Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

รวมปฏิกิริยาเคมีในชีวิตประจำวัน (ตอนที่ 2)

Posted By sanomaru | 07 พ.ย. 60
274,659 Views

  Favorite

ปฏิกิริยาเคมีเกิดขึ้นรอบตัวเราตลอดเวลา ปฏิกิริยาบางอย่างเกิดขึ้นในร่างกาย ขณะที่ปฏิกิริยาบางอย่างก็เกิดขึ้นให้เราได้เห็นในทุก ๆ วัน ดังเช่นที่กล่าวไว้ใน "รวมปฏิกิริยาเคมีในชีวิตประจำวัน" และสำหรับครั้งนี้เราจะมากล่าวถึงปฏิกิริยาเคมีในชีวิตประจำวันที่เราเคยเห็นกันบ่อยครั้ง นอกเหนือจากที่เคยกล่าวไว้แล้วใน "รวมปฏิกิริยาเคมีในชีวิตประจำวัน" ซึ่งมีดังต่อไปนี้

 

การเกิดฝนกรด

โดยทั่วไป กรดมีคุณสมบัติในการกัดกร่อนโลหะ รวมถึงเนื้อเยื่อของสิ่งมีชีวิตด้วย ดังนั้น มันจึงเป็นอันตรายต่อมนุษย์และสัตว์ และถ้าฝนตกลงมาเป็นกรด หรือที่เรียกว่า ฝนกรด ก็จะทำให้เกิดผลกระทบในวงกว้างได้ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งมีชีวิตในน้ำที่อาจมีจำนวนลดลง สภาพดินที่มีความเป็นกรดมากขึ้นทำให้มีผลต่อการเจริญเติบโตของพืช หรือสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ผุกร่อนเร็วขึ้น

 

ฝนกรดเกิดจากการละลายของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์หรือไนตริกออกไซด์ในน้ำฝนที่ตกลงมา โดยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์จะมาจากการเผาไหม้ถ่านหิน ส่วนไนตริกออกไซด์มาจากการเผาไหม้ในเครื่องยนต์ของยานพาหนะต่าง ๆ

 

สมการเคมีการเกิดฝนกรดจากก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์

 

2SO2 + O2 ----> 2SO3
ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ + ออกซิเจน ---> ก๊าซซัลเฟอร์ไตรออกไซด์

SO3 + H2O ----> H2SO4
ก๊าซซัลเฟอร์ไตรออกไซด์ + น้ำ ----> กรดซัลฟิวริก


สมการเคมีการเกิดฝนกรดจากออกไซด์ของไนโตรเจน

2NO + O2 ----> 2NO2
ไนตริกออกไซด์ + ออกซิเจน ----> ไนโตรเจนไดออกไซด์

3NO2 + H2O ----> 2HNO3 + NO
ไนโตรเจนไดออกไซด์ + น้ำ ----> กรดไนตริก + ไนตริกออกไซด์


การเกิดหมอกพิษ

หมอกพิษ เป็นกลุ่มหมอกควันที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ จึงนับเป็นมลพิษทางอากาศอย่างหนึ่ง ส่วนใหญ่พบในเขตเมืองเนื่องมาจากการปล่อยควันจากโรงงานและเครื่องยนต์ การเกิดหมอกพิษมีลักษณะคล้ายกับการเกิดฝนกรด โดยหากมีไนตริกออกไซด์เป็นสารตั้งต้น จะได้ผลิตภัณฑ์จากปฏิกิริยาเคมีเป็นไนไตรเจนไดออกไซด์และโอโซน ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการเจ็บคอ แสบตา แสบจมูก ทางเดินหายใจอักเสบ และหอบหืดด้วย

 

 

สมการเคมีการเกิดหมอกพิษจากไนโตรเจนไดออกไซด์

2NO + O2 ----> 2NO2
ไนตริกออกไซด์ + ออกซิเจน ----> ไนโตรเจนไดออกไซด์

NO2 + UV radiation ----> O + NO
ไนโตรเจนไดออกไซด์ + รังสียูวีจากดวงอาทิตย์ ----> โมเลกุลออกซิเจน + ไนตริกออกไซด์

