ว่ากันตามจริง หากมีคนถามว่าใครคือแบบอย่างที่ดีในชีวิต หลายคนจะต้องนึกถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 แบบไม่ต้องคิด เพราะเราแทบจะมองไม่เห็นเลยว่ามีสิ่งไหนบ้างที่พระองค์ทรงทำไม่ได้หรือไปไม่ถึง เพราะพระองค์ทรงมีพระปรีชาสามารถรอบด้าน จนบางครั้งเรา ๆ เผลอชื่นชมพระองค์โดยไม่สนใจคำราชาศัพท์ว่า “พระองค์ทรงเท่จริง ๆ” Plook ฉบับนี้จึงขอน้อมนำคำสอนของพระองค์ที่สามารถนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง เพื่อช่วยให้ชีวิตแฮปปี้และมีคุณภาพมากกว่าที่เคย
เรียนรู้ให้เก่งรอบด้าน
ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระปรีชาสามารถแทบจะทุกด้าน ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ เกษตร ดนตรี ถ่ายภาพ กีฬา วาดภาพ อีกทั้งพระองค์ยังทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีทรัพย์สินทางปัญญามากที่สุดพระองค์หนึ่ง เพราะทรงเก่งด้านวิศวกรและงานช่าง จึงสามารถคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ที่มีประโยชน์ได้ นอกจากนี้ยังสามารถพูดได้หลายภาษาและเขียนหนังสือได้อย่างจับใจ พระองค์ทรงเคยตรัสไว้ว่า “ทำงานกับเราไม่มีอะไรจะให้ นอกจากความสุขที่ได้ทำงาน” แสดงให้เห็นว่าแม้พระองค์จะทรงงานหนักแค่ไหน แต่ก็ยังตั้งมั่นอยู่บนพื้นฐานของการทำทุกอย่างอย่างมีความสุข
เก่งหลายด้านแบบในหลวงรัชกาลที่ 9
- พูดให้น้อย ลงมือทำให้มาก
หลังขึ้นครองราชย์ พระองค์ได้เสด็จฯ กลับไปยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์อีกครั้ง เพื่อทรงศึกษาวิชากฎหมายและการปกครอง เพราะทรงอยากศึกษาความแตกต่างระหว่างประเทศไทยกับนานาประเทศเกี่ยวกับพื้นฐานและวัฒนธรรมของแต่ละชาติ เพื่อนำมาเป็นแนวทางในปรับปรุงแก้ไขประเทศไทยให้เจริญขึ้นกว่าที่เป็นอยู่
- ศึกษาค้นคว้าด้วยตัวเอง
ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงสนพระทัยการวาดภาพตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ทรงศึกษาค้นคว้าด้วยพระองค์เอง กระทั่งเสด็จนิวัตประเทศไทยก็โปรดให้จิตรกรที่มีความสามารถเข้าเฝ้าฯ เป็นการส่วนพระองค์ เพื่อให้เหล่าศิลปินร่วมโต๊ะเสนอและทรงให้แต่ละบุคคลวิจารณ์ผลงานฝีพระหัตถ์ ซึ่งทรงเปิดพระทัยรับคำติชมอย่างไม่มีอคติ
พระมหากษัตริย์ยอดกตัญญู
นอกจากในหลวงรัชกาลที่ 9 จะเป็นแบบอย่างที่ดีในการเป็นพ่อ ด้วยการที่พระองค์ทรงเลี้ยงพระราชโอรสและพระราชธิดาอย่างสามัญชน และพระองค์เองก็ยังทรงเป็นลูกที่กตัญญู เห็นได้จากการที่พระองค์ทรงเอาใจใส่สมเด็จย่าจากภาพถ่ายที่ทรงหมอบกราบ หอมแก้ม ทรงประคองสมเด็จย่า และทรงมีรอยยิ้มเสมอเมื่อได้อยู่ใกล้สมเด็จย่า
ไอเดียกตัญญูแบบทำได้จริงทุกวัน
