Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ตราไปรษณียากรไทย

Posted By Plookpedia | 02 ธ.ค. 59
27,337 Views

  Favorite

ตราไปรษณียากรไทย

ตราไปรษณียากร ได้แก่ ดวงตราไปรษณียากร รอยประทับจากเครื่องประทับไปรษณียากร ดวงตราไปรษณียากรที่พิมพ์บนไปรษณียบัตร หรือจดหมายไปรษณีย์อากาศ ตราไปรษณียากร ที่ยังไม่มีรอยประทับใดๆ ใช้ในการชำระค่าไปรษณียากร หรือค่าธรรมเนียมไปรษณีย์ได้ เราจะซื้อตราไปรษณียากรได้ จากที่ทำการไปรษณีย์โทรเลข ที่ทำการไปรษณีย์อนุญาตที่รับส่งไปรษณีย์ และร้านจำหน่ายตราไปรษณียากร ตามราคาที่ระบุไว้ ในการจ่าหน้าซองจดหมาย และใช้ตราไปรษณียากร ควรแบ่งพื้นที่หน้าซองออกเป็นส่วนๆ เพื่อใช้ประโยชน์ต่างๆ กัน

 

 ตราไปรษณียากร
ตราไปรษณียกร

 

ดวงตราไปรษณียากร หรือที่เรียกทับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า "แสตมป์" นั้น นอกจากจะใช้ผนึกบนซองจดหมาย บนห่อ หรือซองไปรษณียภัณฑ์ และพัสดุไปรษณีย์แล้ว ยังเป็นที่นิยมสะสมกันอย่างแพร่หลาย
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำรัสไว้ในคำนำหนังสือ ตำนานไปรษณีย์ไทย พ.ศ. ๒๓๗๙ - ๒๔๘๖ ของนายอาณัฐชัย  รัตตกุล ว่า    
"ผู้ใหญ่มักจะสนับสนุนให้เด็กๆ สะสมแสตมป์ เพราะจะช่วยให้ เด็กคนประณีต รู้จักความเป็นระเบียบเรียบร้อยสวยงาม แสตมป์ที่สะสมจากต่างประเทศ ทำให้รู้จักชื่อประเทศต่างๆ นอกจากนั้น ภาพที่พิมพ์อยู่บนแสตมป์ ยังให้ความรู้รอบตัวอีกหลายด้าน"

 

เมื่อการสะสมแสตมป์ เป็นงานอดิเรกอันมีประโยชน์ และเป็นที่น่าสนใจของคนทั้งโลก เราจึงควรศึกษาวิวัฒนาการของแสตมป์ ตั้งแต่ต้นกำเนิดจนถึงปัจจุบัน

 


    แสตมป์ดวงแรกของโลก คือ แสตมป์แบล็คเพนนี ของประเทศอังกฤษ แต่ไม่มีชื่อประเทศ ออกใช้เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๓๘๓ ภาพสัญลักษณ์ เป็นภาพสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย พระราชินีผู้ปกครอง ประเทศอังกฤษ มีราคาบนดวง หนึ่งเพนนี

แสตมป์ดวงแรกของไทย คือ แสตมป์โสฬศ ออกมาพร้อมกับแสตมป์ ราคาอัฐ เสี้ยว ซีก และสลึงหนึ่ง นับเป็นแสตมป์ชุดแรกของไทย ออกใช้เป็นทางการเมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๒๖ หลังจากอังกฤษออกแสตมป์ดวงแรก ๔๓ ปี แสตมป์นี้ เป็นภาพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

 


แสตมป์ที่มีราคาสูงที่สุดในโลก คือ แสตมป์ ๑ เซ็นต์ สีม่วงแดงของประเทศกายอานาอังกฤษ หรือปัจจุบันคือ ประเทศกายอานา ออกใช้เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๙ ราคาที่ประมูลกัน ณ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๓ เป็นเงิน ๑ ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา หรือประมาณ ๒๓ ล้านบาท เมื่อคิดเทียบตามอัตราการแลกเปลี่ยนเป็นเงินไทยขณะนั้น    