O + O2 ----> O3
โมเลกุลออกซิเจน + ออกซิเจน ----> โอโซน


การสลายตัวของหินปูน

แคลเซียมคาร์บอเนต (Calcium Carbonate, CaCO3) เป็นสารประกอบที่ไม่ละลายน้ำ พบได้ทั่วไปตามธรรมชาติ ซึ่งรูปแบบที่พบมากคือ หินปูน การสลายตัวของหินปูนเกิดได้จากการสัมผัสกับความร้อน จะได้คาร์บอนไดออกไซด์และปูนขาวที่นำมาใช้ในอุตสาหกรรม นอกจากนี้หากหินปูนสัมผัสกับกรด เช่น ฝนกรด ก็จะเกิดการสลายตัวได้เป็นแคลเซียมซัลเฟต ซึ่งนำมาใช้ในอุตสาหกรรมเป็นส่วนประกอบของซีเมนต์ หรือในทางเกษตรกรรมเป็นสารเคมีสำหรับปรับปรุงดินได้

 

 

สมการเคมีการสลายตัวของหินปูนจากการสัมผัสกับความร้อน

CaCO3 + heat ----> CaO + CO2
แคลเซียมคาร์บอเนต + ความร้อน ----> แคลเซียมออกไซด์ (ปูนขาว) + คาร์บอนไดออกไซด์

 

สมการเคมีการสลายตัวของหินปูนจากการสัมผัสกับกรด

CaCO3 + H2SO4 ----> CaSO4 + CO2 + H2O
แคลเซียมคาร์บอเนต + กรดซัลฟิวริก ----> แคลเซียมซัลเฟต + คาร์บอนไดออกไซด์ + น้ำ


ปฏิกิริยาในแบตเตอรี

แบตเตอรี เป็นอุปกรณ์เก็บพลังงานไฟฟ้าที่เราใช้กันอยู่ทั่วไปในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะในรูปแบบของถ่านไฟฉาย แบตเตอรีโทรศัพท์มือถือ หรือแบตเตอรีรถยนต์ เป็นต้น โดยภายในแบตเตอรีจะมีแผ่นโลหะที่ต่างกัน 2 แผ่นเป็นขั้วบวกและลบ และสารละลายอิเล็กโทรไลต์ ซึ่งทำให้เกิดปฏิกิริยาเคมีและปล่อยพลังงานไฟฟ้าที่ถูกกักเก็บไว้ออกมาได้ โดยอิเล็กตรอนจะเคลื่อนที่ออกจากแผ่นโลหะที่เป็นขั้วลบไปยังแผ่นโลหะที่เป็นขั้วบวก (ขณะที่ไฟฟ้าเคลื่อนที่จากขั้วบวกไปยังขั้วลบ)

 

ตัวอย่างแบตเตอรีรถยนต์ที่ใช้แผ่นโลหะตะกั่ว (Pb) และตะกั่วออกไซด์ (PbO2) เป็นขั้วลบและขั้วบวก โดยมีกรดซัลฟิวริกเป็นสารละลายอิเล็กโทรไลต์ เมื่อถูกใช้ไปแล้วแผ่นโลหะทั้งสองในแบตเตอรีจะกลายเป็นตะกั่วซัลเฟต ส่วนกรดซัลฟิวริกก็จะเจือจางลงจนกลายเป็นน้ำ

 

 

สมการเคมีปฏิกิริยาในแบตเตอรี

Pb + PbO2 + 2H2SO4 ----> 2PbSO4 + 2H2O
ตะกั่ว + ตะกั่วออกไซด์ + กรดซัลฟิวริก ----> ตะกั่วซัลเฟต + น้ำ


ปฏิกิริยาการย่อยในร่างกาย

ระบบย่อยอาหารเป็นระบบที่เกิดปฏิกิริยาเคมีทุก ๆ วัน เพราะมนุษย์เราต้องรับประทานอาหารเข้าไปเพื่อให้พลังงานแก่ร่างกายในทุก ๆ วัน มีปฏิกิริยามากมายเกิดขึ้นในระบบย่อยอาหาร เพียงแค่นำอาหารเข้าปาก เอนไซม์อะไมเลสจากต่อมน้ำลายก็จะเริ่มย่อยคาร์โบไฮเดรตให้มีขนาดเล็กลง และเมื่ออาหารถูกกลืนลงสู่กระเพาะอาหาร ก็จะมีกรดไฮโดรคลอริกที่จะทำปฏิกิริยากับอาหารเพื่อให้มันแตกออกเป็นโมเลกุลเล็ก ๆ ขณะที่เอนไซม์จะย่อยโปรตีนและไขมัน สำหรับการดูดซึมเข้าสู่ร่างกายโดยผนังของลำไส้เล็กต่อไป

