ถิ่นแพร่ระบาด แพร่ระบาดทั่วทุกประเทศที่มีการปลูกฝ้าย
ไข่ มีลักษณะยาวรี ยาวประมาณ ๐.๕ มิลลิเมตร กว้าง ๐.๒๕ มิลลิเมตร ไข่ใหม่ๆ มีสีขาวแล้วเปลี่ยนเป็นสีส้มอมแดงก่อนจะฟัก หนอน มี ๔ ระยะ หนอนออกใหม่ๆ สีเหลือง หัวสีน้ำตาลแก่ แล้วตัวจะเปลี่ยนเป็นสีขาวนวล และหัวสีน้ำตาลดำ ในระยะที่ ๓ จะเห็นแถบสีชมพูทุกปล้อง ทั้งส่วนบนและข้างๆ ส่วนหนอนที่กินของเน่า เช่น ดอกร่วง จะไม่มีสี ชมพู หนอนโตเต็มที่ จะยาวประมาณ ๑๐-๑๒ หรืออาจถึง ๑๕ มิลลิเมตร
ดักแด้ ยาว ๗-๑๐ มิลลิเมตร กว้าง ๒.๕-๓ มิลลิเมตร สีน้ำตาล ผิวปกคลุมด้วยขน เมื่อดูด้วยกล้องขยาย ส่วนท้ายจะมีตะขอยื่นออกมารอบๆ ขนเป็นรูปตะขอ ตัวแก่ ผีเสื้อขนาดเล็กยาวประมาณ ๘-๙ มิลลิเมตร ปีกเมื่อกางกว้าง ๑๕-๒๐ มิลลิเมตร สีน้ำตาลปนเทา มีลาย และจุดดำอยู่ทั่วตัว ปลายปีกคู่หน้า และรอบปีกคู่หลังมีขนขาวเป็นพู่สีเทา
แมลงวางไข่ใบเดียว หรือบางครั้งเป็นกลุ่มเล็กๆ บนส่วนต่างๆ ของพืช เช่น ก้านใบ ก้านดอก ปลายของตา ใต้ใบระหว่างเส้นใบ ตาดอก และใบเลี้ยงของสมอ หนอนที่เพิ่งฟักจะเสาะหาตาดอก หรือสมอที่ใกล้ที่สุด เพื่อจะฝังตัวลงในสมอ โดยเจาะเข้าที่ฐานของสมอ เกิดเป็นรูเล็กๆ แลเห็นได้ยาก ตลอดชีวิตหนอนจะอยู่ในปี้ หรือสมอเดียว นอกจากดอกร่วงมันจะไปเจาะดอกอื่น ในดอก มักจะพบหนอนชักใยยึดกลีบดอกไว้ ไม่ให้ดอกบาน เรียกดอกเช่นนี้ว่า โรเซตต์ (rosette) เมื่อคลี่ออก จะพบหนอนกัดกินเกสรดอกอยู่ หรือเจาะลงไปกินรังไข่ ในสมอขนาดโตหนอนจะกินเมล็ดอ่อน หนอนตัวโตเต็มที่จะเจาะสมอเป็นรูกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๒ มิลลิเมตร ผ่านเปลือกสมอ และทิ้งตัวลงดิน เข้าดักแด้ตามเศษพืชแห้ง หรืออาจะเข้าดักแด้ในเส้นใยฝ้าย ถ้าสมอแตก ก่อนที่หนอนจะลงดิน
การเข้าดักแด้ หนอนจะทำรังด้วยใยบางๆ หุ้มดักแด้ ในบางกรณีหนอนเต็มวัยจะพัก (diapause) ตัว โดยหนอนจะทำรังแน่นหนา แล้วหนอนจะพักนิ่ง ไม่กินอาหาร และไม่เข้าดักแด้ เป็นเวลา ๒-๓ สัปดาห์ถึงหลายๆ เดือน อาจกว่า ๖ เดือน จึงเข้าดักแด้ การพักตัวเกิดขึ้นกับหนอนที่กินสมอแก่ คือ ขณะที่หนอนโตเต็มที่ และเมล็ดฝ้ายแก่พร้อมกัน ที่ที่หนอนพักตัวธรรมดา มักอยู่ในเปลือกเมล็ด หนอนเจาะเข้าในเมล็ด แล้วมักปิดด้วยเส้นใย หนอนพักตัวนี้จะติดมากับปุยฝ้ายที่เก็บเกี่ยวแล้วจากไร่ เข้าดักแด้ออกเป็นตัวในโกดังเก็บฝ้าย
ตัวเมียตัวหนึ่งวางไข่ ๑๒๐-๓๖๙ ฟอง เฉลี่ย ๒๕๔ ฟอง
ระยะไข่ ๕ วัน
ระยะหนอน ๑๒ วัน
ระยะก่อนเข้าดักแด้และเข้าดักแด้ ๑๑ วัน
ผีเสื้ออาจอยู่ในโกดังฝ้าย ๑๐-๒๐ วัน
กระเจี๊ยบ ปอแก้ว
ตาดอก และดอก เมื่อถูกหนอนเจาะกินจะร่วง สมอถูกทำลาย ความเสียหายที่ได้รับจะมาก หรือน้อยขึ้นอยู่กับขนาดของสมอ และจำนวนหนอน ซึ่งบางครั้งพบถึง ๘ ตัวในสมอเดียว ถ้าสมอยังเล็กเนื้อข้างในอาจจะถูกทำลายหมด แต่ถ้าสมอโต อาจถูกทำลายบางส่วนเท่านั้น หนอนจะทำทางเดินระหว่างเมล็ดในสมอฝ้าย เมื่อผ่าออกดูจะเห็นได้ชัด ในบ้านเราหนอนชนิดนี้พบบ้างเพียงเล็กน้อยในต้นฤดูฝ้าย แต่จะเพิ่มการระบาด เมื่อหมดฝน หรือตอนที่ฝ้ายเริ่มแตกปุยแล้ว ความเสียหายจึงไม่ค่อยรุนแรงนัก