 


แสตมป์ที่มีราคาสูงที่สุดของไทย คือ แสตมป์อีสต์อินเดีย ราคา ๒ แอนนา ซึ่งสเตรตส์เซตเทิลเมนตส์ ขอยืมมาใช้โดยประทับแก้บนราคา ๒ แอนนา เป็น ๓๒ เซ็นต์ แล้วไทยขอยืมมาประทับอักษร "B" (Bangkok) ซึ่งมาจากภาษาอังกฤษว่า Bangkok (อ่านว่า แบงค็อก) หมายถึง กรุงเทพมหานคร แสตมป์นี้นำออกใช้ใน พ.ศ. ๒๔๒๕ จำนวนเพียง ๒๐ ดวง ปัจจุบันคงเหลืออยู่เพียงไม่กี่ดวง มีการประมูลซื้อขายครั้งสุดท้ายที่นคร นิวยอร์ก ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๘ ราคา ๘,๒๕๐ เหรียญสหรัฐอเมริกา หรือประมาณ ๒๒๒,๐๐๐ บาท

 

นอกจากเราจะนิยมสะสมดวงตราไปรษณียากร หรือแสตมป์ (stamp) แล้ว ยังมีผู้นิยมสะสมรอยประทับบนแสตมป์ ไปรษณียบัตร ตลอดจนจดหมายอากาศรุ่นต่างๆ ดังนั้น นอกจากการสะสมแสตมป์ให้ครบชุด เราอาจจะสะสม และศึกษาตราไปรษณียากรในรูปแบบต่างๆ ได้หลายรูปแบบ เช่น

 

การสะสมแสตมป์แบบศึกษาเชิงประวัติไปรษณีย์

๑. สะสมแบบศึกษาเชิงประวัติไปรษณีย์ (postal history)

เป็นการสะสมเฉพาะแสตมป์ที่ใช้แล้วเท่านั้น แสตมป์ที่นิยมสะสมนี้จะเป็นแสตมป์ ที่มีตราประทับที่สำคัญ บ่งบอกถึงความเป็นมาในอดีต เป็นแสตมป์เดี่ยว หรือผนึกอยู่บนซอง ก็ได้ เช่น ตราประทับ KEDAH - ไทรบุรี ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐไทรบุรีเคยอยู่ในการปกครอง ของไทย และซองผนึกแสตมป์ สเตรตส์เซตเทิลเมนตส์ประทับ "B" แสดงให้เห็นว่าในอดีต เราเคยขอยืมแสตมป์จากสเตรตส์เซตเทิลเมนตส์ มาใช้ในการส่งจดหมายออกไปยังต่าง ประเทศ เป็นต้น

 

การสะสมแสตมป์เฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่ง


๒. สะสมเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่ง (thematics)

เป็นการสะสมเพื่อศึกษาถึงความเป็นมา ของการไปรษณีย์ของประเทศใดประเทศหนึ่ง แล้วผนึกบนซอง ไปรษณียบัตร และจดหมายอากาศในชุดหรือเรื่องเดียวกัน เช่น ชุดภาพ นก ปลา ผีเสื้อ สัตว์ป่า รถ เรือ รถไฟ ดอกไม้ ผลไม้ การกีฬา ธงชาติ ลูกเสือ สัปดาห์สากล แห่งการเขียนจดหมาย บุคคลสำคัญ ศิลปวัตถุโบราณ และจิตรกรรม เป็นต้น

๓. สะสมเชิงตำนานไปรษณีย์ (traditional, classics)

