-- ในโลกสังคมออนไลน์ โซเชียลมีเดียทุกวันนี้ เต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสารมากมาย จะมีกรรมวิธีการคัดกรองข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้อย่างไร ?
เพราะวัฒนธรรมของไทยปัจจุบันเป็นวัฒนธรรมความเชื่อคือ ฟังแล้วเชื่อทำตาม วัฒนธรรมแสดงความรู้สึก วัฒนธรรมนินทา เราจึงควรใช้หลัก “กาลามสูตร” เป็นหลักยึดในการรับฟังข้อมูลข่าวสาร เช่น
1) อย่าเพิ่งเชื่อถือ ในการได้ยินได้ฟังตาม ๆ กันมา นั่นคือ ข่าวลือ “เขาว่า ๆๆ”
2) อย่าเพิ่งเชื่อถือ ด้วยการถือตามถ้อยคำสืบ ๆ กันมา เช่น ลักษณะประเพณีที่สืบทอดกันมาโดยไม่มีเหตุผลรองรับ
3) อย่าเพิ่งเชื่อ ด้วยการตื่นข่าว ข่าวลือต่าง ๆ
4) อย่าเพิ่งเชื่อถือ ด้วยการอ้างตำรา เพราะบางตำรามีวาระซ่อนเร้น หรืออาจจะมีกลยุทธทางการตลาดแอบแฝง
5) อย่าเพิ่งเชื่อถือ ด้วยตรรกะเหตุผล เพราะบางตรรกะอาจจะสมเหตุสมผลแต่ไม่สมจริง โดยเฉพาะลัทธิหรืออุดมการณ์ต่าง ๆ ที่จะอ้างเหตุผลโดยมีการแอบแฝง
6) อย่าเพิ่งเชื่อถือ ด้วยการคาดคะเน หรือการอนุมาน นั่นคือรู้สึกว่ามีเค้าความจริงและรีบด่วนสรุปทันที เช่นการเห็นเมฆใหญ่ รีบสรุปว่าฝนตกทันที
7) อย่าเพิ่งเชื่อถือ โดยคิดตรองตามอาการที่ปรากฎ เพราะอาจกลายเป็นการเสแสร้งเช่น เจอคนแต่งตัวดี รีบสรุปว่า น่าเชื่อถือ
8) อย่าเพิ่งเชื่อถือ เพราะเข้ากับความเห็นของตน มนุษย์มีแนวโน้มจะรวบรัดดึงเข้าเรื่องความสนใจของตน จึงอย่าให้ความถนัดของตนลวงตนเองและผู้อื่น เช่น เป็นนักการตลาดพอเห็นพระเทศน์เก่งก็ดึงมาออกเทปทำการตลาด หรือโยงเข้าเรื่องการเมืองตลอดเพราะสนใจการเมือง
9) อย่าเพิ่งเชื่อถือ เพราะผู้พูดมีลักษณะน่าเชื่อ
10) อย่าเพิ่งเชื่อถือ เพราะเห็นว่าสมณะนี้หรือผู้พูดนี้เป็นครูของเรา นั่นคือ ไม่ควรให้ความเคารพส่วนตัวมาครอบงำหรือเบี่ยงเบนข้อเท็จจริง
*** พระพุทธเจ้าทรงไม่ได้สั่งห้ามเชื่อ แต่ให้พึงระลึกว่า “อย่าเพิ่งเชื่อ หรืออย่าเพิ่งปลงใจเชื่อ” ต่อเมื่อใดก็ตามที่สำรวจตรวจสอบด้วยตนเองลึกซึ้งถึงต้นเค้า และแจ่มกระจ่างด้วยตนเองว่า เรื่องใดมีประโยชน์ จึ่งรับไว้นำไปปฎิบัติ เรื่องใดมีโทษ จึ่งปฎิเสธและละทิ้ง เป็นลักษณะประจักษนิยม ซึ่งเป็นลักษณะของหลักวิทยาศาสตร์
พระพุทธเจ้าจึงทรงได้รับการยกย่องว่า เป็น “Super Scientist อภินักวิทยาศาสตร์” เพราะไม่ได้เป็นลักษณะเทวองค์การที่พระพุทธเจ้าสั่งลงมาให้เชื่อ แต่ทรงให้ปฎิบัติทดลองกับตนเองแล้วจึงมาเปิดเผยความจริง ทั้งในเรื่องการค้นคว้าหาความรู้ และการย้อนถึงแก่นความจริงแห่งสัจธรรมถึงซึ่งพระนิพพาน
ซึ่งหนึ่งในตัวอย่างของผู้ที่วิจัยธรรมและลึกซึ้งถึงต้นทาง ซึ่งปฎิบัติและเข้าถึงแก่นแท้ของทุกเรื่อง คือ “หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ” ซึ่งท่านโด่งดังมากจาการได้เทศน์ชนโรงหนังที่ฉาย และเทศน์เก่งจนคนเลิกดูหนัง เพราะคุณสมบัติการเทศน์จริง สอนตรง