กรุงเทพมหานครเป็นศูนย์กลางของการเงิน จึงเป็นที่ตั้งของธนาคารหลายแห่ง เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทยที่รัฐจัดตั้งขึ้น ตั้งอยู่ที่แขวงบางขุนพรหม เขตดุสิต ในบริเวณซึ่งเดิมเป็นวังของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนครสวรรค์วรพินิต เริ่มตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๕ เพื่อให้เป็นธนาคารชาติหรือธนาคารกลางของประเทศ ควบคุมธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ที่ตั้งขึ้นโดยเอกชนเพื่อธุรกิจ แต่โดยความเป็นจริงแล้วธนาคารพาณิชย์เริ่มกิจการขึ้นก่อนธนาคารชาติ หรือธนาคารแห่งประเทศไทย โดยในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหมื่นมหิศรราชหฤทัยทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดี กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ได้ทรงตั้งสำนักงานรับฝากเงินขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๗ ที่แขวงบ้านหม้อ ใช้ชื่อสำนักงานนี้ว่า "บุคคลัภย์" ซึ่งถอดมาจากภาษาอังกฤษว่า "Book Club Association" ต่อมาขยายกิจการสำนักงานนี้เป็นรูปธนาคาร ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า "Siam Commercial Bank" ภาษาไทยใช้ว่า "แบงก์สยามกัมมาจลจำกัด" และภายหลังเปลี่ยนเรียกชื่อใหม่เป็น "ธนาคารไทยพาณิชย์" ซึ่งขณะนี้มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ใกล้สะพานลอยประตูน้ำ และมีธนาคารสาขาหลายแห่ง ทั้งในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด
ธนาคารออมสิน
สำนักงานใหญ่แต่เดิมอยู่ที่ถนนราชดำเนินกลาง ต่อมาย้ายไปอยู่ที่ถนนพหลโยธิน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมงกุฎราชกุมาร เริ่มมีพระราชดำริขึ้น ด้วยพระราชประสงค์ จะให้มหาดเล็กของพระองค์ได้รับการฝึกอบรมการออมทรัพย์ตั้งแต่อายุยังน้อย จึงโปรดให้เตรียมสำนักงานคลังออมสินขึ้นที่พระตำหนักสวนจิตรลดา อันเป็นที่ประทับ แล้วทรงประกาศตั้งเป็นธนาคาร หรือแบงก์ขึ้น โดยพระราชทานนามว่า "ลีฟอเทีย" คำนี้ เป็นคำย่อโดย ลี แปลว่า โตหรือใหญ่ แปลงมาจากพระนามที่รู้จักกันในราชสำนักว่า "ทูลกระหม่อมโต" ทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ ฟอ มาจากคำว่า เฟื้อ คือ ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ (นามเดิมของพลเอกเจ้าพระยารามราฆพ) กรรมการผู้จัดการ และคำว่า เทีย มาจากคำว่า เทียบ อัศวรักษ์ (นามเดิมของพระยาคธาธรบดี) ซึ่งเป็นกรรมการ
เมื่อเสด็จขึ้นครองราชสมบัติแล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีพระบรมราชโองการให้เปิดกิจการธนาคารออมสิน เพื่อประโยชน์แก่ราษฎรทั่วไป