โดยแบ่งเป็น Challenger Class 15 ทีม Cruiser Class 8 ทีม และ Adventure Class 15 ทีม ซึ่งตลอด 6 วันของการแข่งขันในประเภท Cruiser Class ก็ได้แสดงศักยภาพของรถพลังงานแสงอาทิตย์สุดเจ๋งให้ประจักษ์ต่อชาวโลกแล้วว่า ไม่แพ้ชาติใดจริง ๆ
จากปี 2015 ที่เคยเข้าแข่งขันแต่ไม่ได้รับรางวัลอะไรกลับมา จึงได้นำความรู้และประสบการณ์จากครั้งนั้นนำมาพัฒนารถโซล่าเซลล์เพื่อที่จะนำรถ STC-2 นิโคล่า ไปแข่งขันในปี 2017 ในทีมประกอบด้วยนักศึกษา 13 คน และอาจารย์ 8 คน รวม 21 คน ร่วมกันทำงานอย่างหนักตลอดการแข่งขัน ซึ่งนักศึกษาทั้ง 13 คน ได้แบ่งหน้าที่ในการแข่งขันไว้อย่างชัดเจน ตั้งแต่เรื่องระบบขับเคลื่อน ช่วงล่าง เครื่องกล ระบบไฟฟ้า ส่วนซ่อมแซม และหน่วยพยาบาล ทุกคนทำงานเป็นทีม ทุ่มเท พยายามจึงสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศในประเภท Cruiser Class รถต้นแบบในอนาคตได้สำเร็จ
รถจะขับเคลื่อนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ มีแบตเตอรี่เก็บประจุพลังงานสำรอง นำไฟส่วนหนึ่งที่ผลิตได้จากแผงโซล่าเซลล์เอามาใช้ในการขับเคลื่อนมอเตอร์ ตัวแทนทีม สายฟ้า ศรีสหกิจ เล่าว่า “เราต้องจัดการเรื่องพลังงานให้ดี เพราะบางทีแดดไม่ได้มีทุกวัน อย่างตอนแข่งขันคือทั้งฝนตก แดดไม่ออก เราก็ต้องใช้พลังงานที่เก็บไว้ในแบตเตอรี่ออกมาใช้ ถ้าวันนี้แดดออกแรงก็สามารถที่จะสปีดความเร็วรถให้สูงขึ้นได้ แต่ถ้าเกิดอีกสองชั่วโมงแดดจะไม่มีแล้วก็ต้องลดการใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ เพื่อที่จะสำรองเอาไว้ตอนที่ไม่มีแดด”
อยู่ที่รูปทรงที่ไม่เหมือนประเทศอื่น รถ STC-2 คันนี้สามารถเปิดด้านหน้า ด้านหลัง เปิดเป็นปีกนกได้ แล้วชิ้นส่วนของรถทำเองกับมือทุกชิ้น สร้างความท้าทายให้กับทีมอย่างมาก นอกจากนี้ความท้าทายที่ถือเป็นอุปสรรคใหญ่เลยคืออากาศแต่ละเมืองที่ผ่าน หนาวมาก ร้อนมาก และต้องเจอกับปัญหารถเทรลเลอร์ ที่ไว้ใช้สำหรับลากรถโซล่าเซลล์เวลาเกิดอุบัติเหตุ ดันเสียล้อหลุด น็อตขัด ตามกฎกติกาแล้วลำดับการขับของแต่ละทีมจะประกอบด้วย รถนำหน้า รถโซล่าเซลล์ รถปิดท้าย รถลาก แล้วก็รถขนสัมภาระ แต่ถ้าไม่มีรถลากตามไปด้วย รถโซล่าเซลล์จะไปไม่ได้ ทางทีมจึงต้องทำการซ่อม รื้อชิ้นส่วนออก หาอะไหล่แทน เพื่อให้รถขับต่อไปได้
สายฟ้า ตัวแทนทีม เล่าภาพความประทับใจว่า “ในระหว่างการแข่งขันคนไทยที่นั่นรู้ข่าวก็มาเชียร์ตลอด ตอนเข้าเส้นชัยก็มีคนไทยให้การต้อนรับ ดีใจมากครับ เพราะเราเจอปัญหา อุปสรรค แต่สุดท้ายทีมเราทำสำเร็จ เป็นการทดสอบที่ยิ่งใหญ่มาก ทีมคนไทยที่ไปให้กำลังใจก็น่ารักครับ มาตำส้มตำให้พวกเรากินเหมือนให้รางวัลกับเรา และสิ่งที่ได้จากการแข่งขันคือ ได้เรียนรู้เทคโนโลยีแต่ละประเทศ ได้มิตรภาพจากทีมอื่นและทีมตัวเอง ได้แลกเปลี่ยนความรู้กัน ผมเข้าใจคำนี้เลยครับ “เด็กไทยถ้าทำอะไรก็ไม่แพ้ชาติใดในโลก”
จุดสตาร์ทอยู่ที่เมือง Darwin รถคันแรกที่ออกจากจุดสตาร์ทเวลา 8.30 น. ตามเวลาท้องถิ่นที่ออสเตรเลีย
วันแรก ออกจากเมือง Darwin ถึงเมือง Pine Creek เดินทางได้ 225 กิโลเมตร
วันที่สอง ออกจากเมือง Pine Creek ถึงเมือง Elliott เดินทางได้ 510 กิโลเมตร
วันที่สาม ออกจากเมือง Elliott ถึงเมือง Anmatijere เดินทางได้ 568 กิโลเมตร
วันที่สี่ ออกจากเมือง Anmatijere ถึงเมือง Marla เดินทางได้ 648 กิโลเมตร
วันที่ห้า ออกจากเมือง Marla ถึงเมือง Port Augusta เดินทางได้ 775 กิโลเมตร
วันที่หก ออกจากเมือง Port Augusta ถึงเมือง Adelaide เดินทางได้ 296 กิโลเมตร
รวมระยะทางทั้งหมด 3,022 กิโลเมตร
เรื่อง : วรรณวิสา สุภีโส