“ฟรัง-นรีกุล เกตุประภากร” หรือที่เราเคยรู้จักเธอกันดี ในบทบาทของ “ออย ฮอร์โมน” กำลังก้าวเดินในเส้นทางหลากหลายที่ตัวเองเลือกเดิน และแน่นอนว่าเธอทำได้ดีในทุกบทบาทที่เธอได้รับ ทั้งบทบาทการแสดง และบทบาทของนักศึกษาแพทย์ปีที่ 2 แห่งรั้วจามจุรี เพื่อที่จะก้าวขึ้นไปเป็นแพทย์ ซึ่งเป็นอาชีพในอนาคตที่เธอฝันไว้
อะไรคือแรงผลักดันที่ทำให้สาวน้อยยิ้มเก่งคนนี้ก้าวเดินตามความฝันของตัวเองอย่างมั่นคง คำตอบภายใต้รอยยิ้มสวยๆ และทัศนคติที่โตเกินวัยอยู่ในบรรทัดต่อไป ...
“ตอนแรกก็ยังไม่แน่ใจ ก็มีหลายคณะในใจ แต่พอขึ้นชั้น ม. 5 ก็ต้องเริ่มจริงจังกับการสอบเข้ามหาวิทยาลัยแล้วว่าอยากเข้าคณะอะไร ก็เริ่มสังเกตตัวเองว่าเราชอบเรียนอะไร และก็รู้สึกว่าวิทยาศาสตร์ก็ชอบนะแต่ไม่ค่อยชอบเลขถ้าไปเรียนบัญชีก็คงจะไม่ใช่ทาง รวมไปถึงเพื่อนหลายๆ คนก็อยากจะเข้าคณะนี้ ก็อาจจะด้วยสังคม ด้วยโรงเรียนที่เราเรียนอยู่ด้วย และพ่อกับแม่ก็มองว่าอาชีพนี้ก็เป็นอาชีพที่ดี ถ้าเราอยากเรียน เค้าก็พร้อมสนับสนุน สุดท้ายก็เลยเลือกเรียน”
“ก็ชอบนะคะ จริงๆ ตอนปี 1 จะเป็นวิชาทั่วไปยังไม่ค่อยเกี่ยวกับวิชาแพทย์เท่าไหร่ ก็เรียนพวกเคมี ฟิสิกส์ ชีวะ
ก็จะเฉยๆ ชิวๆ หน่อย แต่พอมาปีนี้ (ปี 2) ก็เริ่มเรียนวิชาที่เกี่ยวข้องกับการเป็นหมอมากขึ้น เริ่มลงเรียนกับท่าน
อาจารย์ใหญ่ มีเรียนเกี่ยวกับอวัยวะการทำงานต่างๆซึ่งเราก็รู้สึกว่าเราก็ชอบนะ รู้สึกอยากรู้”
“กลัวไหมเหรอคะ (ถามถึงอาจารย์ใหญ่) ตอนเห็นร่างท่านอาจารย์ใหญ่ครั้งแรกก็ตกใจ แต่ว่า… พอไปเกือบทุกวัน ช่วงแรกไปบ่อยมาก ต้องเจอทั้งเทอม หลังๆ ก็เลยชิน”
“จริงๆ แล้ว ฟรังจะรู้สึกเหมือนชอบในสิ่งที่ตัวเองทำได้ดี จริงๆ ก็แบบไม่มีอันไหนที่แบบดีเป็นพิเศษ ทำได้หมดทั้งฟิสิกส์ เคมี ชีวะ แต่ก็ไม่มีอันไหนที่ดีแบบพีค ก็คือ ... ก็ชอบได้หมด แต่ว่าพอมาทางนี้ก็ชอบชีวะก็ได้ (หัวเราะ)”
“แล้วแต่เรื่องนะคะ อย่างฟิสิกส์นี่คือชอบกลศาสตร์ แต่ไม่ได้ชอบไฟฟ้า อะไรประมาณนี้ จริงๆ ชีวะชอบนะคะ ตอน ม.ปลายก็รู้สึกชอบ แต่พอมาเรียน ก็ยังชอบอยู่นะคะ แต่ว่ามันเยอะมาก พอเรามาเรียนมหาวิทยาลัยมันก็ยิ่ง เยอะ เยอะ เยอะ … แต่ก็ชอบแหล่ะ (หัวเราะ) ก็มีบางทีที่เรารู้สึกว่ามันเยอะบ้าง อะไรบ้าง เพราะชีวะมันต้องเข้าใจ และก็จำ ซึ่งมันก็จะค่อนข้างเยอะ”
