เด็กๆ เคยสงสัยกันบ้างไหมว่า ทำไมเวลาเราเจออะไรที่เป็นปุยๆ นิ่มๆ แล้ว เรามักจะเปรียบว่า เหมือนปุยฝ้าย แมว หรือสุนัข บางตัวที่มีขนปุกปุย ก็มักจะมีชื่อเรียกว่า ปุยฝ้าย นอกจากนั้นขนมชนิดหนึ่งที่มีลักษณะปุยๆ เราก็เรียกกันว่า ขนมปุยฝ้าย
แล้วปุยฝ้ายจริงๆ มันคืออะไรเล่า หลายคนอาจจะสงสัย และไม่แน่ใจ ปุยฝ้ายจริงๆ นั้นเป็นเส้นใยที่แตกออกจากผล ซึ่งเรียกว่า สมอ ต้นฝ้ายมีลักษณะเป็นพุ่มขนาดกลาง เมื่อเวลาดอกบานจะมีสีขาว ต่อมาค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีชมพูแล้วร่วงเหลือเพียงสมอฝ้าย มีลักษณะกลมรีสีขาวเมื่อแก่เต็มที่จะเป็นสีน้ำตาล ขนาดเท่าลูกหมาก และแตกออก ปุยสีขาวจะโผล่ออกมาข้างนอก เวลาต้นฝ้ายแก่เต็มที่จะเห็นดอกสีขาวสะพรั่งไปทั้งไร่ ปุยสีขาวที่เห็นอยู่ในไร่นั้น ประกอบด้วยเส้นใย และเมล็ด เวลาจะนำเส้นใยมาทำเป็นเสื้อผ้า จะต้องใช้เครื่องมือแยกเอาเส้นใย และเมล็ดออกจากกัน เครื่องมือชนิดนี้เรียกว่า "เครื่องหีบ" เมล็ดนั้นยังนำไปบีบเอาน้ำมันมาใช้เป็นอาหารได้ กากเมล็ดที่บีบน้ำมันออกแล้ว ยังใช้เป็นอาหารสัตว์ ปุ๋ย และอื่นๆ
คนโบราณหลายพันปีมาแล้วช่างคิด จึงหาวิธีทำปุยฝ้ายให้เป็นเส้นด้ายเรียกว่า "ปั่น" แล้วนำด้ายที่ปั่นแล้ว มาทำเป็นผ้า เรียกว่า "ทอ" จากนั้นก็ตัดเย็บเป็นเครื่องนุ่งห่ม ต่อมาก็คิดวิธีทำเส้นด้ายให้เป็นสีต่างๆ เพื่อให้เครื่องนุ่งห่มนั้นสวยงามยิ่งขึ้น วิธีเปลี่ยนสีของด้าย เรียกว่า "ย้อม" ผ้าที่ทอด้วยฝ้ายจะมีลักษณะบาง และเบา เหมาะสำหรับอากาศร้อน ผ้าฝ้ายเนื้อหนาก็มี แต่เมื่อสวมใส่แล้วไม่ร้อน เพราะเส้นด้ายไม่กระชับแน่น ลมจึงผ่านทะลุไปได้ ประเทศไทยนิยมใช้ผ้าฝ้ายมาแต่โบราณ ผู้หญิงไทยส่วนใหญ่จึงต้องเรียนการปั่นด้าย และทอผ้า เพื่อใช้ในครอบครัว ชาวต่างประเทศที่อยู่ในเขตอากาศหนาว ต้องใช้เสื้อผ้าขนสัตว์หนาๆ แต่พอถึงฤดูร้อน ผ้าเนื้อหนาไม่ช่วยให้หายร้อน เมื่อได้มาติดต่อกับชาวเอเชีย และได้รู้จักผ้าฝ้าย จึงพอใจ และนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย
นอกจากจะทำฝ้ายให้เป็นเครื่องนุ่งห่มแล้ว มีคนช่างคิดอีกมากมายที่คิดทำเป็นเครื่องใช้ เช่น ทำเป็นผ้าม่าน ผ้าปูโต๊ะ ผ้าปูที่นอน ผ้าเช็ดมือ ผ้าอ้อมของน้องเล็กๆ และอย่างอื่นอีกมากมาย ผ้าฝ้ายเริ่มเป็นทิ่นิยมใช้อย่างแพร่หลาย จนผู้ที่ทอด้วยมือทำไม่ทัน จึงได้มีการสร้างเครี่องจักรปั่นด้าย และเครี่องจักรทอผ้า เพื่อช่วยให้เร็วขึ้น ปัจจุบันมีโรงงานทอผ้าที่ใช้เครื่องจักรตั้งขึ้นมากมายในประเทศไทย ฝ้ายที่ปลูกในประเทศมีไม่พอกับความต้องการของโรงงาน ถึงกับต้องสั่งซื้อฝ้ายจากต่างประเทศมาช่วย รัฐบาลพยายามหาทางสนับสนุน และส่งเสริมการปลูกฝ้ายอยู่เสมอ ถ้าเรามีไร่ฝ้ายมากขึ้น รายได้ของประเทศก็จะเพิ่มขึ้น และเรายังได้สงวนเงินตราที่จะต้องไปซื้อฝ้ายจากต่างประเทศได้ด้วย
ผ้าฝ้ายเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของคนไทยตั้งแต่เกิด คือ ใช้เป็นผ้าอ้อม เมื่อเติบโตก็ใช้เป็นเครื่องนุ่งห่ม และเครื่องใช้ประจำตัว เช่น ผ้าขาวม้า ในการทำบุญของชาวพุทธ เช่น งานมงคลต่างๆ การทอดกฐิน ทอดผ้าป่า ตลอดจนงานศพ ล้วนแต่มีธรรมเนียมที่จะต้องใช้ผ้าเหลือง ผ้าขาว และด้ายสายสิญจน์ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของฝ้ายทั้งสิ้น
คนไทยปลูกฝ้าย และทอผ้าใช้เองมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นราชธานี ดังที่มีสุภาษิตของชาวสุโขทัยว่า "เมื่อเสร็จหน้านา ผู้หญิงทอผ้า ผู้ชายตีเหล็ก" นอกจากนี้ในวรรณคดีไทย เช่น เรื่องขุนช้างขุนแผนก็กล่าวถึงการทำไร่ฝ้าย ซึ่งเป็นงานที่ผู้หญิงออกไปทำ ไม่น่าสงสัยเลยว่า คนไทยส่วนใหญ่ต่างก็รู้จักปลูกฝ้าย และทอผ้าใช้เอง ในปัจจุบันนี้ จะยังเห็นช่างทอผ้าอยู่เป็นส่วนมากตามชนบทในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำหรับภาคอื่นๆ ก็มีการทอผ้าบ้าง แต่ไม่มากนัก การทำไร่ฝ้ายในอดีตคงทำเพื่อใช้ภายในครอบครัว มิได้ทำเพื่อเป็นสินค้า มิได้ทำเพื่อเป็นสินค้า ทำไร่กันในเนื้อที่น้อยสามารถดูแลบำรุงได้ดี
เมื่อคนไทยได้ติดต่อกับชาวต่างประเทศมากขึ้น ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา ชาวต่างประเทศนำผ้าฝ้ายที่ทอด้วยเครื่องจักร ซึ่งมีลักษณะบางกว่าผ้าทอด้วยมือประกอบทั้งความงดงามในการพิมพ์ดอก และลวดลายด้วยสีอ่อนสีแก่สลับกัน สวยกว่าผ้าไทยซึ่งมีสีไม่มากนัก คนไทยก็เริ่มนิยมการซื้อผ้าทอด้วยเครื่องจักร ทำให้การทอผ้าด้วยมือลดน้องลง