- รู้หน้าที่ของตัวเองอย่างดีเยี่ยม หน้าที่หลักของเด็กตอนนี้คือเรียนหนังสือ และทำให้ดีในด้านการเรียน
- เชื่อฟังคำสั่งสอน และเปิดใจรับฟังผู้ใหญ่ อย่าเพิ่งรีบโต เวลามีปัญหาอะไรควรขอคำปรึกษาท่านก่อน ไม่ว่าเรื่องอะไรพ่อแม่ก็พร้อมจะช่วยแก้ปัญหาเสมอ
- ช่วยงานบ้านเล็กน้อย จะทำให้ท่านชื่นใจเป็นพิเศษ เพราะเราทำตัวเป็นเด็กดี และที่สำคัญยังได้เรียนรู้การทำงานบ้านไว้ช่วยเหลือตัวเองได้ในอนาคตด้วย
- ไม่ทำให้ผู้ใหญ่เป็นห่วง อะไรที่คิดว่าออกนอกลู่ นอกทาง หรือทำให้ตัวเองเป็นอันตรายก็อย่าเพิ่งสนใจเลย พ่อแม่เขาเป็นห่วงคุณมากนะ
- พูดจาดี ๆ กับพ่อแม่เสมอ เวลาพ่อแม่ไม่เข้าใจหรือเราทะเลาะกับท่าน ขอให้พูดกับท่านด้วยน้ำเสียงที่ดีและอย่าพูดจาไม่ดีจนทำให้ท่านต้องเสียน้ำตา
อดทนให้เป็น
ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำริส่วนพระองค์ในเรื่องการจัดทำฝนหลวง เพื่อบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำในการเกษตร โดยมีการค้นคว้าทดลองปฏิบัติการฝนหลวงขึ้น ซึ่งจะใช้สารเคมีโปรยในท้องฟ้า จนกระทั่งไอน้ำอิ่มตัวและกลั่นตัวออกมากลายเป็นเม็ดฝน แต่กว่าจะสำเร็จได้ พระองค์ทรงใช้เวลาค้นคว้าตั้งแต่ปี 2498 ซึ่งล้มเหลวไปหลายหนกว่าจะสำเร็จและสร้างประโยชน์ใหญ่หลวงต่อวงการเกษตรกรรมไทย
ในหลวงรัชกาลที่ 9 ตัวอย่างแห่งความอดทน
- ทรงไม่หวั่นภารกิจสุดหิน
พระองค์ทรงอุทิศพระวรกายเพื่อทรงงานหนัก ในบางครั้งรถพระที่นั่งต้องฝ่าเข้าไปในกระแสน้ำที่เชี่ยวกราก หากรถไม่สามารถต้านทานกระแสน้ำได้ พระองค์ก็เสด็จฯ ลงจากรถเพื่อทรงพระดำเนินต่อไปด้วยสองพระบาท
- ทรงไม่หวั่น แม้จะทรงประชวร
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อปี 2518 พระองค์ทรงพระประชวรด้วยเชื้อไมโคพลาสมา แต่ทรงห่วงใยประชาชนมากกว่า ถึงกับรับสั่งกับนายแพทย์ว่า “จะใช้เวลารักษานานเท่าไหร่ ขอรอไว้ก่อนนะ ฉันทนได้ วันนี้ขอไปดูราษฎรและช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำท่วมก่อน”
ไม่ยึดติดตำราอย่างเดียว
หลักการทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ 9 จะเน้นการพัฒนาที่อนุโลมและประนีประนอมระหว่างสภาพแวดล้อมกับสภาพสังคมของชุมชน คือพระองค์จะไม่ใช้เทคโนโลยีที่ไม่เข้ากับสภาพแวดล้อมของชุมชนนั้น ๆ เพราะอาจสร้างปัญหาตามมาได้ ต้องรู้จักหยิบสิ่งอื่นที่ตำราไม่ได้บอกไว้มาปรับใช้ด้วย ซึ่งจะนำไปสู่การคิดนอกกรอบในภายหลัง
ตัวอย่างการไม่ติดตำราของในหลวงรัชกาลที่ 9
- หญ้าแฝก
สมัยก่อนที่หญ้าแฝกยังไม่โด่งดัง มันเป็นแค่หญ้าน่ารำคาญที่ชาวสวนถางออกทุกครั้งไป แต่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงกลับนำหญ้าแฝกเข้ามาแก้ปัญหาการพังทลายของหน้าดินจากน้ำไหลบ่า เพราะรากของมันลึกจนสามารถเก็บน้ำในดินได้ดี แทนที่จะใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่
