ประเทศไทยเป็นประเทศกสิกรรม ประชาชนส่วนใหญ่เป็นกสิกร ทำการเพาะปลูกพืชไร่ เช่น ข้าว ข้าวโพด อ้อย ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ทำการปลูกไม้ผล เช่น ทุเรียน ส้ม มะม่วง มังคุด ลางสาด นอกจากนี้ ในท้องที่ต่างๆ ของภาคใต้ และจังหวัดระยอง จันทบุรี ตราด ได้ทำการปลูกยางพาราอีกด้วย ในจำนวนพืชที่กสิกรปลูกดังกล่าวนี้ ข้าวมีพื้นที่ปลูกมากกว่าพืชชนิดอื่นๆ คิดเป็นพื้นที่ประมาณ ๑๑.๓ % ของพื้นที่ทั่วประเทศ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีพื้นที่ทำนามากที่สุด รองลงมา ได้แก่ ภาคเหนือ และภาคใต้ตามลำดับ
เนื่องจากประชาชนในประเทศไทยบริโภคข้าว เป็นอาหารหลัก และจำนวนประชากรก็เพิ่มมากขึ้นทุกๆ ปี ด้วยเหตุนี้ ชาวนาจึงจำเป็นต้องพยายามปลูกข้าวให้ได้ผลิตผลมากยิ่งขึ้น เพื่อให้พอเพียงกับความต้องการของประชากร วิธีหนึ่งที่ชาวนาได้พยายาม เพื่อเพิ่มผลิตผล ได้แก่ การขยายพื้นที่ทำนา โดยเปิดป่าใหม่ ทำนาปลูกข้าว จากตารางที่ ๓ จะเห็นได้ว่า ผลิตผลได้เพิ่มขึ้นตามพื้นที่นาที่เพิ่มมากขึ้นทุกๆ ปี ส่วนวิธีการเพิ่มผลิตผลโดยวิธีอื่นนั้น ชาวนาไม่สามารถทำได้ เช่น การคัดเลือกหาพันธุ์ใหม่ที่ให้ผลิตผลสูง พันธุ์ต้านทาน โรคและแมลง ข้าวพันธุ์ที่ตอบสนองต่อปุ๋ย วิธีการป้อง กันกำจัดโรค แมลง และวัชพืชในนาข้าว ซึ่งรัฐบาลจะต้องเป็นผู้ดำเนินการช่วยเหลือชาวนา หน่วยงานที่เกี่ยว ข้องเรื่องนี้โดยตรง ได้แก่ กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ตารางที่ ๓ เนื้อที่เพาะปลูกและจำนวนผลิตผลข้าวเปลือกในประเทศไทยในระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๒๐-๒๗๑
พ.ศ. | เนื้อที่เพาะปลูก (ล้านไร่) |
จำนวนผลิตผลข้าวเปลือก (ล้านตัน) |
ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ (กิโลกรัม) |
๒๕๒๐–๒๕๒๑ ๒๕๒๑–๒๕๒๒ ๒๕๒๒–๒๕๒๓ ๒๕๒๓–๒๕๒๔ ๒๕๒๔–๒๕๒๕ ๒๕๒๕–๒๕๒๖ ๒๕๒๖–๒๕๒๗ |
๕๖.๔ ๖๒.๗ ๕๙.๑ ๖๐.๑ ๖๐.๑ ๖๐.๑ ๖๒.๖ |
๑๓.๙ ๑๗.๕ ๑๕.๘ ๑๗.๔ ๑๗.๘ ๑๖.๙ ๑๙.๖ |
๒๕๕ ๓๑๓ ๒๙๑ ๓๐๒ ๓๑๒ ๓๐๒ ๓๒๖ |
๑ รวบรวมจากเอกสารสถิติการเกษตร เลขที่ ๒๑๓ พ.ศ.๒๕๒๗
ข้าวที่ปลูกเพื่อการบริโภคเป็นอาหาร มี ๒ ชนิด คือ ออไรซา ซาไทวา ซึ่งมีปลูกทั่วไปในทุกประเทศ และออไรซา แกลเบอร์ริมา ซึ่งมีปลูกเฉพาะในแอฟริกา เท่านั้น ข้าวสองชนิดนี้แตกต่างกันที่ ออไรซา แกลเบอร์ริมา ไม่มีแขนงที่สองที่รวงข้าว และมีเยื่อกันน้ำฝนสั้น กว่าออไรซา ซาไทวาด้วย ข้าวพวกออไรซา ซาไทวา ยังแยกออกได้เป็นอินดิคา มีปลูกมากในเขตร้อน และ จาปอนิคา มีปลูกมากในเขตอบอุ่น ข้าวที่ปลูกในประเทศไทยเป็นพวกอินดิคา ซึ่งแบ่งออกเป็นข้าวเจ้า และข้าวเหนียว
ทำการปลูกข้าวนาสวนในที่ราบระหว่างภูเขากันเป็นส่วนใหญ่ เพราะมีระดับน้ำในนาตื้นกว่า ๘๐ เซนติเมตร และทำการปลูกข้าวไร่ในที่ดอน และที่สูงบนภูเขา เพราะไม่มีน้ำขังในพื้นที่ปลูก ส่วนมากชนิดของข้าวที่ปลูกเป็นทั้งข้าวเหนียว และ ข้าวเจ้า และในบางท้องที่มีการปลูกข้าวนาปรังด้วย แมลงศัตรูข้าวที่สำคัญ ได้แก่ แมลงบั่ว หนอนกอ เพลี้ยจักจั่นสีเขียว และสีน้ำตาล และโรคข้าวที่สำคัญ ได้แก่ โรคไหม้ โรคขอบใบแห้ง โรคใบสีแสด และโรคถอดฝักดาบ ภาคนี้มีความอุดมสมบูรณ์ของดินนา ดีกว่าภาคอื่นๆ ข้าวนาปีทำการเก็บเกี่ยวในระหว่างเดือนพฤศจิกายน และธันวาคม
