เป็นเวลากว่า ๗ ทศวรรษที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงครองราชย์และทรงงานอย่างหนักเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขของพสกนิกรชาวไทย ทรงมีสายพระเนตรอันกว้างไกลในการพัฒนาประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้าในด้านต่าง ๆ ทรงอุทิศพระองค์เพื่อประชาชนจนได้รับการยกย่องว่าเป็นกษัตริย์ที่ทรงงานหนักที่สุดในโลก ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถด้านการทรงงานที่มีอย่างรอบด้าน แต่แท้จริงแล้วมิได้มีเพียงเท่านี้ พระองค์ยังทรงมีพระอัจฉริยภาพในด้านต่าง ๆ อีกหลากหลาย ที่ล้วนเกิดจากความสนพระราชหฤทัย และทรงมุ่งมั่นที่จะเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ตั้งแต่ครั้งยังทรงพระเยาว์ ซึ่งหลายด้านเป็นพื้นฐานในการนำมาพัฒนาประเทศจนเป็นที่ประจักษ์ทั้งชาวไทยและชาวโลกในเวลาต่อมา
พระอัจฉริยภาพด้านดนตรี
พระองค์ทรงเริ่มเรียนดนตรีตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ขณะประทับอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทรงเรียนการเป่าแซกโซโฟน การเขียนโน้ตเพลง การบรรเลงดนตรีสากลในแบบต่าง ๆ พระองค์ทรงเครื่องดนตรีได้หลายประเภท เช่น แซกโซโฟน คลาริเน็ต ทรัมเป็ต เปียโน และกีตาร์ แต่แนวเพลงที่ทรงโปรดมากที่สุดคือแนวเพลงแจ๊ส โดยทรงหัดเป่าแซกโซโฟนสอดแทรกกับแผ่นเสียงของนักดนตรีแจ๊สที่มีชื่อเสียงระดับโลกได้เป็นอย่างดี
นอกจากทรงดนตรีได้เชี่ยวชาญแล้ว ยังทรงพระราชนิพนธ์เพลงด้วยพระองค์เองอีกหลายเพลง เช่น แสงเทียน ที่ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นขณะมีพระชนมพรรษาเพียง ๑๘ พรรษา ซึ่งนักประพันธ์เพลงหลายท่านได้ให้ความเห็นว่าพระองค์ท่านทรงพระราชนิพนธ์เพลงได้ไพเราะและมีชั้นเชิง
พระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถด้านดนตรีของพระองค์เป็นที่ประจักษ์ในวงการดนตรีโลก จนสถาบันดนตรีและศิลปะแห่งกรุงเวียนนาซึ่งเป็นสถาบันดนตรีที่มีชื่อเสียงเก่าแก่ของโลกได้ถวายพระเกียรติให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกกิตติมศักดิ์ของสถาบัน และไม่ได้มีเพียงด้านดนตรีสากลเท่านั้น ด้านดนตรีไทยพระองค์ยังทรงสนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยบันไดเสียงของดนตรีไทยและมีพระราชประสงค์ที่จะอนุรักษ์ดนตรีไทยให้คงอยู่คู่ชาติตลอดไป
พระอัจฉริยภาพด้านภาษาและวรรณกรรม
พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์นักอักษรศาสตร์ ด้วยทรงเจริญพระชันษาในต่างประเทศจึงทรงใช้ภาษาต่างประเทศได้อย่างแตกฉาน โดยเฉพาะภาษาฝรั่งเศสและภาษาเยอรมัน ต่อมาทรงเห็นว่าภาษาอังกฤษก็มีความสำคัญในการติดต่อสื่อสาร จึงทรงศึกษาภาษาอังกฤษเพิ่มเติมจนเชี่ยวชาญ
ด้วยพระอัจฉริยภาพด้านการใช้ภาษาเมื่อทรงมีเวลาว่างได้ทรงพระราชนิพนธ์แปลบทความจากวารสารและหนังสือภาษาต่างประเทศหลายเรื่อง เช่น นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ และ ติโต พระราชนิพนธ์แปลทั้งสองเรื่องนี้นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพในการแปลแล้ว ยังทำให้เราเข้าใจถึงพระราชประสงค์ที่ต้องการให้คนไทยได้รู้จักมหาบุรุษของโลกอีกด้วย
หนังสือพระราชนิพนธ์ที่แสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถด้านวรรณกรรมที่คนไทยรู้จักกันเป็นอย่างดี คือ พระมหาชนก และ ทองแดง ทั้งสองเรื่องนี้ทรงพระราชนิพนธ์เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยเฉพาะเรื่องพระมหาชนก ที่แสดงให้เห็นถึงความเพียร สติ ปัญญา และให้คติสอนใจหลายประเด็น
