ประวัติของข้าวโพดในประเทศไทย
ปัจจุบันนี้ไม่อาจทราบแน่ชัดว่าบรรพบุรุษของไทยเรา รู้จักปลูกข้าวโพดกันมาตั้งแต่เมื่อใด ถึงแม้จะมีนักค้นคว้าบางท่านกล่าวว่า ชนชาติไทยอาจรู้จักปลูกข้าวโพดกันมาก่อนที่จะอพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่ในแหลมทองเสียอีก บางท่านสันนิษฐานว่าได้รับข้าวโพดมาจากอินเดีย แต่ทั้งนี้ไม่มีหลักฐานยืนยันได้แน่ชัดเอกสารเก่าแก่ที่พบเป็นจดหมายเหตุของลูแบร์ (Monsieur De La Loubere) ชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาเมืองไทยในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชระหว่างปี พ.ศ. ๒๒๓๐-๒๒๓๑ โดยได้เขียนไว้ว่า "คนไทยปลูกข้าวโพดแต่ในสวนเท่านั้น และต้มกินหรือเผากินทั้งฝักโดยมิได้ปอกเปลือก หรือกะเทาะเมล็ดเสียก่อน" เขายังได้อธิบายถึงข้าวโพดสาลี (kaou-possali) ว่า เป็นอาหารเฉพาะพระเจ้าแผ่นดิน จดหมายเหตุฉบับนี้ทำให้พอทราบว่าข้าวโพดมีปลูกในประเทศไทยมาตั้งแต่สมัยนั้นแล้ว หากแต่ปลูกกันไม่มากนักคงจะปลูกกันอย่างพืชหายาก หรือพืชแปลกที่นำมาจากที่อื่น
ข้าวโพดในสมัยโบราณของไทย อาจเป็นพืชหลวง หรือพืชหายากดังกล่าวมาแล้ว ราษฎรสามัญอาจไม่ได้ปลูกกันมาก แต่เนื่องจากข้าวโพดเป็นพืชที่มีความเหมาะสมกับสภาพดินฟ้าอากาศของไทย และปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ง่าย ฉะนั้น ในระยะต่อมาจึงได้ขยายพันธุ์ออกไปในหมู่ประชาชนอย่างแพร่หลายแต่ก็คงมีการปลูกกันไม่มากนัก เพราะไม่ใช้เป็นอาหารหลักเหมือนข้าวเจ้า ส่วนมากคงปลูกในสวน ในที่ดอน หรือในที่ที่น้ำไม่ท่วม เพื่อรับประทานแทนข้าวบ้างในยามเกิดทุพภิกขภัยเมื่อทำนาไม่ได้ผล การปลูกข้าวโพดในสมัยก่อนๆ นั้นจึงไม่สู้มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศเท่าใดนัก
ในสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ นับว่าเป็นยุคต้นๆ ของการกสิกรรมสมัยใหม่ของประเทศไทย หรือที่เรียกกันว่า "การกสิกรรมบนดอน" โดยที่ได้มีนักเกษตรรุ่นแรกหลายท่านที่ได้ไปศึกษาการเกษตรแผนใหม่มาจากต่างประเทศ และได้เล็งเห็นความสำคัญของการปลูกพืชไร่ หรือพืชดอน เพื่อใช้เป็นอาหารสัตว์ และเพื่อการทำไร่นาผสม อันเป็นการบุกเบิกแนวใหม่ของการกสิกรรมในประเทศไทย ซึ่งแต่เดิมเคยยึดมั่นอยู่แต่ข้าวเพียงอย่างเดียว ให้ขึ้นอยู่กับพืชอื่นๆ อีกหลายชนิด ในบรรดาพืชไร่เหล่านี้ก็มีข้าวโพดรวมอยู่ด้วย แต่เดิมข้าวโพดที่มีปลูกกันในประเทศไทยขณะนั้น เป็นชนิดหัวแข็ง (flint corn) และมีสีเหลืองเข้มแต่เมล็ดมีขนาดเล็กมาก เป็นพันธุ์ที่นำมาจากอินโดจีน ต่อมา ม.จ. สิทธิพร กฤดากร อดีตอธิบดีกรมเพาะปลูก (กรมวิชาการเกษตรในปัจจุบัน) ซึ่งได้ลาออกไปทำฟาร์มส่วนตัวที่ตำบลบางเบิด อำเภอสะพานใหญ่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๖๓ ได้ทดลองสั่งพันธุ์ข้าวโพดไร่ชนิดหัวบุบ (dent corn) มาจากสหรัฐอเมริกา และทดลองปลูกเป็นครั้งแรกในประเทศไทยจำนวน ๒ พันธุ์ คือ พันธุ์นิโคลสันเยลโลเดนต์ (nicholson's yellow dent) ซึ่งมีเมล็ดสีเหลือง และพันธุ์เม็กซิกันจูน (mexican june) ซึ่งมีเมล็ดสีขาว โดยได้ทดลองปลูกที่ฟาร์มบางเบิด เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๖๗ เพื่อใช้เมล็ดเลี้ยงไก่ไข่ขายส่งตลาดกรุงเทพฯ และเลี้ยงสุกรขายตลาดปีนัง นอกจากนี้ ท่านยังได้ส่งไปขายเป็นอาหารไก่ในประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย และได้รายงานไว้ว่าข้าวโพดทั้ง ๒ พันธุ์นี้ขึ้นได้ดีมาก
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๙ โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมของกระทรวงศึกษาธิการ ภายใต้การควบคุมของพระยาเทพศาสตร์สถิตย์ ซึ่งตั้งอยู่ตำบลบางสะพานใหญ่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้นำไปทดลองปลูกที่โรงเรียนก็ได้ผลดีมาก ครั้นเมื่อโรงเรียนย้ายมาอยู่ทับกวาง ได้นำข้าวโพดทั้ง ๒ พันธุ์มาปลูกแบบการค้าเป็นการใหญ่ โดยใช้เครื่องมือทุ่นแรงต่างๆ ปรากฏว่า ได้ฝักใหญ่ และงามดีมาก เพราะดินเป็นดินใหม่ หลวงชุณห์กสิกรได้รายงานว่า ข้าวโพดพันธุ์เม็กวิกันจูน ซึ่งทดลองปลูกที่โรงเรียนฝึกหัดครูกสิกรรทับกวางได้ผลเฉลี่ย ๒,๓๐๐ ฝัก/ไร่ หรือเมล็ดแก่ ๘๒๕ ปอนด์/ไร่ โดยพืชที่ปลูกระหว่างหลุมข้าวโพดมีถั่วฝักยาว ส่วนระหว่างแถวมีถั่วลิสง และพริกขี้หนู ดินที่ปลูกไม่ได้รับการบำรุงจากปุ๋ยอะไรเลย และขณะนั้น ขายได้ราคาปอนด์ละ ๑๐ สตางค์ ปรากฏว่าได้กำไรไร่ละ ๓๐ บาท ต่อมาโรงเรียนฝึกหัดครูกสิกรรมแห่งนี้ได้ทำการปลูกข้าวโพดทั้ง ๒ พันธุ์เป็นการค้าเรื่อยมาเป็นเวลาหลายปี และเมล็ดพันธุ์ก็ได้แพร่หลายไปในหมู่กสิกรจังหวัดใกล้เคียง เช่น ลพบุรี สระบุรี นครราชสีมา โดยกสิกรได้คัดเลือก และเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เอง และได้รู้จักกันในนามของข้าวโพดฟันม้าบ้าง หรือข้าวโพดพันธุ์ปากช่องบ้าง ซึ่งต่อมาได้แพร่หลายไปตามแหล่งต่างๆ
ถึงแม้จะได้มีการส่งเสริมการปลูกพืชไร่ และข้าวโพดกันในระยะก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ บ้างก็ตาม แต่ปริมาณการปลูกข้าวโพดในระยะนั้น ก็มิได้เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย จนถือเป็นสิ่งสำคัญ ต่อเมื่อหลังจากสงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้ยุติลงในปี พ.ศ. ๒๔๘๖ ปริมาณการปลูกข้าวโพดจึงได้ค่อยทวีขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในระยะหลังจากปี พ.ศ. ๒๔๙๘ เป็นต้นมา เนื้อที่และผลิตผลของข้าวโพดได้เพิ่มขึ้นจากในปี พ.ศ. ๒๔๘๘ หลายร้อยเท่า และในปี พ.ศ. ๒๕๐๘ นับว่า เป็นปีแรกที่ผลิตผลข้าวโพดได้เพิ่มขึ้นถึงระดับ ๑ ล้านเมตริกตัน และผลิตผลยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แม้ในปัจจุบันนี้