“ส่วนเคมี … ตอนนี้เคมีไม่ค่อยได้แตะต้อง แต่ว่าตอน ม.ปลายก็ชอบอยู่นะคะ ก็รู้สึกว่าตัวเองไม่ได้ไม่ชอบ อย่างพวกตารางธาตุก็ต้องจำบางส่วน ทำความเข้าใจบางส่วน ก็ต้องทำผสมๆ กันค่ะ”
“ก็มีบ้างค่ะ เพราะว่ามันหนัก (เน้นเสียง) กว่าตอนปี 1 ค่อนข้างเยอะมาก อย่างตอนปี 1 นี่มามหาวิทยาลัยไม่กี่วัน แต่พอมาปี 2 ปุ๊บ ก็มีเรียนจันทร์ถึงศุกร์ 8 โมงเช้า ถึง 4 โมงเย็น อะไรอย่างนี้ เพราะฉะนั้นมันเลยค่อนข้างหนักนิดนึง”
“ก็มีบ้างค่ะ อย่างช่วงที่ผ่านมา ที่ถ่ายซีรี่ส์ Shoot! I Love You (Project S The Series Shoot! I Love You ปิ้ว! ยิงปิ๊งเธอ) ก็คือเป็นช่วงเดียวกัน แต่ส่วนใหญ่ก็จะรับงานช่วงวัน เสาร์-อาทิตย์มากกว่า ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ค่อยอยากหยุดเรียน”
“จริงๆ ก็ไม่ได้แบ่งชัดเจนขนาดนั้น แบบว่า ง่วงก็นอน (หัวเราะ) ก็ใช้ชีวิตปกติ แต่เราก็จะไม่ค่อยที่ปล่อยเวลาเสียไปโดยเปล่าประโยชน์ อย่างเช่นช่วงนี้ใกล้สอบก็จะไม่ค่อยปล่อยเวลาทิ้งไม่ไปดูหนัง หรือเที่ยวเล่นมากมาย อะไรแบบนี้มากกว่า เลิกเรียนถ้าไม่มีงานก็จะอ่านหนังสือ จะได้เตรียมตัวทันสำหรับการสอบ ประมาณนี้ค่ะ”
“ส่วนใหญ่จะแบบเครียดแค่วันเดียว และนอนก็จะหาย คือ... นอนจะเป็นการช่วยที่ดีมาก (หัวเราะ)”
“คือส่วนตัวคิดว่า วิทยาศาสตร์ก็เป็นเรื่องแบบรอบๆ ตัว เหมือนมันคือทุกอย่าง พวกไฟฟ้าที่ใช้ น้ำที่ดื่ม ก็ประกอบไปด้วยวิทยาศาสตร์หมดเลย รู้สึกว่าการเรียนวิทยาศาสตร์มันทำให้เราคิดโดยมีหลักการ มีเหตุมีผล ซึ่งมันก็เอาไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันทั่วๆ ไปได้ ไม่จำเป็นจะต้องเป็นเรื่องเรียน หรือการเป็นหมอ เป็นพวกการคิดตรรกะ หรือการพิสูจน์ทั่วไป”
“เคยเรียนนิดนึงผ่านๆ ก็ลืมๆ ไปแล้ว (หัวเราะ) แต่เราก็เคยได้ยินในวิชาสังคมด้วย วิทยาศาสตร์ด้วย พวกนิวเคลียสอะตอม โปรตอน นิวตรอน อิเล็กตรอน อะไรพวกนี้ แล้วก็รู้ว่าพลังงานนิวเคลียร์ มันมีพลังงานมหาศาลมากเลยนะ”
“จริงๆ ตอนแรกก็มองร้ายแรงนะคะ แต่พอเริ่มรู้จักก็รู้สึกว่า พลังงานนิวเคลียร์มันเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะในอนาคต คิดว่ามันน่าจะมีประโยชน์มากๆ พลังงานนิวเคลียร์นี่สามารถให้พลังได้อย่างมหาศาล สมมติในอนาคตน้ำมันหมด ถ่านหินหมดไป ก็สามารถใช้ทดแทนได้ แล้วมันก็อยู่ในธรรมชาติอยู่แล้ว มันก็อาจจะไม่ได้น่ากลัวอะไรขนาดนั้น”
“ถ้าแพทย์เฉพาะทางต้องจบ 6 ปีก่อน แล้วค่อยมาต่อยอดทีหลังค่ะ ส่วนอยากเรียนแพทย์เฉพาะทางด้านไหนนี่ยังไม่รู้เลยค่ะ จริงๆ ตอนแรกก็มีในใจ แต่เหมือนพอมาเรียน รุ่นพี่ก็จะบอกว่าเดี๋ยวพอขึ้นคลินิก หมายถึงช่วงปี 4 ถึงปี 6 เราก็จะค่อยๆ รู้ตัวเอง เพราะว่าจะต้องเข้าไปช่วยงานจริงในโรงพยาบาล ก็เดียวค่อยคิดอีกทีก็ได้ค่ะ”
“จริงๆ ถ้าเรียนจบแล้ว ถ้ามีโอกาสในการทำงานในวงการ ก็ยังอยากทำนะ หนูรู้สึกว่าหลังจากที่ได้ลองทำมาบ้าง ก็ชอบนะ ชอบการได้เป็นคนอื่น ได้ลองทำอะไรใหม่ๆ ที่นอกเหนือจากสิ่งที่ทำอยู่ปกติ เพราะเราได้เข้าไปทำอะไรเยอะมาก ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ และหนูรู้สึกว่า การที่เราได้เป็นที่คนอื่นรู้จัก มันมีพลังในการที่จะไปทำอย่างอื่นต่อ อย่าง… ถ้าสมมติว่าถ้าเราได้เป็นหมอในอนาคต และถ้าเรายังเป็นที่รู้จักอยู่ ก็สามารถใช้ประโยชน์จากตรงนั้นในการเผยแพร่ความรู้ให้กับคนอื่นได้ ก็เลยยังอยากทำงานในวงการไปด้วยถ้ามีโอกาส”
“ความฝันแรกเริ่มเลย ก็คือการเป็นหมอค่ะ เพราะเราเข้าวงการด้วยโอกาสที่มีคนหยิบยื่นมาให้ และด้วยโชคอะไรหลายๆ อย่างด้วย แต่ที่ฝันไว้แรกสุดก็คือการเป็นหมอนี่แหล่ะค่ะ”
“ก่อนอื่นเราต้องมีทัศนคติที่ดีต่อวิชาวิทยาศาสตร์ก่อน เพราะหลายคนพอได้ยินชื่อวิชา เช่น ฟิสิกส์ก็จะอี๋ก่อนแล้วโดยที่ยังไม่ได้เริ่มเรียนเลย จริงๆ แล้วมันเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ มันเข้าใจไม่ได้ยาก เพราะวิทยาศาสตร์มันเป็นเรื่องที่อยู่ในธรรมชาติมากๆ และหลังจากปรับทัศนคติแล้วก็ต้องตั้งใจเรียน ถ้าสมมุติใครอยากเข้าคณะแพทย์ก็ต้องตั้งใจเรียนมากๆ เพราะมันก็ต้องใช้วิทยาศาสตร์ในการสอบเข้าเยอะเหมือนกัน อยากให้ตั้งใจ อย่าเพิ่งย่อท้อให้มันค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป ถ้าใครมีความตั้งใจยังไงก็ทำได้ค่ะ ทุกคนสามารถทำได้”
“เน้นอ่านเรื่อยๆ มากกว่า เพราะตอนเราจะสอบมันมีเนื้อหาตั้งแต่ ม.4 ถึง ม.6 ซึ่งมันจะเยอะมากๆ แล้วถ้าเราจะอ่านอัดก่อนสอบมันก็ไม่น่าจะจำได้หมด เลยต้องค่อยๆ เก็บๆ เป็นเรื่องๆ ไป แล้วพอสุดท้ายค่อยมาทวนทั้งหมดอีกที อาจจะเริ่มจากสิ่งที่เราถนัดหรือบางคนก็อาจจะเริ่มจากสิ่งที่ไม่ชอบก่อน ก็แล้วแต่เทคนิคแต่ล่ะคน ก็อาจจะทำ Short Note บ้างอะไรแบบนี้ค่ะ”
“ตอนนี้ก็มีซีรี่ส์ของ The Project S Series ตอนสุดท้ายแล้ว ชื่อเรื่อง Project S The Series Shoot! I Love You ปิ้ว! ยิงปิ๊งเธอ เริ่มออกอากาศวันที่ 2 ธันวาคมนี้ อยากจะฝากให้ติดตามกันนะคะ เพราะเรื่องนี้ก็จะแตกต่างจาก 3 เรื่องก่อนหน้านี้ แล้วก็จะได้เห็นทุกๆ ตัวละครในมุมใหม่ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน อย่างตัวหนูเองก็จะได้เล่นเป็นตัวละครที่ทุกคนไม่เคยได้เห็นแน่นอน และก็เรื่องราวมันจะเป็นแนวโรแมนติก คอมเมดี้ อยากให้ฝากติดตามชม แล้วจะได้อะไรจากเรื่องนี้แน่นอนค่ะ ที่เหลือก็ขอฝากล่วงหน้าแล้วกัน ถ้ามีอะไรก็ฝากติดตามด้วยนะคะ”
จริงๆ แล้ววิทยาศาสตร์ รวมถึงพลังงานนิวเคลียร์นั้นมีอยู่ในธรรมชาติ และอยู่รอบตัวเราอยู่ตลอดเวลา เพียงแต่เราอาจจะคิดไม่ถึง และอาจจะมองไม่เห็นมัน เช่นเดียวกันกับพลังในการก้าวเดินตามความฝัน พลังในการเรียนแม้กระทั่งพลังในการทำงานนั้นที่มีอยู่ในตัวเราทุกคน แต่เราไม่ทันเห็น และไม่ได้สังเกตกับตัวเอง แต่น้องฟรัง-นรีกุล
มองเห็นพลังนั้น และลุกขึ้นไปทำมันให้เป็นความจริง
ทางทีมงาน ทราบภายหลังว่า น้องฟรังใกล้ที่จะสอบแล้วแต่ยังสละเวลามาให้สัมภาษณ์เพื่อที่จะเป็นแนวทาง และแรงบันดาลใจในการเรียนรู้วิทยาศาสตร์แก่น้องๆ เยาวชน และผู้ที่สนใจศึกษาในเรื่องวิทยาศาสตร์ ทางสถาบัน เทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) และชาวนิวเคลียร์เปลี่ยนโลก ก็ขอเป็นกำลังใจในการสอบ และจะติดตามผลงานของน้องฟรังทั้งในบทบาทของนักแสดงและในบทบาทของคุณหมอในอนาคตต่อไป
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
๙/๙ หมู่ที่ ๗ ต.ทรายมูล อ.องครักษ์ จ.นครนายก ๒๖๑๒๐ โทรศัพท์ ๐๓๗ ๓๙๒ ๙๐๑-๖ โทรสาร ๐๓๗ ๓๙๒ ๙๑๓
Thailand Institute of Nuclear Technology (Public Organization)
9/9 Moo 7 Tambol Saimoon, Amphur Ongkarak, Nakornnayok Province 26120 Tel : 037 392 901-6 Fax : 037 392 913
www.tint.or.th
Facebook Fanpage :
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Thai Nuclear Club นิวเคลียร์เปลี่ยนโลก