 

 

สมการเคมีปฏิกิริยาการย่อยในร่างกาย

C12H22O11 + H2O + Sucrase enzyme ----> C6H12O6 + C6H12O6
น้ำตาลโมเลกุลคู่ (ซูโครส) + น้ำ + เอนไซม์ซูเครส ----> น้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว (กลูโคส) + น้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว (ฟรุกโทส)  


ปฏิกิริยาการเกิดสบู่

สบู่ช่วยกำจัดสิ่งสกปรกออกจากร่างกายของเรา รวมถึงคราบมันต่าง ๆ ด้วย โดยทั่วไปแล้วสบู่ก็คือ เกลือกรดไขมัน ซึ่งอาจเป็นเกลือโซเดียมหรือเกลือโพแทสเซียมก็ได้ ในกระบวนการทำสบู่จะมีปฏิกิริยาเคมีที่เรียกว่าสปอนนิฟิเคชั่น (Saponificatoin) เกิดขึ้น โดยเมื่อไตรกลีเซอรอลในไขมันทำปฏิกิริยากับด่าง เช่น โซเดียมไฮดรอกไซด์หรือโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ ก็จะได้ผลิตภัณฑ์เป็นกลีเซอรอลและสบู่ออกมา สบู่ที่ได้เมื่อละลายในน้ำจะแตกตัวให้ไอออนบวก (Na+, K+) และไอออนลบ (RCOO-) ส่วนที่เป็นไอออนลบแบ่งเป็นส่วนหัวที่มีขั้ว (COO-) และส่วนหางที่ไม่มีขั้ว (R)

 

สบู่สามารถชำระล้างสิ่งสกปรกหรือไขมันที่ติดอยู่บนร่างกายเราได้ จากการที่มันละลายน้ำแล้วหันส่วนที่ไม่มีขั้วเข้าหาสิ่งสกปรกและไขมันบนผิวตอนที่เราฟอกสบู่ และขณะที่ราดน้ำเพื่อล้างมันออก ส่วนหัวที่มีขั้วก็จะเกาะกับน้ำ ซึ่งจะนำเอาโมเลกุลของสบู่รวมถึงสิ่งสกปรกที่มันเกาะอยู่ออกจากผิวของเราไปได้

 

สมการเคมีปฏิกิริยาการเกิดสบู่ กรณีทำปฏิกิริยากับเกลือโซเดียม
 

 

 

สมการเคมีปฏิกิริยาการเกิดสบู่ กรณีทำปฏิกิริยากับเกลือโพแทสเซียม
 

 

 

ปฏิกิริยาในน้ำอัดลม

ในน้ำอัดลมประกอบด้วยน้ำ กรดคาร์บอนิก คาร์บอนไดออกไซด์ น้ำตาลหรือสารให้รสหวาน รสชาติอร่อย ๆ ของน้ำอัดลมเกิดจากการผสมผสานระหว่างรสหวานและรสเปรี้ยวอย่างลงตัว นอกจากนี้กรดยังช่วยเพิ่มรสชาติที่จัดจ้านและกระตุ้นให้น้ำลายไหลอีกด้วย ในกระบวนการทำน้ำอัดลม จะมีการอัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงไปเพื่อให้มันละลายในน้ำโดยการเพิ่มความดัน เนื่องจากในสภาพปกติก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะไม่ทำปฏิกิริยากับน้ำ ซึ่งเมื่อคาร์บอนไดออกไซด์รวมกับน้ำแล้วก็จะกลายเป็นกรดคาร์บอนิก แต่เมื่อบรรจุภัณฑ์ถูกเปิดออกเมื่อไรความดันภายในจะลดลง และกรดคาร์บอนิกที่ไม่เสถียรก็จะแตกตัวออกเป็นคาร์บอนไดออกไซด์กับน้ำ

 

 

สมการเคมีปฏิกิริยาในน้ำอัดลม

CO2 + H2O ----> H2CO3
คาร์บอนไดออกไซด์  + น้ำ ----> กรดคาร์บอนิก

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • sanomaru
  • 17 Followers
  • Follow