สภาพของพื้นนาในภาคนี้เป็นที่ราบ และมักจะแห้งแล้งในฤดูปลูกข้าวเสมอๆ ชาวนาทำการปลูกข้าวนาสวน ทางตอนเหนือของภาคปลูกข้าวเหนียวอายุเบา ส่วนทางตอนใต้ปลูกข้าวเจ้าอายุหนัก แถบริมฝั่งแม่น้ำโขง โดยเฉพาะในเขตจังหวัดอุบลราชธานี นครพนม และสกลนคร ได้มีแมลงบั่วทำลายต้นข้าวนาปีจนเสียหายเสมอ นอกจากนี้ ได้มีแมลงเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดด้วย โรคข้าวที่สำคัญได้แก่ โรคไหม้ โรคขอบใบแห้ง และโรคใบจุดสีน้ำตาล ความอุดมสมบูรณ์ของดินในภาคนี้เลวมาก บางแห่งก็เป็นดินเกลือ และมักจะมีความแห้งแล้งกว่าภาคอื่นๆ ด้วยเหตุนี้ จึงมีการทำนาปรังน้อยมาก ข้าวนาปีจะทำการเก็บเกี่ยวในระหว่างเดือนตุลาคม และธันวาคม
พื้นที่ทำนาในภาคนี้เป็นที่ราบลุ่ม ทำการปลูกข้าวเจ้ากันเป็นส่วนใหญ่ ในเขตจังหวัด ปทุมธานี อยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี อุทัย ธานี นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก สุพรรณบุรี และปราจีนบุรี ระดับน้ำในนาระหว่างเดือนกันยายน และพฤศจิกายน จะลึกประมาณ ๑-๓ เมตร ด้วยเหตุนี้ ชาวนาในจังหวัดดังกล่าวจึงต้องปลูกข้าวนาเมือง หรือข้าวขึ้นน้ำ นอกนั้นปลูกข้าวนาสวน และบางท้องที่ ซึ่งอยู่ในเขตชลประทาน เช่น จังหวัดนนทบุรี นครปฐม เพชรบุรี ปทุมธานี สุพรรณบุรี ชัยนาท และฉะเชิงเทรา ได้มีการทำนาปรังด้วย โรคข้าวที่สำคัญ ได้แก่ โรคไหม้ โรคขอบใบแห้ง โรคใบสีส้ม โรคจู๋ และแมลงศัตรูข้าวที่สำคัญ ได้แก่ แมลงเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล แมลงเพลี้ยจักจั่นสีเขียว แมลงหนอนกอ ความอุดมสมบูรณ์ของดินดีปานกลาง และบางท้องที่เขตจังหวัดปทุมธานี นครนายก และปราจีนบุรี ดินที่ปลูกข้าวมีฤทธิ์เป็นกรด หรือเป็นดินเหนียว มากกว่าในท้องที่นาอื่นๆ ข้าวนาปีที่ปลูกเป็นข้าวนาสวน จะเก็บเกี่ยวในระหว่างเดือนตุลาคม และธันวาคม ส่วนข้าวนาปีที่ปลูกเป็นข้าวนาเมือง เก็บเกี่ยวระหว่างเดือนธันวาคม และมกราคม
สภาพพื้นที่ที่ปลูกข้าวในภาคใต้เป็นที่ราบริมทะเล และเป็นที่ราบระหว่างภูเขา ส่วนใหญ่ใช้น้ำฝนในการทำนา และฝนจะมาล่าช้ากว่าภาคอื่นๆ ด้วยเหตุนี้การทำนาในภาคใต้จึงล่าช้ากว่าภาคอื่น ชาวนาในภาคนี้ปลูกข้าวเจ้าในฤดูนาปีกันเป็นส่วนใหญ่ ส่วนน้อยในเขตชลประทานของจังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา มีการปลูกข้าวนาปรัง และปลูกแบบนาสวน บริเวณพื้นที่ดอน และที่สูงบนภูเขา ชาวนาปลูกข้าวไร่ เช่น การปลูกข้าวไร่เป็นพืชแซมยางพารา แมลงศัตรูข้าวที่สำคัญได้แก่ หนอนกอ เพลี้ยจักจั่นสีเขียว และเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล โรคข้าวที่สำคัญ ได้แก่ โรคไหม้ โรคขอบใบแห้ง โรคดอกกระถิน โรคใบจุดสีน้ำตาล และโรคใบจุดขีดสีน้ำตาล นอกจากนี้ ดินนาก็มีปัญหาเกี่ยวกับดินเค็ม และดินเปรี้ยวด้วย วิธีการเกี่ยวข้าวในภาคใต้ แตกต่างไปจากภาคอื่น เพราะชาวนาใช้แกระเกี่ยวข้าว โดยเก็บทีละรวงแล้วมัดเป็นกำๆ ปกติทำการเก็บเกี่ยวในระหว่างเดือนพฤศจิกายน และกุมภาพันธ์