- แก้มลิง
โครงการแก้มลิงคือการจัดหาสถานที่เก็บกักน้ำตามจุดต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ เพื่อรองรับน้ำฝนไว้ชั่วคราวเมื่อน้ำจะท่วม เมื่อถึงเวลาที่คลองพอจะระบายน้ำได้ จึงค่อยระบายน้ำออกไป ทฤษฎีนี้มาจากการคิดนอกกรอบของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงเคยเห็นลิงอมกล้วยไว้ในปากก่อนแล้วค่อยกลืน
- การทูตหยุดโลก
แทนที่พระองค์จะจัดประชุมการเมืองสุดยิ่งใหญ่เมื่อครั้งสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะแห่งญี่ปุ่นมาเยี่ยม แต่พระองค์กลับเชิญสมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่นไปทอดพระเนตรพันธุ์ปลาที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แทน เพราะทรงทราบว่าสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะชอบปลามาก เป็นการทูตแบบใหม่ที่ไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อน
ประหยัด รู้จักออม
ในหนึ่งปีในหลวงรัชกาลที่ 9 จะทรงเบิกดินสอที่มียางลบติดท้ายแท่งเพียงแค่ 12 แท่งเท่านั้น โดยใช้เดือนละ 1 แท่งจนกระทั่งดินสอกุด ทรงเป็นกษัตริย์ที่ไม่ฟุ่มเฟื่อยมาโดยตลอด เมื่อสมัยยังทรงพระเยาว์ พระองค์ทรงอยากได้ของเล่นก็จะต้องเก็บออมเอง 1 ส่วนและได้เพิ่มจากสมเด็จย่าอีก 1 ส่วน เมื่อมีเงินครบพระองค์จึงจะได้ซื้อของที่อยากได้ ซึ่งเราควรเอามาเป็นแบบอย่างในเรื่องการซื้อของเมื่อมีเงินพร้อมหรือเพียงพอเท่านั้น
หลักการออมแบบในหลวงรัชกาลที่ 9
- พระองค์ได้เงินค่าขนมสัปดาห์ละครั้ง
หากโตแล้วก็ไม่ควรรับเงินเป็นรายวันอยู่ เพราะการที่เราได้รับเงินแบบรายสัปดาห์หรือรายเดือนจะทำให้เรารู้วิธีแบ่งเงินไว้ใช้ได้นานกว่าการได้เงินเป็นรายวัน ผลที่ตามมาก็คือเราจะมีเงินเหลือก่อนจะได้รับเงินงวดใหม่
- ซื้อหนังสือหรือของเล่น
พระองค์ทรงเก็บเงินซื้อของเอง 1 ส่วนเสมอ เพราะฉะนั้นเราลองตั้งใจกับตัวเองว่า หากอยากได้อะไรเป็นพิเศษ เช่น หนังสือหรือมือถือใหม่จะต้องเก็บเงินด้วยตัวเองก่อน 1 ส่วน แม้จะไม่ได้มากเท่าราคาของของที่อยากจะซื้อ ขอแค่ครึ่งหนึ่งก็ยังดี ไม่ใช่ว่าจะขอพ่อแม่หมด
- เอาเงินไปฝากธนาคาร เมื่อมีจำนวนพอแล้ว
สร้างนิสัยการฝากเงินเป็นประจำให้เกิดขึ้นกับตัวเอง อาจจะตั้งใจฝากเงินทุกสามเดือน หรือฝากทุกวันเกิด จะมากหรือน้อยไม่ใช่ประเด็น เหมือนที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงทำมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์
ปลูกป่าในใจคน