พระอัจฉริยภาพด้านภาษาและวรรณกรรมของพระองค์ท่านได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้นักเขียนไทยหลายคนยึดเอาเป็นแบบอย่างในการสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณค่าแก่สังคมไทย
พระอัจฉริยภาพด้านการถ่ายภาพ
ขณะประทับอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ พระองค์ทรงโปรดการถ่ายภาพเป็นอย่างมาก ทรงได้รับพระราชทานกล้องถ่ายภาพตัวแรกจากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเมื่อมีพระชนมายุเพียง ๘ พรรษา ในระยะแรกทรงถ่ายภาพด้วยกล้องที่ไม่มีเครื่องวัดแสงในตัว จึงคำนวณการวัดแสงด้วยพระองค์เองจนสามารถวัดแสงได้อย่างแม่นยำ ทรงประดิษฐ์แผ่นกรองแสง (ฟิลเตอร์) สำหรับถ่ายภาพด้วยพระองค์เองและยังทรงเชี่ยวชาญในการล้างฟิล์ม อัดขยายภาพขาวดำและภาพสีอีกด้วย
ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ในระยะแรกทรงฉายภาพบุคคลใกล้ชิด โดยเฉพาะทรงฉายพระบรมฉายาลักษณ์สมเด็จพระบรมราชินีนาถและพระฉายาลักษณ์พระราชโอรสและพระราชธิดาไว้เป็นจำนวนมาก จนเมื่อภายหลังทรงมีพระราชกรณียกิจมากมาย เมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในท้องถิ่นต่าง ๆ ก็ยังทรงถ่ายภาพด้วยพระองค์เอง ดังจะเห็นว่าพระองค์จะมีกล้องถ่ายภาพห้อยอยู่ที่พระศออยู่ตลอดเวลา ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์เหล่านั้นจึงเป็นภาพที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และเป็นแบบอย่างให้กับนักถ่ายภาพทุกคนอย่างหาที่สุดมิได้
พระอัจฉริยภาพด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี
“โครงการฝนหลวง” เป็นหนึ่งในนวัตกรรมการทำฝนเทียมที่พระองค์ทรงคิดค้น วิจัยและพัฒนาด้วยพระองค์เองเป็นเวลากว่า ๑๒ ปี เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งให้กับประชาชน จนได้รับการจดสิทธิบัตรทั้งในและต่างประเทศ
นอกจากนี้ ยังทรงประดิษฐ์คิดค้นและออกแบบเครื่องมือบำบัดน้ำเสียที่เรียกว่า “กังหันน้ำชัยพัฒนา” โดยใช้หลักการเติมออกซิเจนให้กับน้ำ ด้วยทรงตระหนักถึงปัญหาความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมและปัญหามลพิษทางน้ำที่นับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
ในด้านพลังงานยังทรงมีพระราชดำริให้ทดลองวิจัยการนำน้ำมันปาล์มมาเป็นเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์ดีเซล จนประสบความสำเร็จ เรียกว่า “ไบโอดีเซล” ส่งผลให้สามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนพลังงานในประเทศได้
ในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายคอมพิวเตอร์ส่วนพระองค์เครื่องแรกเพื่อทรงใช้งานคือแมคอินทอช พลัส โดยทรงใช้สร้างโปรแกรมคอมพิวเตอร์ด้วยพระองค์เอง ทรงประดิษฐ์ตัวอักษรไทยที่มีลักษณะงดงาม เช่น แบบจิตรลดา แบบภูพิงค์ ทรงใช้เพื่อบันทึกพระราชกรณียกิจต่าง ๆ และทรงใช้ประดิษฐ์ ส.ค.ส. อวยพรปีใหม่ให้กับประชาชนชาวไทยตลอดทุกปี
พระอัจฉริยภาพด้านกีฬา
ครั้งทรงพระเยาว์ทรงโปรดเล่นกีฬาสกีน้ำ สกีหิมะ ว่ายน้ำ เรือกรรเชียง แบดมินตัน ยิงปืน ฮอกกี้น้ำแข็ง ทรงศึกษาข้อมูลของกีฬาแต่ละชนิดอย่างละเอียด และทรงฝึกฝนจนปฏิบัติได้เป็นอย่างดี นับเป็นแบบอย่างที่ดีของนักกีฬา
ในบรรดากีฬาทุกประเภททรงโปรดกีฬาเรือใบเป็นอย่างมาก นอกจากทรงเล่นกีฬาเรือใบแล้ว ยังทรงคิดค้น ออกแบบและต่อเรือด้วยพระองค์เองอีกหลายลำ ทรงเคยเป็นนักกีฬาเรือใบทีมชาติโดยเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาแหลมทองครั้งที่ ๔ ที่ประเทศไทย และในการแข่งขันครั้งนั้นพระองค์ทรงชนะเลิศการแข่งขัน และทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญรางวัลเหรียญทองจากสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถท่ามกลางความปลื้มปีติของพสกนิกร
ด้วยพระปรีชาสามารถทางด้านกีฬาเรือใบ พระองค์ได้ทรงเรือใบประเภทโอเค (International OK Class) ที่ทรงต่อด้วยฝีพระหัตถ์ของพระองค์เองชื่อ “เวคา” เสด็จข้ามอ่าวไทยจากวังไกลกังวล อ.หัวหิน ไปขึ้นฝั่งที่หาดเตยงาม อ.สัตหีบ เพียงลำพังพระองค์เดียว นับเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถทางด้านเรือใบระยะไกลในแบบที่ไม่เคยมีพระมหากษัตริย์พระองค์ใดเคยทำมาก่อน
พระอัจฉริยภาพด้านงานช่าง
พระองค์ทรงมีฝีพระหัตถ์ที่ยอดเยี่ยมในด้านงานช่างมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ทรงสร้างมอเตอร์ไฟฟ้าใช้เอง ทรงประดิษฐ์ของเล่นด้วยพระองค์เองทั้งเรือบินไม้ที่ร่อนได้จริง และเรือรบหลวงจำลองศรีอยุธยาที่มีรายละเอียดมากมาย
งานช่างที่ทรงสนพระราชหฤทัยมากที่สุดก็คือการต่อเรือใบ ทรงใช้ความรู้พื้นฐานทั้งช่างไม้ ช่างโลหะ ช่างกล คิดค้นออกแบบและสร้างเรือใบด้วยพระองค์เอง เรือใบลำแรกที่ทรงต่อเป็นเรือใบประเภทเอ็นเตอร์ไพรส์ (International Enterprise Class) ชื่อเรือ “ราชปะแตน” และลำต่อมาชื่อเรือ “เอจี” หลังจากนั้นก็ทรงต่อเรือใบประเภทโอเค (International OK Class) ตามแบบสากลลำแรกชื่อเรือ “นวฤกษ์” และอีกหลายลำต่อมาพระราชทานชื่อว่าเรือ “เวคา” ส่วนเรือใบที่ทรงออกแบบให้มีความเหมาะสมกับคนไทยคือ "เรือใบมด" เป็นเรือใบประเภทม็อธ (International Moth Class) ซึ่งทรงออกแบบและต่อเรือด้วยพระองค์เองและได้จดลิขสิทธิ์เป็นสากล ต่อมาได้ทรงพัฒนาเรือแบบนี้มาเรื่อย ๆ พระราชทานชื่อว่า "เรือใบซูเปอร์มด" และ "เรือใบไมโครมด" ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในหมู่นักแล่นเรือใบทั้งหลาย เรือใบลำสุดท้ายที่ทรงต่อคือ "เรือใบโม้ก" (Moke) ซึ่งหลังจากนั้นก็มิได้ทรงต่อเรืออีกเลยเนื่องจากทรงมีพระราชภารกิจมากมาย
พระอัจฉริยภาพด้านการสื่อสาร
เมื่อยังทรงพระเยาว์ทรงสร้างเครื่องรับวิทยุร่วมกับพระเชษฐา โดยมีที่มาจากการขายสลากในงานโรงเรียน ซึ่งพระองค์ทรงได้สลากเป็น คอยล์ (Coil) จึงได้ทรงศึกษาและทรงซักถามผู้รู้ว่าจะต้องทำอย่างไรเพื่อให้ได้เป็นวิทยุออกมา ซึ่งก็ได้รับคำแนะนำให้พระองค์ซื้อแร่สีดำ ซึ่งเป็นที่รับไฟฟ้าในอากาศที่เป็นคลื่นวิทยุ โดยพระองค์ใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ไปซื้ออุปกรณ์วิทยุแล้วทรงนำมาประกอบด้วยพระองค์เอง จนสามารถรับฟังสถานีวิทยุกระจายเสียงบางแห่งได้
ในปี ๒๔๙๕ พระองค์ทรงจัดตั้งสถานีวิทยุ อ.ส. ขึ้นในพระราชวังดุสิต เพื่อให้พสกนิกรมีโอกาสติดต่อกับพระองค์ได้ง่ายขึ้น และสถานีวิทยุแห่งนี้ยังทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการช่วยเหลือผู้ประสบเหตุภัยพิบัติต่าง ๆ ด้วย พระองค์ทรงทดลองรับส่งวิทยุทางไกลระหว่างกรุงเทพฯ กับหัวหินและทรงสังเกตปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อการรับส่งวิทยุ แล้วจึงทรงแก้ไขปรับปรุงระบบรับส่งวิทยุสื่อสารให้สามารถใช้งานได้ผลดีกว่าเดิม นอกจากนั้นพระองค์ยังทรงมีพระราชดำริให้มีการพัฒนาระบบวิทยุสื่อสารอย่างจริงจัง จะเห็นได้ว่าพระองค์จะใช้วิทยุสื่อสารเป็นเครื่องมือติดพระวรกายตลอดเวลาในระหว่างประกอบพระราชกรณียกิจในท้องถิ่นต่าง ๆ เพราะนั่นจะทำให้พระองค์ได้รับฟังเรื่องทุกข์สุขของประชาชนนั่นเอง
พระอัจฉริยภาพด้านศิลปะ
งานจิตรกรรมเป็นงานศิลปะแขนงหนึ่งที่พระองค์สนพระราชหฤทัยมาก ทรงฝึกฝนการเขียนภาพด้วยพระองค์เองตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ขณะประทับอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทรงศึกษาเทคนิคการวาดภาพจากตำราต่าง ๆ ทั้งที่ซื้อด้วยพระองค์เองและมีผู้นำมาทูลเกล้าฯ ถวาย เมื่อทรงสนพระราชหฤทัยในผลงานของศิลปินผู้ใดก็จะเสด็จไปทรงเยี่ยมศิลปินผู้นั้น ทรงมีพระราชปฏิสันถารถึงขั้นตอนวิธีการทำงาน การใช้สี การผสมสี และทรงทอดพระเนตรเทคนิคและวิธีการต่าง ๆ เพื่อให้เข้าใจอย่างถ่องแท้แล้วจึงทรงนำไปฝึกฝนปฏิบัติด้วยพระองค์เอง ทรงเริ่มวาดภาพอย่างจริงจังหลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์ โดยภาพวาดฝีพระหัตถ์ในระยะแรกจะเป็นภาพเหมือน ทรงโปรดที่จะวาดพระสาทิสลักษณ์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอทุกพระองค์ เมื่อทรงว่างจากพระราชภารกิจก็จะทรงงานวาดภาพอยู่เสมอ ภาพวาดฝีพระหัตถ์ของพระองค์เท่าที่ปรากฏมี ๓ ลักษณะใหญ่ ๆ คือ ภาพแบบเหมือนจริง (Realistic) คตินิยมแบบลัทธิเอ็กซ์เพรสชั่นนิสต์ (Expressionism) และในช่วงหลัง ๆ จะทรงวาดภาพแบบนามธรรม (Abstractionism)
พระอัจฉริยภาพด้านการเกษตรและชลประทาน
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ทรงเล่าไว้ในหนังสือเรื่อง เจ้านายเล็ก ๆ-ยุวกษัตริย์ ว่าพระองค์ทรงสนพระราชหฤทัยในการกั้นน้ำสร้างเขื่อนมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ โดยไม่ใช่เป็นเพียงการเล่นแต่เป็นการเรียนรู้อีกด้วย พระองค์ทรงมีแนวพระราชดำริใหม่ ๆ ในการแก้ไขปัญหาแหล่งน้ำ ดิน ป่าไม้ และทรงพระราชทานแนวพระราชดำรินั้นเพื่อให้นำไปปฏิบัติ แนวทางการจัดการที่ดินและน้ำเพื่อการเกษตรที่ยั่งยืน “ทฤษฎีใหม่” ก็เกิดขึ้นได้ด้วยพระอัจฉริยภาพของพระองค์ เป็นแนวทางในการจัดสรรพื้นที่ทำกินให้มีความเหมาะสม ทรงศึกษาและวิจัยเชิงปฏิบัติเกี่ยวกับทฤษฎีใหม่มาเป็นเวลานานตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๒ ในพื้นที่ส่วนพระองค์จนได้ผลดีแล้วจึงพระราชทานทฤษฎีใหม่นี้ไปใช้อย่างกว้างขวาง
นอกจากนี้แล้วพระองค์ยังทรงพระราชทาน “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งเป็นแนวทางการดำรงชีวิตให้อยู่ได้อย่างมั่นคง พึ่งพาตัวเองได้ แม้ว่าสถานการณ์ของโลกจะเปลี่ยนแปลงไปเช่นไร แนวพระราชดำรินี้ยังถูกนำไปประยุกต์ใช้ในอีกหลายประเทศ ด้วยเห็นว่าสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนี้ได้รับการเชิดชูอย่างสูงจากองค์การสหประชาชาติ ว่าเป็นปรัชญาที่มีประโยชน์ต่อประเทศไทยและนานาประเทศ และสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกยึดเป็นแนวทางสู่การพัฒนาแบบยั่งยืน
พระปรมาภิไธย
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร
พระราชสมภพ
๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๐ ณ เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา
สวรรคต
๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ ณ โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพมหานคร
ครองราชย์
๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙
แหล่งข้อมูล
หนังสือ เจ้านายเล็ก ๆ-ยุวกษัตริย์ พิมพ์ครั้งแรก ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๐
www.ncit.navy.mi.th/
www.identity.opm.go.th/
web.ku.ac.th