หินแตกต่างชนิดกันมีการเกิดที่แตกต่างกัน โดยสามารถแบ่งได้ 3 กลุ่มคือ
ชื่อหินที่เกี่ยวข้องกับไฟเป็นเพราะว่ามันเกิดขึ้นมาจากไฟ จากหินหลอมเหลวที่พวยพุ่งออกมาจากใต้แผ่นเปลือกโลก อาจมาในรูปแบบของภูเขาไฟระเบิดแล้วปลดปล่อยลาวาหรือหินหลอมเหลวออกมา หรืออาจเกิดจากแผ่นเปลือกโลกที่แยกหรือยกตัวจนมีรอยแตกและปล่อยลาวาออกมา หรืออาจเกิดจากหินหลอมเหลวที่อยู่ใต้เปลือกโลกแต่เริ่มเย็นตัวลงก็ได้ และเมื่อหินหลอมเหลวเหล่านี้เย็นตัวลง มันจะกลายเป็นหินแข็งที่เรียกว่า หินอัคนี โดยหากหินหลอมเหลวใต้ผิวโลกซึ่งเรียกว่า แมกมา (Magma) เย็นตัวกลายเป็นหินแข็งเมื่อยังอยู่ใต้ผิวโลก เราจะเรียกมันว่า Intrusive rocks หรือ Plutonic rocks แต่หินหลอมเหลวที่ถูกดันขึ้นมาบนผิวโลกซึ่งเรียกว่า ลาวา (Lava) และเย็นตัวลงด้านบนเปลือกโลกจะเรียกว่า Extrusive rocks หรือ Volcanic rocks
หินอัคนีมีลักษณะหลากหลาย ทั้งแข็งเนื้อแน่นมากอย่างหินแกรนิต (Granite) นำมาใช้ในการก่อสร้างได้อย่างดี จนถึงหินพัมมิซ (Pumice) ซึ่งมีเนื้อใสแบบแก้ว และมีฟองก๊าซปะปนอยู่ในช่วงของการเย็นตัวลง ทำให้มันเปราะ เบา และลอยน้ำได้ ซึ่งนำมาใช้เป็นหินขัดถูภาชนะให้เงางามได้
ลักษณะของหินชั้นหรือหินตะกอนก็เหมือนชื่อของมัน คือมีการจับตัวและแบ่งแร่เป็นชั้น ๆ ในก้อนหิน ซึ่งสามารถมองเห็นได้ชัดด้วยตาเปล่า มันเกิดขึ้นจากการทับถมของตะกอน เศษหิน แร่ ดิน กรวด ทรายที่ผุพัง อาจจะด้วยน้ำหรือลมพัดพาพวกมันมากองรวมกันในแอ่งที่ต่ำขนาดใหญ่ ที่ซึ่งมันจะทับถมกันผ่านเวลาหลายล้านปีจนกลายเป็นก้อนหินในที่สุด
การทับถมสะสมกันของหินชั้นนี้หากเนื้อภายในละเอียดจนไม่สามารถจำแนกได้ว่าเป็นชั้นอะไร มีอะไรเป็นส่วนประกอบอยู่บ้าง จะเรียกว่า หินเนื้อประสาน (Nonclastic Sedimentary rocks) โดยส่วนใหญ่แล้วเป็นกลุ่มหินที่เกิดจากสารอินทรีย์ทับถมรวมตัวกัน เช่น ถ่านหิน (Coal) หินปูน (Limestone) แต่ถ้าหากยังมองหรือสังเกตได้ถึงความแตกต่างของแต่ละชั้น มองเห็นเนื้อใน ทราบถึงที่มาของแต่ละชั้นได้ จะเรียกว่า หินชั้นเนื้อประสม ( Clastic Sedimentary rocks) เช่น หินดินดาน (Shale)
หินแปร คือ หินที่ถูกแปรรูปมาโดยปัจจัยในการแปรรูปของมันคือ แรงดัน อุณหภูมิ และปฏิกิริยาเคมี ซึ่งทำให้เนื้อหิน โครงสร้าง และแร่ซึ่งประกอบในหินดั้งเดิมเปลี่ยนไป โดยสามารถแบ่งย่อยได้จากขนาดและปัจจัยของการแปร หากมีความร้อนและความดันจำนวนมาก จะทำให้เกิดการบีบอัดแรงสูง เกิดเป็นแร่หรือผลึกใหม่ เรียกการแปรนี้ว่า การแปรสภาพแบบ Regnional metamorphism เช่น หินไนส์ หินชนวน (Slate) แต่หากมีการแปรด้วยความร้อนและปฏิกิริยาทางเคมีที่ไม่มากนัก ไม่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างโดยรวมทั้งหมด ก็จะทำให้เกิดแร่ใหม่บ้างบางส่วน อาจเป็นบริเวณด้านนอกของหินเดิม หรือเกิดสายแร่ภายในก้อนหินเดิม เรียกว่า Contact metamorphism ซึ่งทำให้ได้หิน เช่น หินอ่อน (Marble) ซึ่งมีลายสายแร่อยู่ในก้อน กระจายไปตามส่วนต่าง ๆ อย่างสะเปะสะปะ
หินแต่ละชนิดยังสามารถปรับเปลี่ยนหมุนเวียนกันเป็นวัฏจักรได้ เนื่องจากโลกของเรามีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เปลือกโลกบางส่วนไถลลงไปอยู่ใต้เปลือกโลกชิ้นอื่น บ้างก็ถูกงัดให้สูงขึ้น แรงที่เกิดขึ้นจากการชนของเปลือกโลกเองก็เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของตัวก้อนหินด้วย หินอัคนีอาจจะผุพังลงตามการกัดกร่อนของปัจจัยทางธรรมชาติอย่างน้ำและลม ทำให้หินอัคนีกร่อนแตกและเมื่อทับถมกันอาจกลายเป็นหินชั้นขึ้นมา หินชั้นที่ถูกแรงดันและความร้อนก็อาจกลายเป็นหินแปรได้ แต่หากได้รับความร้อนสูงมากจนหลอมละลายกลายเป็นหินหลอมเหลว และเย็นตัวลงก็อาจกลับไปอยู่ในรูปแบบหินอัคนีได้อีกครั้งเช่นกัน