Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

โรคหัวใจสลาย (Broken heart syndrome)

Posted By sanomaru | 18 พ.ย. 60
10,415 Views

  Favorite

รู้หรือไม่ แค่อกหักอาจทำให้คุณถึงตายได้เลยทีเดียว

ความรู้สึกเเสียใจ อยากร้องไห้ ซึมเศร้า ผิดหวัง และเครียดโดยไม่รู้ตัว จากการอกหัก เป็นความรู้สึกด้านลบที่นำไปสู่โรคหัวใจได้ แต่ไม่เพียงเท่านั้น เพราะแม้แต่การสูญเสียพ่อแม่ ญาติพี่น้อง หรือภาวะใดก็ตามที่ทำให้คุณตกอยู่ในความทุกข์ที่รุนแรง ก็นำไปสู่โรคหัวใจได้ด้วยเช่นกัน

 

 

ความสูญเสียเป็นเรื่องน่ากลัว โดยเฉพาะการสูญเสียคนที่เรารัก มันนำมาซึ่ง "โรคหัวใจสลาย" ซึ่งนี่ไม่ใช่เพียงคำเรียกอาการของคนอกหักหรือสูญเสียคนรักไปเท่านั้น แต่มันคือโรคและอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นจริงภายในร่างกายของเรา โดยหลังประสบกับเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจอย่างรุนแรง ร่างกายจะตอบสนองความเครียดทางจิตใจนั้นด้วยการหลั่งฮอร์โมนความเครียด เช่น อีพิเนฟริน (Epinephrine) นอร์อีพิเนฟริน (Norepinephrine) และโดพามีน (Dopamine) เข้าสู่กระแสเลือด ส่งผลให้หลอดเลือดหัวใจเกร็ง และกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแอลงได้ หัวใจห้องล่างซ้ายที่ทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายทำงานได้ลดลง ทำให้ไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ได้เพียงพอต่อความต้องการของอวัยวะนั้น ๆ และนำไปสู่การเสียชีวิตในที่สุด

ภาพ : Shutterstock

 

ทางการแพทย์ โรคหัวใจสลาย (Broken heart syndrome) อาจเรียกว่า โรคหัวใจจากความเครียด (Stress induced cardiomyopathy) หรือในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า Takotsubo cardiomyopathy (มาจากชื่อเครื่องมือจับปลาหมึกของชาวญี่ปุ่น) พบในคนเอเชีย 8% และคนยุโรป 1.5% โดยใครก็สามารถเป็นโรคนี้ได้แม้จะไม่มีประวัติการเป็นโรคหัวใจมาก่อนเลยก็ตาม เพียงแต่ผู้หญิงมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจสลายมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะในผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนที่มีบทบาทต่อการต่อสู้กับฮอร์โมนความเครียดและปกป้องหลอดเลือดหัวใจมีแนวโน้มลดลงตามอายุ

 

อาการของโรคหัวใจสลายนั้นคล้ายกับอาการหัวใจวายทั่วไป คือ หายใจสั้น ๆ เจ็บหน้าอก ซึ่งในโรคหัวใจวาย อาการดังกล่าวอาจเกิดจากการที่ลิ่มเลือดจับตัวภายในหลอดเลือด แต่สำหรับโรคหัวใจสลายนั้น ไม่ได้มีการสะสมของลิ่มเลือด แต่เกิดจากการที่กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง ความน่ากลัวของโรคหัวใจสลายคือ มันสามารถนำไปสู่กล้ามเนื้อหัวใจล้มเหลวได้ และหากตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หรือ EKG จะไม่พบลักษณะที่บ่งชี้เหมือนกับโรคหัวใจวาย ส่วนค่าเลือดก็ไม่แสดงให้เห็นสัญญาณใด ๆ

 

อย่างไรก็ตาม เรายังใจชื้นได้บ้าง เพราะโรคหัวใจสลายสามารถรักษาได้ และคนส่วนใหญ่ที่มีประสบการณ์แบบนี้ก็สามารถหายได้ในไม่กี่สัปดาห์ อีกทั้งยังมีความเสี่ยงน้อยที่จะเป็นอีกครั้ง เมื่อเปรียบเทียบกับโรคหัวใจวายที่ต้องใช้เวลาในการรักษาเป็นเดือนหรือนานกว่านั้น สิ่งสำคัญคือ การรักษาอารมณ์ให้เป็นปกติ และหากพบว่ามีอาการผิดปกติเกิดขึ้นในร่างกาย เช่น หายใจถี่เมื่อรู้สึกเครียด หรือหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ก็ควรปรึกษาแพทย์ทันที

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • sanomaru
  • 17 Followers
  • Follow