Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

"แบตเตอรี" อุปกรณ์เก็บพลังงานที่ทุกคนต้องใช้

Posted By Plook Creator | 03 พ.ย. 60
50,560 Views

  Favorite

อุปกรณ์ให้พลังงานกับเครื่องใช้ไฟฟ้า ไปจนถึงยานพาหนะอย่างรถยนต์และเครื่องบิน บ้างก็ใช้ได้เพียงครั้งเดียว บ้างก็สามารถเติมพลังงานเพิ่มเข้าไปทำให้ใช้ได้อีกหลายครั้ง บ้างก็สามารถคายประจุได้มากกว่า บ้างก็มีการออกแบบมาให้สามารถใช้งานได้นานกว่า เราเรียกอุปกรณ์ชนิดนี้ว่า แบตเตอรี แล้วเคยสงสัยไหมว่า แบตเตอรีสำหรับรถยนต์และมอเตอร์ไซค์เหมือนหรือต่างกันอย่างไร เราสามารถนำเอาแบตเตอรีสำหรับเครื่องบินมาใช้กับยานพาหนะอื่น ๆ ได้หรือไม่ ทำไมแแบตเตอรีโทรศัพท์มือถือบางรุ่นหรือบางยี่ห้อทำให้โทรศัพท์มือถือใช้งานได้นานไม่เท่ากัน คำตอบอยู่ที่นี่

 

แบตเตอรีมีการออกแบบที่แตกต่างกันออกไปเพื่อการใช้งานที่หลากหลาย เช่น มีขนาดใหญ่ ใช้งานได้นาน หรือขนาดเล็กที่เหมาะสำหรับการพกพา เมื่อแบตเตอรีต่อเข้ากับอุปกรณ์ไฟฟ้าภายนอกและครบวงจรแล้ว สารอิเล็กโทรไลต์ (สารที่เมื่อละลายน้ำแล้วจะนำไฟฟ้าได้) จะยอมให้ไอออนไหลผ่าน และนั่นทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าในวงจร

 

แม้ว่าแรกเริ่มเดิมทีแบตเตอรีจะหมายถึง อุปกรณ์ให้พลังงานที่ประกอบไปด้วยเซลล์หลายเซลล์ แต่ปัจจุบันการพัฒนาของเทคโนโลยีทำให้หมายรวมถึงแบตเตอรีที่มีเซลล์เดี่ยวด้วย แบตเตอรีไม่ได้สร้างไฟฟ้า แต่เป็นครื่องมือที่ใช้กักเก็บไฟฟ้าในรูปแบบสารเคมี เพื่อปลดปล่อยในอนาคตเมื่อจำเป็นต้องใช้งาน โดยประกอบด้วยโลหะต่างกันสองชนิด จุ่มอยู่ในสารละลายไฟฟ้า ประกอบกันเป็นแบตเตอรีแต่ละชนิด โดยชนิดของแบตเตอรีหรือชื่อที่เรียกกัน ขึ้นอยู่กับชนิดของโลหะที่ประกอบอยู่ในแบตเตอรีนั่นเอง

ภาพ : Shutterstock

 

หากแบ่งแบตเตอรีตามการใช้งานจะแบ่งได้ 2 จำพวกใหญ่ ๆ คือ

1) แบตเตอรีปฐมภูมิ

เป็นชนิดที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง มักเรียกว่า ถ่าน ซึ่งสามารถซื้อหาได้ง่ายตามร้านสะดวกซื้ออย่างถ่านอัลคาไลน์ เป็นต้น ซึ่งแบตเตอรีแบบนี้มีพลังงานไฟฟ้ากักเก็บอยู่มากและใช้ได้ในระยะเวลานาน โดยอาจใช้กับนาฬิกา ไฟฉาย หรืออุปกรณ์ไฟฟ้าพกพาขนาดเล็ก แต่เมื่อหมดก็ไม่สามารถทำอะไรได้อีก

2) แบตเตอรีทุติยภูมิ

เป็นแบตเตอรีแบบที่ก้าวหน้ากว่าแบตเตอรีแบบปฐมภูมิ ซึ่งสามารถชาร์จเพิ่มประจุได้ใหม่เมื่อหมด และสามารถใช้วนไปได้เรื่อย ๆ เช่น แบตเตอรีรถยนต์ แบตเตอรีมือถือ แบตเตอรีที่ใกล้ตัวเรามากที่สุดเห็นจะเป็น แบตเตอรีลิเธียมไอออน (Lithium Ion Batteries) ซึ่งเป็นแบตเตอรีแบบทุติยภูมิชนิดหนึ่ง มันอยู่ในอุปกรณ์ไอทีมากมายที่พวกเรามี ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต โน้ตบุ๊ก หรือแม้แต่รถที่ใช้พลังงานไฟฟ้า แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน เริ่มต้นมานานแล้วตั้งแต่ปี ค.ศ. 1912 แต่กว่าจะเริ่มใช้งานจริงจังก็อีกราว 60 ปีถัดมา

 

ลิเธียมเป็นธาตุที่เบาที่สุดแต่ให้แรงดันไฟฟ้ามากที่สุด โดยแบตเตอรีชนิดนี้เริ่มต้นด้วยการเป็นแบตเตอรีแบบปฐมภูมิ หรือแบตเตอรีที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง แต่การเดินทางของแบตเตอรีลิเธียมเริ่มต้นได้ไม่สวยนัก เพราะคุณสมบัติของโลหะชนิดนี้ซึ่งไวต่อปฏิกิริยาเคมี แปลไทยเป็นไทยได้ว่ามันระเบิดได้ง่ายหากเทคโนโลยีในการออกแบบและผลิตไม่ดีพอ กว่ามันจะปลอดภัยและใช้แพร่หลายก็ในยุคที่มือถือเริ่มแพร่หลายนั่นเอง และอย่างที่บอกว่ามันให้ค่าแรงดันไฟฟ้าที่สูง ไวต่อการเสียหาย และมีช่วงชีวิตการใช้งานที่สั้น การคายประจุของมันลดลงอย่างมากเมื่อผ่านไป 1 ปี และแทบจะใช้งานไม่ได้หลังจากผ่านไป 2-3 ปี เมื่อเทียบกับแบตเตอรีชนิดอื่นอย่างนิกเกิลแคทเมียม และนั่นทำให้มันเหมาะกับอุปกรณ์ไฟฟ้ากึ่งแฟชั่นอย่างมือถือสมาร์ตโฟน ซึ่งผู้ผลิตส่วนใหญ่ออกรุ่นใหม่ ๆ อยู่เรื่อย ๆ จึงไม่จำเป็นที่แบตเตอรีจะต้องมีอายุยาวนานแต่อย่างใด

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Creator
  • 15 Followers
  • Follow