ในหลวงรัชกาลที่ 9 เคยตรัสไว้ว่า “เจ้าหน้าที่ป่าไม้ควรจะปลูกต้นไม้ลงในใจคนเสียก่อน แล้วคนเหล่านั้นก็จะพากันปลูกต้นไม้ลงบนแผ่นดิน และจะรักษาต้นไม้ด้วยตนเอง” แสดงให้เห็นถึงวิธีคิดที่พระองค์ทรงใช้ในการอนุรักษ์ป่า เพราะพระองค์ทรงมุ่งพัฒนาที่ตัวคนให้มีคุณภาพ สร้างการตระหนักรู้ถึงปัญหาและปลูกจิตสำนึกที่ดีให้กับคนในประเทศ ในกรณีที่อยากได้ความร่วมมือจากคนอื่น แทนที่จะออกคำสั่ง เพราะการปลูกป่าในใจคนจะทำให้ยั่งยืนกว่าการออกคำสั่งแค่ครั้งเดียว ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ดีที่จะนำมาใช้ในการทำงานเป็นทีม
วิธีปลูกป่าในใจคนที่ใช้ได้กับทุกสถานการณ์
- อย่าสักแต่สั่ง แต่ต้องอธิบายให้เข้าใจ
ความเข้าใจในงานเป็นสิ่งที่สำคัญในการทำงานให้สำเร็จ หากสั่งคนให้ทำงานแต่ไม่อธิบายงานให้ผู้ทำงานไม่เข้าใจ เขาอาจจะไม่อยากทำงานเพราะไม่เห็นถึงความสำคัญ
- ไม่ต้องพยายามแก้ไขทุกความไม่เห็นด้วย
บางครั้งก็ต้องเข้าใจว่าบางปัญหาอาจแก้ไขไม่ได้ เเละทำได้แค่อะลุ่มอล่วย เพราะหากไม่สร้างปัญหาตามมามากก็ต้องเรียนรู้ที่จะปล่อยให้ผ่านไป
- ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นของสิ่งที่ทำ
เหมือนที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงทำเพื่อแก้ปัญหาป่าไม้ทางภาคเหนือ เพราะพระองค์ทรงทำให้เห็นว่าป่าไม้สำคัญอย่างไร แล้วประชาชนก็จะเริ่มอนุรักษ์ป่าไม้และปลูกต้นไม้กันเอง
รู้จักพอเพียง
ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงใช้เวลาตั้งแต่ปี 2517 ในการพัฒนาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้กับคนไทย ซึ่งหลักเศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่หลักของภาคเกษตรเพียงอย่างเดียว แต่เป็นหลักเศรษฐกิจที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้กับทุกสาขาอาชีพ และเป็นดั่งปรัชญาในการใช้ชีวิตให้มีความสุขในทุกด้านประกอบด้วย 3 ห่วง 2 เงื่อนไข
ไอเดีย 3 ห่วงบนทางสายกลาง
- พอประมาณ = รายจ่ายสมดุลกับรายรับ
มีรายรับเท่าไหร่ก็ควรใช้จ่ายไม่เกินรายรับคือ ไม่ใช้จ่ายเกินตัว เวลาจะซื้ออะไรก็ควรคิดให้ถี่ถ้วนก่อนว่าอยากได้เฉย ๆ หรือจำเป็นต้องซื้อ อาจจะวางแผนไว้ว่าในแต่ละเดือนเราจะสามารถซื้อหนังสือได้ 1 ครั้ง เสื้อผ้าซื้อได้ไม่เกิน 1,000 บาท มีมื้อหรูให้รางวัลตัวเอง 3 มื้อต่อเดือน เพื่อจะได้ควบคุมค่าใช้จ่ายให้สมดุลกับรายรับนั่นเอง
- มีเหตุมีผล = ใช้จ่ายอย่างมีเหตุผล
ก่อนจะซื้ออะไรควรคิดให้ดีว่าซื้อไปแล้วจะได้ใช้จริงไหม หรือแค่อยากได้มาเฉย ๆ เพราะคนอื่นเขามี แต่สุดท้ายเราก็ไม่ได้ใช้อยู่ดี หรืออยากจะมีรถยนต์ไว้ขับแต่ยังเรียนหนังสืออยู่ ยังไม่มีรายได้ ก่อนจะใช้จ่ายอะไรก็ควรคำนึงผลที่จะตามมาอย่างรอบคอบก่อนเสมอทุกครั้งถ้าไม่อยากมีหนี้จนหมดตัว
- มีภูมิคุ้มกัน = มีเงินออม
