บางคนเข้าใจว่าเมื่ออากาศเปลี่ยน ทำให้ร่างกายของเราอ่อนแอลง จึงป่วยได้ง่าย แต่ผู้ร้ายตัวจริงที่อยู่เบื้องหลังอาการไอ จาม เจ็บคอ ปวดศีรษะ และมีไข้ ก็คือไวรัส ไวรัสบางกลุ่มเจริญเติบโตและแพร่กระจายได้ดีในอากาศเย็นและแห้ง โดยสามารถแพร่กระจายจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งได้ แม้ว่าคนคนนั้นจะสวมเสื้อกันหนาว เพราะอุณหภูมิที่เสื้อกันหนาวแม้เพียง 22 องศาเซลเซียส ก็เพียงพอต่อการมีชีวิตเพื่อแพร่เชื้อของมันต่อไป ซึ่งไวรัส 2 ชนิดหลัก ๆ ที่ทำให้เราป่วย ได้แก่ ไรโนไวรัส (Rhinovirus) และโคโรนาไวรัส (Coronavirus)
อาการป่วยจากเชื้อไวรัสมักเกิดขึ้นในช่วงที่อากาศเปลี่ยนจากฤดูฝนเข้าสู่ฤดูหนาว เพราะอุณหภูมิของอากาศนั้นลดต่ำลง ซึ่งหากใครป่วยในช่วงอากาศเปลี่ยนแล้ว ก็มักจะมีภูมิคุ้มกันจากไวรัสตลอดกลางฤดูกาลดังกล่าว เว้นเสียแต่ว่ามีไวรัสสายพันธุ์อื่น ๆ ที่แตกต่างกันมากโจมตีเราอีกครั้ง ก็อาจทำให้เราล้มป่วยได้ในช่วงกลางฤดูกาล
เมื่อเข้าสู่ฤดูร้อนซึ่งเป็นฤดูกาลของดอกไม้บางสายพันธุ์ พวกมันจะผลิดอกออกผล เมื่อมีลมพัดมา เกสรของพวกมันจะกระจายฟุ้งไปในอากาศ นอกจากนี้ยังมีสิ่งอื่น ๆ ที่อาจทำให้เราแพ้กระจายตัวอยู่ในอากาศด้วยก็ได้ เช่น เชื้อรา หญ้า ฝุ่น นั่นทำให้เรารู้สึกคัดจมูก น้ำมูกไหล จาม คันบริเวณดวงตา หรืออาจถึงขั้นมีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ นำไปสู่อาการป่วย รวมถึงการเป็นไข้จามหรือไข้ละอองฟาง (Hay fever) ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากการแพ้ โดยไม่มีการติดเชื้อ เกิดจากการหายใจเอาสารก่อภูมิแพ้เข้าไป เมื่อสัมผัสกับเยื่อบุโพรงจมูกจึงทำให้เกิดการอักเสบและบวมแดง จนนำไปสู่อาการน้ำมูกไหลและป่วยในที่สุด
ไม่ว่าจะเป็นฤดูกาลไหน เมื่ออากาศเปลี่ยนเราก็มีโอกาสจะป่วยได้ แต่ก็สามารถหลีกเลี่ยงได้เช่นกัน โดยมีวิธีดังนี้
1) ล้างมือบ่อย ๆ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างที่เราสัมผัส ไม่ว่าจะเป็นลูกบิดประตู โทรศัพท์ คีย์บอร์ด หรือแม้แต่ธนบัตร ก็ล้วนมีไวรัสอยู่ในทุก ๆ ที่ ซึ่งหากมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม พวกมันก็พร้อมที่จะแสดงตัว
2) ออกกำลังกาย การออกกำลังกายช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันของเราแข็งแรงขึ้นได้
3) นอนวันละ 6-8 ชั่วโมง การนอนเป็นการพักผ่อนที่ดีที่สุด และถ้าเรารู้สึกเหนื่อยมากเกินไป การทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายก็จะมีปัญหา ซึ่งนั่นนำไปสู่อาการป่วยได้เช่นกัน
4) รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
5) ไม่จำเป็นต้องรับประทานอาหารหรือวิตามินเสริมที่ไม่ได้สั่งโดยแพทย์ รวมถึงวิตามินซีและสังกะสี (Zinc) เพิ่มเติม เพราะตามงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ มันไม่ได้มีประสิทธิผลในการป้องกันหรือรักษาหวัดได้