Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

The Idol : พีช-พันดนัย สมาร์ทฟาร์มเมอร์เนื้อหอมแห่งฟาร์ม Coro Field

Posted By Plook Magazine | 13 พ.ย. 60
7,771 Views

  Favorite


“เคยไปหรือยังครับ” คือคำถามของคุณพีช-พันดนัย สถาวรมณี เจ้าของ Coro Field (ทำฟาร์มร่วมกับพี่ชาย) ที่ทำให้เรารู้สึกอายที่ยังไม่มีโอกาสได้ไป Coro Field แหล่งท่องเที่ยว Lifestyle Farming ที่ราชบุรีด้วยตัวเอง บนเนื้อที่ 104 ไร่ มีทั้งเมลอนผิวเหลืองทอง มะเขือเทศสีแดงสด และผักออร์แกนิกน่ากิน เราคุยกับเขาตั้งแต่เรื่องศาสนาไปจนถึงการเลือกใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำธุรกิจเกษตรที่กำลังจะเป็นอนาคตของเกษตรกรไทย และการที่บทสัมภาษณ์นี้ใช้คำว่า ‘เค้า’ ทั้งที่ไม่เคยใช้มาก่อนก็ไม่ได้จะมาโชว์ภาษาวิบัตินะ เพราะคำตอบน่ารัก ๆ อยู่ข้างล่างนี้แล้ว 

 

 

พีช-พันดนัย สถาวรมณี

 

 

คุณโตมาในครอบครัวแบบไหน 

คุณพ่อผมเป็นพุทธแต้จิ๋วที่สนใจเรื่องการทำธุรกิจ ส่วนคุณแม่เป็นคริสเตียนที่นับถือเรื่องการให้อภัย การรักใครแบบไม่มีเงื่อนไข ซึ่งจะเคร่งมากทั้งคู่ ผมกับพี่น้องอีก 3 คนก็จะหาจุดร่วมของทั้งพ่อและแม่ ซึ่งเราได้ส่วนนั้นมาทั้งหมดทั้งด้านการทำธุรกิจ และความรัก ความเข้าใจ มันเลยส่งต่อมาที่การทำธุรกิจของเรา   
 
 

ทำธุรกิจกับพี่น้องไม่กลัวแตกคอกันเหรอ

ด้วยความที่เราปฏิบัติธรรมมาด้วยกัน มันจึงทำให้เวลาที่เราทำงานด้วยกัน เราไม่เถียงกันเอาเป็นเอาตายเพราะเราศีลเสมอกัน และถึงแม้ว่าจะมีความเป็นผู้นำด้วยกันทั้งคู่ แต่ในการทำงาน เราจะตกลงกันชัดเจนว่าเรื่องไหนใครจะเป็นคนที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จที่สุด แต่ลึก ๆ ผมจะรู้อยู่แล้วว่าพี่ชายเป็นคนดูแลหลัก ๆ เพราะเขาทำ Full Time มากกว่า ดังนั้นพอถึงจุดหนึ่ง ผมจะรู้ได้เองว่าต้องมีคนที่ถอยนะ ซึ่งผมเป็นน้อง ผมจะถอยบ่อยกว่า    
 

 

เห็นด้วยไหมที่เขาบอกว่าทำธุรกิจต้องใช้ทั้งสมองและหัวใจ

เห็นด้วยครับ เพราะการทำฟาร์มเมลอนเริ่มด้วยหัวใจก่อน เพราะตอนที่พี่ชายผมทำธุรกิจปุ๋ยอยู่ วันหนึ่งเขาไปบวชและเดินบิณฑบาตจากญาติโยม ชาวบ้านเขาใส่บาตรเป็นข้าวเหนียวก้อนเล็ก ๆ เพราะเขาไม่มีตังค์ เหตุการณ์นั้นทำให้พี่ชายผมคิดได้ว่า นี่เขาต้องมาทำธุรกิจเพื่อเอาเงินกับคนแบบนี้เหรอ เราจึงปรับแผนธุรกิจใหม่ เราจะทำอะไรที่ส่งเสริมเกษตรกรด้วย
 
 

ทำไมถึงอินกับเมลอน ทำไมไม่เป็นพืชเศรษฐกิจไทย

เราเลือกเมลอนเพราะเค้าเป็นพืชที่ชาเลนจ์ที่สุด ณ ตอนนั้นครับ พูดง่าย ๆ คือ ถ้าเราปลูกเมลอนได้ เราจะปลูกอะไรก็ได้ การปลูกเมลอนไม่เหมือนการปลูกมะเขือเทศ ถ้าพลาดแค่กิ่งเดียวก็ตัดทิ้งเลย เพราะถ้าเมลอนต้นไหนติดเชื้อ ตกเกรด ผิวไม่สวยเราก็ต้องทิ้งทั้งต้น เราจะคัดเฉพาะเมลอนที่ทั้งหวาน หอม และผิวสวยที่สุด ซึ่ง 3 เดือนจะได้แค่ 1 ลูกเท่านั้น 
 
 

ถามได้ไหมว่าทำไมถึงเรียกเมลอนว่า ‘เค้า’ ตลอดเลย 

(หัวเราะ) พี่ผมเป็นคนตั้งกฎนี้ขึ้นมาคือ ห้ามเรียกต้นไม้ว่า ‘มัน’ ให้เรียกว่า ‘เค้า’ เพราะถ้าเราไม่เห็นคุณค่าว่าต้นไม้เป็นสิ่งมีชีวิตเหมือนเรา เขาจะเริ่มไม่ให้เกียรติและการดูแลจะต่างกันเลยนะครับ อีกอย่างเราเป็นสถานที่ท่องเที่ยวด้วย มีเด็กเข้ามาตลอด การเรียกต้นไม้ว่า มัน ผมว่าดูไม่เป็นมิตรเท่าไหร่ 
 
 

ทำไมถึงเลือกไปทำฟาร์มบนพื้นที่ที่แห้งแล้ง แม้แต่จะปลูกหญ้ายังยาก 

เราอยากพิสูจน์ครับว่า ถ้าเราตั้งใจจริง เราจะปลูกอะไรก็ได้ ซึ่งเรามีที่อยู่ที่ราชบุรีอยู่แล้ว แต่ที่ตรงนั้นมันดันปลูกอะไรไม่ค่อยขึ้นเพราะหินมันร้อน ดินไม่ดี แต่เราค่อย ๆ ปรับมาเรื่อย ๆ ศึกษาอยู่ 3 ปี ไปดูงานที่อิสราเอล เนเธอร์แลนด์ และฟาร์มทั่ว ๆ ไปที่เราไปซื้อของ ซึ่งเราก็ได้ไปคุยกับเจ้าของเขาด้วยจนรู้ว่าควรใช้เทคโนโลยีตัวไหนมาช่วย   
  
 

Coro Field ใช้เทคโนโลยีทางการเกษตรอะไรบ้าง 

เราใช้โรงเรือนเป็นอย่างแรก มีหุ่นยนต์ชื่อว่า Coro Brain ทำหน้าที่เป็นสมองของฟาร์ม เป็นตัวควบคุมฟาร์มทั้งหมด สั่งการอัตโนมัติ คอยวัดอุณหภูมิให้พืช เมื่อลมพัดแรง Coro Brain ก็จะสั่งให้ม่านลงมา ร้อนมากก็จะสั่งสเปรย์น้ำ ตรงไหนมีพืชติดเชื้อจะช่วยเตือน ซึ่งมันช่วยได้มากครับ เพราะฟาร์มเรามีพื้นที่ 104 ไร่ แต่ใช้คนงานแค่ 7 คนเท่านั้นเอง 
 
 

แล้วมีอะไรบ้างที่เทคโนโลยีทำไม่ได้

ความเอาใจใส่นะ เพราะแม้คอมพิวเตอร์จะรู้ว่าตรงไหนติดเชื้อ แต่มันไม่สามารถก้มลงไปตัดใบเหลือง ๆ ที่ติดเชื้อให้เราได้ ดังนั้นเราจึงให้แต่ละแถวของพืชมีแม่คอยดูเเล ถ้าเกิดคนในแถว ไม่รักลูกตัวเอง ไม่ใส่ใจลูกตัวเอง ดูแลแค่ผ่าน ๆ เชื้อก็จะลามไปติดแถวอื่น ๆ เพราะฉะนั้นคนที่ดูแลก็สำคัญไม่แพ้เทคโนโลยี 
 
 

ทำไมที่ฟาร์มเปิดเพลงคลาสสิกตอนรดน้ำต้นไม้ด้วยมันช่วยเรื่องอะไร

คือมีคนทำวิจัยเอาไว้ว่า พวกเพลงคลาสสิกเวลาที่เราเปิดไปพร้อมกับรดน้ำ มันจะสามารถส่งพลังงานเข้าไปทำให้น้ำเกิดการสั่นสะเทือน กลายเป็นเกล็ดที่สวยงามหรือเป็นโมเลกุลที่สวย เหมือนเวลาพระสวดคำว่าโอมครับ แรงสั่นจะทำให้บทสวดเพราะขึ้น แต่ที่ผมไม่อยากเรียกว่าเป็นเทคโนโลยี เพราะคิดว่ามันเป็นศิลปะมากกว่า
 
 
 
พีช-พันดนัย สถาวรมณี

 


อยากให้แนะนำคนที่กลัวการใช้เทคโนโลยีสั้น ๆ 

เดี๋ยวนี้เขาจะมีแอปพลิเคชัน เรื่องของการทำฟาร์มให้ลองใช้ฟรี ระบบเซนเซอร์จ่ายรายปีไม่แพงมาก ถ้าไม่เคยทำธุรกิจมาก่อนให้เริ่มจากเล็ก ๆ เดี๋ยวนี้ก็มีเว็บไซต์ให้ทดลองไอเดียเยอะ ถ้าเรามี passion แล้ว ก็หาโมเดลที่มันเหมาะมาทำ ซื้อโรงเรือนเล็ก ๆ มาใช้ก่อนแล้วค่อยขยับขยาย เพราะข้อดีของเทคโนโลยีคือ มันเพิ่มประสิทธิภาพและความแม่นยำ แต่ก็ยังมีราคาสูงอยู่ครับ
 
 

ก่อนเปิดฟาร์มวันแรก กลัวคนไม่เข้าใจสิ่งที่ทำไหม 

กลัวซิครับ คืนก่อนเปิดร้าน ผมนั่งคุยกับพี่ชายจนถึงตี 3 เพราะด้วยความที่เราเลือกเอากิจกรรมนำรูปลักษณ์ ให้คนที่มาที่นี่ลงมือทำ เช่น ปลูกผักแล้วเอาผักไปบริจาค ทำ GIY ต้นไม้ ทัวร์โรงเรือน เก็บมะเขือเทศ ถ้าคุณไม่ทำ คุณก็จะไม่ได้อะไรเลย มันยังใหม่อยู่สำหรับเมืองไทย ผมกับพี่ชายก็กลัวเขาไม่อิน แต่หลังจากเปิดได้ 2 เดือนแรก มีลูกค้าเข้ามาเกือบวันละ 2,000-3,000 คน ซึ่งเราเสิร์ฟอาหารกันไม่ทันเลยครับ หน้าที่ของผมกับพี่ชายคือเดินขอโทษตามโต๊ะ และพัฒนาให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ    

 

มีวิธีเทรนพนักงานอย่างไรไม่ให้หน้าเหวี่ยงวีน 

เมื่อก่อนก็มีเหวี่ยงอยู่นะครับ แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว เราจะดูตั้งแต่ตอนที่เขามานั่งรอสัมภาษณ์งานว่าเขาเฟรนด์ลี่กับคนที่มาสมัครด้วยกันไหม เพราะถึงแม้เราจะมีทีม HR กับ Supervisor ที่ดีมาเทรนให้เขา แต่เราก็ต้องอาศัยนิสัยใจคอพื้นฐานของเขาประกอบด้วย แรก ๆ ผมต้องลงไปทำให้เขาเห็น เก็บขยะ กวาดพื้น ยกจานไปล้างเอง ยิ้มแย้มแจ่มใส ให้เขาคิดว่า Coro Field คือบ้านของเขา เขาไม่ได้มาเป็นลูกจ้างเรา แต่เป็นพาร์ทเนอร์คนหนึ่งของเรา ผมว่า Mindset ของเจ้าของที่มีต่อลูกน้องก็สำคัญครับ   
 
 
 
พีช-พันดนัย สถาวรมณี

 

รู้สึกอย่างไรที่ Coro Field ติด Top 5 ร้านอาหาร Healthy ของโลกเรื่องดีไซน์

เรารู้สึกว่าได้สร้าง Impact ที่ดีให้กับประเทศแล้ว เพราะของไทยที่ติดอีกที่หนึ่งคือ ไร่ชาฉุยฟง แต่เรากลับไม่ได้รู้สึกว่าร้านเราดีกว่าใครนะ เพราะวันหนึ่งเมื่อเราคิดว่าใหญ่กว่าคนอื่น ดีกว่าคนอื่น เราจะหยุดพัฒนา อย่างไร่ชาฉุยฟงเราก็ไม่ได้คิดว่าเขาเป็นคู่แข่ง เรายังพูดกับพี่ชายอยู่เลยว่า “ดีจัง เมืองไทยเราติดตั้ง 2 ที่”
 
 
 

“เราไม่ได้คิดว่าร้านเราดีกว่าใคร เพราะวันหนึ่งเมื่อคิดว่าเราดีกว่า เราจะหยุดพัฒนา”  
 

 

 

ตัวชี้วัดความสำเร็จของ Coro Field คืออะไร

ความสุขของคนที่มาครับ อย่างที่รู้ว่าเราไม่เก็บค่าเข้าชมเลย เพราะคิดว่าถ้าเราอยากสร้างแรงบันดาลใจที่ดีให้กับคนที่เข้ามา ก็ไม่ควรเก็บเงินค่าแรงบันดาลใจ ถ้าลูกค้าแฮปปี้ยอดขายที่ดีจะตามมาเอง เเต่เราจะไม่เอายอดขายมานำหน้าความสุขของลูกค้าเท่านั้นเอง 
 
 

“เราไม่ควรเก็บเงินค่าแรงบันดาลใจ ถ้าลูกค้าแฮปปี้ยอดขายที่ดีจะตามมาเอง”

 

 

ถอดบทเรียนสัก 3 บทเรียนของตัวเองที่คิดว่ามีประโยชน์ต่อคนอื่น  

หนึ่งเลยก็คือ อ่อนน้อมถ่อมตนเข้าไว้ครับ อย่าคิดว่าตัวเองเก่ง สองคือ อย่าทำธุรกิจสนอง passion ตัวเองจนลืมรายได้ เพราะเราต้องมีรายได้ที่เหมาะสมตอบแทนทั้งตัวเองและลูกน้อง สามคือ มีความกล้าครับ เพราะผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่า Coro Field จะเกิดขึ้นได้ไหมถ้าตอนนั้นผมกับพี่ชายไม่มีความกล้า   
 

 

ความสุขทุกวันนี้คืออะไร  

Enjoy Your Treasures ผมว่าผมมีความสุขที่ได้มีอิสระในการเป็นตัวเองในปัจจุบัน เพราะเมื่อก่อนผมทำงานด้านหุ้น อยู่กับคอมพิวเตอร์ 10 จอ ทุกวันจะคิดถึงแต่อนาคต เร่งใช้ชีวิตจนลืมสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ไม่มีความสุขกับปัจจุบัน จนลืมไปว่าสุดท้ายถ้าเราไม่ได้อยู่กับปัจจุบันเราก็แทบจะไม่มีชีวิตเลยนะ
 

 
 
พีช-พันดนัย สถาวรมณี

 

“ให้พนักงานคิดว่า Coro Field คือบ้านของเขา ไม่ได้มาเป็นลูกจ้างแต่เป็นพาร์ทเนอร์คนหนึ่งของเรา
ผมว่า mindset ของเจ้าของที่มีต่อลูกน้องนั้นสำคัญครับ” 

 
 
เรื่อง : วัลญา นิ่มนวลศรี
ภาพ : ประวีร์ จันทร์ส่งเสริม
เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow