ช้างทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นช้างพันธุ์เอเชีย หรือพันธุ์แอฟริกา มีความเป็นอยู่เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่ง คือ ชอบอยู่เป็นฝูง ช้างฝูงหนึ่งมักประกอบด้วยช้าง ๕-๑๐ เชือก แต่ละฝูงจะมีช้างพลายตัวหนึ่งเป็นหัวหน้า ซึ่งมักจะเป็นตัวที่แข็งแรงที่สุดของฝูง มีหน้าที่คอยเป็นผู้ปกปักรักษา และป้องกันอันตรายให้แก่ช้างในฝูงของตน และเป็นผู้นำฝูงไปหาอาหารในแหล่งที่มีความอุดมสมบูรณ์ ช้างป่าที่หากินอยู่ตัวเดียว ถ้าไม่ใช่ช้างแก่ ซึ่งเดินตามเพื่อนฝูงไม่ทัน มักจะเป็นช้างเกเรที่ถูกขับออกจากฝูง เรียกว่า "ช้างโทน" ช้างโทนนี้มีนิสัยดุร้าย ซึ่งอาจเป็นอันตรายแก่ผู้พบเห็นได้ ช้างไทย หรือช้างเอเชียมีนิสัยชอบอากาศเย็น และไม่ชอบแสงแดดจัด ฉะนั้น เมื่อเรานำมันมาฝึกใช้งาน เช่น งานชักลากไม้ เราจึงใช้งานช้างเฉพาะตอนเช้า ตั้งแต่ ๖.๐๐-๑๒.๐๐ น. ส่วนตอนบ่ายต้องให้มันหยุดพักผ่อน นอกจากนั้น เมื่อเราใช้งานมันติดต่อกันไป ๓ วัน เราจะต้องให้มันหยุดพักงานอีก ๑ - ๒ วัน แล้วจึงให้มันทำงานใหม่ ทั้งนี้ก็เพราะว่า ช้างเป็นสัตว์ที่มีโรคภัยเบียดเบียนได้ง่าย ถ้าเราใช้งานมันหนักเกินไป มันอาจจะเกิดเจ็บป่วยขึ้นในฤดูที่มีอากาศร้อนจัด คือ ระหว่างเดือนมีนาคม - พฤษภาคม เจ้าของช้างจะต้องหยุดใช้งานช้าง แล้วนำช้างของตนไปพักผ่อนในป่าลึกที่มีความร่มเย็น มีหญ้าน้ำบริบูรณ์นานประมาณ ๓ เดือน การพักผ่อนของช้างในฤดูร้อนเช่นนี้ เรียกว่า "การเข้าปางแรม" ช้างเอเชีย หรือช้างไทยนั้น โดยปกติ ช้างพลายหรือช้างตัวผู้จะมีลักษณะสูงใหญ่ มีงาเป็นที่น่าเกรงขามกว่าช้างตัวเมียหรือช้างพัง ช้างพังจะเตี้ยกว่าช้างพลาย และมีใบหน้าแหลมเล็ก แก้มตอบ ไม่มีงา จึงมีความสง่าน้อยกว่าช้างไทยตัวผู้ ที่ไม่มีงา ซึ่งเราเรียกว่า "ช้างสีดอ" นั้น มักจะมีขนาดสูงใหญ่กว่าช้างตัวผู้ธรรมดา และมีกำลังแข็งแรงมาก ฉะนั้น เมื่อมีการต่อสู้กันขึ้น ช้างสีดอจะเอาชนะช้างพลาย ที่มีงาได้ โดยใช้งวงรวบเอางาของฝ่ายตรงข้ามบีบเข้าหากัน ทำให้ฝ่ายตรงข้ามได้รับความเจ็บปวด และพ่ายแพ้ไป ปกติช้างสีดอเมื่อเรานำมาฝึกให้เชื่อง เพื่อใช้งาน จะเป็นช้างงานที่ดีมาก ช้างพลายไทยที่สมบูรณ์เชือกหนึ่งๆ จะมีน้ำหนักประมาณ ๔ ตัน (๔,๐๐๐) กิโลกรัม และมีอายุยืนถึง ๑๐๐ ปี แต่อาจจะมีบางตัวที่มีอายุยืนกว่านี้ก็ได้