"ทางช้างเผือก (Milky Way)" สถานที่นัดพบของโกโบริกับอังศุมาลิน เป็นเสมือนสัญลักษณ์แห่งความรักอมตะ แต่จริง ๆ แล้วมันมีอะไรอยู่บ้าง มีลักษณะเป็นอย่างไร มีความลับที่ซ่อนอยู่มากมายบนนั้นที่รอให้เราไปหาคำตอบ
1. ทางช้างเผือกเป็นกาแล็กซี 1 ใน 1,000 ล้านกาแล็กซีในจักรวาล ซึ่งประกอบด้วย กลุ่มดาวขนาดใหญ่ แก๊ส เศษฝุ่น และสิ่งต่าง ๆ ที่มีอยู่ในอวกาศ โดยมีแรงดึงดูดระหว่างกันอยู่
2. เรามองเห็นกาแล็กซีทางช้างเผือกได้ในลักษณะเป็นเกลียวแนวขวาง เส้นของเกลียวจะโค้งและวนในลักษณะกระจายตัวออกจากศูนย์กลางคล้ายก้นหอย เราเรียกแต่ละเส้นนั้นว่า "แขน" นักดาราศาสตร์ค้นพบลักษณะการหมุนออกเป็นเกลียวในแนวขวางโดยที่ตรงกลางป่องเป็นกระพุ้งในช่วงปี 1990-1999
3. ปัจจุบันเรายังไม่สามารถถ่ายภาพของทางช้างเผือกจากมุมบนได้ เพราะโลกของเราก็อยู่บริเวณด้านข้างริมขอบของทางช้างเผือก การถ่ายจากมุมบนจึงทำได้ยาก และนั่นหมายความว่าภาพมุมบนของทางช้างเผือกที่เราเคยเห็นกันนั้นมาจากการสร้างสรรค์ของศิลปิน
4. ระบบสุริยะของเรานั้นอยู่บริเวณขอบรอบนอกของกาแล็กซีทางช้างเผือก โดยอยู่ห่างจากใจกลางของกาแล็กซีทางช้างเผือกประมาณ 28,000 ปีแสง
5. กาแล็กซีทางช้างเผือกมีเส้นผ่านศูนย์กลางขนาด 100,000-120,000 ปีแสง หากเราส่งจรวดขึ้นไปในอวกาศ ก็ต้องใช้เวลาหลายพันล้านปีเพื่อจะข้ามจากขอบหนึ่งไปยังอีกขอบหนึ่งของกาแล็กซีนี้
6. ดาวฤกษ์ที่มีขนาดใหญ่ที่อยู่ในส่วนที่เป็นเกลียวโค้งทางช้างเผือก มีการเผาไหม้เร็วกว่าและมีความสว่างจากการเผาไหม้มากกว่าดาวฤกษ์ขนาดเล็ก พวกมันจะส่องแสงสว่างกระจายไปรอบ ๆ และทำให้เรามองเห็นเป็นเกลียวของกาแล็กซีทางช้างเผือกได้ชัดเจนขึ้น
7. กาแล็กซีทางช้างเผือก ประกอบด้วยพลังงานชนิดต่าง ๆ มากมาย เช่น แสงอินฟราเรด คลื่นวิทยุ รังสีแกมมา สสารมืด และรังสีเอ็กซ์ และแสงของทางช้างเผือกที่เรามองเห็น ก็เป็นรูปแบบหนึ่งของพลังงานที่ปล่อยออกมาจากดาวฤกษ์และวัตถุอื่น ๆ บนทางช้างเผือก
8. หากเรามองขึ้นไปบนท้องฟ้าและบังเอิญได้เห็นทางช้างเผือกในเวลากลางคืน นั่นคือ เรากำลังมองเห็นดวงดาวเพียง 0.0000025% ของดวงดาวในกาแล็กซีนี้ที่มีอยู่หลายพันล้านดวง
9. เมื่อเปรียบเทียบกับกาแล็กซีที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยรู้จักมาอย่าง IC 1101 แล้ว กาแล็กซีทางช้างเผือกของเราเป็นเพียงกาแล็กซีขนาดกลาง ๆ เท่านั้น เพราะ IC 1101 มีดวงดาวอยู่มากกว่า 100 ล้านล้านดวง ขณะที่ทางช้างเผือกมีดวงดาวเพียงแค่ 100-400 พันล้านดวง
10. กาแล็กซีเล็ก ๆ 2 กาแล็กซีที่อยู่ใกล้กับทางช้างเผือกมาก ได้แก่ กาแล็กซีเมฆแมกเจลแลนใหญ่ โดยอยู่ไกลออกไปประมาณ 170,000 ปีแสง และกาแล็กซีเมฆแมกเจลแลนเล็ก โดยอยู่ไกลออกไปประมาณ 200,000 ปีแสง ซึ่งกาแล็กซีทั้งสองถูกตั้งชื่อตามเฟอร์ดินานด์ แมกเจลแลน นักเดินเรือคนแรกที่เดินทางไปรอบโลก
11. นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่า ทางช้างเผือกเป็นหนึ่งในกาแล็กซีที่เก่าแก่ที่สุดในจักรวาล โดยประเมินจากอายุของกาแล็กซี คือ 13.6 พันล้านปี กับการเกิดบิ๊กแบงที่เกิดขึ้นเมื่อ 13.7 พันล้านปีมาแล้ว
12. ดวงดาวที่เก่าแก่ที่สุดในทางช้างเผือก มีอายุอย่างน้อย 13.6 พันล้านปี และน่าจะเกิดขึ้นหลังจากที่เกิดบิ๊กแบง (Big Bang) เพียงไม่นาน
13. ใจกลางของทางช้างทางเผือก ประกอบด้วยแรงโน้มถ่วงที่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเป็นหลุมดำ (Black Hole) มันมีชื่อว่า Sagittarius A โดยนักดาราศาสตร์เชื่อว่าหลุมดำนี้มีน้ำหนักประมาณ 4 ล้านเท่าของดวงอาทิตย์
14. หากโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ด้วยความเร็วเท่ากับที่ดาวฤกษ์โคจรรอบใจกลางทางช้างเผือก โลกของเราจะใช้เวลาโคจรรอบดวงอาทิตย์เพียง 3 วันเท่านั้น แทนที่จะเป็น 365 วัน
15. เดโมคริตุส นักปราชญ์ชาวกรีกโบราณ ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วงประมาณ 460 ถึง 370 ปีก่อนคริสตกาล เป็นคนแรกที่ทราบว่า ทางช้างเผือกประกอบไปด้วยดาวฤกษ์ ส่วนกาลิเลโอ กาลิเลอี นักวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และดาราศาสตร์ ชาวอิตาลี เป็นคนแรกที่พบว่า แถบแสงที่ส่องสว่างออกมาจากแขนของทางช้างเผือกนั้น มาจากดาวฤกษ์แต่ละดวง
16. ระบบสุริยะของเราโคจรรอบใจกลางทางช้างเผือกด้วยความเร็วประมาณ 827,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และต้องใช้เวลานานถึง 250 ล้านปีในการเดินทางรอบใจกลางของทางช้างเผือก
17. แม้ว่าทางช้างเผือกสูญเสียดาวฤกษ์ไปจากการเกิดซูเปอร์โนวา (Supernovae) หรือกระบวนการระเบิดของดาวฤกษ์ที่สิ้นอายุขัย แต่มันก็เกิดดาวฤกษ์ดวงใหม่ ๆ ขึ้นมาประมาณ 7 ดวงต่อปีเช่นกัน
ภาพปก : Shutterstock