Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การใช้ปุ๋ยในนาข้าว

Posted By Plookpedia | 03 ธ.ค. 59
1,552 Views

  Favorite

การใช้ปุ๋ยในนาข้าว

เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า ปุ๋ย คือ อาหารของพืช เช่น ข้าว พื้นที่นาที่ใช้ปลูกข้าวติดต่อกันมาเป็นเวลานาน จนแร่ธาตุต่างๆ ที่เป็นอาหารของต้นข้าวถูกดึงดูดเอาไปสร้างเป็นต้น และเมล็ดข้าวหมดลง ทำให้แร่ธาตุเหล่านี้ขาดแคลนไปจากพื้นนา ข้าวที่ปลูกในระยะหลังจึงให้ผลิตผลต่ำ ดังนั้น ชาวนาจำเป็นต้องใช้ปุ๋ยใส่ลงไปในนาข้าวในปัจจุบัน เพื่อจะได้ผลิตผลสูงและมีรายได้มากยิ่งขึ้นจนพอกับความต้องการของครอบครัว

จากสถิติพบว่า ในปี พ.ศ. ๒๕๐๔ ประเทศไทย มีพื้นที่ทำนาปีประมาณ ๓๘ ล้านไร่ ได้ผลิตผลประมาณ ๘ ล้านตัน เฉลี่ยแล้วชาวนาได้ผลิตผล ๒๓๑ กิโลกรัม หรือประมาณ ๒๓ ถัง/ไร่ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๒๗ พื้นที่ทำนาของประเทศได้เพิ่มขึ้นเป็น ๕๘ ล้านไร่ ได้ผลิตผลทั้งหมด ๑๙ ล้านตัน เฉลี่ยแล้วชาวนาได้ผลิต ผล ๓๒๖ กิโลกรัม หรือ ๓๒-๓๓ ถัง/ไร่ จะเห็นได้ว่า ผลิตผลที่ได้เพิ่มขึ้นจาก ๘ ล้านตัน เป็น ๑๙ ล้าน ตันนั้น เพราะได้มีพื้นที่นาเพิ่มมากขึ้น และผลิตผลเฉลี่ยต่อเนื้อที่หนึ่งไร่นั้น ได้เพิ่มขึ้นด้วย แต่เมื่อเทียบกับผลิตผลเฉลี่ยของประเทศญี่ปุ่นแล้ว ผลิตผลของข้าวในประเทศไทยต่ำมากเหลือเกิน ทั้งนี้เป็นเพราะสาเหตุหลายประการ ดังนี้ 

๑. ดินนาขาดแคลนธาตุอาหารที่ต้นข้าวต้องการ 

ดินนาส่วนใหญ่ของประเทศไทยขาดแร่ธาตุอาหารพวกไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่ต้นข้าวต้องการเป็นจำนวนมากสำหรับการเจริญ เติบโต และจากรายงานผลการวิเคราะห์ทางเคมีของดินนา ของกรมวิชาการเกษตร พบว่า ดินนาส่วนใหญ่ของทุกภาค มีปฏิกิริยาของดินเป็นกรด คือ มี pH ประมาณ ๔.๖-๕.๕

ดินนาในภาคเหนือ เป็นดินเหนียว หรือดินทราย ปนดินเหนียว แม้จะมีความสมบูรณ์ของดินดีกว่าภาคอื่นๆ แต่มีปริมาณอินทรียวัตถุ และแร่ธาตุอาหารค่อนข้างต่ำ คือ มีปริมาณอินทรียวัตถุประมาณ ๑-๒ เปอร์เซ็นต์ มีธาตุฟอสฟอรัสประมาณ ๑๐ ppm. และมีธาตุโพแทสเซียมประมาณ ๘๐ ppm. ส่วนดินนาในภาคกลางเป็นดินเหนียว มีความอุดมสมบูรณ์ของดินเป็นรองจากภาคเหนือ และมีปริมาณอินทรียวัตถุ และแร่ธาตุอาหารต่ำกว่าเล็กน้อย แต่ดีกว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ 

