พระองค์เป็นกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรสุโขทัยได้ทรงประกอบราชกิจที่สำคัญไว้มากสมควรกล่าวถึงดังนี้คือ
๑. ทรงมีความเข้มแข็งในการรบเมื่อมีพระชันษาเพียง ๑๙ ปี ได้ช่วยพระราชบิดาสู้รบศัตรูอย่างกล้าหาญได้ทรงชนช้างกับขุนสามชน เจ้าเมืองฉอดที่ยกกองทัพมารุกรานกรุงสุโขทัยจนได้ชัยชนะ พระราชบิดาจึงพระราชทานนามว่า พระรามคำแหง เมื่อเป็นกษัตริย์แล้วพระองค์ได้ทรงรบขยายราชอาณาจักรออกไปกว้างขวางมาก เป็นที่ยำเกรงแก่ประเทศเพื่อนบ้านทั้งปวง
๒. ทรงเจริญทางพระราชไมตรีกับประเทศใกล้เคียง เช่น ทรงเป็นเพื่อนสนิทกับพระยาเม็งราย (เจ้าเมืองเชียงใหม่) และพระยางำเมือง (เจ้าเมืองพะเยา) แห่งอาณาจักรลานนาไกลออกไปทรงเจริญทางพระราชไมตรีกับประเทศจีนซึ่งขณะนั้นมีกุบไลข่าน (พระเจ้าหงวนสีโจ๊วฮ่องเต้) เป็นกษัตริย์ได้มีการติดต่อค้าขายระหว่างประเทศทั้งสองทั้งยังได้ทรงนำช่างทำถ้วยชามชาวจีนมาสอนคนไทย ตั้งเตาเผาถ้วยชามและเครื่องเคลือบขึ้นที่กรุงสุโขทัยเมืองศรีสัชนาลัย (เชลียง) และเมืองสวรรคโลก เครื่องเคลือบชนิดนี้เราเรียกว่า "สังคโลก" ทรงติดต่อค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ เช่น ชวา มลายู และลังกา นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์ที่น่าสนใจคือขณะนั้นมีชาวมอญผู้หนึ่งชื่อมะกะโทเป็นพ่อค้าจากเมาะตะมะเข้ามาอยู่กรุงสุโขทัยได้ลอบนำองค์พระสุวรรณเทวี พระราชธิดาหนีไปอยู่เมาะตะมะ ต่อมามะกะโทได้ตั้งตัวเป็นกษัตริย์มอญทรงพระนามว่าพระเจ้าฟ้ารั่วและมอญก็ได้เข้ามาขอเป็นเมืองขึ้นของกรุงสุโขทัย
๓. ทรงปกครองพลเมืองให้ได้รับความร่มเย็นเป็นสุขได้โปรดให้แขวนกระดิ่งไว้ที่ประตูพระราชวังผู้ใดมีทุกข์ร้อนก็มาสั่นกระดิ่งถวายฎีกาได้ในวันโกนวันพระได้ทรงนิมนต์พระภิกษุแสดงพระธรรมเทศนาบนพระแท่นมนังศิลาบาตรกลางดงตาล ในวันธรรมดาพระองค์ก็เสด็จออกว่าราชการและให้ราษฎรเข้าเฝ้าอยู่ใกล้ชิดและทรงอบรมศีลธรรมจรรยาแก่ราษฎร (พระแท่นมนังศิลาบาตรนี้ รัชกาลที่ ๔ โปรดให้นำมาไว้ที่กรุงเทพมหานครครั้งหนึ่งเคยอยู่ในวิหารยอดในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ปัจจุบันนี้ตั้งอยู่ ณ พิพิธภัณฑ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามในพระบรมมหาราชวังตามพระบัญชาของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๖)
๔. ใน พ.ศ. ๑๘๒๖ ได้ทรงคิดแบบตัวหนังสือไทยขึ้นแบบหนึ่งซึ่งเป็นต้นเค้าของตัวหนังสือไทยในปัจจุบันและได้ทรงจารึกเหตุการณ์ในสมัยนั้นลงไว้ หลักศิลาจารึกของพระองค์นี้มีคุณค่ามากในการศึกษาประวัติศาสตร์คนในสมัยหลังได้ทราบเรื่องราวต่าง ๆ ในสมัยกรุงสุโขทัยจากศิลาจารึกนี้เป็นอย่างมาก (ปัจจุบันศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชอยู่ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติกรุง เทพมหานคร) การสร้างแบบหนังสือไทยขึ้นนี้นับว่าเป็นการประดิษฐ์อันสำคัญยิ่งสำหรับชาติ