เป็นการสะสมเพื่อศึกษาถึงความเป็นมาของการไปรษณีย์ของประเทศใดประเทศหนึ่ง โดยเฉพาะ อาจจะสะสมตั้งแต่เริ่มมีการส่งจดหมายเข้า-ออกจากประเทศ มาจนถึงสมัยใด สมัยหนึ่ง เพื่อศึกษาวิวัฒนาการการไปรษณีย์ของประเทศนั้นๆ มาเป็นลำดับ ตามหลัก สากลถือว่า การสะสมแสตมป์ในช่วงก่อน พ.ศ. ๒๔๑๘ นั้นเป็นการสะสมเชิงตำนาน ไปรษณีย์ที่แท้จริง แต่ก็อนุโลมใช้กับการสะสมแสตมป์ที่หายากที่ใช้หลังจากช่วงนั้นได้ โดยปกติ การสะสมในเชิงตำนานไปรษณีย์นี้ นิยมสะสมแสตมป์ที่ออกตั้งแต่ระยะแรกของการไปรษณีย์ในแต่ละประเทศ เรื่อยลงมาถึงระยะใดระยะหนึ่ง ตัวอย่างเช่น ในการศึกษา ความเป็นมาของการไปรษณีย์ไทย ก็จะสะสมสิ่งที่ใช้แทนแสตมป์ ในสมัยก่อนการใช้แสตมป์ ที่แท้จริง มาจนถึงระยะที่ขอยืมแสตมป์จากประเทศอื่นมาใช้ และระยะที่มีแสตมป์ชุดแรก ออกใช้เองเป็นชุดที่ ๑ วิวัฒนาการเป็นชุดที่ ๒ ชุดที่ ๓ เรื่อยมา เป็นต้น

 

การสะสมแสตมป์เชิงตำนานไปรษณีย์

 

๔. สะสมเฉพาะตราประทับบนแสตมป์ (postmark)

เป็นการสะสมเฉพาะตราประทับต่างๆ ของที่ทำการไปรษณีย์บนดวงแสตมป์ จะเป็นตราประทับในช่วงระยะเวลาปัจจุบัน หรือในอดีตก็ได้ ถ้าแสตมป์ที่มีตราประทับที่หายาก ยังคงผนึกอยู่บนซองก็ให้สะสมไว้ทั้งซอง ไม่ควรแช่น้ำลอกแสตมป์ออกจากซอง ตัวอย่าง การสะสมตราประทับนี้ ได้แก่ สะสมตราประทับประจำวันทุกที่ทำการไปรษณีย์ทั่วประเทศ ไทยในสมัยใดสมัยหนึ่ง สะสมตราประจำวันและตราประทับพิเศษในงานแสดงนิทรรศการ ไปรษณีย์งานใดงานหนึ่ง เป็นต้น

 

ตัวอย่างแสตมป์สเตรตส์เซตเทิลเมนตส์ที่นำมาใช้
มีตราประทับกงสุลอเมริกัน กงสุลอังกฤษ และ Bangkok
การสะสมไปรษณียบัตร

 

๕. สะสมสิ่งจำหน่ายเพื่อการสะสม (postal stationary)

เป็นการสะสมไปรษณียบัตรรวมถึงกระดาษต่างๆ ที่มีตราไปรษณียากรพิมพ์ติดอยู่ ใช้ส่งทางไปรษณีย์ได้ทันที โดยสะสมสิ่งเหล่านี้ให้ครบในสมัยใดสมัยหนึ่ง หรือหลายประเทศ ในช่วงเวลาหนึ่งๆ ก็ได้ ปัจจุบันมีผู้สะสมไปรษณียบัตรรุ่นแรกของทุกประเทศทั่วโลก และเคยได้รับรางวัลระดับสูงของโลกมาแล้ว
๖. สะสมจดหมายไปรษณีย์อากาศ และเรื่องเกี่ยวกับการบิน (aerogram and aerophilately)

เป็นการสะสมแบบหนึ่งที่มีผู้นิยมมากในขณะนี้ อาจสะสมจดหมายหรือไปรษณีย์ อากาศที่ส่งไปกับเที่ยวบินเที่ยวแรก หรือที่ส่งไปกับเรือเหาะต่างๆ นอกจากนี้ ยังเคยมีผู้นำ จดหมายส่งไปกับยานอากาศที่เดินทางไปดวงจันทร์ และนำกลับลงมาสู่พื้นโลกออกแสดง แก่ประชาชนอีกด้วย

 

แสตมป์ชุดปีกครุฑ พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๓

 

นอกจากที่กล่าวมาแล้ว นักสะสมอาจสะสมแสตมป์ตัวตลก หรือแสตมป์ทดลองพิมพ์ หรือแสตมป์ตัวอย่าง ได้ตามแต่ความสนใจอีกด้วย

มูลค่าของตราไปรษณียากรนั้นอยู่กับสภาพ ความหายาก และความนิยมสะสม เป็นสำคัญ เช่น แสตมป์ที่มีรอยปรุหรือที่เรียกกันว่า ฟันของแสตมป์ขาดชำรุด แสตมป์ที่มีสภาพ เหลืองหรือแตกกรอบ แสตมป์ที่ยังไม่ได้ใช้ แสตมป์ที่ไม่มีกาวทางด้านหลังหรือมีกาวในสภาพไม่ดี เหล่านี้ถือว่ามีสภาพไม่สมบูรณ์ มูลค่าย่อมลดลงตามแต่สภาพ

 

ซองเที่ยวบินแรก (ซ้าย) ส่งจากกรุงเทพฯ ไปจันทบุรี เมื่อ ๑๗ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๖๒(กลาง) ส่งจากจันทบุรีไปกรุงเทพฯ เมื่อ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๖๒
(ขวา)ส่งจากร้อยเอ็ดไปนครราชสีมา เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๘ เป็นซองลงทะเบียน

 

เพื่อที่จะรักษาสภาพเดิมของแสตมป์หรือตราไปรษณียากรให้คงทน เราควรปฏิบัติ ดังนี้ 

๑. เก็บตราไปรษณียากรใส่ลงในเมานต์หรือซองสำหรับใส่ตราไปรษณียากร (mount) ก่อนนำใส่อัลบัม กรอบ หรือซองนี้มีหลายขนาด 

๒. เก็บไว้ในที่ที่อากาศไม่ร้อนจัด และหลีกเลี่ยงการถูกแสงแดดโดยตรง 

๓. เก็บไว้ในที่ที่อากาศไม่ชื้นจัด เพราะความชื้นจะทำให้แสตมป์เหลือง นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการใช้มือจับแสตมป์โดยตรง เพราะมือของเราสกปรกและมีความชื้นจะทำให้ แสตมป์เสีย หรือฟันขาดชำรุดได้ ให้ใช้คีมคีบแสตมป์แทน

ตราไปรษณียากรของไทย แสดงถึงประวัติศาสตร์อันยาวนานน่าภาคภูมิใจของ ปวงชนชาวไทย เราชาวไทยจึงควรหันมาสะสมตราไปรษณียากรของไทยเราและช่วยสร้าง ชื่อเสียงในวงการไปรษณีย์ให้เป็นที่ประจักษ์แก่คนต่างชาติ เพื่อให้เยาวชน และบุคคลทั่วไป ได้เข้าใจถึงการสะสมมากขึ้น การสื่อสารแห่งประเทศไทยได้จัดนิทรรศการทางการไปรษณีย์ และจัดประกวดแสตมป์ ตลอดจนออกตราไปรษณียากรรุ่นใหม่ๆ เป็นภาพศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี และสิ่งต่างๆ อันสร้างความภูมิใจให้แก่ประเทศของเราเสมอมา เราควรช่วยกันสร้างความนิยมในการสะสมแสตมป์ให้แพร่หลายยิ่งขึ้น

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow