Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

สรีรวิทยา

Posted By Plookpedia | 31 ต.ค. 60
2,180 Views

  Favorite

สรีรวิทยา 


สรีรวิทยาเป็นวิชาที่ว่าด้วยการศึกษาหน้าที่การทำงานของสิ่งมีชีวิตอาจเป็นพืช สัตว์ หรือมนุษย์ก็ได้ สรีรวิทยามาจากคำศัพท์ภาษาอังกฤษว่า Physiology ในสมัยก่อนการศึกษามุ่งถึงหน้าที่ของอวัยวะต่าง ๆ ซึ่งเรียกว่าสรีรวิทยาระดับอวัยวะ (organ physiology) เป็นสำคัญต่อมาเมื่อความเจริญทางวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จึงได้มีการศึกษา มุ่งไปถึงหน้าที่ของเซลล์ที่เรียกว่าสรีรวิทยาระดับเซลล์ (cell physiology) ซึ่งช่วยให้ทราบถึงกลไกการทำงานละเอียดและลึกซึ้งขึ้นอย่างไรก็ดีแม้ความรู้เรื่องกลไกการทำงานเพิ่มขึ้นแต่ต้องตระหนักอยู่เสมอว่าการทำงานในร่างกายนั้นต้องอาศัยหน้าที่ซึ่งมีการประสานและเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิดจึงมีความจำเป็นจะต้องศึกษาการเชื่อมโยง ชีววิทยาของเซลล์จนถึงการวิเคราะห์การทำงานระบบต่าง ๆ รวมทั้งทฤษฎีการควบคุมด้วย

ถ้าจะเปรียบร่างกายเหมือนเครื่องกลชนิดหนึ่งการศึกษาเพื่อให้เข้าใจหน้าที่ของเครื่องกลอันละเอียดอ่อนอย่างร่างกายนั้นย่อมลำบากมากกว่าการศึกษาและเข้าใจหน้าที่การทำงานของเครื่องกลทางวิทยาศาสตร์ทั้งนี้เพราะเครื่องกลจริง ๆ นั้นมนุษย์เป็นผู้ออกแบบและสร้างขึ้นเพื่อจุดประสงค์เฉพาะอย่างจึงย่อมต้องเข้าใจกลไกการทำงานของเครื่องกลนั้นเป็นอย่างดีส่วนเครื่องกลอันสลับซับซ้อนของร่างกายนั้นธรรมชาติเป็นผู้สร้างและปรุงแต่งมานานอวัยวะส่วนใดในสัตว์ชั้นต่ำที่ทำหน้าที่ไม่ได้ดีหรือไม่มีประสิทธิภาพธรรมชาติก็ค่อย ๆ ดัดแปลงหรือสร้างขึ้นใหม่เพิ่มเติมในสัตว์ชั้นสูงฉะนั้นปัญหาของนักค้นคว้าทางสรีรวิทยาจึงไม่ได้เกี่ยวข้องกับการสร้างหากแต่เป็นการค้นคว้าเพื่อหากลไกการทำงานที่ได้สร้างมาแล้ว

เนื่องจากสรีรวิทยาเป็นวิชาที่กว้างขวางมากไม่สามารถกล่าวครอบคลุมได้หมดฉะนั้นในที่นี้จะขอจำกัดอยู่เพียงสรีรวิทยาของมนุษย์เท่านั้นร่างกายของมนุษย์ประกอบด้วยอวัยวะต่าง ๆ และแต่ละอวัยวะประกอบด้วยเซลล์ต่าง ๆ มากมายอาจประมาณอย่างคร่าว ๆ ได้ว่ามนุษย์มีเซลล์มากถึง ๖๐ ล้านล้านเซลล์ การที่เซลล์ต่าง ๆ จะทำงานได้นั้น จะต้องใช้พลังงานที่ได้จากอาหารซึ่งกินเข้าไปและอาหารจะต้องทำปฏิกิริยากับออกชิเจนเพื่อให้เกิดพลังงานการทำงานของเซลล์อาศัยปฏิกิริยาเคมีที่ซับซ้อนมากมายหลายอย่างนอกจากนั้นยังมีของเสียเกิดขึ้นจากการทำงานของเซลล์ด้วยจากการที่เซลล์ต้องทำงานดังกล่าวร่างกายจึงต้องมีระบบงานหลายระบบด้วยกันคือระบบทางเดินอาหาร ซึ่งมีหน้าที่นำอาหารซึ่งเปรียบเสมือนวัตถุดิบเข้าไปย่อยเพื่อเปลี่ยนแปลงให้เป็นสารโมเลกุลเล็ก ๆ ที่เซลล์ต่าง ๆ สามารถใช้ประโยชน์ได้ ระบบหายใจทำหน้าที่นำออกซิเจนเข้าไปในร่างกายและยังทำหน้าที่ขับคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นของเสียอย่างหนึ่งออกจากร่างกายด้วยร่างกายต้องมีระบบการไหลเวียนเลือดซึ่งเปรียบเสมือนระบบขนส่งทำหน้าที่ขนส่งอาหารและออกซิเจนไปให้เซลล์ใช้และทำหน้าที่ขนของเสียที่เกิดจากเซลล์กลับมาด้วยนอกจากนั้นร่างกายยังต้องมีระบบขับถ่ายของเสียโดยเฉพาะขึ้นอีกระบบ หนึ่งร่างกายมนุษย์ต้องมีการเคลื่อนไหวเพื่อกระทำกิจกรรรมต่าง ๆ เช่น การหาอาหารการหลีกหนีจากอันตราย เป็นต้น จึงต้องมีระบบการเคลื่อนไหวซึ่งประกอบด้วยกล้ามเนื้อกระดูกและข้อต่อสิ่งสำคัญที่ต้องกล่าวถึงคือระบบควบคุมและประสานงานเนื่องจากร่างกายประกอบด้วยอวัยวะหลายอย่างและเซลล์ต่าง ๆ มากมายซึ่งจะต้องมีการทำงานประสานกันด้วยดีจึงต้องมีระบบขนส่งทำหน้าที่ขนส่งอาหารและออกซิเจนไปให้เซลล์ใช้และทำหน้าที่ขนของเสียที่เกิดจากเซลล์กลับมาด้วยนอกจากนั้นระบบต่อมไร้ท่อซึ่งมีการควบคุมโดยการปล่อยสารเคมีออกไปในเลือดแล้วไหลไปพร้อมเลือดเพื่อไปยังอวัยวะที่ถูกควบคุมหรือปล่อยไปยังอวัยวะที่จะถูกควบคุมโดยตรงระบบสุดท้ายที่จะต้องกล่าวถึงคือระบบสืบพันธุ์ซึ่งเป็นระบบที่สืบทอดเพื่อให้มีลูกหลานสืบต่อไปเพราะเซลล์ต่าง ๆ ย่อมมีการเสื่อมและตายไปเรื่อย ๆ

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow