สำหรับคนที่กำลังมุ่งมั่นเรียนภาษาไม่ว่าจะภาษาอังกฤษหรือภาษาใดก็ตาม หรือใครที่มีความใฝ่ฝันอยากเป็นนักเขียน นักแปล มาสร้างแรงบันดาลใจด้วยการอ่านงานพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 กันค่ะ พระองค์ทรงมีพระปรีชาสามารถในการใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้องสละสลวย อีกทั้งพระองค์ทรงเชี่ยวชาญด้านภาษาต่างประเทศหลายภาษา ทั้งภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน ภาษาสเปน ภาษาละติน ภาษาบาลี สันสกฤต ซึ่งเป็นภาษาฮินดูโบราณอีกด้วย
“...ที่ถนนราชดำเนินกลาง ราษฎรเข้ามาใกล้ชิดรถที่เรานั่ง กลัวเหลือเกินว่าล้อรถของเราจะไปทับแข้งทับขาใครเข้าบ้าง รถแล่นผ่าฝูงคนไปได้อย่างช้าที่สุด ถึงวัดเบญจมบพิตร รถแล่นเร็วขึ้นได้บ้าง ตามทางที่ผ่านมา ได้ยินเสียงใครคนหนึ่งร้องขึ้นมาดัง ๆ ว่า “อย่าละทิ้งประชาชน” อยากจะร้องบอกเขาลงไปว่า ถ้าประชาชนไม่ “ทิ้ง” ข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะ “ละทิ้ง” อย่างไรได้ แต่รถวิ่งเร็วและเลยไปไกลเสียแล้ว”
ความตอนหนึ่งหนึ่งจากพระราชนิพนธ์ “เมื่อข้าพเจ้าจากสยามสู่สวิตเซอร์แลนด์”
หนังสือ “วงวรรณคดี” ฉบับเดือนสิงหาคม 2490 ที่นำมาจัดพิมพ์แจกในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 22 (นิตยสาร “วงวรรณคดี” จัดพิมพ์เป็นรายเดือน นับเป็นหนังสือดี มีคุณค่าในสมัยนั้น)
“เมื่อข้าพเจ้าจากสยามสู่สวิตเซอร์แลนด์” พระราชนิพนธ์เรื่องแรก ในปี 2489 เป็นบันทึกเรื่องราวที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้ทรงบันทึกเรื่องราวการเดินทางในช่วงเสด็จพระราชดำเนินกลับไปศึกษาต่อที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ.2489 และได้ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือรายเดือน “วงวรรณคดี” ฉบับประจำเดือนสิงหาคม พ.ศ.2490 โดยพระบรมราชานุญาตพิเศษเฉพาะหนังสือเล่มนี้เท่านั้น
“นายอินทร์ ผู้ปิดทองหลังพระ” พระราชนิพนธ์แปล ปีพ.ศ. 2537 ทรงแปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษเรื่อง “A MAN CALLED INTREPID” ของ เซอร์วิลเลียม สตีเฟนสัน (William Stevenson) พระองค์ทรงใช้เวลาว่างจากพระราชภารกิจแปลวันละเล็กวันละน้อยเป็นระยะเวลาเวลา 3 ปี ตั้งแต่เดือนมิถุนายนพ.ศ. 2520 ถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2523 แสดงให้เห็นถึงพระวิริยะอุตสาหะในการแปลอย่างยิ่ง
“นายอินทร์ ผู้ปิดทองหลังพระ” เป็นเรื่องราวของ นายอินทร์ หรือ INTREPID (เซอร์วิลเลียม สตีเฟนสัน) หัวหน้าหน่วยราชการลับของอังกฤษ ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ทำหน้าที่ล้วงความลับของทหารเยอรมัน พระราชนิพนธ์“นายอินทร์ ผู้ปิดทองหลังพระ” นี้ได้สอนในเรื่องการทำความดีโดยที่ไม่จำเป็นต้องให้ผู้อื่นรู้ก็ได้
พระราชนิพนธ์ “ติโต” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงแปลจากต้นฉบับ เรื่อง “Tito” ของ Phyllis Auty เมื่อปีพ.ศ. 2519 และตีพิมพ์ออกจำหน่ายในปีพ.ศ. 2537 เล่าเรื่องราวชีวประวัติของ “ติโต” หรือ โยซิบ โบรซ (Josif Broz) ผู้นำยูโกสวาเกีย เพื่อให้เราชาวไทยได้รู้จักและศึกษาบุคคลที่น่าสนใจคนหนึ่งของโลก
“เราทำความพยายามแม้ตายก็จักพ้นครหา บุคคลเมื่อกระทำความเพียร แม้จะตายก็ชื่อว่าไม่เป็นหนี้ในระหว่างหมู่ ญาติ เทวดา และบิดา มารดา อนึ่ง บุคคลเมื่อทำกิจอย่างลูกผู้ชาย ย่อมไม่เดือดร้อนในภายหลัง”
“พระมหาชนก” เป็นเรื่องหนึ่งในทศชาติชาดก หรือ 10 ชาติสุดท้ายก่อนที่พระโพธิสัตว์จะมาประสูติเป็นเจ้าชายสิทธัตถะและตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงใช้ระยะเวลาค้นคว้า แปลจากฉบับภาษาอังกฤษ เป็นเวลาประมาณ 19 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2520 ถึง พ.ศ. 2539 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จัดพิมพ์ในโอกาสเฉลิมฉลองกาญจนาภิเษกแห่งรัชกาล เมื่อปี พ.ศ.2539 พระราชนิพนธ์องค์นี้มีทั้งภาคภาษาไทยและภาษาอังกฤษอยู่ในเล่มเดียวกัน และในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ ในปีพ.ศ.2542 ทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชนิพนธ์พระมหาชนกเป็นฉบับการ์ตูน เพื่อสะดวกแก่การศึกษาทำความเข้าใจของเด็กและเยาวชน อีกทั้งยังจัดพิมพ์เป็นฉบับอักษรเบล เพื่อเผยแพร่แก่คนตาบอดอีกด้วย พระราชนิพนธ์ “พระมหาชนก” ได้สอนในเรื่องความเพียรพยายาม
เรื่องของทองแดง (The Story of Tongdaeng) พระราชนิพนธ์องค์ที่พิมพ์ขึ้นในปีพ.ศ. 2545 พระองค์ทรงสอนเรื่องความกตัญญู ผ่านเรื่องราวของ คุณทองแดง สุนัขทรงเลี้ยงในพระองค์ ซึ่งเผยแพร่เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษในเล่มเดียว
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำริว่า ทองแดงเป็นสุนัขธรรมดาที่ไม่ธรรมดา มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันนับว่ากว้างขวางมีผู้เขียนเรื่องทองแดงก็หลายเรื่องแต่น่าเสียดายว่าเรื่องที่เล่า มักมีความคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง และขาดข้อมูลสำคัญหลายประการ โดยเฉพาะ เกี่ยวกับความกตัญญูรู้คุณของทองแดงที่มีต่อ “แม่มะลิ” ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงยกย่องว่า “ผิดกับคนอื่นที่เมื่อกลายมาเป็นคนสำคัญแล้ว มักจะลืมตัวและดูหมิ่นผู้มีพระคุณที่เป็นคนต่ำต้อย”
ในปี พ.ศ.2547 พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดพิมพ์ “ทองแดงฉบับการ์ตูน” โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ คุณชัย ราชวัตร เป็นผู้เขียนการ์ตูนประกอบ