ควรออมเงินให้ได้ทุกเดือนเพื่อไว้ใช้จ่ายเวลาเกิดเหตุฉุกเฉินในอนาคต หรือไว้เป็นต้นทุนในอนาคตเมื่อเรียนจบแล้ว เมื่อถึงวันที่จำเป็นต้องใช้เงินคุณจะขอบคุณตัวเองในวันนั้นที่รู้จักเก็บออม
2 เงื่อนไขเพิ่มความเข้มแข็ง
- เงื่อนไขความรู้ ไม่หยุดเรียนรู้ รอบคอบที่จะใช้ความรู้เหล่านั้นและใช้อย่างมีสติระมัดระวังในการวางแผน
- เงื่อนไขคุณธรรม ให้ค่ากับความดี ความถูกต้อง หลีกเลี่ยงการแก่งแย่งชิงดีและแบ่งปันสิ่งดีแก่ผู้อื่น
แหล่งข้อมูล
- ทฤษฎีพหุปัญญา (Theory of Multiple Intelligences). สืบค้นเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2560 จาก https://www.babybestbuy.in.th/shop/theory_of_multiple_intelligences
- Howard Gardner's Multiple Intelligences: A Theory for Everyone. สืบค้นเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2560 จาก http://www.educationworld.com/a_curr/curr054.shtml
- 89 เรื่องของในหลวง แรงบันดาลใจของพสกนิกรไทยทั้งชาติ. สืบค้นเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2560 จาก http://www.praew.com/60005/king-of-thailand/inspiration-89-story-thailands-king-bhumibol/
- ความเป็นมาของโครงการพระราชดำริฝนหลวง. สืบค้นเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2560 จาก http://www.royalrain.go.th/royalrain/m/royalinitiativeproject
- วิธีการ ฝึกความอดทน. สืบค้นเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2560 จาก http://th.wikihow.com/ฝึกความอดทน
- การปลูกหญ้าแฝกตามแนวพระราชดำริ. สืบค้นเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2560 จาก https://sites.google.com/site/itpridsana0542/home/phra-rach-daras-khxng-nihlwng-pheux-pa-laea-na/kar-pluk-hya-faek-tam-naew-phra-rachdari
- ในหลวงกับการออกกำลังกาย. สืบค้นเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2560 จาก http://www.wingnaidee.com/article/ในหลวงกับการออกกำลังกา/
- วิธีการ ทำชีวิตให้ง่ายขึ้น. สืบค้นเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2560 จาก http://th.wikihow.com/ทำชีวิตให้ง่ายขึ้น
- พระมหากษัตริย์นักออมเงิน. สืบค้นเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2560 จาก https://aommoney.com/stories/pajaree/พระมหากษัตริย์นักออมเงิน/14069#j8k06u4e24
- นิตยสาร a day. (2560). เดินตามรอยพ่อ. กรุงเทพฯ: บรษัท คลาสสิคสแกน จำกัด.
- การฑูตหยุดโลก. สืบค้นเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2560 จาก https://www.facebook.com/lovefatherkingrama9/posts/417846731881695:0
เรื่อง : วัลญา นิ่มนวลศรี
ภาพประกอบ : เบญจรัตน์ วงษ์วิลัย