Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ฝนดาวตก (Meteor Shower) มาจากไหน

Posted By sanomaru | 21 ต.ค. 60
9,709 Views

  Favorite

ในตอนเด็ก เรามักได้ยินผู้ใหญ่บอกว่า หากเห็นดาวตกให้รีบหลับตาและอธิษฐาน คำอธิษฐานนั้นจะเป็นจริง แต่เมื่อเติบโตขึ้นเราจึงทราบว่าดาวตกเป็นเพียงปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ ที่ไม่ได้มีผลต่อคำอธิษฐานใด ๆ เพราะมันเป็นเพียงสะเก็ดหินในอวกาศ เมื่อสะเก็ดหินหรือสะเก็ดดาวเหล่านี้ถูกแรงโน้มถ่วงของโลกดึงดูดเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ พวกมันจะเสียดสีกับอากาศจนเกิดความร้อน ทำให้เกิดเป็นแสงสว่างวาบ ก่อนที่จะถูกความร้อนเผาไหม้จนหมด และถ้าสะเก็ดดาวเหล่านั้นมีเป็นจำนวนมาก เราจะเรียกมันว่า "ฝนดาวตก"

ภาพ : Shutterstock

 

ฝนดาวตกเกิดขึ้นในทุก ๆ ปี และปีนี้ก็มีฝนดาวตกเกิดขึ้นหลายครั้งด้วยกัน ได้แก่

ฝนดาวตกควอแดรนทิดส์ (Quadrantids)            เห็นได้ในช่วงวันที่ 3-4 มกราคม โดยมีอัตราการตกที่ 120 ดวงต่อชั่วโมง
ฝนดาวตกไลริดส์ (Lyrids)                              เห็นได้ในช่วง 22-23 เมษายน โดยมีอัตราการตกที่ 18 ดวงต่อชั่วโมง
ฝนดาวตกอีต้า-อควอริดส์ (Eta Aquariids)          เห็นได้ในช่วง 6-7 พฤษภาคม โดยมีอัตราการตกที่ 55 ดวงต่อชั่วโมง        
ฝนดาวตกเดลต้า-อควอริดส์ (Delta Aquariids)     เห็นได้ในช่วง 28-29 กรกฎาคม โดยมีอัตราการตกที่ 16 ดวงต่อชั่วโมง    
ฝนดาวตกเพอร์ซีอิดส์ (Perseids)                     เห็นได้ในช่วง 12-13 สิงหาคม โดยมีอัตราการตกที่ 100 ดวงต่อชั่วโมง
ฝนดาวตกดราโคนิดส์ (Draconids)                   เห็นได้ในช่วง 7-8 ตุลาคม โดยมีอัตราการตกที่ 25 ดวงต่อชั่วโมง
ฝนดาวตกโอไรโอนิดส์ (Orionids)                     เห็นได้ในช่วง 21-22 ตุลาคม โดยมีอัตราการตกที่ 20 ดวงต่อชั่วโมง
ฝนดาวตกเซาท์ทอริดส์ (South Taurids)            เห็นได้ในช่วง 4-5 พฤศจิกายน โดยมีอัตราการตกที่ 7 ดวงต่อชั่วโมง
ฝนดาวตกนอร์ททอริดส์ (North Taurids)           เห็นได้ในช่วง 11-12 พฤศจิกายน โดยมีอัตราการตกที่ 7 ดวงต่อชั่วโมง    
ฝนดาวตกลีโอนิดส์ (Leonids)                         เห็นได้ในช่วง 17-18 พฤศจิกายน โดยมีอัตราการตกที่ 15 ดวงต่อชั่วโมง    
ฝนดาวตกเจมินิดส์ (Geminids)                       เห็นได้ในช่วง 13-14 ธันวาคม โดยมีอัตราการตกที่ 120 ดวงต่อชั่วโมง
ฝนดาวตกเออร์ซิดส์ (Ursids)                         เห็นได้ในช่วง 21-22 ธันวาคม โดยมีอัตราการตกที่ 10 ดวงต่อชั่วโมง

 

สำหรับฝนดาวตกโอไรโอนิดส์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 21 ตุลาคม 2560 นั้น เกิดจากการที่โลกโคจรผ่านหางของดาวหางฮัลเลย์ (ที่โคจรมาให้เราได้เห็นกันชัดๆ เมื่อปี ค.ศ. 1986 และเราจะได้พบกับมันอีกครั้งใน 75 ปีข้างหน้าหรือ ค.ศ. 2061) ซึ่งเต็มไปด้วยฝุ่นและสะเก็ดหิน เมื่อฝุ่นและสะเก็ดหินถูกดูดเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ และเสียดสีกับอากาศ ก็จะทำให้เกิดแสงสว่างวาบ เช่นเดียวกับการเกิดดาวตกอื่น ๆ

 

อย่างไรก็ตาม ฝนดาวตกโอไรโอนิดส์ไม่ใช่ฝนดาวตกที่มีอัตราการตกสูงสุด หรือมีฝนดาวตกปริมาณมากที่สุด แต่มันเกิดขึ้นในช่วงที่เหมาะสมต่อการเฝ้าชมฝนดาวตกที่สุด เนื่องจากเกิดขึ้นในวันขึ้น 1 ค่ำ ซึ่งเป็นคืนพระจันทร์เสี้ยว จึงไม่มีแสงจันทร์บดบังความงดงามของปรากฏการณ์ฝนดาวตกในครั้งนี้ ทำให้เราสามารถเห็นฝนดาวตกได้ชัดเจน

 

ความเเร็วในการตกหรือดิ่งเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลกของฝนดาวตกโอไรโอนิดส์อยู่ที่ 66 กิโลเมตรต่อวินาที หรือประมาณ 4,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง การลุกไหม้จนเกิดเป็นแสงสว่างวาบของมันจะกระจายตัวให้เห็นในบริเวณใกล้กับดาวบีเทลจุสซึ่งเป็นดาวที่สว่างที่สุดในกลุ่มดาวโอไรออนหรือกลุ่มดาวนายพราน (คนไทยเรียกว่าดาวเต่า) ดังนั้น มันจึงได้ชื่อว่าฝนดาวตกโอไรโอนิดส์นั่นเอง สำหรับตำแหน่งของกลุ่มดาวโอไรออนสามารถมองเห็นได้ตั้งแต่เวลาประมาณ 22.30 น. โดยจะขึ้นเหนือขอบฟ้าทางทิศตะวันออก ซึ่งส่วนเวลาที่เหมาะในการชมฝนดาวตกครั้งนี้คือเวลาประมาณ 23.00 น. เป็นต้นไป

 

ภาพปก : Shutterstock

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • sanomaru
  • 17 Followers
  • Follow