Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ต้องนอนเท่าไรถึงจะพอดีและดีพอ

Posted By sanomaru | 02 ธ.ค. 60
14,681 Views

  Favorite

ตอนเป็นเด็ก ผู้ใหญ่มักจะไล่ให้เราไปนอนแต่หัวค่ำ ทั้งที่มีรายการโทรทัศน์หรือละครที่เรายังอยากอยู่ดูต่อ นั่นเพราะเชื่อว่าเด็กควรนอนเยอะ ๆ ตื่นเช้ามาสมองจะได้ปลอดโปร่ง แต่พอเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบมากขึ้น เราอาจจะต้องนอนดึก และตื่นเช้า ซึ่งการนอนเพียงเท่านั้นอาจจะไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย แต่บางครั้งสิ่งที่ตามมาอาจจะไม่ใช่เพียงอาการง่วงนอน หรือเพลียเพียงอย่างเดียวก็เป็นได้

 

จากงานวิจัยที่ผ่านมาส่วนใหญ่มีศึกษาโดยเน้นไปที่ความสัมพันธ์ระหว่างการอดนอนกับการเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า โรคอัลไซเมอร์ สมองเสื่อม โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด หรือโรคหลอดเลือดสมอง ขณะที่งานวิจัยหนึ่งได้ศึกษาถึงผลจากการถูกรบกวนการนอนต่อเซลล์สมอง ซึ่งการทดลองนี้ทำในหนูทดลอง โดยการปลุกหนูทดลองให้ตื่นเป็นระยะ ๆ เพื่อไม่ให้มันนอนได้อย่างเต็มที่ และเมื่อเวลาผ่านไปหลายวัน นักวิจัยก็พบว่า การถูกรบกวนการนอน ทำให้ไม่ได้นอนหลับยาว ๆ หรือมีสภาพอดนอนนั้น ส่งผลให้เซลล์สมองของหนูทดลองตายลงถึง 25% และสถานการณ์นี้ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นกับคนเรา ทั้งยังส่งผลสืบเนื่องไปถึงนาฬิกาชีวิต (Biological Clock) และวงจรการนอนหลับด้วย

ภาพ : Shutterstock

 

อีกงานวิจัยหนึ่งระบุว่า การอดนอนมีผลต่อขนาดของสมอง โดยทีมนักวิจัยใช้เครื่อง MRI สแกนสมองของผู้เข้าร่วมวิจัยจำนวน 147 คน ที่มีอายุระหว่าง 20-84 ปี จากนั้นให้ผู้เข้าร่วมวิจัยตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับพฤติกรรมการนอนของพวกเขา หลังจากนั้น 3 ปีครึ่ง พวกเขาได้ทำการสแกนสมองผู้เข้าร่วมวิจัยทั้งหมดอีกครั้ง และผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่า 35% ของผู้ที่มีปัญหาการนอนหลับ มีการลดลงของปริมาตรหรือขนาดของสมองในระหว่างการศึกษามากกว่าผู้ที่หลับสบาย

 

ในงานวิจัยล่าสุด โดยทีมวิจัยจาก UCLA ยังแสดงให้เห็นว่า การอดนอนไม่เพียงมีผลต่อสมองของผูู้อดนอนเท่านั้น แต่ยังส่งผลไปถึงผู้คนรอบข้างด้วย เนื่องจากพวกเขาพบว่า การอดนอนเป็นปัจจัยที่ทำให้สมองแต่ละส่วนมีการสื่อสารระหว่างกันที่ช้าลง การเข้ารหัสหรือแปรผลเป็นไปได้อย่างเชื่องช้า เรียกความจำต่อต่าง ๆ ที่อยู่ในสมองออกมาใช้ได้ช้าลง และทำลายวิสัยทัศน์หรือความสามารถในการแปรผลของสิ่งที่มองเห็นด้วย สิ่งนี้ได้ส่งผลถึงคนรอบข้างในกรณีที่คนขับรถอดนอน พวกเขาอาจมองไม่เห็นคนเดินเท้าที่กำลังข้ามถนน และเป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุได้

ภาพ : Shutterstock

 

ร่างกายหรือสมองที่อ่อนล้ามาก ๆ จากการอดนอน สามารถสั่งให้สมองบางส่วนหยุดการทำงานลงได้ แม้ว่าพวกเขาจะยังตื่นอยู่ สิ่งที่เกิดขึ้นในสมองของผู้ที่อดนอนนั้นไม่ต่างไปผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์มาอย่างหนักเลย และเป็นที่น่าเสียดายที่ตอนนี้นักวิจัยหรือนักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถพัฒนายาที่ป้องกันการเสียหายของเซลล์สมองจากการอดนอน หรือวิธีเพิ่มพลังด้วยสารเคมีที่เกี่ยวข้องกับการซ่อมแซมสมองตามธรรมชาติได้ การนอนหลับอย่างเพียงพอจึงยังคงเป็นวิธีการรักษาเซลล์สมองให้อยู่กับเราไปนาน ๆ ที่ดีที่สุด

แต่นอนหลับเท่าไรจึงจะเรียกว่าเพียงพอล่ะ?

 

 

ในแต่ละช่วงวัยของคนเรามีความต้องการนอนหลับที่แตกต่างกัน ซึ่งสถาบันการนอนหลับแห่งชาติ (National Sleep Foundation) ในสหรัฐอเมริกา ได้แนะนำระยะเวลาการนอนที่เหมาะสมในแต่ละช่วงวัยไว้ ดังนี้

อายุ 0-3 เดือน เวลาการนอนหลับที่เหมาะสม คือ 14-17 ชั่วโมงต่อวัน แต่อาจมากหรือน้อยกว่านี้ได้ 1-2 ชั่วโมง
อายุ 4-11 เดือน เวลาการนอนหลับที่เหมาะสม คือ 12-15 ชั่วโมงต่อวัน แต่อาจมากหรือน้อยกว่านี้ได้ 1-2 ชั่วโมง 
อายุ 1-2 ปี เวลาการนอนหลับที่เหมาะสม คือ 11-14 ชั่วโมงต่อวัน แต่อาจมากหรือน้อยกว่านี้ได้ 1-2 ชั่วโมง
อายุ 3-5 ปี เวลาการนอนหลับที่เหมาะสม คือ 10-13 ชั่วโมงต่อวัน แต่อาจมากหรือน้อยกว่านี้ได้ 1 ชั่วโมง
อายุ 6-13 ปี  เวลาการนอนหลับที่เหมาะสม คือ 9-11 ชั่วโมงต่อวัน แต่อาจมากหรือน้อยกว่านี้ได้ 1 ชั่วโมง
อายุ 14-17 ปี เวลาการนอนหลับที่เหมาะสม คือ 8-10 ชั่วโมงต่อวัน แต่อาจมากหรือน้อยกว่านี้ได้ 1 ชั่วโมง
อายุ 18-25 ปี เวลาการนอนหลับที่เหมาะสม คือ 7-9 ชั่วโมงต่อวัน แต่อาจมากหรือน้อยกว่านี้ได้ 1 ชั่วโมง
อายุ 26-64 ปี เวลาการนอนหลับที่เหมาะสม คือ 7-9 ชั่วโมงต่อวัน แต่อาจมากหรือน้อยกว่านี้ได้ 1 ชั่วโมง
อายุ 65 ปีขึ้นไป เวลาการนอนหลับที่เหมาะสม คือ 7-8 ชั่วโมงต่อวัน แต่อาจมากหรือน้อยกว่านี้ได้ 1 ชั่วโมง

 

นอกจากช่วงวัยที่ต่างกันจะต้องการปริมาณการนอนหลับที่แตกต่างกันแล้ว ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้คนเราต้องการปริมาณการนอนที่ต่างกันด้วย เช่น หญิงตั้งครรภ์อาจจะต้องการเวลาการนอนหลับที่เพิ่มขึ้น ส่วนในผู้ที่เคยอดนอนมาก่อน ก็อาจจะต้องการเวลาในการนอนหลับมากกว่าคนทั่วไปด้วย

 

เพื่อรักษาสมองและร่างกายของเราให้สามารถใช้งานไปได้อีกยาว ๆ นอกจากการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอแล้ว จึงไม่ควรมองข้ามการนอนหลับอย่างมีคุณภาพและเพียงพอต่อความต้องการของร่างกายเช่นกัน

 

ภาพปก : Shutterstock

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • sanomaru
  • 17 Followers
  • Follow