ก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ เล็กน้อย ประเทศไทยก็เริ่มรู้ตัวว่าต้องใช้เงินซื้อผ้าต่างประเทศมากขึ้น ถ้าไม่ชักชวนให้คนไทยใช้ของไทย วิชาการทอผ้าฝ้ายของไทยก็จะต้องสูญหายไปอย่างน่าเสียดาย นอกจากนี้ถ้าเกิดสงครามไม่สามารถซื้อผ้ามาจากต่างประเทศได้ จะทำให้เกิดความยุ่งยากอย่างมาก ดังนั้น รัฐบาลจึงส่งเสริมให้ปลูกฝ้าย และทอผ้าฝ้ายมากขึ้นโดยการสร้างโรงปั่นด้าย และโรงทอผ้าต่างๆ ที่จำเป็นใช้ในราชการทหารขึ้นก่อน ต่อมาเกิดสงครามจึงต้องชะงักไป และได้เกิดความขาดแคลนผ้า และเครื่องนุ่งห่ม จนทำให้มีราคาแพงอย่างไม่เคยปรากฎมาก่อน
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติลง ทางราชการก็ส่งเสริมการปลูกฝ้ายอีก โดยนำฝ้ายพันธุ์ดีมาจากต่างประเทศ การทำไร่ฝ้ายเป็นงานหนัก เพราะต้องปลูกใหม่ทุกปี ต้องดูแลพรวนดิน ดายหญ้า ตลอดจนป้องกันศัตรูพืชอย่างเหน็ดเหนื่อย เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลได้แนะนำ และช่วยเหลือการปลูก การบำรุงรักษาตลอดจนแนะนำวิธีการปลูกที่ถูกต้อง ดังนั้น อนาคตของการปลูกฝ้ายในประเทศไทยจึงอยู่ในสภาพที่น่าพอใจ
ในปัจจุบันนี้มนุษย์ใช้ประโยชน์จากฝ้ายในกิจการหลายอย่าง ดังจะแบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ๆ ดังนี้
๑. เครื่องนุ่งห่ม เช่น เสื้อ กางเกง ผ้าถุง โสร่ง ผ้าขาวม้า ฯลฯ
๒. เครื่องใช้ เช่น สำลี ผ้าพันแผล ม่าน มุ้ง ปลอกหมอน ผ้าปูโต๊ะ ผ้าเช็ดตัว ฯลฯ
๓. เครื่องประกอบในการอุตสาหกรรม ทำสายพานเครื่องจักร ผ้าใบยางรถยนต์ สายสูบส่งน้ำใช้ในการผลิตเส้นใยเทียม ฯลฯ
๔. เครื่องบริโภค เมล็ดฝ้ายเมื่อนำมาบีบ จะได้น้ำมันปรุงอาหาร ทำเนยเทียม
๕. อาหารสัตว์ กากเมล็ดฝ้ายนิยมใช้เป็นอาหารสัตว์
ไร่ฝ้ายกับเศรษฐกิจของประเทศไทย
ดังที่กล่าวมาแล้วว่า คนไทยใช้ฝ้ายมาตั้งแต่สมัยโบราณ ยิ่งในปัจจุบันนี้มีพลเมืองมากขึ้นก็ย่อมมีความต้องการผ้าเป็นทวีคูณ การปลูกฝ้ายภายในประเทศจึงไม่เพียงพอกับความต้องการของโรงทอผ้า เป็นเหตุให้ต้องซื้อฝ้ายจากต่างประเทศปีละมากๆ เช่น พ.ศ. ๒๕๑๖ ต้องซื้อฝ้ายถึง ๑,๓๔๖ ล้านบาท ถ้าคนไทยสามารถปลูกฝ้ายให้พอใช้ นอกจากไม่ต้องเสียเงินซื้อของต่างประเทศแล้ว ยังเป็นอาชีพที่ให้รายได้มั่นคง นอกเหนือไปจากผลิตผลทางเกษตรกรรมอื่นๆ ที่มีอยู่แล้ว