โดยปกติแล้วกระดูกของคนเราจะประกอบด้วยส่วนนอกที่แข็ง แน่น และส่วนในที่โปร่งคล้ายกับเส้นใยสานกัน ซึ่งทำให้กระดูกมีความแข็งแรง ขณะเดียวกันก็มีน้ำหนักเบาด้วย แต่เมื่อร่างกายสร้างเนื้อกระดูกได้น้อยลง หรือมีการสูญเสียเนื้อกระดูกไปมาก หรือเกิดขึ้นทั้งสองอย่าง จากสาเหตุต่าง ๆ กัน ก็ส่งผลให้เนื้อกระดูกนั้นโปร่ง และมีช่องว่างอยู่มากกว่าปกติ หรือที่เรียกว่า กระดูกพรุน ดังนั้น จึงมีโอกาสที่กระดูกจะเกิดการแตกหักได้ง่ายขึ้น
การวัดค่าความหนาแน่นของมวลกระดูกหรือค่า BMD (Bone Mineral Density) ทำให้สามารถประเมินความแข็งแรงของกระดูกได้ หากค่านี้ต่ำกว่ามาตรฐาน สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือ ความสูงที่ลดลง อาการเจ็บหลัง และหลังค่อม ซึ่งมันได้เกิดขึ้นแล้วมากกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ของผู้สูงอายุในประเทศสหรัฐอเมริกา ส่วนในประเทศไทยพบผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไปเป็นโรคกระดูกพรุนมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์
ความน่ากลัวของโรคกระดูกพรุนไม่ใช่เพียงแค่การมีความสูงที่ลดลง อาการเจ็บหลัง หลังค่อม หรือกระดูกหักได้ง่ายเพียงเท่านั้น เพราะกระดูกมีกระบวนการทำงานที่ซับซ้อนกว่าการเป็นโครงสร้างของร่างกาย ที่ยึดเกาะของเอ็นกล้ามเนื้อ หรือป้องกันอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกายไม่ให้ได้รับบาดเจ็บ โดยไขกระดูกซึ่งอยู่ส่วนในของกระดูกมีหน้าที่สร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด ทั้งยังเป็นแหล่งสะสมสำคัญของธาตุแคลเซียมและฟอสฟอรัสด้วย
ปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุนโดยทั่วไป เช่น อายุที่มากขึ้น ทำให้มีการสร้างมวลกระดูกน้อยลง เพศหญิงในวัยทองที่ขาดฮอร์โมนเอสโทรเจน (Estrogen) ทำให้เกิดการสลายของกระดูกได้มากกว่าเพศชาย มีประวัติครอบครัวเป็นโรคกระดูกพรุน สูบบุหรี่เป็นประจำ หรือขาดสารอาหาร แต่นอกจากปัจจัยเหล่านี้แล้ว งานวิจัยต่างประเทศก็ได้ระบุถึงความเสี่ยงของการเป็นโรคกระดูกพรุนที่เพิ่มขึ้นจากมลพิษทางอากาศด้วย
จากงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารเกี่ยวกับสุขภาพ ระบุว่า นักวิจัยพบความเกี่ยวข้องกันระหว่างความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของการแตกหักของกระดูก กับการเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยของค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศที่มีค่าเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 2.5 ไมครอน และยังระบุด้วยว่า ผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีระดับของฝุ่นละอองและผงเขม่าจากท่อไอเสียของยานพาหนะสูง จะมีระดับแคลเซียมและฮอร์โมนที่มีความสำคัญต่อการสร้างกระดูกที่ลดลง ทั้งยังแสดงให้เห็นถึงการลดลงของความหนาแน่นของมวลกระดูกเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศน้อยกว่า
อีกงานวิจัยหนึ่งเปิดเผยถึงผลวิจัยของชายวัยกลางคนจำนวน 692 คน ที่อาศัยอยู่ในเขตบอสตันซึ่งเป็้นพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศสูง พวกเขาพบว่า ชายเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะมีระดับฮอร์โมนพาราไทรอยด์ในเลือดต่ำลง นั่นส่งผลให้มวลกระดูกลดลงได้ เนื่องจากฮอร์โมนชนิดนี้เป็นฮอร์โมนที่ช่วยควบคุมระดับแคลเซียมที่เป็นวัตถุดิบสำคัญในการสร้างกระดูก
ส่วนโลหะหนักในอากาศ เช่น ตะกั่ว แคดเมียม และปรอท ที่อยู่ในอากาศ ก็สามารถเข้าไปอยู่ในกระดูกได้ผ่านการหายใจของเรา ซึ่งมันยากที่เราจะนำโลหะหนักเหล่านี้ออกไปจากกระดูกหรือร่างกาย และเมื่อพวกมันเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งภายในร่างกายของเราแล้ว มันจะมีผลกระทบต่อความเข้มข้นของวิตามินดี ซึ่งเป็นตัวช่วยควบคุมระดับแคลเซียมอีกตัวหนึ่ง และมีผลยับยั้งการทำงานของออสทีโอบลาสต์ (Osteoblasts) ที่เป็นเซลล์สร้างกระดูก และกระตุ้นออสทีโอคลาสต์ (Osteoclasts) ที่เป็นเซลล์ทำลายกระดูกด้วย
ในช่วงก่อนอายุ 30 ปี เป็นช่วงที่ร่างกายมีการเติบโตและสร้างกระดูกสูงสุด ดังนั้น เพื่อช่วยเสริมการสร้างมวลกระดูกและสงวนมวลกระดูกไว้ให้ได้มากที่สุด ก่อนที่มวลกระดูกจะมีความหนาแน่นลดลงเรื่อย ๆ จึงควรรับประทานอาหารที่มีแคลเซียม เช่น นมสด ปลาตัวเล็ก ผักใบเขียว เต้าหู้ ให้เพียงพอ ออกกำลังกายเพื่อกระตุ้นให้กระดูกแข็งแรง และหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ เพราะหากคุณตกอยู่ในภาวะกระดูกพรุน ไม่ว่าจะมาจากปัจจัยเสี่ยงใด การล้ม การกระแทก หรือแม้แต่การจาม อาจจะเป็นสาเหตุให้กระดูกถึงกับหักเลยก็เป็นได้