ถ้าสวนยาง ขนาดใหญ่ จะใช้รถยนต์บรรทุกมาลำเลียงเอาไป โดยเทรวมลงในถังใหญ่ ซึ่งมีรูปร่างคล้ายถัง ที่ใช้ในรถยนต์บรรทุกน้ำมัน น้ำยางทั้งหมดนี้มีสภาพเป็นน้ำและเสียได้เร็ว จำเป็นต้องรีบส่งไปยังโรงงาน เพื่อทำเป็นยางชนิดต่างๆ ออกจำหน่ายต่อไป

 

การรองน้ำยาง


ข้อสำคัญในการกรีดเอาน้ำยาง ตั้งแต่การกรีดยาง ถ้วยยาง ถังเก็บน้ำยาง ถังรวมน้ำยาง ทุกๆ ขั้น จะต้องรักษาความสะอาดอย่างดีที่สุด ไม่ให้สกปรก และไม่ให้มีผงลงไปในน้ำยาง เพื่อว่ายางที่ทำออกมาจะได้จำหน่ายได้ในราคาดี

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow