เราสามารถแบ่งพืชชั้นสูงเหล่านี้ต่อโดยการจำแนกจากใบเลี้ยง ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ 1. พืชใบเลี้ยงเดี่ยว (Monocotyledon) 2. พืชใบเลี้ยงคู่ (Dicotyledon)
โดยใบเลี้ยงของพืชนี้จะทำหน้าที่สะสมอาหารเพื่อเลี้ยงต้นอ่อนขณะงอก และเป็นส่วนที่งอกออกมาจากเมล็ดตามหลังราก หรืออาจจะพร้อม ๆ กันกับราก ใบเลี้ยงเดี่ยวของพืชบางชนิดยังมาพร้อมกับคลอโรฟิลล์ตั้งแต่เริ่มทำให้มันสามารถเริ่มการสังเคราะห์ด้วยแสง เตรียมเป็นพลังงานให้กับต้นพืชได้เติบโต แต่เมื่อสารอาหารที่สะสมอยู่ในใบหมดไป และต้นโตพอที่จะมีใบแท้ (Foliage leaf) ออกมาแล้ว ใบเลี้ยงก็จะเริ่มแห้งเหี่ยวหลุดไปในที่สุด
ประเภทของพืชจำแนกจากใบเลี้ยง
พืชใบเลี้ยงเดี่ยว คือ พืชที่เมื่อใบแรกแทงออกมาจากเมล็ด มีใบเดียว และเมื่อเติบโตขึ้นจะเห็นลำต้นเป็นข้อปล้องอย่างชัดเจน ได้แก่ พืชจำพวกหญ้า ข้าว ข้าวโพด อ้อย ไผ่ พืชเหล่านี้จะมีใบเรียงตัวเป็นเลขคี่หรือใบเดียว เส้นบนใบจะเรียงตัวแบบขนานไปตามแนวยาวของใบ ลำต้นมักเรียว และเป็นพืชล้มลุกเป็นส่วนมาก พืชในกลุ่มนี้มีระบบรากฝอย แน่นอนว่าพวกมันมีดอก และจำนวนกลีบดอกของพืชกลุ่มนี้จะมี 3 กลีบหรือทวีคูณของ 3
พืชใบเลี้ยงเดี่ยวมีมัดท่อลำเลียงแบบกระจัดกระจาย นั่นแปลว่า หากนำต้นพืชมาตัดขวางจะเห็นท่อลำเลียงกระจายไปทั่ว ที่สำคัญคือ พืชใบเลี้ยงเดี่ยวไม่มีการเจริญออกด้านข้าง กล่าวคือ ไม่มีกิ่งก้านสาขาออกด้านข้าง อายุของพืชกลุ่มนี้จะสั้นอาจมีอายุเพียง 1 ปีหรือมากกว่านั้นเล็กน้อย อย่างไรก็ดี พืชกลุ่มนี้โตได้ไวกว่าพืชใบเลี้ยงคู่มาก หากเป็นพืชกลุ่มการเกษตรก็จะเป็นกลุ่มที่ให้ผลผลิตได้รวดเร็ว เช่น อ้อย ข้าวโพด ข้าว ซึ่งใช้เวลาไม่ถึง 1 ปีก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้แล้ว
พืชใบเลี้ยงคู่จะงอกออกจากเมล็ดพร้อมกับใบเลี้ยง 2 ใบ และเมื่อเจริญเติบโตเต็มที่แล้วจะเห็นข้อและปล้องในส่วนของลำต้นไม่ชัดเจน เนื่องจากมันมักจะมีเปลือกแข็งห่อหุ้ม และยังมีการเจริญเติบโตออกด้านข้าง มีกิ่งก้านสาขา แผ่ทุกทิศทางเพื่อเก็บเกี่ยวแสงแดดได้มากกว่า รากของพืชใบเลี้ยงคู่เป็นระบบรากแก้ว และนั่นทำให้ต้นของพืชใบเลี้ยงคู่มีความมั่นคงมากกว่า ทั้งยังมีอายุยาวนานกว่าพืชใบเลี้ยงเดี่ยวด้วย
แกนกลางของลำต้นพืชกลุ่มนี้จะไม่มีท่อลำเลียง แต่จะเป็นเนื้อไม้ซึ่งมีความแข็งแรงคงทน ส่วนท่อลำเลียงจะจัดเรียงเป็นวงอย่างมีระเบียบอยู่รอบลำต้น ส่วนใบของพืชกลุ่มนี้มีลักษณะกว้าง มีการแตกแขนงเป็นร่างแหออกจากแกนกลางของใบ จำนวนของกลีบดอกจะมี 4 - 5 กลีบ หรือทวีคูณของ 4 - 5 หากปลูกพืชใบเลี้ยงคู่เพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิต ส่วนใหญ่มักต้องใช้เวลา นานกว่าพืชใบเลี้ยงเดี่ยวถึงจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ทั้งนี้ยังมีความแตกต่างกันอีกมากระหว่างพืชใบเลี้ยงเดี่ยวและใบเลี้ยงคู่ อย่างเช่น ลักษณะโครงสร้างของเกสร หรือปากใบ (Stomata) แต่มันยากที่จะสังเกตเห็นชัดด้วยตาเปล่า
นอกจากใบเลี้ยงและใบแท้ที่กล่าวไปในข้างต้น พืชยังมีใบชนิดอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นตามหน้าที่และตำแหน่งจำเพาะของมัน ใบแท้เองก็สามารถแบ่งได้อีก 2 แบบด้วยกัน คือ ใบเดี่ยว (Simple leaf) ซึ่งเป็นใบที่ติดกับก้านใบเดี่ยวๆ โดยงอกออกมาจากลำต้น และใบประกอบ (Compound leaf) ซึ่งประกอบด้วยใบมากกว่า 2 ใบขึ้นไปและมักเข้าคู่กันอย่างสมมาตร หากไม่นับใบที่ปลายก้านใบ ใบทั้งหมดนี้จะติดอยู่กับก้านใบเพียงก้านเดียว
ใบบางประเภทก็มีการปรับเปลี่ยนให้ทำหน้าที่อื่นๆ เช่น เพื่อการสะสมอาหาร เรียกว่า Storage leaf และใบเลี้ยงเองก็จัดอยู่ในกลุ่มนี้ ใบดอก ซึ่งเป็นใบที่ได้รับสิทธิพิเศษในการเปลี่ยนสีเพื่อประโยชน์ในการดึงดูดแมลงเพื่อมาผสมพันธุ์ เนื่องจากกลีบดอกอาจจะมีขนาดเล็กไม่สะดุดตา พืชจึงปรับมาใช้ใบเข้าช่วย เช่น เฟื่องฟ้า หรืออาจเปลี่ยนเป็นเกราะป้องกันอย่างต้นเหงือกปลาหมอซึ่งเปลี่ยนใบกลายเป็นหนาม เป็นต้น