พระองค์
การบริหารราชการซึ่งปฏิบัติกันสืบต่อมาแต่โบราณกาลนั้น ยังสับสนกันอยู่ เช่น การศาลก็ขึ้นกับ หลายหน่วยราชการด้วยกัน จึงทรงจัดแบ่งราชการแผ่นดิน ให้เป็น ๑๒ ส่วน หรือ ๑๒ กระทรวง เพิ่มตำแหน่งเสนาบดีให้เพียงพอ ที่จะปฏิบัติราชการเฉพาะส่วน เฉพาะหน้าที่ โดยมิได้ก้าวก่ายกัน ทรงทำนุ บำรุงการศึกษา การคมนาคม การเศรษฐกิจ การ อนามัย เสด็จประพาสเยี่ยมเยียน เพื่อทราบทุกข์สุข ของประชาชนชาวไทย เสด็จเยือนประเทศอื่น เพื่อสมานไมตรี และแก้ไขปัญหาขัดแย้งระหว่างประเทศนั้นๆ กับประเทศไทย ในระยะนั้น ประเทศมหาอำนาจที่มามีผลประโยชน์ทางทวีปเอเซีย โดยเฉพาะที่ใกล้เคียงราชอาณาจักรไทยคือ อังกฤษ และฝรั่งเศส ซึ่งต่างคอยแก่งแย่งกีดกัน การที่อีกฝ่ายหนึ่งจะได้ประโยชน์มากกว่าตน ประเทศไทยจึงตกในสภาพถูกบีบ ทั้งสองข้าง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จำเป็นต้องใช้พระวิจารณญาณ ผ่อนปรนให้แก่ประเทศเหล่านั้น แม้บางคราว จำต้องเสียพระราชอาณาเขตบางส่วน เสียผลประโยชน์รายได้ทางภาษีอากร บ้างก็จำต้องทรงยอมเสีย เพื่อรักษาไว้ ซึ่งเอกราชของประเทศไทย นอกจากนี้ยังได้ทรงนำวิทยาการ และความเจริญนานาประการ ของชาวตะวันตก มาใช้ทำนุบำรุงบ้านเมืองไทย เช่น โปรดให้จัดการรถไฟ สร้างถนน และดำเนินการไปรษณีย์โทรเลข ขึ้น เป็นต้น ด้วยพระราชกรณียกิจอันเป็นประโยชน์ แก่บ้านเมือง และอาณาประชาชน ตลอดจนการที่พระราชทานพระเมตตากรุณาประชาชน ตลอดจนการที่พระราชทานพระเมตตากรุณา และไมตรีจิตแก่ทุกคน ทุกฐานะ ในพระราชอาณาเขต ตามแต่จะทรงมีโอกาสแสดง ให้ปรากฏแก่ชนนั้นๆ พระองค์จึงได้ทรงเป็นที่รักใคร่ และเคารพบูชาของชนทั้งปวง ในพระราชอาณาจักร ทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศ
ในโอกาสที่จะทรงครองราชย์ครบ ๔๐ ปี ใน พ.ศ. ๒๔๕๑ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) ทรงเป็นประธานจัดงานสมโภช โดยทรงเชิญชวนพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และประชาชน ร่วมกันสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ คือ พระบรมรูปทรงม้า ซึ่งประดิษฐาน ณ ลานหน้า พระที่นั่งอนันตสมาคม กรุงเทพมหานคร ที่ฐานของพระบรมรูปทรงม้านี้ มีแผ่นโลหะจารึกข้อความเทิดพระเกียรติ พร้อมทั้งถวายพระสมัญญาว่า"สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงปิยมหาราช" ภายหลังจากการเสด็จสวรรคต จึงได้กำหนดวันสักการบูชาประจำปีขึ้นในวันที่ ๒๓ ตุลาคม ซึ่งตรงกับวันเสด็จสวรรคต