ข้าวโพดเป็นธัญพืชสำคัญอย่างหนึ่งของโลก รองจากข้าวเจ้าและข้าวสาลี นับเป็นพืชอาหารหลักที่ใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวาง ในต่างประเทศ เช่น เม็กซิโก อินเดีย อินโดนีเซีย อิตาลี ประชาชนรับประทานข้าวโพดเป็นอาหารประจำวัน ในรูปต่างๆ กัน นอกจากใช้เป็นอาหารมนุษย์ และสัตว์โดยตรงแล้ว เมล็ดข้าวโพดและส่วนอื่นๆ เช่น ต้น ใบ และซัง ยังใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมได้หลายชนิด เมล็ดอาจนำมาสกัดน้ำมัน น้ำตาล และทำแป้ง น้ำตาลที่สกัด จากเมล็ดใช้ทำสารเคมี วัตถุระเบิด สีย้อมผ้า แป้ง ใช้ทำสบู่ หมึก กาว น้ำมัน นอกจากใช้รับประทาน แล้ว ยังใช้ทำสีทาบ้าน ยาขัดเงา ลำต้นและใบ ใช้ทำกระดาษ กระดาษอัด ซังใช้ทำจุกขวด กล้องยาสูบและเชื้อเพลิง ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่สำคัญๆ ซึ่งใช้ข้าวโพดเป็นส่วนประกอบ มีประมาณกว่า ๕๐๐ ชนิด สำหรับในประเทศไทย ข้าวโพดที่ผลิตได้เกือบทั้งหมด ส่งไปจำหน่ายต่างประเทศ การใช้ข้าวโพดเป็นอาหารสัตว์ และอาหารมนุษย์มีน้อย
ประเทศไทยมีการปลูกข้าวโพดมาช้านานแต่ปริมาณเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพิ่งจะเริ่มปลูกกันอย่างจริงจัง เมื่อยี่สิบกว่าปีมานี้เอง และปริมาณการผลิตได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในปี พ.ศ. ๒๔๗๒ ผลิตผลทั้ง ประเทศมีเพียง ๓.๗๓ ตัน แต่ในปี พ.ศ. ๒๕๒๖ เพิ่มขึ้นเป็น ๓.๘๘ ล้านตัน ทั้งนี้เนื่องจากตลาดต่างประเทศต้องการมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง และสิงคโปร์ มูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนในปี ๒๕๒๕ คิดเป็นมูลค่าส่งออก ๖,๓๕๕ ล้านบาท ในปัจจุบันข้าวโพดได้เลื่อนอันดับ จากพืชที่ไม่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ มาเป็นพืชที่มีความสำคัญใกล้เคียงกับข้าวเจ้าและยางพารา ซึ่งเป็นสินค้าออกที่สำคัญเก่าแก่ของประเทศไทยมาช้านาน
ประเทศที่ผลิตข้าวโพดมาก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา รุสเซีย เม็กซิโก สหภาพแอฟริกาใต้ อาร์เจนตินา รูเมเนีย และยูโกสลาเวีย ในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ สหรัฐอเมริกาผลิตได้ ๒๑๓ ล้านตัน เม็กซิโก ๑๒ ล้านตัน รุสเซีย ๑๒.๕ ล้านตัน สหภาพแอฟริกาใต้ ๘.๓ ล้านตัน และประเทศไทยในปีเดียวกันเพียง ๓ ล้านตัน อย่างไรก็ตาม ปริมาณส่งข้าวโพดออกของประเทศไทย อยู่เป็นอันดับสี่ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา อาร์เจนตินา และฝรั่งเศส ที่เป็นดังนี้เนื่องจาก การใช้ข้าวโพดในประเทศมีน้อย ข้าวโพดที่ผลิตได้ ประมาณร้อยละ ๗๐ ส่งออกจำหน่ายต่างประเทศ