๒. โดยธรรมชาติดินนามีแร่ธาตุอาหารพืชต่ำ

เมื่อเปรียบเทียบกับดินสำหรับปลูกพืชชนิดอื่นทั่วไป ดินนามีปริมาณแร่ธาตุอาหารต่ำที่สุด และเมื่อได้มีการปลูกข้าวติดต่อกันเป็นเวลาหลายร้อยปี ก็ยิ่งทำให้ปริมาณแร่ธาตุอาหารพืชในดินนา เกิดขาดแคลนมากยิ่งขึ้น เพราะต้นข้าวดูดเอาไปสร้างต้น ใบ และเมล็ด ทุกๆ ปี จากการวิเคราะห์ต้นข้าวพันธุ์นางมล S-4 ซึ่งปลูกในพื้นที่นา ๑ ไร่ ได้ผลิตผลข้าวเปลือก ๕๗๖ กิโลกรัม ซึ่งประกอบด้วย ธาตุไนโตรเจน ๖.๘๔ กิโลกรัม ธาตุฟอสฟอรัส ๓.๕ กิโลกรัม และธาตุโพแทสเซียม ๒.๑๕ กิโลกรัม เมื่อเทียบจำนวนแร่ธาตุดังกล่าวนี้ กลับไปเป็นปริมาณของปุ๋ย จะได้เป็นปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต (ให้ธาตุไนโตรเจน) จำนวน ๓๔ กิโลกรัม ปุ๋ยซูเพอร์ฟอสเฟต (ให้ธาตุฟอสฟอรัส) จำนวน ๑๗ กิโลกรัม และปุ๋ยโพแทส (ให้ธาตุโพแทสเซียม) จำนวน ๓.๕ กิโลกรัม ส่วนแร่ธาตุที่เอาไปสร้างเป็นต้นและฟางข้าวนั้น ยังไม่ได้คำนวณ อย่างไรก็ตาม นี่ก็เป็นสิ่งที่ ยืนยันให้ทราบว่า ต้นข้าวได้ดูดเอาแร่ธาตุจากดินนาขึ้นไปสร้างเมล็ดข้าวจริง และจะทำให้ดินนั้นเสื่อม ปลูกข้าวได้ผลิตผลต่ำ ถ้าดินนานั้นไม่ได้รับปุ๋ยเพิ่มเติม

 

ต้นข้าวที่ได้รับการดูแลอย่างดี


ด้วยเหตุนี้ชาวนาจึงจำเป็นต้องใส่ปุ๋ยทุกครั้งที่ปลูกข้าว เพื่อให้ได้ผลิตผลสูง แต่การใส่ปุ๋ย เพื่อให้ได้ ผลิตผลสูง ชาวนาจะต้องเลือกใช้พันธุ์ข้าวปลูกที่ถูกต้องด้วย เพราะข้าวบางพันธุ์ที่มีต้นสูง เมื่อได้รับปุ๋ยมาก ต้นของมันจะล้ม และไม่ให้ผลิตผลสูง จึงทำให้ชาวนาขาดทุนจากการใส่ปุ๋ย และข้าวบางพันธุ์ที่มีต้นเตี้ย เมื่อได้รับปุ๋ยมากขึ้น ก็จะมีการเจริญเติบโต และให้ผลิตผลสูงมากยิ่งขึ้น ตามจำนวนปุ๋ยที่ใส่ การที่ต้นข้าวให้ผลิตผลเพิ่มขึ้นเมื่อใส่ปุ๋ย เรียกว่า การตอบสนองของพันธุ์ข้าวต่อปุ๋ย พันธุ์ข้าวที่ตอบสนองต่อปุ๋ยสูงจะมีต้นสูงประมาณ ๑๐๐-๑๑๐ เซนติเมตร ใบสีเขียวแก่และตรง ไม่โค้งงอ ขนาดของใบก็ไม่กว้างและยาวเกินไป แตกกอมาก สำหรับการใช้ปุ๋ยนั้น จะแตกต่างกันไปตามสภาพของดินนาของแต่ละภาค ดินที่ขาดแร่ธาตุอาหารมาก ก็จะต้องใส่ปุ๋ยมากกว่าดินที่ไม่ขาดแร่ธาตุอาหารนั้น

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow