Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

แอสไพริน ยาครอบจักรวาล

Posted By Plook Creator | 11 พ.ย. 60
41,575 Views

  Favorite

แอสไพริน (Aspirin) หรือกรดอะซีทิลซาลิซิลิก (Acetylsalicylic) ยาที่ขายดีที่สุดในโลกตลอดกาล มันถูกใช้เพื่อรักษาอาการไข้และลดอาการอักเสบ แต่ความสามารถของมันไม่ได้จำกัดอยู่แค่เท่านี้ พวกมันยังมีฤทธิ์อื่น ๆ อีก เช่น ต้านการทำงานของเกล็ดเลือด ทำให้การเกาะตัวกันของเกล็ดเลือดเกิดได้ยากขึ้น การค้นพบคุณสมบัติดังกล่าวถูกนำมาใช้เพื่อป้องกันอาการหัวใจล้มเหลว ลดอาการของโรคหลอดเลือดอุดตันหรืออาการที่เกี่ยวกับลิ่มเลือดต่าง ๆ ได้

ภาพ : Shutterstock

 

การค้นพบแอสไพริน

ปัจจุบันนี้นักวิทยาศาสตร์ยังนำแอสไพรินมาปรับใช้เพื่อรักษาและป้องกันโรคอื่น ๆ เพิ่มเติมอีก การใช้แอสไพรินเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ก่อนสมัยอียิปต์โบราณ นักโบราณคดีค้นพบข้อความบนกระดาษพาพิรุสอ้างอิงว่า หากแผลมีอาการอักเสบให้ใช้ใบของต้นหลิวหรือต้นวิลโล ( Willow) รวมถึงต้นไม้ป่าอื่น ๆ อีกหลายชนิดในการรักษา นักวิทยาศาสตร์และโบราณคดียังค้นพบว่า มีการใช้พืชสมุนไพรซึ่งเป็นต้นกำเนิดของยาแอสไพรินในปัจจุบันในอีกหลายอารยธรรม ไม่ว่าจะเป็นชาวซูเมเรียน อียิปต์ หรือกรีกโบราณ และเมื่อวงการวิทยาศาสตร์เฟื้องฟูและมีการศึกษาเกี่ยวกับสารเคมีมากขึ้น กระทั่งนักวิทยาศาสตร์บริษัทยา Buyer ได้สังเคราะห์กรดชนิดหนึ่งออกมาซึ่งมีฤทธิ์ลดอาการอักเสบ ตัวยาที่ได้มานี้มีโครงสร้างทางเคมีเหมือนกับสารที่สกัดได้จากต้นหลิว และมันถูกเรียกว่า แอสไพริน

 

ใครจะไปรู้ว่าการดื่มน้ำชาใบต้นหลิว หรือการเคี้ยวเปลือกต้นหลิวเกิดขึ้นเมื่อกว่า 2000 ปี ก่อนที่เราจะศึกษาโครงสร้างทางเคมีของมันได้เสียอีก โดยโครงสร้างของมันประกอบไปด้วยอะตอมพื้นฐานของสิ่งมีชีวิตทั่วไปอย่างออกซิเจน ไฮโดรเจน และคาร์บอน และตัวยานี้เองที่เป็นต้นกำเนิดการปฏิวัติวงการแพทย์และเคมีในปัจจุบันนี้ได้ เนื่องจากคุณสมบัติที่ครอบคลุมและการสังเคราะห์ที่ไม่ได้ยากจนเกินไป ทำให้เพิ่มกำลังผลิตได้ง่าย

 

แอสไพรินส่งผลต่อร่างกายของเราอย่างไร

กรดอะซีทิลซาลิซิลิกนี้จะเข้าไปทำปฏิกิริยากับเอนไซม์ที่อยู่ในร่างกายที่ชื่อว่า  เอนไซม์ไซโคลออกซิจีเนส (Cyclooxygenase, COX) ซึ่งเป็นตัวทำให้เกิดอาการอักเสบ และกระตุ้นการจับตัวของกลุ่มเกล็ดเลือด ดังนั้น นอกจากลดอาการอักเสบแล้วแอสไพรินยังลดการจับตัวของลิ่มเลือดได้อีกด้วย แต่ด้วยเหตุนี้ การใช้อย่างไม่ถูกวิธีก็อาจจะมีปัญหาได้

ภาพ : Shutterstock

 

ปัญหาที่มักพบบ่อยที่ต้องเขียนเป็นข้อควรระวัง ซึ่งทั้งแพทย์และเภสัชต้องถามไถ่ก่อนใช้ยาคือ ผู้ป่วยมีอาการผิดปกติที่เกี่ยวกับการจับตัวของลิ่มเลือดอยู่แล้วหรือไม่ เพราะถ้ามีโรคประจำตัวอื่น ๆ และจำเป็นต้องใช้ยาเพื่อลดไข้หรือลดอาการอักเสบ แพทย์จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเป็นยาชนิดอื่นให้ทดแทน ยกตัวอย่างกรณีของโรคไข้เลือดออกซึ่งทำให้มีเลือดออกภายในร่างกาย การใช้ยาแอสไพรินจะส่งผลต่อการทำงานของเกล็ดเลือด ทำให้การจับตัวกันของเกล็ดเลือดยากยิ่งขึ้น เลือดออกได้ง่ายขึ้น และเกล็ดเลือดต่ำลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการช็อกและเสียชีวิตได้


ทุกวันนี้แอสไพรินมีการใช้อย่างแพร่หลายเพื่อรักษาและบรรเทาสารพัดโรค นับตั้งแต่ไข้หวัดไปจนถึงโรคหัวใจและมะเร็งลำไส้ โดยมีการผลิตและแพทย์จ่ายยาตัวนี้ไปหลายพันล้านเม็ดในแต่ละปี และนั่นอาจเป็นจุดที่ทำให้มีการใช้ยาตัวนี้อย่างแพร่หลายและอาจไม่ระวังถึงผลข้างเคียงที่อาจได้รับ แม้ว่ามันอาจมีผลข้างเคียงทำให้เกิดการตกเลือดในอวัยวะภายในของร่างกายได้ เช่น ลำไส้ สมอง ในกรณีที่ได้รับปริมาณมากเกินไป รวมถึงการใช้ยานี้ในเด็กที่ทำให้เกิดโรค Reye's Snydrome ซึ่งส่งผลต่อสมองและตับของเด็ก เหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องนำกลับมาทบทวนอีกครั้งว่า ควรหรือไม่ที่จะให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงยาที่อาจนำมาซึ่งปัญหาเรื้อรังและซับซ้อนมากกว่าการดื้อยา

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Creator
  • 15 Followers
  • Follow