สถานที่ที่น่าสนใจของกรุงเทพฯ ในปัจจุบันนอกจากพระบรมมหาราชวัง วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระอารามต่างๆ ตลอดจนสถานที่อื่นๆ ตามที่กล่าวมาในตอนต้นแล้วก็ยังมีอีกมาก อาทิ
ท้องสนามหลวง เป็นสนามกว้างใหญ่ อยู่ระหว่างพระบรมมหาราชวัง และเชิงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า เป็นสถานที่สำคัญแต่เดิมของกรุงเทพฯ แห่งหนึ่ง ในสมัยแรกของกรุงเทพฯ บริเวณนี้เรียกกันเป็นสามัญว่า ทุ่งพระเมรุ เพราะเคยเป็นสถานที่ตั้งพระเมรุ พระราชทานเพลิงพระศพเจ้านายพระองค์ต่างๆ จนถึงสมัยรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริว่า ชื่อทุ่งพระเมรุนี้ฟังไม่เป็นมงคล จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเสียใหม่เรียกว่า ท้องสนามหลวง สืบมาจนถึงทุกวันนี้
ท้องสนามหลวง เป็นสถานที่สำหรับชาวพระนครได้พักผ่อน และเป็นสถานที่จัดงานพระราชพิธีต่างๆ อาทิ พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นต้น สำหรับในฤดูร้อน เป็นสถานที่เล่นว่าวมีการแข่งขันว่าวปักเป้า และจุฬา ซึ่งเป็นกีฬาไทยที่ชาวต่างประเทศสนใจเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้แล้วแต่เดิม ในวันเสาร์ และวันอาทิตย์ ยังเป็นที่ติดตลาดนัด จำหน่ายผลิตผลของชาวไร่ ชาวสวน และสรรพสินค้าชนิดต่างๆ ในราคาถูกกว่าปกติ ปัจจุบันนี้ได้ย้ายตลาดนัดไปอยู่ที่บริเวณใกล้สวนจตุจักร ส่วนด้านหลังรูปปั้นของแม่พระธรณี ท่ออุทกธาร เป็นย่านขายหนังสือเก่า มีหนังสือจำหน่ายแทบทุกประเภท นับแต่ตำราเรียนหนังสือแจกงานศพ หนังสือภาษาต่างประเทศ
นับได้ว่าบริเวณท้องสนามหลวงเป็นสถานที่น่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับการเที่ยวชม เพื่อทัศนศึกษากรุงเทพฯ ในปัจจุบัน เพราะโดยรอบบริเวณท้องสนามหลวงล้วนแต่เป็นสถานที่ตั้งของสิ่งสำคัญคู่กรุงเทพฯ เช่น ศาลหลักเมือง กระทรวงกลาโหม วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง มหาวิทยาลัยศิลปากร วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โรงละครแห่งชาติ อนุสาวรีย์ทหารอาสา แม่พระธรณีท่ออุทกธาร และศาลสถิตยุติธรรม เป็นต้น
จากบริเวณท้องสนามหลวง อันเป็นย่านใจกลางเมืองแต่สมัยแรกของกรุงเทพฯ ถ้าหากข้ามสะพานผ่านพิภพลีลาตรงมาทางตะวันออก ก็จะเข้าสู่ถนนราชดำเนินกลาง อันเป็นถนนสายที่โอ่อ่าสวยงามที่สุดของกรุงเทพฯ สองฟากถนนเป็นสถานที่ตั้งของหน่วยราชการ องค์การ ร้านค้า มีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยงามเด่นอยู่กลางถนน อนุสาวรีย์ แห่งนี้สร้างขึ้น เพื่อเป็นที่ระลึกถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทย จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ อนุสาวรีย์แห่งนี้สร้างเสร็จ และทำพิธีเปิดเมื่อวัน ที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๓
ตรงเชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ หัวถนนราชดำเนินกลาง จะแลเห็นป้อมมหากาฬอยู่ทางขวามือพร้อมทั้งกำแพงเมืองเก่าของกรุงเทพฯ ส่วนหนึ่ง และมีภูเขาทอง หรือพระบรมบรรพต วัดสะเกศอยู่เบื้องหลัง
พระบรมบรรพต หรือภูเขาทองตามที่เรียกกันเป็นสามัญนับเป็นปูชนียสถานสำคัญของกรุงเทพฯ แห่งหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น แต่มาสำเร็จเรียบร้อยเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๑ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ มีความสูงถึง ๗๖ เมตร พระเจดีย์บนยอดสูงสุดบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ มีงานนมัสการพระบรมสารีริกธาตุทุกปีในกลางเดือน ๑๒ ผู้ที่ไปเที่ยวกรุงเทพฯ ปัจจุบัน ควรจะหาโอกาสขึ้นไปบนยอดภูเขาทองสักครั้งหนึ่ง จะได้เห็นทิวทัศน์อันงดงามของกรุงเทพฯ ปัจจุบันในที่สูง จะเห็นยอดเจดีย์วิหารตามวัดต่างๆ แทรกเด่นอยู่ระหว่างตึกรามที่หนาแน่นไปทั่วทุกทิศ
เป็นธรรมดาของนครหลวงใหญ่ทั่วๆ ไป ที่จะต้องมีสวนสาธารณะสำหรับให้ประชาชนได้พักผ่อน เพื่อคลายความเคร่งเครียดจากการงาน และความจอแจของรถราบนท้องถนน สำหรับกรุงเทพฯ ปัจจุบันมีสวนสาธารณะ ขนาดใหญ่อยู่เพียง ๓ แห่งคือ สวนลุมพินี สวนสัตว์ดุสิต หรือที่ชาวกรุงเทพฯ เรียกว่า เขาดิน (เขาดินวนา) และสวนจตุจักร
สำหรับสวนสัตว์ดุสิต หรือเขาดินวนา ตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ของพระราชวังดุสิตมาแต่เดิม มีเนื้อที่รวม ๗๖ ไร่ เดิมเป็นเขตอุทยานของพระราชวังดุสิต เริ่มเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าพักผ่อนในสมัยรัชกาลที่ ๖ คือพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และเริ่มดำเนินกิจการเป็นสวนสัตว์สำหรับชาวพระนครเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๑ เป็นต้นมา ปัจจุบันในสวนสัตว์ดุสิต มีสัตว์ต่างๆ ทั้งที่มีในประเทศไทย และสัตว์จากต่างประเทศจำนวนนับร้อยๆ ชนิด ซึ่งน่าชมอย่างยิ่ง
ตรงข้ามกับประตูทางเข้าสวนสัตว์ดุสิตทางด้านตะวันออกเป็นบริเวณที่ตั้งของพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต อันเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ส่วนทางด้านตะวันตกของสวนสัตว์ดุสิต ก็เป็นสถานที่ตั้งพระที่นั่งอนันตสมาคม และสถานที่ทำการของรัฐสภา ด้านใต้ของสวนสัตว์ดุสิตก็มีวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม อันเป็นพระอารามที่งดงามยิ่งแห่งหนึ่งของไทย
กรุงเทพฯ ปัจจุบัน กำลังเจริญก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง อาณาเขตของตัวเมืองขยายออกไปเรื่อยๆ สมกับที่เป็นนครหลวงของประเทศไทย ซึ่งเป็นนครหลวงแห่งสุดท้าย อันมั่นคงแข็งแรง ที่พระมหากษัตริย์ไทยในพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงอุตสาหะสร้างนครหลวงนี้ ให้เป็นที่มั่นของชาวไทยตราบเท่านิรันดร